ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
14 มิถุนายน "วันผู้บริจาคโลหิตโลก" กับเกร็ดประวัติศาสตร์การให้เลือด
แชร์
ชอบ
14 มิถุนายน "วันผู้บริจาคโลหิตโลก" กับเกร็ดประวัติศาสตร์การให้เลือด
14 มิ.ย. 65 • 17.05 น. | 453 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ทุก 2 วินาที จะมีผู้ป่วย 1 คนต้องการโลหิตเพื่อต่อชีวิต โดยการบริจาค 1 ครั้งจะสามารถช่วยได้ถึง 3 ชีวิต นี่แสดงให้เห็นว่าการบริจาคโลหิตมีความจำเป็นมากเพียงใด และเนื่องในวันที่ 14 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) ALTV จึงนำเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของการบริจาคโลหิตมาฝากกัน

การเปลี่ยนถ่ายเลือดครั้งแรกของโลก

แนวคิดการเปลี่ยนถ่ายเลือดเริ่มขึ้นในแถบยุโรป ราวศตวรรษที่ 17 หลังจากที่ วิลเลียม ฮาร์วีย์ นายแพทย์ชาวอังกฤษ ค้นพบการทำงานของหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายมนุษย์

 

ในปี ค.ศ.1665  จอห์น วิลกิน (John Wilkin) ได้ทดลองถ่ายเลือดจากสุนัขสู่สุนัขครั้งแรก โดยนำเลือดของสุนัขตัวผู้ถ่ายลงในภาชนะ แล้วฉีดเข้าหลอดเลือดของสุนัขตัวเมียผ่านหลอดฉีดยา ผลปรากฏว่าสุนัขตัวเมียที่ได้รับเลือดไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด การทดลองของจอนห์จึงถือเป็นก้าวแรกในการเปลี่ยนถ่ายเลือด ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการแพทย์อย่างมาก

 

การถ่ายเลือดในสัตว์มีให้เห็นมากขึ้น จากสัตว์สายพันธ์ุเดียวกัน ไปจนถึงต่างสายพันธุ์ระหว่างวัวกับสุนัข ซึ่งส่วนมากล้วนประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้การทดลองก้าวไปอีกขั้นอย่างการถ่ายเลือดจาก 'สัตว์' สู่ 'คน' ในปี ค.ศ. 1667 โดย ฌ็อง-บาติสต์ เดนิส (Jean Baptist Denis) ที่ได้ทดลองถ่ายเลือดจากแกะสู่เด็กชาย วัย15 ปี ที่มีอาการเลียเลือดมาก โดยจากคำกล่าวของ Tony Long เด็กชายคนนั้นรอดชีวิตมาได้อย่างน่าประหลาด โดยมีการสันนิษฐานว่าที่เด็กชายไม่เป็นอะไร เพราะเดนิสใช้เลือดแกะไม่กี่มิลลิลิตรทำให้ไม่ส่งผลอะไรต่อร่างกาย

 

แต่เดนิสไม่หยุดเพียงเท่านี้ เขาทดลองให้เลือดแกะกับคนอีก 2-3 ราย จนมีรายหนึ่งเสียชีวิตจากปฏิกิริยาเลือดเข้ากันไม่ได้ หรือเม็ดเลือดแดงแตกสลาย (Hemolytic transfusion reaction) เหตุการณ์นี้ทำให้ในเวลาต่อมารัฐสภาอังกฤษจำเป็นต้องออกกฎหมายห้ามการให้เลือด และถือเป็นสิ่งผิดกฏหมายในสมัยนั้น

ความสำเร็จแรกของการถ่ายเลือดจากคนสู่คน

ความสำเร็จของการถ่ายเลือดจากคนสู่คนครั้งแรก เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1818 โดย เจมส์ บลันเดลล์ (James Blundell) สูติแพทย์ชาวอังกฤษ จากการที่เขาต้องช่วยชีวิตหญิงสาวที่มีภาวะตกเลือดหลังคลอดบุตร แม้ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับหมู่เลือดยังไม่ถูกค้นพบ แต่เพื่อยื้อชีวิตหญิงสาว เจมส์ใช้เลือดจากสามีของเธอทดแทน จำนวน 400 มิลลิตร ซึ่งโชคดีว่าเลือดของทั้งคู่เข้ากันได้พอดี

 

เวลาล่วงเลยมาในปี ค.ศ. 1825 เจมส์ทำการทดลองถ่ายเลือดระหว่างคนอีกครั้ง ในผู้ป่วย 10 คน เขาประสบความสำเร็จ 5 ครั้งใน 10 ครั้ง เพราะเจอกับปัญหาเลือดแข็งตัวก่อนถึงผู้รับ ไปจนถึงภาวะช็อกและเสียชีวิตด้วยสาเหตุเม็ดเลือดแดงแตก จากการที่หมู่เลือดระหว่างผู้ให้และผู้รับเข้ากันไม่ได้

 

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

  • การเปลี่ยนถ่ายเลือด และการรับบริจาคเลือดครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มที่แผนกสูตนารีแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช


ค้นพบกรุ๊ปเลือด A B O และ AB

ชีวิตเราอาจไม่มั่นคงหากไม่ได้ คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวอเมริกัน-ออสเตเรีย ผู้ค้นพบว่า เลือดของคนเราสามารถแบ่งออกมาเป็นหมวดหมู่ เปฝเนที่มาของระบบจำแนกกรุ๊ปเลือด หรือ ABO system ที่ใช้กันในปัจจุบัน องค์ความรู้ของคาร์ลมีความหมายต่อคนทั้งโลก ภายหลังในปี 1930 เขาได้รับรางวัล โนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์

 

ในการทดลอง คาร์ลนำเลือดจากกลุ่มทดลองจำนวน 6 ราย มาผสมกัน เขาสังเกตว่ามีเลือดของบางรายที่จับตัวกันเป็นตะกอน (Agglutination) และไม่จับเป็นตะกอน ซึ่งแยกออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแอนติเจนเอ (A) กลุ่มแอนติเจนบี (B) ไม่มีแอนติเจน (O) กลุ่มสุดท้ายคือมีทั้งแอนติเจนเอ และแอนติเจนบี (AB)

 

การค้นพบของคาร์ลนำไปสู่การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนถ่ายเลือดที่มีความปลอดภัยสูง การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการใช้หมู่เลือดพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด


ธนาคารเลือดแห่งแรกของโลก

แนวคิดธนาคารเลือด หรือหน่วยเก็บรักษาเลือดมีมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1917 จากปัญหาการขาดแคลนเลือด และการเก็บรักษาที่ต้องได้มาตรฐาน ทำให้ Oswald Hope Robertson แพทย์ชาวอังกฤษ เกิดไอเดียก่อตั้งสถานที่รับบริจาคและเก็บเลือดขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ในเวลาต่อมา Bernard Fantus และทีมแพทย์ ร่วมกันก่อตั้งธนาคารเลือด (ฺBlood Bank) แห่งแรกของโลก ที่โรงพยาบาล Cook County ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1937 และอีก 10 ปีให้หลัง ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2489 ไทยได้จัดตั้งหน่วยถ่ายเลือดที่โรงพยาบาลศิริราช และนับว่าเป็นธนาคารเลือดแห่งแรกของประเทศไทย

 

ทิปส์เล็ก ๆ เตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต

  • ดื่มน้ำมาก ๆ โดยเฉพาะก่อนถึงวันบริจาคโลหิต 1-2 วัน และก่อนบริจาค 3 – 4 แก้ว เพื่อลดความเสี่ยงภาวะขาดน้ำ
  • งดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ก่อนบริจาคโลหิต 24 ชั่วโมง
  • ไม่ควรเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายหนัก จนร่างกายเสียเหงื่อมากก่อนบริจาคโลหิต 1 วัน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
  • รับประทานอาหารก่อนบริจาคโลหิต อาจเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#บริจาคเลือด, 
#วันผู้บริจาคเลือดโลก, 
#บริจาคโลหิต, 
#การเปลี่ยนถ่ายเลือด, 
#กรุ๊ปเลือด, 
#ABOsystem, 
#WorldBloodDonorDay, 
#ประวัติศาสตร์, 
#เจมส์บลันเดลล์, 
#วิทยาศาสตร์การแพทย์, 
#บริจาคเลือดครั้งแรก 
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#บริจาคเลือด, 
#วันผู้บริจาคเลือดโลก, 
#บริจาคโลหิต, 
#การเปลี่ยนถ่ายเลือด, 
#กรุ๊ปเลือด, 
#ABOsystem, 
#WorldBloodDonorDay, 
#ประวัติศาสตร์, 
#เจมส์บลันเดลล์, 
#วิทยาศาสตร์การแพทย์, 
#บริจาคเลือดครั้งแรก 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา