เคยจินตนาการกันหรือไม่ว่าโลกก่อนยุคอินเทอร์เน็ตจะมาถึงผู้คนติดต่อสื่อสารหรือเข้าถึงความบันเทิงกันอย่างไร วันนี้ ALTV จะขอพาเพื่อน ๆ มาย้อนความหลังไปกับเทคโนโลยีในยุคอนาล็อก ที่ปัจจุบันแทบจะเลือนหายไปแล้ว จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูพร้อมกันเลย
ก่อนการมาถึงยุคที่คนเราสามารถฟังเพลงจากที่ไหนก็ได้ด้วยสมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว 'โฟโนกราฟ (Phonograph)' คือเครื่องบันทึกเสียงเครื่องแรกของโลก และเป็นต้นกำเนิดของบรรดาเครื่องเล่นแผ่นเสียงอีกมากมายในอดีต
โฟโนกราฟคิดค้นสำเร็จครั้งแรกในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1878 โดย ทอมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้โด่งดังที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักกับหลอดไฟและนวัตกรรมด้านไฟฟ้า ซึ่งโฟโนกราฟก็นับเป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ประสบความสำเร็จของเอดิสันเช่นกัน
โฟโนกราฟมีกลไกลบันทึกเสียงจากการใช้หัวเข็มปลายเล็กแหลมที่ลากตัวเองไปตามร่องแผ่นดีบุกรูปทรงกระบอกเพื่อบันทึกข้อมูล โฟโนกราฟจึงเป็นสื่อชนิดแรกที่ทำได้ทั้งบันทึกเสียงและเล่นเสียงซ้ำได้
การมาถึงของโฟโนกราฟนอกจากทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการฟังดนตรีได้นานเท่าที่ต้องการ และไม่ต้องฟังจากนักดนตรีเล่นสดอีกต่อไป ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินและนักดนตรีในสมัยนั้นริเริ่มแต่งเนื้อเพลงให้มีความสั้นลงเหลือเพียง 3-4 นาที จากเดิมที่บทเพลงจะยาวได้ถึงหลายชั่วโมง ทั้งนี้ก็เพื่อให้เพียงพอกับการบันทึกลงในหน่วยความจำแผ่นเสียงที่มีจำกัด ซึ่งในถายหลังได้กลายมาเป็นความยาวมาตรฐานของเพลงในปัจจุบันอีกด้วย
ในยุคที่สตรีมมิงมิวสิก (Streaming Music) ยังมาไม่ถึง วอล์คแมน (Walkman) หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า 'ซาวด์อะเบาท์ (Soundabout)' คือเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ตแบบพกพาเครื่องแรกของโลกที่ทำให้ผู้รักเสียงเพลงสามารถดื่มด่ำกับเสียงดนตรีได้จากทุกที่ซึ่งนับว่าป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมดนตรีในสมัยนั้น
'วอล์คแมน' หรือชื่อเต็ม 'โซนี วอล์คแมน' วางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1979 โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวคือ อากิโอะ โมริตะ (Morita Akio) และ มาซารุ อิบุกะ (Ibuka Masaru) สองผู้ก่อตั้งบริษัทโซนี (SONY) ที่ต้องการให้การฟังเพลงสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งมาจากความต้องการส่วนตัวของ มาซารุ อิบุกะ ที่ต้องการฟังเพลงชิล ๆ ในขณะที่เดินทางไกลข้ามทวีปเพื่อติดต่อธุรกิจ
เขาทั้งสองจึงมอบหมายให้ โนบุโตชิ คิฮาระ (Nobutoshi Kihara) วิศวกรประจำบริษัทโซนีทำให้ไอเดียนี้เกิดขึ้นจริง โดยทางคิฮาระได้นำ Pressman เครื่องบันทึกเสียงเทปคาสเซ็ตที่เป็นผลิตภัณฑ์ในเครือโซนี และนิยมใช้ในหมู่นักข่าวมาดัดแปลงด้วยการนำตัวบันทึกเสียงออก เพิ่มเครื่องขยายเสียงและสายหูฟัง จนกระทั่งถือกำเนิดเป็น Sony Walkman TPS-L2 ที่วางจำหน่ายในราคา 3 หมื่นเยน แม้ว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ด้วยขนาดเล็กกระทัดรัดแถมยังเลือกเล่นเพลงได้อิสระไม่ต้องรบกวนใคร จึงทำให้กระแสความนิยมของวอล์คแมนพุ่งสูง และทำยอดขายไปทั่วโลกไปกว่า 200 ล้านเครื่อง
ก่อนการมาถึงของภาพยนตร์สตรีมมิงออนไลน์ เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนโดยเฉพาะมนุษย์ยุค 80s-90s ต้องคุ้นเคยกันดีกับ วิดีโอเทป (Video tape) ม้วนเทปพลาสติกสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้สำหรับบันทึกภาพและเสียง และเล่นผ่านเครื่องเล่นวิดีโอที่เชื่อมต่อกับโทรทัศน์ เป็นนวัตกรรมในยุคอนาล็อกที่ทำให้ผู้คนสามารถเสพภาพยนตร์ได้จากที่บ้านตัวเอง
นวัตกรรมบันทึกภาพและเสียงเริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ.1950 แล้ว แต่ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก ส่วนใหญ่มีไว้ใช้เก็บบันทึกข้อมูลวิทยาศาสตร์และการแพทย์เท่านั้น จนกระทั่งช่วงปี ค.ศ. 1970 อุตสาหกรรมวิดีโอเทปขยายตัวในประเทศญี่ปุ่น บริษัทผลิตเครื่องไฟฟ้าแข่งขันทำรายได้ด้วยการผลิตเครื่องเล่นวิดีโอ โดยมี 2 บริษัทใหญ่ที่สูสีกัน คือ เจวีซี (JVC) ที่ออกวิดีโอเทปในระบบวีเฮชเอส (VHS) และ โซนี (SONY) ที่ออกระบบเบต้า (Betamax) ทั้งสองระบบไม่มีความแตกต่างกันมาก แต่อีเฮชเอสกลับสามารถครองตลาดไปได้จากการนำภาพยนตร์ดังจากฮอลลีวูด มาอัดลงตลับวีเอชเฮชซึ่งแน่นอนว่าดึงดูดคอภาพยนตร์ให้หันมาซื้อวีเฮชเอสมากกว่า ปัจจุบันม้วนวิดีโอเทปเลิกผลิตแล้วโดยรายสุดท้ายที่ปิดตัวไปคือบริษัท คือบริษัทฟูนาอิ (Funai) ของประเทศญี่ปุ่น
ในยุคที่โลกเรายังไม่รู้จักกับสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียทุกชนิด ‘เพจเจอร์ (Pager)' ที่มีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือคือเครื่องมือสื่อสารสุดล้ำสมัยที่ครองใจหนุ่มสาวในยุค 80s - 90s ก่อนจะค่อย ๆ เลือนหายไปจากการมาถึงของโทรศัพท์มือถือ
เพจเจอร์พัฒนาสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 1949 โดยชายที่ชื่อว่า อัลเฟรด กรอส (Alfred J. Gross) วิศวกรชาวแคนาคาดา โดยก่อนหน้าการมาถึงของเพจเจอร์ เคยมีการใช้เครื่องมือสื่อสารระบบวิทยุคล้ายเพจเจอร์มาก่อนแต่ใช้ชื่อเรียกว่า 'Beeper' ซึ่งเป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้กันในกรมตำรวจ ซึ่งอัลเฟรดก็ได้เห็นศักยภาพของอุปกรณ์ดังกล่าว จึงได้เริ่มพัฒนาเพจเจอร์ให้สามารถรับข้อความได้เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกันได้มากขึ้น โดยผู้ใช้ต้องโทรศัพท์ไปบอกข้อความพร้อมหมายเลขปลายทางของเพจเจอร์ เพื่อให้ศูนย์บริการส่งข้อความแทนเรา
ไม่นานหลังจากนั้น บริษัท Motorola ได้เริ่มสร้างเพจเจอร์ส่วนบุคคล และตั้งชื่อว่า “เพจเจอร์” อย่างที่เราเรียกกันในทุกวันนี้ โดยเพจเจอร์รุ่นแรก ๆ ยังคงทำแค่เพียงแจ้งเตือนเมื่อมีคนส่งข้อความเท่านั้น ในระยะหลังถึงมีฟังก์ชันหน้าจอและการฝากข้อความเสียง ทำให้เพจเจอร์เข้ามาครองใจคนหนุ่มสาวในยุคนั้น และยังเป็นต้นแบบแนวคิดอุปกรณ์สื่อสารไร้สายในยุคหลัง เช่น โทรศัพท์เมือถือ และคอมพิวเตอร์พกพาอีกด้วย
เมื่อได้ย้อนวันวานไปกับโลกอนาล็อกไปแล้ว เราขอพาเพื่อน ๆ เข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยรู้สาระความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของ 'อินเทอร์เน็ต' ได้ที่ รายการสังคมสนุกคิด ตอน ความสำคัญของอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ ALTV ทีวีช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก