ฟรีดา คาห์โล ศิลปินหญิงเม็กซิกัน บนงานปักผ้าของ Horizon moon
“I paint self-portraits because I am so often alone .. because I am the person I know best”
-Frida Kahlo-
พูดถึงศิลปินหญิงชาวเม็กซิกัน ฟรีดา คาห์โล คนทั่วโลกมักจดจำเธอในภาพลักษณ์ของหญิงสาวผู้แข็งแกร่งแต่แฝงด้วยความเศร้า ผู้คนในแวดวงศิลปะทั่วโลกต่างยกให้เธอเป็นสุดยอดแห่งศิลปินหญิงในศิลปะยุคเม็กซิกันเรอเนซองส์ (1920-1950) ที่สามารถแปลงความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์และปัญหาสุขภาพให้กลายมาเป็นความสวยงามบนผืนผ้าใบได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเชื่อว่าสำหรับเธอแล้ว มันไม่ง่ายเลย
คอลัมน์ คิด – ออก ครั้งนี้ เราไม่ได้พามาเจาะลึกกับเรื่องราวของฟรีดา คาห์โล แต่อย่างใด หากแต่ต้องเกริ่นกันก่อนสักเล็กน้อยเพราะผู้อ่านบางคนอาจจะแค่คุ้น ๆ กับใบหน้าอันคมเข้มและคิ้วดกดำของศิลปินหญิงคนนี้ แต่ไม่เคยรู้เรื่องราวเบื้องหลังชีวิตของเธอมาก่อนเลย
เราจะพาคุณมารู้จักกับกิ่ง - จามจุรี สุขตุ้ย ผู้หญิงผู้รักการปักผ้าและสตูดิโอ Horizon Moon ของเธอ ที่จุดขายดูจะเป็นงานปักผ้าแนวพอร์เทรต โดยเฉพาะพอร์เทรตของฟรีดา คาห์โล ที่เธอปักมาหลายชิ้นแล้ว กิ่งมักตั้งคำถามในสีหน้าของฟรีดาที่เต็มไปด้วยความเศร้าว่า จะมีวิธีปักแบบไหนที่จะสามารถทำให้สีหน้าของฟรีดาแช่มชื่นขึ้นมาจากความระทมในชีวิตของเธอได้บ้างนะ
“เคยพยายามลองปักฟรีดาให้หน้าเขาไม่เศร้ามากค่ะ อยากให้มีความไลฟ์ลี่ขึ้น แต่งานปักกับงานวาดไม่เหมือนกัน งานวาดเราอาจจะพอทำแบบนั้นได้ แต่การฝืนปักให้ฟรีดายิ้มผ่านเส้นด้ายซึ่งมีสีของแบ็กกราวด์เป็นตัวบังคับอยู่ ในแง่ของการสื่อสารถึงตัวตนของฟรีดาแล้ว มันยากมาก เวลาปักงานฟรีดา เรารู้สึกได้เลยว่าฟรีดาเป็นผู้หญิงที่แววตาเศร้าจริง ๆ”
กิ่งเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาในการสร้างแบรนด์ Horizon moon ที่เธอไม่เพียงแต่ต้องเอาชนะความคิดตัวเอง แต่ยังต้องพิสูจน์ตัวเองให้ครอบครัวเห็นด้วยว่างานปักผ้านั้นสามารถเลี้ยงชีวิตตัวเองได้จริง
“ด้วยงานปักผ้าเป็นงานคราฟต์ที่ต้องใช้ความละเอียด ราคาที่ตั้งไว้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2,500-3,000 บาท ขึ้นกับความยากง่าย ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็อาจจะมองว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ในช่วงแรก ๆ คนรอบตัวรวมถึงครอบครัวเราก็จะคอยถามซ้ำ ๆ ว่า ออกจากงานประจำมานั่งปักผ้าแบบนี้เหรอ จะรอดเหรอ เราก็อดทนกับเสียงเหล่านั้น เพราะรู้สึกว่าขนาดนั่งปักผ้าเป็นวัน ๆ เรายังอดทนได้เลย แล้วทำไมกับเสียงความคิดคนเราจะทนไม่ได้ จนวันนี้ผ่านมาสามปีแล้ว ครอบครัวก็เห็นแล้วค่ะว่าเราทำได้จริง”
กิ่งเรียนจบจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนหน้าจะมาสร้างแบรนด์ของตัวเอง เธอเคยเป็นผู้ช่วยในแกลเลอรี่มาก่อน รวมไปถึงเคยคิวเรตงานศิลปะเพื่อติดตั้งในโฮสเตล และทำงานพิเศษเป็นครูสอนศิลปะไปด้วย
ด้วยความที่เธอสนใจในงานปักผ้ามาตั้งแต่ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เมื่อคิดจะทำแบรนด์เธอเลยตั้งใจแน่วแน่ว่าอยากให้แบรนด์ของเธอพูดถึงงานปักผ้าในมิติต่าง ๆ ผ่านวัสดุหลากหลายรูปแบบ โดยการตีความคำว่า Horizon Moon ของเธอ ไม่ใช่แค่พระจันทร์ที่เส้นขอบฟ้า แต่เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่าแท้จริงแล้วเส้นขอบฟ้ามีอยู่จริงไหม สุดขอบของมันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่
“มันน่าสงสัยนะคะว่าเวลาที่เรายืนอยู่ที่ทะเลและมองเห็นเส้นขอบฟ้าไกล ๆ นั่น จริง ๆ สุดขอบของมันอยู่ที่ตรงไหนกัน ใครเป็นคนกำหนด หรือจริง ๆ แล้วขอบฟ้ามันไม่มีจุดสิ้นสุดหรอก แต่คนนี่ล่ะที่พยายามจะไปกำหนดมันเอง ไม่ต้องทะเลหรอกค่ะ อย่างเวลาเราไปยืนตามสถานที่ที่ต่างกันไป เราก็จะมองเห็นจุดสิ้นสุดของเส้นขอบฟ้าที่ไม่เหมือนกัน“
ในการปักผ้าแต่ละครั้ง แม้จะไม่ได้เรียนปักผ้ามาโดยตรง แต่กิ่งก็ใช้ความรู้ด้านศิลปะที่ตัวเองมีอยู่ในเรื่องของทัศนะธาตุที่ว่าด้วยเรื่องของแสงเงา ความอ่อนแก่ของสี ผิวสัมผัสและรูปทรง นำมาผสมและสร้างสรรค์เป็นลวดลายผ่านงานปักในแบบ Short and long Stich ที่เล่นกับการใช้สีหลายเลเยอร์
ความยากของการปักใบหน้าคนคือการไล่สี เพราะถ้าไล่สีผิดจังหวะแค่นิดเดียว ความรู้สึกบนใบหน้าหรือบุคลิกของเจ้าของ
พอร์เทรตนั้น ๆ จะเปลี่ยนความหมายไปทันที โดยการปักเคสโทรศัพท์ในแต่ละครั้งเธอใช้เวลาประมาณสามวัน
ซึ่งถือว่าเป็นการปักที่เร็วมากเมื่อเทียบกับความละเอียดที่เกิดขึ้นบนชิ้นงาน
ถามว่าสามปีที่ผ่านมา เธอเห็นอะไรในตัวเองผ่านการปักผ้าบ้าง กิ่งตอบทันทีแบบไม่คิด
“ได้ความภูมิใจค่ะ รู้สึกดีกับตัวเองมาตลอดที่เราให้เกียรติการปักผ้าด้วยการอดทน มันไม่ใช่แค่ผลงานที่ปรากฏอยู่บนเคสโทรศัพท์หรือบนเสื้อ แต่การปักผ้าคือบททดสอบช่วงชีวิตของตัวเอง และก็จะปักต่อไปค่ะ”
“Fall in love with yourself, with life and then with whoever you want”
-Frida Kahlo-
ติดตามงานปักของกิ่งได้ที่ https://www.facebook.com/horizonmoonsun