ว่ากันด้วยเรื่องพันธุกรรม หลาย ๆ คนคงเคยผ่านหูผ่านตามาบ้างแล้วในวิชาชีววิทยาว่าพันธุกรรมนั้นเกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่มนุษย์อย่างพวกเราฉลาดพอที่จะสามารถโกงธรรมชาติได้ โดยการเข้าไปตัดต่อส่วนประกอบของยีน เพื่อให้เกิดลักษณะพิเศษขึ้น ด้วยเป้่าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่างในชีวิตมนุษย์ เราลองมาย้อนความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ดีกว่า ว่าการดัดแปลงพันธุกรรมนั้นคืออะไร
สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms: GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม จากการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) หรือ เทคนิคการตัดต่อยีนที่สามารถคัดเลือกสารพันธุกรรมหรือยีน (Genes) ที่จำเพาะเจาะจงจากสิ่งมีชีวิตต่างชนิด ก่อนนำมาตัดแต่งเข้ากับสิ่งมีชีวิตเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์และก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะพิเศษตามความต้องการของมนุษย์ อย่างเช่น การนำยีนที่แสดงคุณสมบัติทนทานต่อความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลก มาผสมผสานและตัดแต่งเข้ากับยีนของมะเขือเทศ เพื่อสร้างมะเขือเทศชนิดใหม่ที่สามารถเพาะปลูกได้ในพื้นที่ซึ่งมีอากาศหนาวเย็น เป็นต้น
ซึ่งก็มีหลายครั้งที่จีเอ็มโอก็มีประโยชน์มากในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะทั้งในการแพทย์เพื่อการรักษา, วิจัย หรือบางครั้งก็เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ วันนี้เราจึงนำตัวอย่าง 5 สัตว์แปลกที่เกิดจากการดัดแปรพันธุกรรม มาดูพร้อม ๆ กันว่าสัตว์ตัวไหนเป็นยังไง และทำขึ้นเพื่ออะไรบ้าง
1. สฟิงซ์ แมวน่าเลี้ยงของคนแพ้ขนสัตว์
มาเริ่มกันด้วยเจ้าเหมียวที่หลาย ๆ คนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว อย่างเจ้าแมวสฟิงซ์ ที่มีรูปลักษณ์หน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ แต่รู้หรือไม่! ความจริงแล้วสฟิงซ์ก็มีขน เพียงแต่ขนของมันบางมากและเป็นเส้นเล็ก ๆ จนบางครั้งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จึงทำให้เราได้เห็นหนังย่น ๆ ของมัน รูปร่างหน้าตาของมัน บางคนก็มองว่าแปลกตาและเท่ แต่บางคนก็บอกว่าน่าเกลียดเหมือนแมวเอเลี่ยน แต่ไม่ว่าอย่างไร ลักษณะนิสัยของของสฟิงซ์นั้นขี้อ้อนมาก ๆ ติดเจ้าของ รักการคลอเคลียราวกับสุนัขยังไงยังงั้น เรียกได้ว่าเชื่องสุด ๆ ต่างจากแมวบางพันธุ์ที่ไม่ค่อยชอบหรือให้เจ้าของโดนตัวเท่าไหร่นัก
ลักษณะความผิดปกติของการไม่มีขนของแมวสฟิงซ์นั้นเกิดมาจากการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ มีประวัติเกี่ยวกับสฟิงซ์ว่านักปรับปรุงพันธุ์ชาวยุโรปและอเมริกาเหนือ ได้การวางแผนปรับปรุงพันธุ์แมวสฟิงซ์ โดยจะเลือกลูกแมวที่มีลักษณะทางกายภาพและทางด้านอารมณ์ที่เหมาะสมต่อการนำมาพัฒนาสายพันธุ์ ซึ่งการปรับปรุงครั้งนี้ทำให้ได้สายพันธุ์แข็งแรง สำหรับสฟิงซ์แล้วถือได้ว่าสามารถครอบครองใจของคนรักเจ้าเหมียวที่เป็นภูมิแพ้ได้อย่างดีเลยทีเดียว
2.ยุงสายพันธุ์ใหม่ปลอดไข้มาลาเรีย
ไข้มาลาเรียเกิดจากน้ำลายยุงเมื่อโดนกัดจึงทำให้มนุษย์เราเกิดโรค จึงมีการทดลองดัดแปลงยีนของยุง เพื่อให้ยุงมีภูมิต้านทานจากน้ำลาย และเมื่อนำยีนที่ถูกตัดต่อยีนไปปล่อยสู่ธรรมชาติ ยุงเหล่านี้จะไปแย่งผสมพันธุ์กับยุงสายพันธุ์เดิม และเมื่อมียุงที่เกิดขึ้นมาใหม่ ก็จะเป็นยุงที่ไม่สามารถแพร่เชื้อมาลาเรีย ซึ่งทำให้อัตราการเกิดยุงสายพันธุ์เดิมลดน้อยลง ตัวอย่างเช่นในประเทศมาเลเซียก็ได้มีการปล่อยยุงหลายล้านตัวออกสู่ธรรมชาติ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อโต้แย้ง ว่าหากยุงเหล่านี้ดันไปผสมพันธุ์กับแมลงชนิดอื่น ๆ ก็อาจทำให้เกิดยุงสายพันธุ์ใหม่ ที่มีผลร้ายแรงกว่าเดิมก็ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นหนึ่งในข้อควรระวังในการตัดต่อพันธุกรรม
3.วัวที่ปราศจากภูมิแพ้
ในด้านของสุขภาพ มีใครบ้างไหมที่กินนมวัวแล้วแพ้! ซึ่งทำให้เป็นผื่นคัน หรืออาเจียนก็แล้วแต่ความรุนแรง แต่ในปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมี กาลินา ซินกินา นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สหพันธรัฐเพื่อการเลี้ยงสัตว์เอิร์นส์ในรัสเซีย ได้มีการประกาศถึงความสำเร็จในการโคลนนิ่งวัวที่มีชีวิตรอดได้เป็นตัวแรกของประเทศ และตัดต่อพันธุกรรมของวัวโคลนนิ่งเพศเมียตัวนี้ เพื่อให้ผลิตน้ำนมที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ทั้งนี้ สถาบันโรคเบาหวาน ทางเดินอาหาร และโรคไตแห่งชาติของรัสเซียระบุว่ากว่าร้อยละ 70 ของประชากรทั่วโลก มีภาวะย่อยแลคโตสบกพร่อง และเป็นปัญหาต่อการย่อยนมหรือผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งหากสำเร็จบุคคลที่มีอาการแพ้นมก็คงจะสามารถกินนมได้อย่างสบายใจได้มากขึ้น รวมถึงสุขภาพที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
4. กบผิวโปร่งใส เรียนรู้ได้ ไม่ต้องผ่า!
คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการดัดแปลงพันธุกรรมสามารถเพาะพันธุ์กบที่มีผิวหนังโปร่งใส โดยผิวหนังของมันสามารถมองเห็นทะลุถึงอวัยวะภายในได้ สามารถใช้ศึกษาอวัยวะภายในได้ตั้งแต่พวกมันแรกเกิด จนไปถึงระยะโตเต็มวัย เพื่อที่จะใช้วิจัยโรคต่าง ๆ อย่างมะเร็ง และโรคที่เกิดอันตรายจากสารเคมีได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาผ่าตัวของกบ ไม่ทำให้พวกมันเสียชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถฉีดสารเรืองแสง ที่ทำให้เห็นการยืดขยายของสาร DNA และศึกษาพฤติกรรมของยีน แต่โครงการนี้ยังต้องมีการศึกษาต่อไปอีก เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคต
5.GLOFISH ปลาเรืองแสงที่บอกความเป็นพิษของน้ำได้
มาเริ่มกันด้วยปลาเรืองแสงอย่าง Glofish ที่ดูก็รู้ว่าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติแน่นอน เพราะมันเกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรม ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้พวกมันบอกถึงสภาพความเป็นพิษของน้ำ โดยนำยีนจากแมงกะพรุนหรือดอกไม้ทะเลชนิดพิเศษไปใส่ไว้ใน DNA ซึ่งทำให้เจ้าปลาเหล่านี้โปร่งแสงและเรืองแสงได้เหมือนกับแมงกะพรุน มีการทดลองครั้งแรกโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย แห่งชาติสิงคโปร์นำโดย ดร. ซีหยวน กง (Dr. Zhiyuan Gong) โดยสามารถหาซื้อได้ทั่วไปเนื่องจากไม่มีอันตรายต่อสภาพแวดล้อมและสัตว์ชนิดอื่น ๆ แต่อย่างใด
และทั้งหมดคือสัตว์ที่ถูกดัดแปลง เพื่อใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน แต่นอกจากเพื่อการศึกษาและเพื่อให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้นแล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้เกิดลักษณะพิเศษบางอย่างอย่างเช่น แมว สัตว์เลี้ยงในบ้าน บางสายพันธุ์ก็ถูกดัดแปลงเพื่อให้น่ารักน่าเอ็นดูตอบโจทย์คนรักสัตว์มากขึ้นอีกด้วย
สามารถติดตามได้ในรายการ “ท้าให้อ่าน The Reading Hero”