โลกใบนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย "ความเครียด” ก็มักจะพรากความสุขจากเราไปทำให้ห่อเหี่ยวและสิ้นหวัง บางครั้งมันก็เป็นเรื่องยากสำหรับใครบางคนในการมีชีวิตให้ผ่านพ้นแต่ละวัน แต่ก็ยังมีคน ๆ หนึ่งที่ใช้ความชอบมาบำบัดจิตใจตัวเอง
ไฮไลต์
วันนี้เราจะชวนให้ทุกคนมาทำความรู้จักผู้หญิงคนหนึ่งผู้ซึ่งมีความชอบเพียงหนึ่งเดียว คือ แฟชั่น สิ่งนี้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิต และช่วยบำบัด "โรคแพนิก" (Panic Disorder) ของเธอให้ดีขึ้น
“บุ้ง” สาวมาดเท่ วัย 35 ปี เรียนจบเอกภาษาอังกฤษ แต่มีใจรักที่อยากทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเฟ้นหาวัสดุที่ใช้ในการตัดเย็บ เทคนิคการทำเสื้อผ้า การทำแพทเทิร์น รวมถึงในด้านการตลาดด้วย
ความสนใจด้านแฟชั่นของบุ้ง เริ่มจากการเสพดนตรี เสพนิตยสารวัยรุ่นค่อย ๆ ซึมซับไอเดียการแต่งตัวมากมาย จนเกิดเป็นความชื่นชอบชนิดที่ว่าเอาตัวเองไปอยู่ในจุดไหนก็ได้ในวงการผ้าและแฟชั่น
อาจดูเหมือนว่าชีวิตบุ้งน่าจะค่อย ๆ เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่แล้ววันหนึ่งความบิดเบี้ยวของจิตใจก็นำพาชีวิตของบุ้งให้เข้ามารู้จักกับ “โรคแพนิก”
เริ่มต้นเลย ตอนนั้นทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งอยู่ชั้น 40 กว่า ระหว่างลงลิฟท์คนเดียว อยู่ดี ๆ ก็รู้สึกมึนหัว หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่เต็มอิ่ม เหงื่อออก ควบคุมใจตัวเองไม่ได้ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองดีขึ้น ด้วยการกำหนดลมหายใจเข้าออก สูดอาการบริสุทธิ์ ประมาณ 15 นาที อาการมันก็ดีขึ้น แต่พอหลังจากนั้นอาการมันก็เริ่มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ตอนกลางคืนก็มีอาการ เหมือนอยู่ดี ๆ สะดุ้งตื่นขึ้นมาเหมือนคนกำลังจะตายคือหายใจไม่ออก พีคสุดนอนอยู่ดี ๆ ก็ตื่นกลางดึกเพราะเกิดหัวใจเต้นแรง จนให้พี่สาวรีบพาไปหาหมอ เข้าห้องฉุกเฉิน วัดคลื่นหัวใจ พอตรวจร่างกายแล้วพบว่า “หัวใจก็ปกติ” และอาการก็หายไปด้วย จำได้ว่าช่วงนั้นไปตรวจร่างกายบ่อยมาก รู้สึกทรมานมากเพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรแน่ จนมีอยู่วันหนึ่งพี่สาวลองไป search google ดูแล้วบอกว่าอาการของเราคล้ายคนเป็นโรคแพนิก ซึ่งมันตรงกับที่เราเป็นเลย ตอนนั้นก็ยังไม่เชื่อ เรานี่นะจะเป็น “โรคแพนิก” มันเป็นไปไม่ได้หรอก!
บุ้งเล่าว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้จักโรคแพนิกเลย เข้าใจเหมือนคนทั่วไปที่ชอบพูดว่า “แพนิกไปเองหรือเปล่า” ไม่คิดว่ามันจะเป็นโรคทางจิตเวช สุดท้ายก็ตัดสินใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเดิมแต่เป็นแผนกจิตเวช แค่เล่าอาการให้หมอฟัง หมอก็ฟันธงเลยว่าเธอเป็นโรคแพนิก
แค่เดินเข้าไปหาหมอเล่าอาการนี่คือน้ำตาไหลแล้ว บอกกับหมอว่าเราเป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นแบบนี้แล้วมันทรมานมาก ก็เล่าอาการให้หมอฟังจนได้รับยามากินประมาณ 1 เดือน หลังจากกินยา "แค่คืนแรก" อาการตื่นกลางดึกก็ไม่มีแล้ว หลับสบาย ภายในระยะเวลา 1 เดือนอาการมันยังมีอยู่นะ แต่มันน้อยลงจนเราเริ่มมั่นใจแล้วว่าตัวเองเป็นแพนิกชัวร์ ๆ และเรียกโรคนี้เป็นชื่อเล่นว่า “น้องแพนิก”
หลังจากที่ได้ฟังอาการต่าง ๆ ของบุ้งแล้ว ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า “น้องแพนิก” เกิดจากสาเหตุอะไร ทำไมอาการเพิ่งมาเป็นเอาตอนนี้
อาการทั้งหมดอาจมีพื้นฐานมาจาก “ความเครียด” ยิ่งพอเข้าสู่วัยทำงาน ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ บางครั้งเราเครียด แต่เราไม่รู้ว่าร่างกายกำลังเครียด บวกกับนิสัยส่วนตัวที่ก่อนจะทำอะไรจะคิดเยอะ คิดซับซ้อน คิดกลับไปกลับมา กังวลว่าสิ่งที่เราทำจะดีไหม? คนอื่นจะชอบไหม? ซึ่งคนวัยนี้หลายคนเป็นกันเยอะ และคน ๆ หนึ่งสามารถเป็นแพนิกผสมกับโรคซึมเศร้าประเภทอื่นได้ ควรไปให้หมอวินิจฉัยอาการ
อาการแพนิกของบุ้งมักจะแสดงออกทางร่างกาย “ความเครียด” มีผลทำให้สารเคมีในสมองไม่เท่ากัน บวกกับสัญชาติญาณความกลัว ความกังวลเมื่อร่างกายเกิดอาการแพนิก บุ้งยังเล่าอีกว่าด้วยความคิดที่ "กลัวตาย" ของคนที่เป็นโรคนี้ ขอให้วางใจได้เลยว่า “ไม่ทำร้ายตัวเองแน่นอน” แต่ถึงอย่างไรในด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ “น้องแพนิก” ไม่ค่อยมีผลกับบุ้งสักเท่าไหร่
น้อยคนนักที่จะเข้าใจอาการของคนเป็นโรคนี้ ภาวะแพนิกจึงมีผลต่อความรู้สึกและการใช้ชีวิตของบุ้งไม่น้อย เพราะต้องคอยกังวลว่าร่างกายจะผิดปกติขึ้นมาตอนไหน
ตอนที่เพิ่งเข้ารับการรักษาใหม่ ๆ เวลาไปที่ที่มีคนเยอะ บางครั้งก็ยังมีอาการโผล่มาบ้างในเวลาและสถานการณ์ที่ต่างกันโดยเฉพาะตอนอยู่ท่ามกลางฝูงคนมาก ๆ ตอนเล่าอาจขำ ๆ แต่ตอนอาการมันมา “ไม่ขำเลย” อย่างครั้งแรกอาการแพนิกเกิดขึ้นในลิฟท์ บางครั้งก็เกิดอาการระหว่างที่รอรถสาธารณะ มีอยู่ครั้งนึงนอนสระผมที่ร้านอยู่ดี ๆ ก็เกิดอาการหายใจไม่ออกขึ้นมาดื้อ ๆ จนต้องขอตัวออกไปสูดอากาศข้างนอกทั้งที่หัวยังเปียกอยู่ ทำให้กลัวการใช้ชีวิตนอกบ้านไปเลย
นอกจากการกินยาแล้วบุ้งก็มีเทคนิคส่วนตัวเพื่อช่วยการบรรเทาอาการแพนิก คือการอมลูกอม หรือดมยาดม รวมทั้งการกำหนดลมหายใจเข้า-ออกอย่างช้า ๆ เพื่อควบคุมภาวะหัวใจเต้นแรงให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีไม่เหมือนกัน
สิ่งสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงให้บุ้งสามารถอยู่ร่วมกับน้องแพนิกได้อย่างมีความสุข นั่นก็คือ การทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง เมื่อพูดถึงสิ่งนี้สายตาของบุ้งก็เริ่มเป็นประกายและเกิดรอยยิ้มแห่งความสุข จนทำให้เราลืมเรื่องโรคแพนิกของเธอไปเลย
จริง ๆ แล้วเราไม่ได้จบสายแฟชั่นมาเลย แต่มาด้วยใจล้วน ๆ อาศัยการเรียนรู้จากการทำงานในบริษัทที่เกี่ยวกับสิ่งทอและแบรนด์เสื้อผ้า ควบคู่กับการลงคอร์สเรียนแฟชั่นดีไซน์ ตั้งใจไว้ว่าสักวันหนึ่งจะมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองให้ได้ และหวังว่ามันจะกลายเป็นอาชีพได้ในอนาคต
ในที่สุดสิ่งที่บุ้งตั้งใจไว้ก็ได้เริ่มต้น เกิดเป็นแบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงแนวสตรีทที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชื่อว่า Charlotte in the wood
ที่มาของชื่อแบรนด์ได้ไอเดียมาจากหนังเรื่อง Alice in the wonderland โดยคำว่า Charlotte เป็นชื่อเล่นที่ครูสอนภาษาฝรั่งเศสตั้งให้สมัยเรียนมัธยม นำมาผสมกับคำว่า in the wood ทำให้แบรนด์มีความเป็นผู้หญิงและมีเรื่องราวสุดจินตนาการ
“อยากทำเสื้อผ้าให้ลูกค้าใส่แล้วสนุกและมีความสุขกับการแต่งตัว” - บุ้ง Charlotte in the wood
จุดเริ่มต้นการทำแบรนด์เสื้อผ้าของบุ้ง คือ อยากทำเสื้อผ้าให้คนใส่แล้วสนุกและมีความสุขกับการแต่งตัว ให้คุณได้ครีเอทลุคเป็นของตัวเองได้หลากหลายแบบภายใต้เสื้อผ้าชิ้นเดียวกัน อย่างถ้าใส่เสื้อตัวนี้กับเครื่องประดับชิ้นโปรดก็จะได้ลุค Party หรือเป็นเสื้อตัวเดิมที่แค่ใส่กับรองเท้าสีดำก็เปลี่ยนเป็นลุคเท่ได้
เราไม่ได้กำหนดเลยว่าคนที่ซื้อเสื้อผ้าของเราไปจะต้องเป็นผู้หญิงแบบไหน คุณไม่จำเป็นต้องแต่งตัวจัด หรือแต่งตัวเก่ง เพราะไม่ว่าคุณจะแต่งตัวยังไงมันก็เป็น DNA หรือตัวตนของคุณ ขอเพียงคุณสนุกและมีความสุขกับการแต่งตัวในแบบที่เป็นตัวเองด้วยเสื้อผ้าของเรา เท่านี้ก็ถือว่าตรงกับสิ่งที่ตั้งใจไว้แล้ว
Charlotte in the wood เป็นเสื้อผ้าสตรีทแคชวลง่าย ๆ ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถหยิบจับมาสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน โดยเสื้อผ้าแต่ละชิ้นมีกิมมิกเล็ก ๆ เอาไว้เพื่อเพิ่มความสนุกทุกครั้งที่ได้ใส่ เช่น เสื้อเชิ้ตแขนสั้นเรียบ ๆ แนว Casual เพิ่มลูกเล่นที่เนื้อผ้า โดยเลือกผ้าที่มีความเงา เล่นแสงได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เพิ่มการตัดเย็บ “เว้าที่ไหล่” เล็กน้อยเพื่อให้ดูเซ็กซี่นิด ๆ หรือจะเป็น “เดรสสไตล์ผู้หญิ๊งผู้หญิงที่มีแขนระบาย” เลือกใช้ผ้าลายปริ้นที่แตกต่างกัน และเพิ่มลูกเล่นตัดเย็บต่างระดับที่ชายกระโปรงให้ดูซุกซน
ไม่เพียงเท่านี้เสื้อผ้าทุกชิ้นยังมีชื่อเรียกประจำตัว โดยหยิบชื่อตัวละครหญิงในภาพยนตร์หรือคนดัง มาใช้กับเสื้อผ้าเพื่อให้ได้กลิ่นอายของตัวละครนั้น เช่น Hayley dress, Cecile Dress, Freesia top, Nancy pants
โดยเสื้อผ้ากว่า 10 แบบเริ่มต้นขายทางออนไลน์ทั้งทาง Instagram และ LineOfficial รวมถึงร้านฝากขายย่านเจริญกรุงเพื่อจับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ
แม้จะลงมือทำด้วยใจรัก แต่ก็มีอุปสรรคเข้ามาบ้าง “การทำการตลาดออนไลน์” เป็นสิ่งที่ยากมาก ๆ สำหรับบุ้ง เพราะไม่มีพื้นฐานเรื่องนี้เลย
เราไม่รู้ว่าการลงทุนยิงโฆษณาออนไลน์แต่ละครั้ง ผลตอบแทนมันจะคุ้มค่าไหม แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้นะ พยายามหาความรู้ สอบถามจากคนรู้จักที่ทำแบรนด์เสื้อผ้าเหมือนกัน หรือคนรอบตัวที่พอจะให้คำแนะนำดี ๆ กับเราได้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลผลลัพธ์ก็อยู่ที่ "การลงทุน" ในการโปรโมทของแต่ละแบรนด์
“โควิด” ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคครั้งใหญ่ของบุ้งรวมถึงใครหลายคนเลยก็ว่าได้ 2 - 3 ปีที่ผ่านมามีการระบาดหลายระลอก คนเริ่มระวังเรื่องการใช้เงินมากขึ้นต่างจากเมื่อก่อน ทำให้บุ้งต้องชะลอการผลิตเสื้อผ้าและคอยประคองสภาพจิตใจที่ท้อแท้สิ้นหวัง
ตอนที่เราทำแบรนด์และเริ่มถ่ายแบบเสื้อผ้าเป็นช่วงโควิดแบบพีค ๆ คือมันกระทบเราตลอดตั้งแต่โควิดเริ่มต้น โควิดตอนกลาง จนถึงตอนนี้เป็นตอนปลายหรือยังก็ไม่รู้ ท้อเหมือนกันนะเรื่องโควิดเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราดาวน์สุด ๆ
แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ทำให้บุ้ง “หัวใจฟู” นั่นคือการได้ตอบแชทลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาชื่นชมเสื้อผ้าของเธอ ต้องยอมรับเลยว่า การทำเสื้อผ้าเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิต ช่วยบำบัดอาการแพนิกของบุ้งได้จริง ๆ
สำหรับ Project เสื้อผ้าในอนาคตยังมีอะไรสนุก ๆ ให้บุ้งได้ทำอีกมากมาย ล่าสุดบุ้งมีแพลนที่จะทำคอลเล็กชันใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุดกีฬา
เราเป็นคนที่เสพกีฬาเยอะ อย่างฟุตบอล หรือ MotoGP ซึ่งมันทำให้เราอินประมาณหนึ่ง อาจจะไม่ใช่คอลเล็กชันสปอร์ตแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากกีฬาพวกนี้ คือแค่ยกโครงแล้วเอามาทำให้มันใส่ง่าย ใส่ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างชุดแข่งรถมันจะมี Cutting บางอย่างที่เป็นการเอาผ้ามาต่อกันเยอะ ๆ ซึ่งเราอาจจะเอามาทำเป็นแจ็กเก็ตตัวหนึ่ง หรือเสื้อแขนยาวตัดต่อให้มันเป็นเสื้อผู้หญิง
สำหรับคนที่เป็นแพนิก อยากให้คุณรู้ไว้ว่า "คุณไม่ได้โดดเดี่ยว" เพราะด้วยภาวะความเครียด ณ ปัจจุบัน มีคนที่เป็นโรคแบบนี้เยอะ ใครที่สงสัยว่าอาจจะเป็นแพนิก แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ อย่ากลัวว่าการป่วยเป็นโรคทางจิตเวชจะเป็นโรคน่ารังเกียจหรือน่าอาย อยากให้เข้าไปเปิดใจกับหมอและรักษาให้มันดีขึ้นแล้วกลับมาใช้ชีวิตให้เต็มที่ดีกว่า"
ส่วนคนที่ยังค้นหาความชอบของตัวเองไม่เจอ เราว่า “ความชอบ” ไม่จำเป็นต้องเอามาเป็นอาชีพเสมอไป เพราะความชอบเกิดขึ้นได้จากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวเรา ซึ่งเราสามารถมีความสุขกับมันได้ อย่างเช่น การชอบดูซีรีส์ที่ทำให้เรานั่งดูได้เป็นชั่วโมง บางคนดูได้ยันเช้า นั่นก็เรียกว่าเป็นความสุขที่เกิดจากความชอบอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถทำควบคู่ไปกับการทำงานประจำได้ ขอเพียงแค่คิดอะไรที่มันง่าย ๆ ไม่ต้องคิดมาก “ให้ชีวิตมีพาร์ตของความสุขบ้างก็เพียงพอแล้ว”
สังคมโซเชียลที่ให้กำลังใจผู้ที่เป็นแพนิก
ขอบคุณสถานที่ : ร้าน thirtyunderscoresixth (30_6) , โครงการ Warehouse 30