ก้าวเข้าสู่ปี 2565 ตรงกับปีนักษัตร “ขาล” ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น "เสือ" การเรียกชื่อปีนักษัตรแท้จริงแล้วได้รับอิทธพลมาจากภาษาเขมรโบราณ สำหรับคนเกิดปีขาล ได้แก่คนที่เกิดปี 2457, 2469, 2481, 2493, 2505, 2517, 2529, 2541, 2553
คนเกิดปีขาล กล้าหาญ มั่นใจ ชอบการแข่งขัน เป็นที่ยกย่องในเรื่องของความกล้าหาญและทะเยอทะยาน และถึงแม้ความทะเยอทะยานจะมีมากแค่ไหน แต่คนเกิดปีเสือก็ใจกว้างพอและเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่น โดยยังคงผดุงความยุติธรรม
ทำไมต้องเป็นพี่เสือ?
ในทางจิตวิทยา สัตว์ดุร้ายเป็นตัวแทนของความน่ากลัว ซึ่งอาจหมายถึง งู จระเข้ สิงโต แต่ทำไม “เสือ” กลับถูกเลือกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในความหมายหลากหลายมิติ นั่นเพราะว่า เสือ คือสัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ มั่นใจ พละกำลัง ไหวพริบ และความเป็นอมตะ บางวัฒนธรรมใช้เสือเป็นสัญลักษณ์ทางทหารเพื่อให้ดูน่ายำเกรง รวมถึงศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธมีเสือเป็นพาหนะของเทพเจ้า ในเอเชียหลายประเทศใช้สัญลักษณ์เสือโคร่งแสดงถึงสถานะ อันดับ สถานที่ ตำแหน่ง รวมถึงเครื่องรางในความเชื่อที่แตกต่างกันอีกด้วย
และในปีเสือ 2565 นี้ จึงชวนทุกคนมาไขความลับเกี่ยวกับสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณและความเชื่อต่าง ๆ ที่ให้พี่เสือกลายเป็นพระเอก
5 เสือกับความเชื่อเชิงสัญลักษณ์
เสือพูมา ปราดเปรียว กระฉับกระเฉง
สัญลักษณ์แบรนด์แฟชั่น
PUMA โลโก้ที่ทุกคนเห็นนี้อาจคล้ายรูปแมวดำ แต่ความจริงแล้วคือ "เสือพูมา" เป็นสัญลักษณ์ทางการค้าของแบรนด์ชุดกีฬาชั้นนำสัญชาติเยอรมนี เนื่องจากเจ้าของแบรนด์เชื่อว่า เสือพูมา เป็นสัตว์ที่ปราดเปรียว กระฉับกระเฉง เคลื่อนไหวได้ดีทั้งกลางวันและกลางคืน อีกทั้งยังสามารถกระโดดได้สูงถึง 20 ฟุต ปีนป่ายภูเขาได้เก่ง บุคลิกของเสือพูมาจึงใช้สื่อถึงภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
เสือพูมา (Puma concolor) มีถิ่นกำเนิดที่ทวีปอเมริกา เป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น เสือภูเขา คูการ์ ในสหรัฐจะเรียกว่าแคตาเมานต์ เสือพูมาเป็นเสือที่ปรับตัวเก่ง จึงไม่แปลกใจที่เผ่าพันธุ์ของพวกมันรอดจากการสูญพันธุ์มาได้ในช่วงท้ายของยุคไพลสโตซีน (ก่อนยุคน้ำแข็ง) แต่ในปัจจุบันจำนวนประชากรเสือพูมาก็ลดน้อยลง และสูญพันธ์แล้วในตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ
เสือมลายู สัญลักษณ์แห่งความกล้าหาญ
และความแข็งแกร่งของชาวมาเลเซีย
เสือโคร่งมลายู (Harimau Malaya) เป็นสัตว์ประจำชาติและมีความสำคัญมากของประเทศมาเลเซีย จะเห็นได้ว่าเสือโคร่งมลายูปรากฏอยู่ในโลโก้ต่าง ๆ ในมาเลเซีย เช่น ตราตำรวจมาเลเซีย รถยนต์โปรตอน ธนาคารสากล Maybank โดยเฉพาะความภาคภูมิใจของชาวมาเลเซีย ก็คือฟุตบอลทีมชาติมาเลเซีย ที่ได้รับฉายาว่า “ฮาริเมา มาลายา” หรือ เสือโคร่งมลายู เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญและความแข็งแกร่งของชาวมาเลเซียทุกคน อีกทั้งยังมีลีลาการเล่นที่ดุดัน ไม่เกรงกลัวคู่ต่อสู้ สื่อไทยจึงให้ฉายาทีมชาติฟุตบอลมาเลเซียว่า "เสือเหลือง"
เสือมลายา หรือเสือโคร่งมาเลเซีย เป็นเสือโคร่งสายพันธุ์ใหม่ที่นักสำรวจเพิ่งค้นพบเมื่อปี 2547 และในปัจจุบันคาดการณ์ว่าเสือโคร่งมลายูกำลังเข้าขั้นวิกฤติใกล้สูญพันธู์ในปี 2565 ถูกจัดอยู่ในสัตว์ประเภท 'ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง' ภายใต้บัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 200 ตัวในป่า
เสือแอฟริกัน ความงามและความดุดัน
สัญลักษณ์พลังแห่งอิสตรี
แม้ว่าในแอฟริกาไม่มีเสือ แต่ในชนเผ่าก็ใช้แมวตัวใหญ่เป็นสัญลักษณ์ เช่น เสือดาว เสือดำ จากัวร์ คูการ์ สิงโต และเสือพูมา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังของผู้หญิง ในความหมายอีกด้านยังหมายถึงความโหดร้าย ความดุร้าย ความงาม และความรวดเร็ว มีความหมายสื่อถึงการรุกรานและการป้องกัน
หลายพื้นที่ของแอฟริกาใช้เสือเป็นสัญลักษณ์แทนสัตว์สูงสุด ตัวแทนแห่งความตาย การฟื้นคืนชีพ และความพินาศของความชั่วร้าย เชื่อกันว่าหมอผีหลายคนมีร่างเป็นเสือ ขณะนอนหลับวิญญาณเสือจะสลับเข้าร่าง นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการบูชาเสือโคร่งและแมวขนาดใหญ่เพื่อภาวนาให้พ้นจากภัยพิบัติ ขอความอุดมสมบูรณ์ และการเริ่มชีวิตใหม่
เสือโคร่งไซบีเรีย
สัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เกาหลีใต้
เสือโคร่งไซบีเรีย (Amur tiger) สัตว์ประจำชาติเกาหลีใต้ มักปรากฏในศิลปะและตำนานของเกาหลี ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นมิตร อารมณ์ขัน ความกล้าหาญ และความสูงส่ง ชาวเกาหลีมีความคุ้นเคยกับเสือมาก มีบันทึกทางประวัติศาสตร์บอกไว้ว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามป่าเขามักพบเห็นเสือเป็นประจำ จนสามารถสื่อสารกับเสือให้เชื่องกับคนได้ นอกจากนี้แผนที่บนคาบสมุทรเกาหลียังมีลักษณะเหมือนเสือโคร่งอีกด้วย
เสือโคร่งไซบีเรียถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2531 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยใช้ชื่อว่า โฮโดริ (Hodori) สื่อถึงมิตรภาพและอัธยาศัยของชาวเกาหลีใต้ ต่อมาในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2561 ณ เมืองพยองชาง ก็ได้ใช้มาสคอตเสือโคร่งไซบีเรียสีขาว ชื่อว่า ซูโฮรัง (Soohorang) แปลว่าการปกป้อง เพื่อเป็นการรณรงค์และปกป้องเสือโคร่งไซบีเรียที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในเกาหลีใต้
เสือกับความเชื่อของไทย
สัญลักษณ์ของมหาอำนาจและคงกระพัน
งานสักลายเสือมีคุณค่าทางศาสตร์และศิลป์ ตามความเชื่อของคนไทยนิยมสักเสือในตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อมหาอำนาจ อยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะลายสัก เสือเผ่น นิยมสักและบูชากันมาตั้งแต่สมัยที่บ้านเมืองยังเป็นป่าที่มีแต่เสือดุร้ายชุกชุม บวกกับความเชื่อของชาวไทยและชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อเรื่อง เสือสมิง ผีป่าหรือภูติผีวิญญาณสิ่งชั่วร้าย เมื่อผู้คนหวาดกลัว บรรดาครูบาอาจารย์จึงสร้างคาถาเสือเผ่น เพื่อ “ให้เสือเกรงกลัว จนต้องเผ่นหนี” และสร้างบารมีให้ผู้บูชามีแต่คนยำเกรง โดยเฉพาะนายพรานป่า
วัฒนธรรมการสัก หรือการกรีดผิวหนังเป็นลวดลายสัตว์ดุร้ายเพื่อพลังและอำนาจ เป็นวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสักเพื่อป้องกันภยันตรายทั้งหลาย ต่อมาก็มีวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้ามาจึงประยุกต์เป็นผ้ายันต์ และเสื้อยันต์
นอกจากยันต์เสือเผ่นที่นิยมสักกันแล้ว ยังมีการสักเสือในลวดลายอื่น ๆ แตกต่างออกไปแล้วแต่เกจิอาจารย์ เช่น ยันต์เสือเหลียวหลัง ยันต์เสือคู่ ยันต์เสือฟุบ เป็นต้น ซึ่งแต่ละลวดลายล้วนให้พุทธคุณในทางเดียวกัน คือมหาอำนาจ แคล้วคลาด คงกระพัน ผู้ใดที่บูชาด้วยการสักยันต์เสือจะต้องอยู่ในศีลธรรมอันดี พุทธคุณจึงจะสัมฤทธิ์ผล
ในอักษรไทย ส.เสือเป็นพยัญชนะตัวที่ 40 มีสูตรท่องจำว่า ส.เสือ ดาวคะนอง คำว่า เสือ ยังถูกนำมาเรียกชื่อตำแหน่งทางทหารเพื่อยกย่องว่าเก่งและกล้าหาญ เช่น ทหารเสือ เสือพราน เป็นต้น
เสือเป็นพี่ใหญ่สูงสุดของห่วงโซ่อาหาร มีบทบาทสำคัญต่อสมดุลของระบบนิเวศน์ ช่วยควบคุมจำนวนสัตว์กินพืช สัตว์นักล่าขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อไม่ให้มีมากเกินไป แม้เสือจะถูกมองว่ามีความสำคัญ แต่เสือกลับถูกล่าอย่างจริงจังด้วยน้ำมือมนุษย์ ในโอกาสปีเสือ 2565 จึงขอให้เป็นปีที่ทุกคนเริ่มตระหนัก อนุรักษ์และปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นี้เอาไว้ก่อนที่จะเหลือไว้เพียงสัญลักษณ์
ความลับของพี่เสือยังเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย หากใครเคยสงสัยว่า "เสือ" หน้าตาเหมือนกันทุกตัวหรือเปล่า ? และมีวิธีแยกลักษณะหน้าตาของเสือได้อย่างไร หาคำตอบได้ใน Kid Rangers ปฏิบัติการเด็กช่างคิด ทาง ALTV