เมื่อพูดถึงเมนูอาหารสักจาน สิ่งที่ผู้คนนึกถึงมาเป็นอันดับแรกอาจเป็น รสชาติ หน้าตา หรือราคาที่คุ้มค่า แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปคือ ต้นกำเนิดและเรื่องราวของเมนูนั้น ๆ ที่บางเมนูก็ไม่น่าเชื่อว่าจะกลายเป็นจานที่คนทั่วโลกรู้จัก วันนี้ ALTV จึงขอนำเพื่อน ๆ ไปพบกับเรื่องราวของ 6 เมนูอาหารยอดนิยมไปพร้อมกัน
โอนิกิริ (Onigiri) หรือ ข้าวปั้นญี่ปุ่นรูปทรงสามเหลี่ยมหน้าตาคุ้นเคย คืออาหารพร้อมทานที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงบ้านเราที่หาชื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ด้วยขนาดและรูปร่างที่พกพาสะดวกไม่ต้องปรุงสุกก่อนทาน ทำให้โอนิกิริจึงมักเป็นเมนูแรก ๆ ที่จะอยู่ในข้าวกล่องเบ็นโตของคนญี่ปุ่น สำหรับพกพาออกไปทานนอกบ้าน หรือออกไปปิคนิค
ตามหลักฐานที่ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คนญี่ปุ่นเริ่มทานโอนิกิริกันมาตั้งแต่สมัยเฮอัน (ค.ศ.794 – 1185) หรือเมื่อ 1,000 ปี ที่แล้ว ในสมัยนั้นเป็นเพียงการนำข้าวหุงสุกผสมเกลือแล้วปั้นให้เป็นก้อนกลม นิยมใช้เป็นอาหารจัดเลี้ยงสำหรับเหล่าขุนนางระดับล่าง ไปจนถึงเป็นเสบียงหลักของกองทัพทหาร ในยามที่ต้องเดินทางออกรบ และจนกระทั่งเข้าสู่สมัยเอโดะ (Edo) โอนิกิริแพร่หลายจนกลายมาเป็นอาหารของคนทุกชนชั้น เริ่มมีการปั้นโอนิกิริออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการปั้นให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ไปจนถึงการใช้ 'สาหร่าย' มาห่อข้าวอีกชั้นเพื่อความสวยงามและเพิ่มรสชาติ
ที่มาของรูปทรงสามเหลี่ยมของโอนิกิริมีหลายทฤษฏี ที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ เพื่อให้วางซ้อนกันได้ง่าย และเป็นการ ปั้นเลียนแบบรูปทรง "ภูเขา (山)" ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่าตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น ป่าไม้ ภูเขา ทะเล ล้วนมีเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตย์อยู่ ดังนั้นการทานข้าวปั้นรูปทรงสามเหลี่ยมจึงเหมือนเป็นเคล็ด ที่ทำให้เราได้รับพรจากพระเจ้า จากข้าวปั้นที่ทานเข้าไปนั่นเอง
ถ้าให้นึกถึงเมนูสลัดยอดนิยมที่แม้แต่คนไม่กินผักต้องรู้จัก คงหนีไม่พ้น ‘ซีซาร์สลัด (Caesar Salad)’ ที่นอกจากหาทานได้ตามร้านอาหารทั่วไป ยังเป็นหนึ่งในเมนูที่ชวนให้นึกถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อย่าง "จูเลียส ซีซาร์” นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงโรม ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่ามีความเกี่ยวข้องกับเมนูจานนี้ แต่เราจะบอกว่าทั้งสองสิ่งที่กล่าว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด ทว่าถือกำเนิดมาจาก ชายเจ้าของร้านอาหารในประเทศเม็กซิโก นามว่า "ซีซาร์ การ์ดินี (Caesar Cardini)"
ในปี ค.ศ. 1924 คือช่วงเวลาที่ภัตตาคารซีซาร์ส (Caesar’s Restaurant) ก่อตั้งขึ้นโดย ซีซาร์ การ์ดินี และหัวหน้าเชฟ ลิฟวิโอ ซานตินี (Livio Santini) โดยสิ่งที่สร้างชื่อให้ภัตตาคารแห่งนี้จนกลายเป็นที่จดจำของหนุ่มสาวชาวอเมริกันในยุค 20s นั่นคือ "เมนูซีซาร์สลัด" ที่คิดค้นโดยเชฟซานตินี และได้ชื่อมาตาม ซีซาร์ผู้เป็นเจ้าของร้าน
ซีซาร์สลัดเกิดขึ้นจากความบังเอิญ ในค่ำคืนวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผู้คนแน่นร้าน เชฟซานตินีต้องเตรียมสลัดเพื่อเป็นเมนูเรียกน้ำย่อยสำหรับเหล่าลูกค้า แต่เพราะในคืนนั้นผู้คนเยอะกว่าปกติ ทำให้วัตถุดิบในครัวไม่เพียงพอ เขาจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำวัตถุดิบเท่าที่มีอยู่มารังสรรค์เป็นเมนูสลัด ประกอบด้วย ผักกาดหอม ไข่แดง น้ำมันมะกอก วูสเตอร์ซอส ขนมปังกรอบ และพาเมซานชีส
แม้ว่าตัวเขาเองไม่แน่ใจว่ารสชาติจะออกมาถูกปากใครหรือไม่ แต่ด้วยความสดกรอบของผัก ตัดกับรสชาติมันเค็มของพาเมซานชีส ทำให้ลูกค้าต่างติดใจในรสชาติที่แปลกใหม่นี้ และชื่อเสียงแพร่หลายในวงการอาหารไฟน์ไดนิง จนในปัจจุบันเมนูสลัดซีซาร์กลายเป็นสลัดยอดนิยมที่ขาดไม่ได้ในร้านอาหารอิตาลี
พิซซ่า (Pizza) อาหารอิตาเลียนยอดนิยมที่ครองใจผู้คนทั่วโลก ลักษณะเป็นแผ่นแป้งทรงกลมทาด้วยซอสมะเขือเทศ โรยหน้าด้วยวัตุดิบต่าง ๆ เกิดเป็นเป็นพิซซ่าหน้าใหม่ ๆ ให้ลิ้มลอง และที่นิยมตลอดกาล หนีไม่พ้น “พิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยน (Hawaiian Pizza)” ที่มีความพิเศษอยู่ตรงสับปะรดรสเปรี้ยวอมหวาน ชวนให้หลายคนติดใจ แต่เมื่อย้อนดูถึงที่มาที่ไปของหน้าพิซซ่าที่ทุกคนรู้จักนี้จะพบว่า ไม่ใช่สูตรพิซซ่าต้นตำรับของอิตาลี นอกจากนี้ยังไม่เกี่ยวอะไรกับ "ฮาวาย" รัฐเกาะในสหรัฐอเมริกาตามชื่อเรียกแต่อย่างใด
ผู้อยู่เบื้องหลังที่มาของเมนูเลื่องชื่อนี้ คือ แซม ปาโนปูลอส (Sam Panapoulos) ชายชาวแคนาดาเชื้อสายกรีก ผู้อพยพจากประเทศกรีซสู่ประเทศแคนาดา ในปี ค.ศ. 1954 และผู้เป็นเจ้าของร้านอาหารในออนแทรีโอ
ในปี 1954 ปาโนปูลอสมีโอกาสเดินทางไปเยือนเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ที่ขึ้นว่าเป็นเมืองต้นกำเนิดพิซซ่า และที่นั่นเองทำให้เขาตัดสินใจนำสูตรพิซซ่ามาขายในสหรัฐอเมริกา โดยไม่ลืมที่จะสร้างความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใครด้วยการใส่สับปะรดกระป๋องลงไป ซึ่งเขากล่าวว่าได้รับอิทธิพลมาจากรสชาติของอาหารจีน มีการจับคู่ความหวานของผลไม้เข้ากับเนื้อสัตว์ และตั้งชื่อว่า "ฮาวายเอียน" ตามชื่อยี่ห้อสับปะรดกระป๋องที่เขาใช้
และการใส่สับปะรดนี่ล่ะที่ทำให้กระแสของพิซซ่าฮาวายเอี้ยนแตกออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งที่ชื่นชอบและฝั่งที่เข้าขั้นเกลียด จนเกิดการถกเถียงกันบนโลกออนไลน์ ที่แม้ว่าผ่านมาถึง 60 ปี ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ จนนิตยสาร The Economist นิยามปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นสงครามทางวัฒนธรรม (Culture War) ที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา
แกงเขียวหวาน อาหารที่ไทยที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก พิสูจน์ได้จากการติดโผ 50 อันดับอาหารรสชาติดีที่สุดในโลกติดต่อกัน แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นเมนูที่คนไทยคุ้นเคยอย่างดี แต่แกงเขียวหวานเพิ่งถูกกล่าวถึงชัดเจนจริง ๆ ในตำราอาหารไทย ก็เมื่อปี พ.ศ. 2484 ในหนังสือ ตำรับกับข้าวเสวยฯ ของ จอมสุกรี ศรีมัฆวาฬ และ หนังสือกับข้าวพรทิพย์ ในปี พ.ศ.2492
ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าแกงเขียวหวานถูกคิดค้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2452 - 2469 จากการที่คนไทยรู้จักนำ "กะทิ" มาใช้ประกอบอาหาร ไปจนถึงการใช้พริกสีเขียวแทนพริกแดง เช่น พริกชี้ฟ้าเขียว พริกขี้หนูสวน ทำให้เมื่อผ่านกรรมวิธีการเสร็จสิ้นแล้ว จะได้น้ำแกงออกสีเขียวอ่อนเป็นเอกลักษณ์
ด้วยเหตุนี้ 'สีเขียว' จึงถือเป็นจุดเด่นของแกงเขียวหวาน ไม่ใช่ 'รสหวาน' อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ ซึ่งตามสูตรต้นตำรับแล้ว แกงเขียวหวานต้องมีรสชาติเค็มนำตามด้วยเผ็ดแทรกด้วยความหวานอ่อน ๆ คำว่า 'หวาน' จึงเป็นเพียงการสื่อถึงสีสันน้ำแกงที่มี 'สีหวาน' หรือ 'สีเขียวอ่อน ๆ' เท่านั้น
เมนูอาหารเช้าประหยัดเวลาคงหนีไม่พ้น "แซนด์วิช (Sandwich)" แต่ทราบหรือไม่ว่าอาหารมีต้นกำเนิดจากบนโต๊ะพนัน และกลายมาเป็นอาหารหลักของผู้คนในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม
กำเนิดของแซนด์วิชเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 18 โดยขุนนางชาวอังกฤษ จอห์น มองทากิว หรือที่รู้จักกันในนาม เอิร์ลที่ 4 แห่งแซนด์วิช (4th Earl of Sandwich) ขุนนางปกครองเมืองแซนด์วิชในอังกฤษ สั่งให้สาวใช้ทำอาหารจานด่วนสำหรับทานระหว่างเล่นพนัน นั่นคือขนมปังสองแผ่นประกบและคั่นกลางด้วยเนื้อสัตว์ ซึ่งวิธีนี้ทำให้พวกเขาค้นพบว่าสามารถทานเนื้อได้โดยไม่ต้องใช้ช้อนส้อมให้ยุ่งยาก จึงทำให้แซนด์วิชกลายเป็นกระแสนิยมในหมู่คนชนชั้นสูงอย่างแพร่หลาย
จนเวลาล่วงเลยมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ส่งผลให้ชีวิตของผู้คนเร่งรีบขึ้นนำพาให้แซนด์วิชกลายมาเป็นอาหารเช้ามื้อหลักของหนุ่มสาวผู้ใช้แรงงงานสหรัฐอเมริกา มีการดัดแปลงให้มีความหลากหลายด้วยการเพิ่มไส้ต่าง ๆ เข้าไป ไม่ว่าจะเป็น พริกหวาน หัวหอม ไข่ แฮม ฯลฯ จนกลายมาเป็นอาหารจานด่วนของคนทั่วโลก
ก่อนที่ล็อบสเตอร์ (Lobster) จะกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารชั้นเลิศราคาแพงอย่างในทุกวันนี้ รู้หรือไม่ว่าเมื่อ 150 ปี ก่อนล็อบสเตอร์เป็นวัตถุดิบอาหารราคาถูกสำหรับคนยากคนจน และเหล่านักโทษในเรือนจำนอกจากนี้ก่อนที่ได้รับการขนานนามว่า "ราชาแห่งท้องทะเล" ผู้คนเรียกมันว่า "แมลงสาบแห่งท้องทะเล' (Cockroach of the sea) จากรูปร่างหน้าตาภายนอกของมันอีกด้วย
ในช่วงศตวรรษที่ 17 ว่ากันว่าหากเห็นเปลือกของกุ้งล็อบสเตอร์ตามท้องถนน ถือเป็นสัญญาณของความยากจนและความเสื่อมโทรม ในสมัยนนั้นล็อบสเตอร์จัดเป็นอาหารมื้อหลักของกลุ่มคนยากคนจน เพราะราคาถูกและหาง่าย ถึงขนาดที่ว่าหากเดินไปตามชายหาดในแถบรัฐแวสซาชูเซต จะเห็นกุ้งล็อบสเตอร์กองสุมกันอยู่ทั่วบริเวณราวกับเป็นสิ่งของไร้ค่า ผู้คนหาวิธีกำจัดพวกมันด้วยการนำมาปรุงอาหารสำหรับนักโทษในเรือนจำ ด้วยเหตุนี้กลุ่มชนชั้นสูงจึงไม่โปรดปราณที่จะนำมันมาประกอบในมื้ออาหารของพวกเขา แต่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยบำรุงดิน
จุดเปลี่ยนของล็อบสเตอร์เกิดจาก 2 สาเหตุ ได้แก่
การเข้ามาของอาหารกระป๋อง ในช่วงศตวรรษที่ 18 มีการดัดแปลงสูตรล็อบสเตอร์ใหม่ ๆ บรรจุขายรูปแบบอาหารกระป๋องราคาถูก จนกลายเป็นหนึ่งในอาหารกระป๋องยอดนิยมของทุกชนชั้น โดยเฉพาะในรัฐเมน (Maine) ที่โรงงานผลิตกุ้งล็อบสเตอร์กระป๋องรุ่งเรืองอย่างมากในยุคนั้น
อีกสาเหตุคือ การเกิดขึ้นของเกิดของรถไฟ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กุ้งล็อบสเตอร์เป็นหนึ่งในวัตถุดิบอาหารที่เสิร์ฟให้ผู้โดยสารในรถไฟ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนชนชั้นสูงที่มาจากหลากหลายพื้นที่ ที่บางส่วนไม่รู้จักกุ้งล็อบสเตอร์มาก่อน ทำให้อคติที่ว่าเป็นอาหารของคนยากจนค่อย ๆ ถูกลบเลือนไป และกลายมาเป็นอาหารฟุ่มเฟือยของเหล่าคนชนชั้นสูงแทน
ที่มาของความอร่อยที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าอาหารมีการวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา อาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย วิถีการดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนโดยไม่มีผิดหรือถูก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผล อาหารของแต่ละพื้นที่มีความน่าค้นหาและชวนลิ้มลองแตกต่างกันไปในแบบของตัวเอง
⭐ศัพท์น่าสน⭐
ที่มา: Business insider