ในโลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีคือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต 'วาชิ' กระดาษโบราณทำมือ ยังคงครองใจและผูกพันอย่างใกล้ชิดกับคนญี่ปุ่นมานับพันปี และด้วยความพิเศษไม่เหมือนใคร ทำให้ยูเนสโก (UNESCO) ยกย่องวาชิให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในวันนี้ ALTV ขอพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับวาชิกระดาษแฮนเมดโบราณไปพร้อม ๆ กัน
ญี่ปุ่นประเทศที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสุดทันสมัย ในขณะเดียวกันวัสดุแสนธรรมดาอย่าง 'กระดาษ' ยังคงครองใจ และผูกพันใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นมาโดยตลอด สังเกตได้จากข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ต้องเห็นกระดาษเป็นหนึ่งในส่วนประกอบ เช่น ประตู พัด โคมไฟ ร่ม ไปจนถึงงานศิลปะและหัตถกรรมชั้นสูงอย่าง การพับกระดาษโอริกามิ (Origami) การเขียนพูกัน (Shodo) และการผลิตกระดาษวาชิแบบดั้งเดิมที่ผ่านไปแล้วพันปีก็ยังคงอยู่
อ้างอิงจาก Kiyoshi Takagi เจ้าของร้านกระดาษวาชิ 'Ozu Washi' ในประเทศญี่ปุ่น อธิบายไว้ว่า สาเหตุที่คนญี่ปุ่นหลงใหลและผูกพันกับกระดาษได้ถึงเพียงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายการปิดประเทศที่เริ่มขึ้นในยุคเอโดะ ที่เราเรียกกันว่า 'ช่วงการแยกตัวโดดเดี่ยวของญี่ปุ่น (Sakoku)' ซึ่งกินเวลาถึง 200 ปี ในช่วงเวลานั้นมีการจำกัดการค้าอย่างรุนแรง การเข้าถึงวัสดุและเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นไปอย่างยากลำบากมาก แม้แต่วัสดุอย่าง 'แก้ว' ก็ยังไม่มีให้ใช้จนถึงยุคเมจิ ซึ่งก็คือช่วงปี ค.ศ. 1800 การขาดอำนาจทางอุตสหกรรมของญี่ปุ่น ทำให้ผู้คนต้องใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ นั่นคือ 'กระดาษ' วัสดุที่สามารถผลิตได้เองจากพืชท้องถิ่น ประจวบเหมาะกับได้รับองค์ความรู้การผลิตกระดาษมาจากชาวจีน จึงได้มีการนำกระดาษมาพัฒนาและประยุกต์เข้ากับเครื่องใช้ต่าง ๆ มากมายอย่างที่เราเห็น
จนเกือบสองศตวรรษมาแล้วที่นโยบายการปิดประเทศถูกยกเลิกไป แต่ความยึดติดกับกระดาษของคนญี่ปุ่นก็ยังคงมีอยู่ เงินสดยังคงถูกใช้เป็นอันดับ 1 แม้ว่าจะมีการส่งเสริมธุรกรรมดิจิทัล หรือแม้แต่ การส่ง 'แฟกซ์' ที่ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายในสำนักงาน เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่น ๆ
กว่า 1,000 ปีมาแล้วที่ "วาชิ (和紙) " ได้ถูกคิดค้นและใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยคำว่า 'วาชิ' ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึง กระดาษโบราณที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติของพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ผ่านการแปรรูปอยางพิถีพิถันด้วยมือ จนได้กระดาษที่มีคุณสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์ คือ โปร่งแสง เหนียวทนทานต่อการฉีกขาด และน้ำ บางเฉียบ (หนาเพียง 0.02 มิลลิเมตร น้อยกว่าปีกแมลงบางชนิดเสียอีก)
กระดาษวาชิ มีบทบาทสำคัญในชีวิตคนญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับชาวบ้านไปจนถึงระดันชั้นสูง สามารถใช้จดบันทึกเรื่องราวได้อย่างกระดาษทั่วไป ไปจนถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ฉากกั้นแบบญี่ปุ่น (Shoji Screen) ร่ม โคมไฟ พัด งานกระดาษพู่กันจีนชั้นสูง ด้วยความพิเศษที่ป็นมากกว่ากระดาษทั่วไป ความพิเศษนี้จึงได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติที่จับต้องไม่ได้ โดย ยูเนสโก (UNESCO)
วาชิผลิตอย่างแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น คาดว่ามีมากกว่า 700 แห่งที่ยังคงผลิตวาชิอยู่ ที่มีชื่อเสียงที่สุด จะมีเพียง 3 เมืองเท่านั้น คือ เมืองเอจิเซ็น (Echizen) ในจังหวัดฟุกุอิ เมืองมิโนะ (Mino) ในจังหวัดกิฟุ และ เมืองโทสะ (Tosa) ในจังหวัดโคจิ โดยวัตถุดิบและส่วนผสมอาจมีความแตกต่างกันไปเล็กน้อย แต่ที่ขาดไม่ได้ จะประกอบด้วยพืชทั้งหมด 4 ชนิด ดังนี้
วาชิขึ้นชื่อว่าเป็นกระดาษสารพัดประโยชน์ สามารถใช้จดบันทึกเหมือนกระดาษทั่วไป ไปจนถึงการเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือน เรามาดูกันว่าชาวญี่ปุ่นเขามีการนำวาชิไปใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
ประตูเลื่อนสไตล์ญี่ปุ่น (Shoji Screen)
'โชจิ' (Shoji) คือชื่อเรียกประตูแบบบานเลื่อนสไตล์ญี่ปุ่นที่กรุด้วยวาชิ ส่วนโครงประตูทำมาจากไม้ไผ่แบ่งเป็นช่องตาราง เพื่อช่วยให้แสงจากธรรมชาติผ่านเข้ามาได้ มีน้ำหนักเบา เหมาะกับบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด
ธนบัตรญี่ปุ่น (ฺBanknote)
ธนบัตรที่ใช้กันทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำมาจากวาชิ เนื้อเยื่อส่วนใหญ่ได้มาจากพืชมิตซึมาตะ ซึ่งเป็นพืชที่รัฐบาลสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนการปลูกมากขึ้นสำหรับไว้ใช้ในการผลิตธนบัตร
พัดอุจิวะ (Uchiwa)
อุจิวะ (Uchiwa) เป็นพัดกระดาษโบราณที่ทำจากไม้ไผ่นำมาดัดให้เป็นทรงกลม กรุด้วยวาชิพร้อมกับวาดลวดลายสวยงามลงไปนอกจากจะใช้พัดแก้ร้อนแล้ว ในสมัยโบราณมีการใช้อุจิวะโบกในงานพิธีมงคล ประเพณีอธิษฐานขอพร หรือเป็นสัญญาณการนำทัพในสนามรบ
เทปวาชิ (Washi Masking tape)
สำหรับสายสะสมเครื่องเขียน คงจะรู้จักกันเป็นอย่างดีสำหรับ 'เทปวาชิ' เทปกาวลวดลายน่ารักสำหรับตกแต่ง ความพิเศษของวาชิคือเนื้อกระดาษเนียนนุ่ม ไม่เปื่อยง่าย และบางมาก เวลาลอกออกจะไม่ทิ้งร่องรอย หรือไม่ทำให้พื้นผิววัตถุเสียหายเหมือนเทปกาวทั่วไป
บอลลูนสงคราม (FU-GO Balloon Bombs)
นอกจากการนำมาใช้ผลิตข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว วาชิยังถูกใช้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบทำบอลลูนสงคราม (FU-GO Balloon Bombs) ที่ญี่ปุ่นใช้โจมตีกองทัพสหรัฐมเอริกา ในปี ค.ศ. 1944 โดยเป็นการใช้วาชิชนิดพิเศษที่มีความหนา ทนทานแข็งแรง มาใช้ในการบุส่วนบอลลูน
เพราะความพิเศษและคุณภาพที่ยังดีเสมอต้นเสมอปลาย ส่งผลให้วาชิยังเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นเรื่อยมาแม้เวลาจะผ่านไปกว่าพันปี แต่นอกจากนี้ ยังมีกระดาษอีกประเภทหนึ่งที่มีความเป็นมาและอายุเก่าแก่ไม่แพ้กัน นั่นคือ 'กระดาษสา' สามารถรับชมความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการผลิตกระดาษสา ได้ที่ รายการ 2 องศา ตอน นวัตกรรมกระดาษสา สู่ผลิตภัณฑ์ยั่งยืน < คลิก
ที่มา: BBC National printing bureau