"ประโยค" เป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการทำให้ประโยคชัดเจนและสมบูรณ์จึงเป็นพื้นฐานที่เราควรรู้ นอกจากนี้โครงสร้างประโยคที่ดี สามารถช่วยให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารมากขึ้นอีกด้วย
"ประโยค" คืออะไร ทำไมจำเป็นต้องรู้ ?
ประโยค คือ คำหรือข้อความที่นำมาเรียบเรียงจนมีเนื้อความครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้สามารถเข้าใจได้ว่า ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ในประโยคทั่วไปจะมีโครงสร้างใหญ่ ๆ คือ ภาคประธาน และภาคกริยา โดยจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ ซึ่งนอกจากคำศัพท์ที่เราต้องใช้ในการสื่อสารแล้ว การรู้จักเรียบเรียงและจำแนกประโยคสามารถช่วยให้การสื่อสารไม่คลาดเคลื่อน จนเกิดความเข้าใจผิดระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารได้อีกด้วย
ภาคประธาน: คือ ส่วนของผู้กระทำหรือแสดงอาการ ซึ่งก่อนเกิดการกระทำหรือเหตุการณ์ใด ๆ จะต้องมีต้นเหตุของความคิดหรือการกระทำนั้นเสมอ เราเรียกส่วนนี้ว่า “ภาคประธาน” ประกอบด้วยคำนามหรือสรรพนาม ส่วนขยายประธานต่าง ๆ
ภาคแสดง: คือ ส่วนแสดงอาการของภาคประธาน แบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ บทกริยา บทขยายกริยา บทกรรม และบทขยายกรรม ภาคแสดงจะทำให้ประโยคสมบูรณ์
⭐ในประโยคหนึ่งต้องประกอบด้วย บทประธาน และบทกริยา เสมอ บทกรรมจะมีหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับกริยาของประธานว่าเป็นกริยาแบบใด หากเป็นอกรรมกริยา ไม่จำเป็นต้องมีกรรมมารองรับ แต่ถ้าเป็นสกรรมกริยาจะต้องมีกรรมมารองรับเสมอ นอกจากนี้อาจทำให้ประโยมีความแจ่มชัดขึ้น ด้วยการใช้ส่วนขยายอื่น ๆ เพิ่มเติมในประโยคได้
ชนิดประโยคในภาษาไทย มีอะไรบ้าง?
การแบ่งชนิดประโยคสามารถแบ่งได้หลายวิธี ขึ้นอยู่ว่าจะใช้เกณฑ์แบบไหน
🔵แบ่งตามเจตนาผู้ส่งสาร
- ประโยคบอกเล่า หรือประโยคแจ้งให้ทราบ คือประโยคที่บอกถึงเหตุการณ์ เรื่องราว ว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยมีเจตนาเพื่อแจ้งให้ทราบ หรือบอกเล่า
- ประโยคปฏิเสธ คือประโยคที่มีใจความไม่ตอบรับข้อเสนอ ข้อตกลงของผู้พูด ตรงข้ามกับประโยคบอกเล่า มักมีคำว่า ไม่ ไม่ได้ มิได้ ไม่ใช่ มิใช่ ฯลฯ อยู่ด้วยเสมอ
- ประโยคคำถาม หรือประโยคถามให้ตอบ คือประโยคที่มีใจความต้องการคำตอบ มีจุดสังเกตที่คำแสดงการถามที่อยู่หน้าประโยค หรือท้ายประโยค เช่น ใคร ที่ไหน อะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ฯลฯ
- ประโยคคำสั่ง/ ขอร้อง /ชักชวน คือประโยคที่มีใจความแสดงความต้องการ อาจมาในรูปแบบ คำสั่ง ชักชวน ขอร้อง ในบางครั้งจะมีการละประธานบุรุษที่ 2 ไว้ เว้นแต่มีการเจาะจงไปที่ประธานโดยตรง
🔵แบ่งตามโครงสร้าง
- ประโยคความเดียว คือประโยคที่มีใจความเดียว ประกอบด้วย บทประธาน บทกริยา บทกรรม (ถ้ามี) เพียงอย่างละ 1 เท่านั้น
- ประโยคความรวม คือประโยคความเดียว 2 ประโยคขึ้น โดยมีคำสันธานเป็นตัวเชื่อม
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความคล้อยตามกัน มีใจความสอดคล้องกัน ประกอบด้วยประโยคความเดียว 2 ประโยคขึ้นไป มีคำสันธาน และ, ทั้ง…..และ เป็นคำเชื่อม เช่น พ่อและแม่ไปต่างจังหวัด
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความขัดแย้งกัน มีใจความขัดแย้งกัน มีกริยาตรงข้ามกัน มักมีคำสันธาน แต่, แต่ว่า, แม้….ก็ เป็นคำเชื่อม เช่น ฉันรักเขา แต่เขาไม่รักฉันเลย
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง มีใจความให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง มักมีคำสันธาน หรือ, หรือไม่ก็, ไม่…..ก็ เป็นคำเชื่อม ตัวอย่าง เธอจะกินชาหรือกาแฟ
- ประโยคความรวมที่มีเนื้อความเป็นเหตุเป็นผลกัน ประกอบด้วยประโยคความเดียว 2 ประโยค โดยประโยคแรกทำหน้าที่เป็นเหตุ ส่วนประโยคหลังทำหน้าที่เป็นผล มักมีคำสันธาน จึง, จึง……เพราะ, เพราะฉะนั้น…..จึง เป็นคำเชื่อม ตัวอย่าง เธอป่วย เธอจึงไม่มาโรงเรียน
3.ประโยคความซ้อน คือประโยคที่ประกอบด้วย ประโยคหลัก (มุขยประโยค) เป็นส่วนใจความสำคัญ และมีประโยคย่อยอื่น ๆ (อนุประโยค) เป็นส่วนเติมเต็มความหมายชัดเจนมากขึ้น มักมีคำเชื่อมคำว่า “ที่ ซึ่ง อัน ว่า” ปรากฎอยู่
แต่งประโยคยังไงไม่ให้งง
หลายครั้งที่การใช้หลักไวยากรณ์ผิด ทำให้ประโยคที่ต้องกาสื่อสารไม่ชัดเจน กำกวม ส่งผลให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างผู้ส่งสาร และผู้รับสาร มีสาเหตุที่พบได้บ่อยมี ดังนี้
- เกิดจากการใช้คำพ้องรูปพ้องเสียง เช่น ฉันไม่ชอบมัน (มัน=พืชหัวชนิดหนึ่ง) สามารถแปลได้อีกความหมายว่า ฉันไม่ชอบมัน (มัน=แทนบุคคลที่ 3)
- เกิดจากใช้เรียงคำผิดตำแหน่ง เช่น ขยับขึ้นลุกนั่ง และ ฉันขยับลุกขึ้นนั่ง
- เว้นวรรคคำไม่ถูกต้อง เช่น รถยนต์ชนคนจน ทำให้เสียชีวิต หรือ รถยนต์ชนคน จนทำให้เสียชีวิต
- ใช้คำที่ขัดแย้งกัน เช่น ตำรวจรัวกระสุนใส่ผู้ร้ายหนึ่งนัด ควรแก้เป็น ตำรวจยิงผู้ร้ายหนึ่งนัด
- ใช้ภาษาต่างระดับ
เมื่อได้ทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับประโยคในภาษาไทยไปแล้ว มาลองตะลุยข้อสอบเกี่ยวกับประโยคต่าง ๆ กับ 'ครูทอม' ได้ที่รายการ ห้องเรียนติวเข้ม ตอน "ติวเข้ม ประโยค" <คลิก
เรียบเรียง โดย: