คุณอาจเคยคุ้นเคยกับภาพของ Food Truck ที่ตระเวนจอดขายอาหารไปยังสถานที่ต่าง ๆ แต่รถกระบะสีขาวซึ่งผ่านการแปลงโฉมด้วยการเสริมกระจกนิรภัยรอบด้านคันนี้ไม่ได้ขายอาหารค่ะ หากแต่รถกระบะหน้าตาน่ารักสีขาวจะพากระเป๋าและรองเท้าไปให้คุณสาว ๆ ได้ลองถึงหน้าบ้าน
ก่อนจะไปรู้จักรถคันนี้ เราขอพาคุณมารู้จักกับ คุณเพชร-ภิพัชรา แก้วจินดา เจ้าของไอเดีย Pop up truck เคลื่อนที่และเจ้าของแบรนด์ Pipatchara กันก่อน นอกจากเธอจะเป็นนักออกแบบกระเป๋าหนังวัวนำเข้าจากอิตาลีและรองเท้าสำหรับผู้หญิงแล้ว ด้วยความที่รถสารพัดประโยชน์เคลื่อนที่คันนี้ยังเป็นต้นแบบของช่องทางการขายสินค้าในช่วงโควิดที่ประสบความสำเร็จมาก
เธอจึงสร้างอีกธุรกิจขึ้นมาในชื่อของ Popuptruck.Co โดยเธอรับออกแบบและผลิตรถเคลื่อนที่สารพัดประโยชน์ให้กับผู้ที่สนใจ จะร้านตัดผมเคลื่อนที่ ร้านอาบน้ำหมาเคลื่อนที่ ขายโดนัทขายครัวซองต์เคลื่อนที่ฯ เธอออกแบบให้ได้หมด โดยเธอทำงานร่วมกับช่างฝีมือผู้ชำนาญในเรื่องของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างรถกระบะโดยเฉพาะ
คุณเพชรเล่าให้ฟังว่า ความสนใจในเรื่องเครื่องหนังของเธอเริ่มจากการเรียนแฟชั่นดีไซน์ที่ Academy of Art University ซานฟรานซิสโก จากนั้นเธอได้ทุนไปเรียนต่อทางด้านแฟชั่นที่กรุงปารีส กระทั่งจนไปฝึกงานกับแบรนด์เสื้อผ้าและไลฟ์สไตล์ Vanessa Bruno และมีโอกาสได้ทำงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Cholé และ Gevenchy ซึ่งที่ Gevenchy นี่ละค่ะที่ทำให้เธอได้คลุกคลีกับเรื่องของเครื่องหนัง
ได้มีโอกาสไปดูงานตามโรงงานเครื่องหนังต่างๆ ในปารีส จนในวันที่กลับมาเมืองไทย เธอจึงจับมือกับพี่สาว (คุณทับทิม จิตริณี แก้วจินดา) เปิดบริษัทร่วมกันโดยนำทักษะของทั้งสองคนมาผสมผสานบนชิ้นงาน
คุณเพชรเชี่ยวชาญในเรื่องเครื่องหนัง ส่วนคุณทับทิมมีความหลงใหลในการถักมาคราเม่ (Macrame) ศาสตร์การถักเชือกเพื่อให้เกิดลวดลายของทางฝั่งประเทศอาหรับ
“ถ้าไปเดินโมร็อกโคนี่เราจะเห็นมาคราเม่เต็มตลาดเลยค่ะ ทำพวกเข็มขัด ของตกแต่ง มีการทำห่วงเป็นสร้อยข้อมือบ้าง มันเป็นซิกเนเจอร์ของคนในประเทศฝั่งอาหรับ จากนั้นก็มีคนที่สนใจงานถักประเภทนี้นำมาสานต่อเป็นชิ้นงานในแบบของตัวเอง อย่างตัวเราเองตอนเดินทางไปโมร็อกโคก็ได้อินสไปร์จากที่นั่นมาทำงานใน Primary Collection 2019“
Pipatchara ทำงานร่วมกับชุมชนทางภาคเหนือเป็นหลัก โดยงานถักทอทุกชิ้นที่เห็นไม่ได้มาจากฝีมือของชุมชนแม่บ้านที่เชี่ยวชาญด้านการถักอยู่แล้ว แต่คุณเพชรและพี่สาวเลือกที่จะทำงานกับกลุ่มครูในพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ไม่เคยทำงานประเภทนี้มาก่อนเลย เป็นการค่อยๆ ใช้เวลาเข้าไปคลุกคลีกับชุมชนครูกลุ่มนี้เพื่อให้ความรู้และสอนเทคนิคในการถักมาคราเม่
“เดิมทีพี่สาวของเพชรเป็น Volunteer กับมูลนิธิ SATI ซึ่งเคยไปร่วมติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่โรงเรียนในจังหวัดแม่ฮองสอนเลยมีโอกาสได้รู้จักครูในพื้นที่ หลังจากนั้นเรากับพี่สาวก็เดินทางเข้าไปยังชุมชนซึ่งเป็นกลุ่มครูที่สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ที่นั่น ความตั้งใจของเราคืออยากเข้าไปให้ความรู้กับคนที่เขาอยากจะพัฒนาฝีมือตรงนี้เพิ่ม ในทางกลับกันก็เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วย ครั้งแรกที่เข้าไปก็เข้าไปพูดคุยกับคนที่อยากจะพัฒนาฝีมือตัวเอง เริ่มต้นเราได้ร่วมงานกับคุณครูแปดคน และก็ค่อยๆเพิ่มจำนวนตามมา เราจริงจังมากนะคะกับการใช้เวลาเพื่อเข้าไปเรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้ว ครูเหล่านี้เขาต้องการความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนอะไรบ้าง“
สถานการณ์โควิดรอบแรกในประเทศไทยทำให้การส่งสินค้าไปยังกลุ่มลุกค้าในต่างประเทศกลายเป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกัน คุณเพชรก็มองเห็นความเป็นไปได้ของช่องทางการตลาดที่มีอยู่ในเมืองไทย จึงตัดสินใจเปิดแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ ขึ้นมา ซึ่งก็เกิดปัญหาตามมาอีกว่าลูกค้าจำนวนหนึ่งอยากเห็นสินค้า อยากจับอยากลอง แต่ไม่กล้าออกจากบ้าน ขณะที่อีกกลุ่มเลือกจะขับรถมาลองสินค้าถึงหน้าบริษัทของคุณเพชร ซึ่งในขณะนั้น Pipatchara เองก็ยังไม่มีหน้าร้าน นำมาซึ่งไอเดียของรถกระบะสีขาวเสริมกระจกนิรภัยเคลื่อนที่ที่ถูกเนรมิตให้กลายเป็นร้าน Pipatchara ขนาดย่อม ออกเดินทางพากระเป๋าและรองเท้าไปให้ลูกค้าได้ลองกันถึงหน้าบ้าน
“แบรนด์เราเปิดตัวจนมาถึงตอนนี้ก็จะสามปีแล้วค่ะ แต่ถ้าย้อนกลับไปในช่วงที่เรายังไม่มีหน้าร้าน เราจะใช้วิธีเปิดร้านแบบ Pop up ตามที่ต่างๆ จนมาถึงโควิดรอบแรกที่มีลูกค้าอยากได้ของเรามากๆ อยากเห็นอยากลองสินค้า เขาก็เลยให้เราขับรถขนกระเป๋าหลายๆ ใบไปให้เขาดูที่บ้าน หรือบางคนก็ขับรถมาขอลองขอเลือกกันที่หน้าออฟฟิศเลย ช่วงนั้นหน้าบ้านเราเลยกลายเป็นพื้นที่ลองกระเป๋าลองรองเท้า ผ่านไปสี่ห้าเดือน วันหนึ่งเราเลยมีไอเดียว่าทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วล่ะ
เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเราเวลาซื้อของเขาซื้อเยอะ ฉะนั้นเวลาเราแพ็กกระเป๋าขนไปให้เขาดูที่บ้านต่อครั้งก็ต้องแพ็กเตรียมไปเยอะเหมือนกัน พอถึงบ้านลูกค้าก็ต้องมีการรื้อของที่แพ็กไว้ออกมาอีก พอลูกค้าเลือกเสร็จเราก็ต้องแพ็กปิดงานบางส่วนให้เรียบร้อยเพื่อขนกลับมาเก็บที่บ้าน คือมันหลายขั้นตอนมากเลย
งั้นแบบนี้ดีกว่า เราจะทำรถ Pop up ขึ้นมาเพื่อให้รถคันนี้พาตัวอย่างสินค้าที่ถูกจัดดิสเพลย์ไว้แล้วไปส่งถึงหน้าบ้านลูกค้าเลยพร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายของเรา หลังสเก็ตช์แบบของรถคันนี้ขึ้นมาแล้วเพื่อไปคุยกับช่าง ทีแรกช่างก็ไม่รับงานหรอกค่ะ เพราะด้วยความที่ต้องใช้กระจกนิรภัยเกือบทั้งคันเพื่อโชว์สินค้าที่จัดดิสเพลย์อยู่ภายใน มันยากมากในแง่ของการติดตั้ง ช่างให้ความเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก แต่สุดท้ายคุณเพชรก็พยายามทุกวิถีทางจนต่อรองกับช่างได้
ปัจจุบันนอกจากเว็บไซด์ Pipatchara.com แล้ว Pipatchara ยังมีหน้าร้านที่ชั้นล่างของเซ็นทรัลชิดลม รวมไปถึงทำธุรกิจเป็น Partnership กับตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น และกำลังจะมีสินค้าส่วนหนึ่งวางจำหน่ายที่แกลเลอรี ลาฟาแยตต์ ประเทศดูไบ รวมไปถึงทำเลใหม่ล่าสุดที่คุณเพชรกำลังนับถอยหลังด้วยหัวใจพองโตคือการเปิดร้าน Pipatchara ในย่าน Soho มหานครนิวยอร์ก
ใครอยากให้รถคันนี้ของ Pipatchara ขับพากระเป๋าและรองเท้าไปให้ลองถึงบ้าน ติดต่อได้ทาง Fb : Pipatchara นะคะ