คนส่วนใหญ่มักมองว่า “คนขี้เกียจ” ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ มักมาพร้อมกับนิสัยผลัดวันประกันพรุ่ง แต่ในบางสถานการณ์ “ความขี้เกียจ” ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป หากเราใช้มันอย่างถูกวิธี ก็มีข้อดีอยู่ มีคนเก่ง ๆ มากมายพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเป็นคนขี้เกียจก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตล้มเหลว แถมพวกเขายังสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยวิธีอันชาญฉลาดและรวดเร็ว
นาโอยูกิ ฮอนดะ นักธุรกิจและนักเขียนหนังสือ “สำเร็จได้สไตล์คนขี้เกียจ” กล่าวว่า “การเป็นคนขี้เกียจคือพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ แต่พรสวรรค์ที่ว่านี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ”
แม้แต่ บิล เกตส์ มหาเศรษฐีพันล้านเองก็ยังเล็งเห็นพรสวรรค์ของคนขี้เกียจในด้านการทำงาน
"ผมมักจะเลือกคนขี้เกียจให้มาทำงานยาก ๆ เพราะคนขี้เกียจจะหาทางทำให้งานนั้นเสร็จด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด"
เมื่อเขาสังเกตเห็นว่าพนักงานที่ “ขี้เกียจหน่อย ๆ ” จะเรียนรู้วิธีการขจัดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป บางขั้นตอนที่ไม่สำคัญก็ไม่ต้องมีก็ได้ เพื่อลดความเหนื่อยล้าของตัวเองให้มากที่สุด เหตุผลนี้เองเขาถึงมอบหมายงานที่ยากกว่าให้กับพนักงานขี้เกียจเหล่านั้นตามความถนัดของแต่ละคน
การเป็นคนขี้เกียจนั้นคือพรสวรรค์ สำหรับคนที่ว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย สามารถพัฒนาสิ่งนี้ให้กลายเป็นจุดแข็งที่ทรงพลังเพื่อทำให้งานแต่ละชิ้นสำเร็จลุล่วงได้ และเหลือเวลาว่างไปทำเรื่องอื่นได้ ลองมาดูกันว่า เทคนิคที่จะประสบความสำเร็จในแบบของคนขี้เกียจนั้นเขาทำกันอย่างไร
ก่อนอื่นต้องเปิดใจยอมรับว่าตัวเองขี้เกียจ เมื่อรู้ว่าตัวเองมีจุดด้อย และรู้ว่าเวลามีจำกัดก็จะเริ่มคิดพลิกแพลง หาหนทางที่ดีที่สุดให้ตัวเอง กระบวนของการขี้เกียจเพื่อสำเร็จ คือ ขี้เกียจ → รับรู้ว่าเป็นคนขี้เกียจ → คิดหาวิธีขี้เกียจแบบชาญฉลาด → พัฒนาก้าวหน้า
ปัญหาของคนที่เกียจที่มักทำอะไรไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่จะรอ “อารมณ์” เกิดขึ้นมาก่อนถึงจะเริ่มลงมือทำ และเมื่ออารมณ์นั้นหมดไปก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำงานทันที และถ้ายิ่งเข้มงวดกับตัวเองเกินไปก็จะพาลทำให้เครียดและไม่อยากทำ ดังนั้น การสร้าง “แรงจูงใจ” อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัย “แรงบีบบังคับ” เงื่อนไข หรือคำสั่งมาช่วยขับเคลื่อนการทำงานได้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จ เช่น ตั้งใจว่างานของสัปดาห์นี้ต้องเสร็จก่อนวันศุกร์ ไม่อย่างนั้นวันเสาร์-อาทิตย์จะอดเที่ยว หรือ การสร้างตารางการทำงานในแต่ละวันก็ถือว่าเป็นแรงบีบบังคับที่ดีเพื่อให้คนขี้เกียจยอมทำงานให้ถึงเป้า แม้จะ “จำใจ” แต่อย่างน้อยก็สำเร็จ และวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ ใช้ "หัวหน้า" ให้เป็นประโยชน์ ในการช่วยสร้างสถานการณ์บังคับให้ต้องทำ
จงตั้งเป้าหมายในการทำงานที่จับต้องได้เข้าไว้ เพราะความสำเร็จเล็ก ๆ ที่สม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและเสริมแรงจูงใจให้สะสางจนเสร็จ ตัวอย่างเช่น คนทำงานกราฟฟิกที่ต้องทำทั้งเดือนมี 100 ชิ้น ก็ให้ตั้งเป้าเล็ก ๆ แค่ว่าทำวันละ 3 ชิ้น หรือทำชั่วโมงละ 1 ชิ้น แต่ถ้าตั้งเป้าหมายไว้ยิ่งใหญ่ 100 ชิ้นตั้งแต่แรกก็จะทำให้ท้อ หมดแรงจูงใจ เพราะรู้สึกว่าไกลเกินเอื้อม
“การเล่นเกม” มักถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คนขี้เกียจส่วนใหญ่ชอบเสียด้วย ลองสร้างการแข่งขัน มีรางวัล และบทลงโทษพอเป็นพิธี เช่น เล่นเกมแข่งกับเพื่อนร่วมงาน ตั้งกติกาว่า ถ้าใครทำงานไม่เสร็จภายใน 5 โมงเย็น คนนั้นจะต้องจะต้องถูกลงโทษด้วยการสรุปผลการทำงานของทีมเสนอต่อหัวหน้า
หากจะเปลี่ยนคนขี้เกียจให้เป็นขยันอาจเป็นเรื่องที่ดูห่างไกล อันดับแรกต้องปรับความคิดก่อนว่าเราจะเป็นคนขี้เกียจที่รักความก้าวหน้า เรียกว่า “ขี้เกียจแบบก้าวหน้า” ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาพลิกแพลงอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้งานเสร็จ และใช้พลังงานน้อยที่สุด เช่น การยกของหนักด้วยหลักการแม่แรง การคิดพลิกแพลงไม่ใช่การหลับหูหลับตาพยายามทำงานอย่างเดียว แต่คือการนึกถึงรางวัลของความทุ่มเท คือ การเน้นโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ดีที่สุด เมื่อพลิกแพลง➡️ได้ผล➡️ดีใจ➡️ประเมินตัวเองสูงขึ้น สุดท้ายก็ติดนิสัยชอบพลิกแพลงไม่รู้ตัว ทำให้เครียดน้อยและเหนื่อยน้อย ต่างกับคนขยัน มักออกแรงมาก เครียดมาก แม้ได้ผลลัพธ์เท่ากัน
ปกติคนทั่วไป เมื่อตื่นเช้าขึ้นมาก็จะรีบเขียน “รายการสิ่งที่ต้องทำ” ทันที เพื่อลำดับความสำคัญว่าอะไรต้องทำก่อน-หลังอย่างชัดเจน ซึ่งถ้าหากคุณจัดลำดับความสำคัญได้ไม่ดี ก็จะรู้สึกว่าเป็นภาระและอาจเครียดได้ แต่สำหรับวิถีของคนขี้เกียจจะทำงานแบบใช้ “จิตใต้สำนึก” คือ งานไหนนึกได้ก่อน ก็ทำงานนั้นก่อน โดยไม่ต้องคิดเรื่องลำดับความสำคัญหรือเรื่องอะไรให้วุ่นวาย วิธีนี้จะทำให้ไม่รู้สึกเครียด และยิ่งทำให้สะสางงานได้เร็วขึ้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ ไม่ว่ายังไงต้อง “ไม่สะสมงาน” ดังนั้นก่อนที่จะไปจริงจังกับเรื่องการลำดับความสำคัญ มาคิดดีกว่าว่าจะทำอย่างไรให้งานเสร็จไวขึ้น
ยิ่งมีใช้พลังงานมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องรู้จักวิธีการพักผ่อนให้เป็น เพื่อให้ร่างกายไม่เครียดเกินไป เมื่อรู้สึกเหนื่อยก็นอนพัก หรือไม่ก็ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย การงีบช่วงกลางวันก็เป็นทริคที่ดีอย่างหนึ่ง เป็นการพักสมองที่เหนื่อยล้าและฟื้นฟูพลังกลับมาหลังจากตื่น ตามที่ NASA เคยศึกษาไว้ ระยะเวลางีบหลับที่เหมาะสมที่สุด คือ 26 นาที อาจจะนานไปนิด แต่การตื่นตัวของสมองจะเพิ่มขึ้น 54% สร้างสรรค์งานได้มากขึ้น ทำให้สะสางงานได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ฝืนทำงานโดยที่ไม่พักผ่อน
แม้เทคโนโลยีจะช่วยเอื้อให้หลายคนยิ่งขี้เกียจมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันโปรแกรม แอปพลิเคชัน และ Gadget มากมายที่ช่วยให้คนทำงานได้เร็วขึ้นด้วย คนขี้เกียจจะเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อทำงานให้เสร็จเร็วขึ้นสองเท่าได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น งานเอกสารที่ต้องส่งให้คนหลายคนตรวจสอบ แทนที่จะเสียเวลาส่งให้ทีละคน ก็แค่ใช้วิธีสร้างเอกสาร Google และให้สิทธิ์การเข้าถึงเอกสารแก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พวกเขาสามารถอนุมัติหรือแก้ไขได้ในเวลาเดียวกัน
เมื่อนึกถึงสัตว์คำว่า "ขี้เกียจ" หลายคนมักนึกถึงเจ้าสล็อตเป็นอันดับแรก แต่ผิดคาด! เพราะสัตว์ที่ขี้เกียจที่สุดในโลก คือ"เจ้าโคอาลา" สัตว์ขนบุกปุยแห่งประเทศออสเตรเลียที่ขึ้นชื่อเรื่องความเกียจคร้าน มีความสามารถในการนอนหลับบนต้นไม้ได้นาน 18 - 22 ชั่วโมงต่อวัน โดยวันหนึ่งตื่นแค่ 2 - 6 ชั่วโมงในทุกวัน นั่นก็เป็นเพราะว่าอาหารของโคอาลาเป็นสาเหตุของความง่วงนั่นเอง ใบยูคาลิปตัสมีสารพิษ มีใยอาหารสูงมากเป็นพิเศษ จึงต้องใช้พลังงานมากในการย่อยอาหาร
สรุปแล้ว "ความขี้เกียจ" สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ขอเพียงแค่มี "สติ" ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างให้สม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัยที่ดี เทคนิคต่าง ๆ ที่แนะนำไปไม่เพียงเห็นผลแค่เรื่องงาน คุณสามารถเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วคุณจะพบว่าคุณสามารถเป็นคนขี้เกียจที่ประสบความสำเร็จได้
ขอบคุณข้อมูล: หนังสือสำเร็จได้สไตล์คนขี้เกียจ, cnbc.com