ใครชอบกินขนมอินเดียบ้าง ยกมือขึ้น!
เวลาเดินเข้าร้านขนมอินเดีย เชื่อว่าหลายคนจะใช้เวลาอยู่นานมากอยู่หน้าตู้โชว์ขนม คือเลือกไม่ถูก ไม่รู้จะสั่งอะไรดี เห็นหน้าตาแต่ละอย่างแล้วก็นึกไม่ออกว่ารสชาติมันจะเป็นยังไงนะ มีส่วนผสมอะไรอยู่ในนั้นบ้าง และแต่ละอย่างมันต่างกันยังไง สุดท้ายเลยจบลงที่กุหลาบจามุน ขนมยอดฮิต
บทความนี้เราจะพามาหาคำตอบเรื่องขนมอินเดียกันที่ร้าน Delhi Sweet’s ในซอยพุทธโอสถค่ะ แต่ก่อนอื่น ต้องบอกว่าใครที่ชอบอาหารอินเดียแต่ไม่เคยรู้จักซอยนี้มาก่อนเลย คุณพลาดแล้วล่ะ เพราะซอยนี้มีร้านอาหารอินเดียอยู่หลายเจ้าที่น่าสนใจ
พูดถึงชื่อร้านขนม Delhi Sweet’s แล้ว ต้องบอกว่าขนมอินดียร้านนี้ไม่ได้เป็นขนมที่กินกันเฉพาะในเมืองเดลีแต่อย่างใดนะคะ แต่ด้วยเจ้าของร้าน ชาวเมืองเดลีได้มาพบรักกับสาวไทยที่กรุงเทพ ก็เลยตัดสินใจย้ายมาแต่งงานตั้งรกรากอยู่ที่เมืองไทย เลยใช้ชื่อเมืองเดลีมาตั้งเป็นชื่อร้าน
พี่หม่อง ภรรยาของคุณซันเจทำงานอยู่ในวงการอาหารมายาวนานหกปี ดูแลร้านอาหารมาหลายแบรนด์ รวมทั้งห้องอาหารของโรงแรมวินเซอร์ แต่ข้อสำคัญคือพี่หม่องบอกว่าไม่รู้ว่าดวงหรืออะไร แต่ร้านอาหารทั้งหมดที่เคยทำเป็นร้านอาหารอินเดียหมดเลย
วันดีคืนดี เมื่อปี 2548 พี่หม่องกับสามีไปรู้จักกับพ่อครัวชาวราชาสถานคนหนึ่งที่มาเปิดร้านอาหารอยู่ในเมืองไทย ธุรกิจของพ่อครัวคนนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก พ่อครัวเองอยากหาเงินกลับไปอยู่ที่อินเดีย ไม่อยากอยู่เมืองไทยแล้ว พ่อครัวเลยเสนอกับพี่หม่องและสามีว่ามาเปิดร้านขนมด้วยกันไหม ทั้งสามเลยร่วมกันเปิดร้านขนมอินเดียในซอยพุทธโอสถขึ้นมา เน้นขนมของเมืองจัยปูร์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพ่อครัว จนในวันที่พ่อครัวเก็บเงินกลับประเทศอินเดียได้ ตั้งแต่นั้นมา พี่หม่องกับสามีก็เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบร้านนี้แบบเต็มตัว จนถึงวันนี้ก็ 18 ปีแล้ว
สมัยแรกๆ พี่หม่องในฐานะผู้จัดการร้านไม่มีความรู้เรื่องขนมอินเดียเลยค่ะ แต่ด้วยความใฝ่รู้ เป็นคนชอบคิดชอบทำ ก็เลยศึกษาเรื่องขนมอินเดียจากพ่อครัวที่เริ่มต้นธุรกิจมาด้วยกัน ทุกวันนี้พี่หม่องรู้หมดว่าขนมตัวไหนต้องใช้วัตถุดิบอะไร ทำยังไงให้สดใหม่ คือถ้าวันไหนขาดคนในครัวขึ้นมา แกทำเองได้หมด
“มันจำเป็นนะที่เราต้องทำได้ทุกอย่าง เพราะเอาง่ายๆ เกิดสมมติลูกจ้างเราที่เป็นคนอินเดียกลับบ้านไปในช่วงเทศกาล และเขากลับเข้ามาเมืองไทยไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถ้ามันเกิดวันนั้นขึ้นจริง เราไม่ต้องปิดร้านเลยเหรอ ฉะนั้นมันสำคัญมากที่เราต้องทำทุกอย่างได้เท่าเขา รู้เท่าเขา เราต้องซัพพอร์ทลูกน้องเราได้ ร้านนี้จะไม่มีวันปิดตัวลงตราบใดที่เรากับสามียังอยู่”
ว่าด้วยขนมอินเดียในความคิดของคนไทย แน่นอนคำว่า ‘หวาน’ คือคำแรกที่นึกถึง
ก็ต้องยอมรับว่าหวานจริงละค่ะ เพราะคนอินเดียชอบกินขนมหวานมาก แต่ความหวานที่ว่าก็มีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับร้านด้วย ร้านที่ทำแบบไม่หวานจัดก็มี และความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้มาจากพี่หม่องคือขนมยิ่งหวานมากก็ยิ่งเก็บได้นาน โดยขนมร้านนี้ไม่ใส่สารกันบูดค่ะ ทำขายแบบวันต่อวัน
ส่วนประกอบหลักๆ ของขนมอินเดีย จะเป็นนมวัว แป้ง (แป้งถั่วต่างๆ และแป้งโฮลวีท) น้ำตาล และผลไม้แห้ง ขั้นตอนการทำขนมโดยทั่วไปจะใช้เวลาเยอะมากในช่วงของการเคี่ยวนม มีตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงไปจนถึงสามสี่ชั่วโมง ขนมแต่ละชนิดเหมาะกับการซื้อไปฝากหรือกินในช่วงเทศกาลที่ต่างกันไป
คุยกับพี่หม่องไปได้สักพัก พี่หม่องพามายืนดูที่หน้าตู้ขนม เรายืนลังเลอยู่นานว่าจะสั่งอะไรมาทดลองดีนะ สุดท้ายจบลงที่ขนมสามชนิดคือลัดดู กุหลาบจามุน และราสมาลัย
ลัดดูเป็นอีกหนึ่งขนมยอดฮิตของคนอินเดีย ที่ร้านนี้จะมีลัดดูสามแบบ แบบแรกเรียกบุนดิลัดดู คือการนำแป้งไปทอดและผสมในน้ำเชื่อม ส่วนโกนด์ลาดูคือแป้งสาลีผัดน้ำมันเนย ผสมด้วยเกล็ดน้ำตาล ผลไม้แห้ง อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และพริกไทยดำ ตัวสุดท้ายคือเบซันลัดดู ทำจากแป้งถั่วลูกไก่นำไปผัดกับน้ำมันเนย ผสมเกล็ดน้ำตาล ลัดดูนี่ถือเป็นขนมยอดนิยมสำหรับนำไปถวายพระพิฆเนศ โดยเขาจะทำออกมาในรูปทรงของโมทกะ ส่วนถ้ามีวันสำคัญ อย่างเช่นวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรือบ้านไหนเพิ่งมีลูกสาวลูกชาย เขาก็จะสั่งลัดดูขนาดใหญ่กว่าปกติ ไปฝากกันเป็นของขวัญ
กุหลาบจามุนคือขนมอีกตัวที่คนไทยคุ้นเคยกันดี คนอินเดียเองจะนิยมเอาไว้กินล้างปากหลังอาหารคาว ชื่อของกุหลาบจามุน คำว่ากุหลาบมาจากน้ำเชื่อมที่ใช้ราดซึ่งมีส่วนผสมของน้ำกุหลาบ ส่วนคำว่าจามุน มาจากลักษณะของแป้งที่ปั้นและนำไปทอด โดยรูปทรงของแป้งที่ผ่านการทอดแล้วมีลักษณะคล้ายกับลูกพลัมสีดำของคนอินเดีย ซึ่งลูกพลัมนี้ ในภาษาฮินดี-อูรดู เขาจะเรียกกันว่าจามุน
ส่วนความพิเศษของขนมอีกชนิดในร้านนี้ที่ต้องยกให้เขาเลยค่ะ คือราสมาลัย ปกติคนชอบขนมอินเดียจะคุ้นกับราสมาลัยที่มาในสีขาว แต่ราสมาลัยร้านนี้เขาเป็นสีเหลืองเพราะมีส่วนผสมของหญ้าฝรั่น ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าหญ้าฝรั่นคือหนึ่งในเครื่องเทศที่มีราคาแพงที่สุดในโลก โดยราสมาลัยสีเหลืองถือเป็นซิกเนเจอร์ของราสมาลัยจากเมืองจัยปูร์
นอกจากความสนุกของการนั่งกินขนมในร้าน Delhi Sweet’s กับการเรียนรู้การวัฒนธรรมการกินของคนอินเดียแล้ว ร้านนี้ยังให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังนั่งอยู่ในตรอกของเมืองเดลีจริงๆ นะคะ เพราะลูกค้าที่เดินเข้าออกส่วนใหญ่นี่จะเป็นคนอินเดีย และแต่ละคนที่เดินเข้ามาเป็นเจ้าของร้านเพชรร้านพลอยทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นช่วงเทศกาลดิวาลีนี่ พี่หม่องบอกร้านแทบแตก ลูกค้าสั่งทำขนมกันทีหลายร้อยกิโลกรัม
ใครอยากลองขนมร้านนี้ ตรงไปที่ซอยพุทธโอสถเลยนะคะ แนะนำว่าให้ไปวันเสาร์อาทิตย์เพราะเขามีขายขนมจาเลบี (Jalebi)ด้วย ทำสดจากเตาหน้าร้านเลย
Delhi Sweet's : ซอยพุทธโอสถ