ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เปิด 4 ตำนาน “เต่า” สัตว์มงคลตลอดกาล
แชร์
ชอบ
เปิด 4 ตำนาน “เต่า” สัตว์มงคลตลอดกาล
18 ธ.ค. 64 • 09.00 น. | 12,649 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า “เต่า” เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ หรือตั้งแต่ 70 ล้านปีก่อน ถือได้ว่ากำเนิดมาก่อนมนุษย์อย่างเราจะได้ลืมตาดูโลกเสียอีก ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเต่านั้น นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักในบ้านของใครหลายคนแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับคติความเชื่ออีกมากมาย ดังที่ปรากฏอยู่ในตำนานความเชื่อของหลายชนชาติ ALTV จึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านร่วมสำรวจตำนานความเชื่อ ที่มีเต่าเข้ามาเกี่ยวข้องไปพร้อม ๆ กัน 

 

1 ในสัตว์เทพ 4 ทิศของจีน 

ตั้งแต่อดีตมาแล้ว ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่า ท้องฟ้าได้รับการปกป้องคุ้มครองโดย "เหล่าสัตว์เทพทั้ง 4" ได้แก่ มังกรเขียว เสือขาว หงส์แดง และเต่านิล ท้องฟ้าทางทิศตะวันออกจะได้รับการคุ้มครองโดยมังกรเขียว ทิศตะวันตกโดยเสือขาว ทิศใต้โดยหงส์แดง และทิศเหนือโดย เต่านิล

ตามตำนานจีนโบราณว่าด้วยฮวงจุ้ยทิศทั้ง 4 “เต่านิล” หรือ “เสวียนอู่” ถือเป็นสัตว์เทพประจำทิศเหนือ จัดอยู่ในธาตุน้ำ มีลักษณะเป็นเต่าตัวมหึมา มีกระดองสีดำ ผิวหนังเป็นเกล็ดงู หรือบางครั้งมี งู พันอยู่รอบกระดอง ตามความเชื่อเต่านิลเป็นตัวแทนแห่งโชคลาภ ความสุข และอายุยืนยาว

ในสมัยราชวงศ์ฮั่น สัตว์ทั้ง 4 ทิศ มักถูกนำมาใช้กับศาสตร์หลายแขนง เช่น ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ หรือแม้แต่ด้านการทหาร นักปราชญ์สมัยโบราณได้บันทึกการจัดขบวนรบไว้ในตำราพิชัยสงคราม ไว้ว่าซ้ายเป็นมังกรเขียว ขวาเป็นเสือขาว ทัพหน้าคือหงส์แดง คุมหลังคือเต่านิล” นอกจากนี้มีการพบหลักฐานว่าเต่าเกี่ยวข้องกับหลักฮวงจุ้ยอีกมากมาย อาทิ “กระดองเต่าเสี่ยงทาย” ในช่วงสมัยราชวงศ์ซาง มีไว้เพื่อดูฤกษ์ยามหรือทำนายเรื่องทั่วไป โดยจะสลักตัวอักษรลงไปบนกระดองเต่า แล้วนำไปเผาไฟเพื่อให้เกิดรอยไหม้ 


ทฤษฎีสัตว์เทพ 4 ทิศ เป็นส่วนหนึ่งของหลักฮวงจุ้ยในการจัดพื้นที่บ้านเพื่อเสริมพลัง

ตามความเชื่อฮวงจุ้ยของคนจีนนั้นเชื่อว่าการปลูกสร้างที่ดี ควรมีสภาพแวดล้อมที่ประกอบด้วยพลังเสือขาว มังกรเขียว หงส์แดง และเต่านิล

  • ด้านขวามือ (พลังเสือ) เป็นพลังของความสงบนิ่ง ช่วยในเรื่องบารมี ทางด้านขวามือของบ้านจึงควรมีสิ่งของที่มีความสูงขนาดพอเหมาะ เช่น ต้นไม้ หรือเนินสูง และไม่ควรมีสิ่งของที่เคลื่อนไหวได้อยู่ในบริเวณนี้ เพราะจะขัดแย้งกับพลังเสือนั่นเอง
  • ด้านซ้ายมือ (พลังมังกร) เป็นพลังของความดี ความสงบสุข และความมั่นคง ในทิศนี้จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของพลังมังกร ทางซ้ายมือจึงเหมาะกับการสร้างทางเดินเข้าสู่ตัวบ้าน ขุดบ่อปลา หรือห้องที่มีคนอยู่ตลอด 
  • ด้านหน้า (พลังหงส์) ด้านหน้าควรโปร่ง โล่ง และสะอาด ช่วยให้เจ้าของบ้านมีชื่อเสียง มีบริวารรายล้อม
  • ด้านหลัง (พลังเต่า) ส่วนใหญ่หลังบ้านมักเป็นจุดที่โดนละเลยมากที่สุด ตามหลักฮวงจุ้ยแล้วเต่าเป็นตัวแทนของความอายุยืน เพราะฉะนั้นหากดูแลจัดการไม่ดีอาจนำมาสู่โรคภัยไข้เจ็บ

ที่มา: Museum of fine arts boston

เต่าเก็นบุผู้พิทักษ์เกียวโต

เต่าในความเชื่อของชาวญี่ปุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา ความช่วยเหลือ และการมีชีวิตยืนยาว ตำนานความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับเต่าของญี่ปุ่น ที่มีชื่อเสียงมากเรื่องหนึ่ง คือ “เต่ายักษ์เก็นบุ” หรือ “เต่าเทพพิทักษ์” ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากตำนานสัตว์เทพทั้ง 4 ของจีน ซึ่งจะทำหน้าที่คอยคุ้มครองเมืองเกียวโตในส่วของทิศเหนือ เช่นเดียวกันกับทิศอื่น ๆ ที่เป็นหน้าที่ของสัตว์เทพ อย่างมังกร เสือขาว และนกกระเรียนคอยคุ้มครอง

เต่ายักษ์เก็นบุ มีลำตัวขนาดใหญ่ ผิวหนังและกระดองเป็นสีดำ มีหางเหมือนงู เต่าเก็นบุมีหน้าที่ปกป้องทิศเหนือของเมืองเกียวโต คล้ายกันกับเต่านิลในความเชื่อของจีน เพียงแค่เปลี่ยนจากปกป้องท้องฟ้าเป็นตัวเมืองเท่านั้น

นอกจากตำนานดังกล่าวแล้ว ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ "เต่ามิโนกาเมะ" เต่าดึกดำบรรพ์ที่มีอายุขัยอย่างน้อยพันปี มักปรากฏตัวอยู่ในงานศิลปะและงานฝีมือชั้นสูงมากมาย เช่น ภาพพิมพ์ เต่ามิโนกาเมะมีลักษณะหางยาวขนดก ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสาหร่ายที่เติบโตบนกระดองของมัน ยิ่งมีขนพะรุงพะรังมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งบ่งบอกถึงอายุขัย ในงานศิลปะที่มีมิโนะกาเมะปรากฏอยู่ จึงมักสื่อถึงความอายุยืน สติปัญญา และการเคารพนับถือ 

ที่มา: wikimedia commons

สัตว์อวตารมาจากเทพ ในศาสนาฮินดู

เมื่อใดที่มนุษย์กำลังเป็นทุกข์ เทพเจ้าซึ่งเปรียบเสมือนความหวังเดียว จะอวตารลงมาช่วยเหลือเหล่ามนุษย์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก “การอวตาร” หรือ “การลงมาเกิด” ของเหล่าทวยเทพ จึงเป็นของคู่กันกับตำนานเทพปกรณัมของชาวฮินดูที่มีมาอย่างยาวนาน 

การลงมาเกิดของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูนั้น จะมีการแบ่งภาคลงมาเกิดแตกต่างกันไป โดยเราจะหยิบยกบางส่วนของความเชื่อดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือ "ตำนานการอวตารของพระวิษณุ" หรือที่คนไทยรู้จักกันในนาม “ลิลิตนารายณ์สิบปาง” ซึ่งในเรื่องราวการอวตารครั้งที่สองของพระวิษณุ หรือปางกูรมาวตาร พระองค์ได้แปลงกายลงมาเป็นพญาเต่าเพื่อช่วยเหลือเหล่ามนุษย์ให้พ้นจากน้ำท่วมโลก  

“ไม่ว่าจะรบกับอสูรกี่ครั้ง เทพจะต้องพ่ายแพ้ทุกครั้ง”

เรื่องราวเริ่มต้นที่ ฤๅษีทุรวาส ได้ทำการสาปแช่งพระอินทร์และเหล่าทวยเทพเอาไว้ว่า “ไม่ว่ากี่ครั้งที่รบกับอสูร เทพจะต้องพ่ายแพ้ทุกครั้ง” ซึ่งคำสาปของฤๅษีทุรวาสก็ได้ผลเกินตั้งใจ ในสงครามระหว่างเทพกับอสูร มักเป็นฝั่งเทพเสมอที่พ่ายแพ้ทุกครั้ง พระอินทร์ที่เห็นดังนั้น จึงไปขอความช่วยเหลือจากพระวิษณุ 

ทางแก้คำสาปของพระวิษณุ คือ "การกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต" แต่วิธีการก็ยุ่งยากเกินกว่าเหล่าเทพจะทำกันเองได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาพละกำลังของเหล่าอสูรด้วย ทั้งสองฝ่ายตกลงสงบศึกกันชั่วคราวเพื่อร่วมมือกันกวนน้ำอมฤตในครั้งนี้

พระวิษณุได้นำยอดเขามันทระมาทำเป็นไม้คน และใช้พญาอนันตนาคราชมาทำเป็นเชือก ให้เหล่าเทพและอสูรดึงกันคนละข้าง แต่การกวนน้ำอมฤตใช้เวลายาวนานมาก จนทำให้พญาอนันตนาคราชบาดเจ็บจนคายพิษออกมา โดนเหล่าอสูรจนบาดเจ็บและทำให้เสียสมดุลไปตามกัน จนไม้กวนที่ทำจากเขามันทระใกล้ทะลุพื้นสมุทร เมื่อพระวิษณุเมื่อเห็นดังนั้น จึงแปลงกายเป็นพญาเต่า เพื่อเอากระดองไปรองรับยอดเขาไว้ไม่ให้น้ำท่วมโลกมนุษย์  

  • ภาพวาดและประติมากรรมของกูรมาวตารปรากฎเป็นมนุษย์ครึ่งสัตว์ ท่อนบนเป็นรูปร่างพระวิษณุสวมเครื่องประดับพร้อมถืออาวุธไว้ในมือ ส่วนท่อนล่างลงไปจะเป็นรูปร่างกระดองเต่า 

 

ที่มา:wikimedia commons

เต่าพระโพธิสัตว์ในศาสนาพุทธ 

สำหรับใครที่มักบูชาเครื่องรางของขลังต่าง ๆ คงอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ “พญาเต่าเรือน” กันมาบ้าง ผู้คนมีความเชื่อกันว่าหากนำพญาเต่าเรือนมาบูชาจะช่วยเสริมโชคลาภ และอยู่ดีมีสุข

ไทยเรามีความเชื่อทางพระพุทธศานาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าว่า ก่อนการจุติเป็นศาสดาของโลก ต้องเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อนนับพันชาติ ในพระไตรปิฎกบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังบำเพ็ญบารมี ชาติหนึ่งได้เสวยชาติเป็น พญาเต่าเรือนอาศัยอยู่บนเกาะกลางมหาสมุทร จนอยู่มาวันหนึ่ง มีเรือสำเภาใหญ่ได้อับปางลงกลางมหาสมุทร ผู้คนหนีขึ้นไปอาศัยอยู่บนเกาะที่พญาเต่าอาศัยอยู่ เวลาผ่านไปผู้คนต่างอดอาหารและหิวโหย พญาเต่าเรือนเมื่อเห็นดังนั้นจึงได้บำเพ็ญทานบารมีขั้นสูงสุด สละชีพของตนเพื่อเป็นอาหารให้แก่ผู้คนที่่หิวโหย ด้วยการทิ้งตัวลงมาจากเหวเพื่อให้ตนสิ้นใจ จึงเป็นที่มาของตำนานพญาเต่าเรือน ของขลังที่ใครหลายคนสักการะบูชาเพื่อเสริมสิริมงคลนั่นเอง

 

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับตำนานความเชื่อของเต่าที่เรานำมาฝาก ซึ่งนอกจากจะเป็นสัตว์นำโชคแล้ว เต่ายังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเช่นเดียวกันกับสัตว์อีกหลายชนิด แต่ในทุกปีจำนวนของเต่ากลับลดลงเรื่อย ๆ ด้วยฝีมือของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นการดีมากหากเราตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเริ่มอนุรักษ์เต่าให้อยู่คู่กับโลกของเราไปอีกนาน ๆ ด้วยการไม่ทิ้งขยะลงทะเล หรือไม่สนับสนุนเครื่องประดับจากชิ้นส่วนกระดอง

รับชมเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเต่าเพิ่มเติม ได้ที่ รายการ สังคม สนุกคิด ตอน ต.เต่าหลังตุง (29 ต.ค. 64)

 

 

 

ที่มา: วารสารมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร , Human Exellence , ผู้จัดการออนไลน์

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#เต่า, 
#ตำนานเต่า, 
#เต่าทะเล, 
#เต่าบก, 
#ปางกูรวตาร, 
#ความเชื่อ, 
#เต่าเสวียนอู่, 
#ความเชื่อเกี่ยวกับเต่า, 
#altv, 
#learnmore 
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#เต่า, 
#ตำนานเต่า, 
#เต่าทะเล, 
#เต่าบก, 
#ปางกูรวตาร, 
#ความเชื่อ, 
#เต่าเสวียนอู่, 
#ความเชื่อเกี่ยวกับเต่า, 
#altv, 
#learnmore 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา