ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
ย้อนรอยต้นกำเนิด "สัตว์บำบัดใจ"
แชร์
ชอบ
ย้อนรอยต้นกำเนิด "สัตว์บำบัดใจ"
15 พ.ย. 64 • 11.55 น. | 1,208 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

เครียดจากงานมาทั้งวัน แต่พอได้เห็นเพื่อนสัตว์สี่ขานั่งรออยู่หน้าบ้านก็ดันหายเป็นปลิดทิ้ง หรือเพียงได้ดูคลิปสัตว์น่ารัก ๆ ก็เรียกรอยยิ้มได้แล้ว ไม่แปลกหากคุณรู้สึกอย่างนั้น เพราะงานวิจัยหลายชิ้นได้ออกมายืนยันแล้วว่าสัตว์ช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นจริง!

งานศึกษา ชื่อว่า Psychiatric Assistance Dog Use for People Living With Mental Health Disorders ได้สำรวจผู้ป่วยในประเทศออสเตรีย จำนวน 200 คนที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต อาทิ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคเครียดจากเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) กว่า 94% บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขารู้สึกเครียดและวิตกกังวลน้อยลงเมื่อได้คลุกคลีกับสุนัขบำบัด แสดงให้เห็นว่านอกจากเป็นเพื่อนเล่นในยามเหงาแล้ว ยังช่วยคลายเครียดได้อีกด้วย!

ด้วยเหตุนี้เอง สัตว์บำบัด (Animal Assistance Therapy) จึงเป็นอีกทางเลือกในการเยียวยาร่างกายและจิตใจของคนทั่วโลก รวมถึงในไทยเองก็ได้นำมาเสริมเข้ากับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อฟื้นฟูสุขภาพกายใจของผู้ป่วยด้วย

รากฐานแห่งสัตว์บำบัด

ย้อนความกลับไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ในอดีตกาล มนุษย์ใช้ประโยชน์จากสัตว์แทบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะนำมาเป็นอาหาร ทำเครื่องนุ่งห่ม หรือใช้แรงงาน แม้กระทั่งในหน้าประวัติศาสตร์กองทัพก็เข้ามามีบทบาทมากมายจนเราคาดไม่ถึง สังเกตได้จากการมีอยู่ของม้าทหาร สุนัขเฝ้ายาม นกพิราบสื่อสาร จนในท้ายที่สุดมนุษยชาติ ก็ได้ค้นพบว่า ในด้านการบำบัดรักษาสัตว์ก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน

ไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าคนเราเริ่มใช้ประโยชน์จากสัตว์ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พบร่องรอยที่ถูกทิ้งเอาไว้โดยชาวกรีกโบราณ ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาใช้ประโยชน์จากสัตว์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ม้าเป็นยานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือการเลี้ยงสุนัขล่าเนื้อ

Greek reporter รายงานไว้ว่า ชาวกรีกโบราณมีความผูกพันกับสัตว์และนิยมมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ตั้งแต่สุนัขไปจนถึงงู พิสูจน์ได้จาก ภาพวาด งานเขียน งานประติมากรรมรูปทรงสัตว์หลากหลายชนิดจากยุคกรีก แม้กระทั่งป้ายหลุมศพของผู้เสียชีวิตก็ยังมีการสลักรูปของสัตว์เลี้ยงอยู่คู่กับเจ้าของอีกด้วย

ซึ่งในบรรดาประติมากรรมเหล่านี้ มีบางชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับการเยียวยาความเจ็บป่วย นั่นคือ รูปปั้นโลหะสำริดรูปทรงสุนัขที่กำลังแลบลิ้น ที่เชื่อว่าถูกปั้นขึ้นเพื่อสักการะบูชาเทพเจ้าแห่งการเยียวยารักษา นามว่า Asklepios เนื่องจากผู้คนสังเกตเห็นถึงความสามารถของสุนัขที่เยียวยารักษาบาดแผลได้ด้วยน้ำลายของพวกมันเอง 

ที่มา: National museum wales

นอกจากนี้ ลูวิส ริชาร์ด ฟาร์เนลล์ นักวิชาการชาวอังกฤษยุุคคลาสิก ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาว่า วัดโบราณที่ให้ที่พักแก่ผู้ป้วย มักปล่อยให้สุนัขเดินเตร่ไปรอบ ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายให้แก่ผู้ที่กำลังรักษาตัว

จนในช่วงทศวรรษที่ 1960 ได้มีการค้นคว้าเกี่ยวกับสัตว์บำบัดครั้งแรก โดย บอริส เลวินสัน นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่สังเกตเห็นว่าผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจ รู้สึกผ่อนคลายและเข้าสังคมมากขึ้น แต่งานศึกษาของเขากลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะผู้คนต่างมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

จนเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 สัตว์บำบัดจึงได้ถือกำเนิด เนื่องจากผู้คนได้เห็นถึงความสามารถในการเยียวยาจิตใจของเหล่าสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน แม้ว่าจะเป็นสาขาค่อนข้างใหม่แต่ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และกำลังพัฒนาไปสู่จิตวิทยากระแสหลัก สังเกตได้จากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีการเปิดสอนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาด้านการบำบัดด้วยสัตว์ อาทิ มหาวิทยาลัยนอร์ทเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

สัตว์บำบัดให้อะไรบ้าง

  • บำบัดใจ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่าการมีสัตว์คู่ใจอยู่เคียงข้างทำให้คุณสุขภาพกายและใจดีขึ้นด้วยการช่วยลดระดับความวิตกกังวล เพิ่มการหลั่งของเซโรโทนินและออกซิโตซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข เคยมีการทดลองใช้สุนัขบำบัดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม และออทิสซึม ผลปรากฏว่าการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • บำบัดกาย เมื่อจิตใจผ่อนคลายลง ระดับความเครียดก็ลดลงไปด้วย ทำให้ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายด้วยเช่นกัน เมื่อจิตใจสงบ การหายใจและความดันโลหิตก็จะลดลงไปด้วย นำมาซึ่งสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ดีขึ้นในที่สุด

จะเข้าถึงสัตว์บำบัดได้อย่างไร

1. มีสัตว์เลี้ยงนักบำบัด

เริ่มมีสัตว์เลี้ยงคู่ใจสักตัว เป็นอีกวิธีที่ไม่เลวสำหรับผู้ที่มีความพร้อมและเวลา จากคำกล่าวอ้างของ Pete Wedderburn สัตวแพทย์ชื่อดังชาวอังกฤษ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีกับสุนัข มีระดับความเครียดลดลงเทียบเท่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้เวลาพักผ่อน 20 นาที

เพื่อความสุขของทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงนักบำบัด ในเบื้องต้นอาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ค่าใช้จ่าย เพราะสัตว์ทุกตัวสมควรได้รับการดูแลจากเจ้าของ สิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอน คือค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อาหารไปจนถึงค่าดูแลรักษาพยาบาล ในกรณีสัตว์นักบำบัดของคุณเจ็บป่วย หรือสัตว์บางชนิดต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมหรือที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน สัตว์แต่ละชนิดต้องการพื้นที่มากน้อยต่างกันไป ซึ่งนอกจากพื้นที่แล้วยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีก เช่น ในบ้านมีเด็กเล็ก หรือสมาชิกที่แพ้ขนสัตว์ ก็ต้องพิจารณาเลือกสัตว์บำบัดให้เหมาะสม 
  • วิถีชีวิตของคุณ ไม่มีเวลา ต้องไปทำงานที่ไกล ๆ ไม่ค่อยได้กลับบ้าน ก็ขอให้คิดสักนิดก่อนเลี้ยงสัตว์ เพราะเหล่าสัตว์ทั้งหลายก็ต้องการเวลาและการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของเช่นกัน
  • เลือกสัตว์ให้เหมาะสม เพราะเป้าหมายการบำบัดคือความสบายใจ การเลือกสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมจึงสำคัญมาก ในการบำบัดมักใช้สุนัขสายพันธุ์ที่เป็นมิตร ไม่ดุร้าย เช่น ลาบราดอร์ หรือ โกลเดน ริทริฟเวอร์ หรือสัตว์เลี้ยงพันธุ์อื่น อย่างปลาหรือกระต่าย 
อีกทางเลือกเพื่อการบำบัดที่ได้ประสิทธิภาพ ในวันนี้เราสามารถนำสัตว์เลี้ยงเข้าการฝึกอบรม "หลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย" เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงนักบำบัดเต็มตัวได้แล้วที่ Therapy dog Thailand 

 

2.ใช้บริการตามสถานบริการ

ในไทยมีสถานที่ให้บริการสัตว์บำบัดหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ คลินิกอาชาบำบัด ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะช่วยให้เข้าถึงศาสตร์การบำบัดอารมณ์ด้วยม้า หรือวิธีที่ง่ายและรวดที่สุดอาจเริ่มด้วยการเอาตัวเข้าไปอยู่ใกล้กับเหล่าสัตว์ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น คาเฟ่หมา คาเฟ่แมว หรือ อควาเรียม ก็เป็นอีกวิธีที่น่าลอง 

 

5 สัตว์บำบัดใจ ไล่ความเหงา

สุนัข

สุนัขเป็นที่นิยมใช้ในการบำบัดมากที่สุด ด้วยความขี้เล่นและเป็นมิตร จึงทำให้ผู้คนหลงรักได้ตั้งแต่แรกเห็น พวกมันโปรดปรานการวิ่งเล่นในพื้นที่กว้าง การเลี้ยงสุนัขจะช่วยให้คุณได้เคลื่อนไหวร่างกายตัวเองมากขึ้น ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงแถมยังลดเครียดได้

แมว 

แมวคือสัตว์บำบัดยอดนิยมเคียงคู่กันมากับสุนัข มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุไว้ว่า การลูบไล้ขนแมว สามารถช่วยลดความวิตกกังวลได้ดี นอกจากนี้พวกมันมีนิสัยรักสงบที่มาพร้อมกับขนาดตัวเล็กกระทัดรัด จึงไม่ต้องการพื้นที่มากเท่ากับสุนัข เหมาะอย่างยิ่งกับวิถีชีวิตคนเมือง ที่มักพักอาศัยอยู่ในคอนโด หอพัก หรือ อพาร์ตเมนต์

ม้า  

ถึงจะพบเห็นได้ไม่บ่อยนักเพราะขนาดตัวที่ใหญ่เกินกว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้าน แต่ม้าก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในการบำบัดเช่นกัน ในวารสารการแพทย์ Health Benefits of Animal-Assisted Interventions ระบุไว้ว่า การจูงม้าช่วยลดความเครียดได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

กระต่าย 

บางครั้งก็จำเป็นต้องมีสัตว์บำบัดที่ทั้งตัวเล็กและไม่ส่งเสียงรบกวน เพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่กลัวสุนัขและแมว นอกจากนี้ยังเลี้ยงง่าย ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มาก มีผลงานศึกษาที่ชื่อว่า Reduction of state-anxiety by petting animal in a controlled laboratory experiment ระบุไว้ว่าการได้ลูบไล้ขนกระต่าย ช่วยคลายความวิตกกังวลลงได้แม้กระทั่งในกลุ่มคนที่บอกว่าตัวเองไม่ชอบสัตว์ 

ปลา 

นอกจากเพื่อนขนปุยแล้ว สัตว์น้ำอย่างปลาก็ใช้บำบัดได้เหมือนกัน บางคนที่ชื่นชอบการไปอควาเรียมคงเข้าใจดีถึงความสบายใจที่ได้จากการดูปลา ซึ่งก็มีผลงานวิจัยที่ยืนยันแล้วว่าการดูปลาช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจได้จริง นอกจากนี้มีผลการศึกษาที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่ง ชื่อว่า Animal-Assisted Therapy and Nutrition in Alzheimer’s Disease ได้ทดลองให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์รับประทานอาหารหน้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีปลาสีสันสดใส ปรากฎว่าพวกเขาทานอาหารได้มากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังเซื่องซึมน้อยลง

 

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกอยากมีสัตว์เลี้ยงคู่ใจไว้คลายเศร้าสักตัว ซึ่งสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงนอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากสัตว์แล้ว คือ 'ความรับผิดชอบ' ในการเลี้ยงดูที่ต้องมาพร้อมกัน เพราะท้ายที่สุด สัตว์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจไม่ต่างอะไรกับเรา

 

ทำความรู้จักและสัมผัสกับศาสตร์แห่งสัตว์บำบัด ได้ที่ รายการ สัตว์บำบัดโลก ทุกวันศุกร์ เวลา 13.40 - 14.40 น. ทาง ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก หรือทางเว็บไซต์ www.ALTV.tv/AnimalTherapy 

 

ที่มา: Medical News Today National PureBred Dog Alliance Therapy Dog ReserchGate Greek Reporter Time

 

  

แท็กที่เกี่ยวข้อง
##สัตว์บำบัด#สัตว์เลี้ยง#สุขภาพจิต#ทาสหมา#ทาสแมว#บำบัดทางเลือก#โรคซึมเศร้า#PetTherapy#AAT#Animal 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
##สัตว์บำบัด#สัตว์เลี้ยง#สุขภาพจิต#ทาสหมา#ทาสแมว#บำบัดทางเลือก#โรคซึมเศร้า#PetTherapy#AAT#Animal 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา