ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
Learn small: วิชา ภาษาไทย (A-Level) "วิเคราะห์จุดประสงค์ผู้เขียน"
แชร์
ฟัง
ชอบ
Learn small: วิชา ภาษาไทย (A-Level) "วิเคราะห์จุดประสงค์ผู้เขียน"
19 มิ.ย. 66 • 16.00 น. | 10,937 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

การที่เราจะฟังหรืออ่านได้อย่างเข้าใจถ่องแท้ นอกจากการจับใจความสำคัญแล้ว การเข้าใจเจตนาและจุดประสงค์ของผู้ส่งสาร จะยิ่งทำให้เรารู้เท่าทันสิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอมากขึ้น โดยเราสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จากลักษณะถ้อยคำที่ใช้ เจตนา หรือน้ำเสียงและอารมณ์ของผู้เขียน ที่ ALTV ได้สรุปมาไว้ให้แล้ว

การเขียนที่มีจุดประสงค์เพื่ออธิบาย  

การเขียนเพื่ออธิบาย เป็นการเขียนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่าน 'เข้าใจ' หรือเกิดความ 'กระจ่างแจ้ง' ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ลักษณะเป็นการ อธิบายเรื่องที่เป็นวิธีการ มีลำดับขั้นตอน ไปจนถึง การให้คำจำกัดความ การขยายความโดยให้เหตุผล

 

ตัวอย่างการเขียนเพื่ออธิบาย: การทำให้หมูจับตัวเป็นก้อน เทคนิคการทำคือการใส่ไข่ไก่ลงไป ซึ่งไข่ไก่จะช่วยให้หมูจับตัวกันเป็นก้อน หากใช้หมูบะช่อจะทำให้หมูแข็งเกินไป ให้ใส่หมูสับ วุ้นเส้นลงไปด้วย จะเพิ่มความละมุนของหมูหมัก

 

การเขียนที่มีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวใจ 

การเขียนเพื่อโน้มน้าวใจมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม หรือทำให้ผู้อ่านรู้สึก ‘เชื่อ’ มักใช้ถ้อยคำในเชิงบวก ชี้ให้เห็นถึงข้อดี สรรพคุณ หรือประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้อ่านยอมรับในสิ่งที่ผู้เขียนเสนอ ไปจนถึงพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และการกระทำ เช่น การโฆษณาสินค้า 

 

ตัวอย่างการเขียนเพื่อโน้มน้าวใจ: โซฟาหนังแท้ นั่งสบาย ไม่ปวดหลัง พร้อมให้คุณทดลองนั่งฟรีแล้ววันนี้ ซื้อวันนี้แถมฟรีส่วนลดสุดพิเศษอีกมากมาย

 

การเขียนที่มีจุดประสงค์เพื่อแนะนำ/ชี้แนะ  

การเขียนเพื่อแนะนำหรือชี้แนะ เป็นการเขียนที่มีจุดมุ่งหมายให้เกิดการกระทำ คล้ายกับการเขียนโน้มน้าวใจ แต่การแนะนำจะมีการนำเสนอสิ่งใหม่ พร้อมสอดแทรกสาระความรู้ หรือเปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อดี-ข้อเสีย

 

ตัวอย่างการเขียนเพื่อแนะนำ/ชี้แนะ: ชามีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้มีพลังานตื่นตัวได้ยาวนานกว่า ทั้งยังช่วยเผาผลาญไขมันได้ดีอีกด้วย

 

การเขียนที่มีจุดประสงค์เพื่อตักเตือน 

การเขียนเพื่อตักเตือน มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกให้ผู้อ่านรับรู้ว่ากำลังทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง หรือการกระทำนั้นอาจนำไปสู่ความเสียหายในภายหลัง หรือกล่าวถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น

 

ตัวอย่างการเขียนเพื่อตักเตือน: การที่เชื่อว่า การดื่มชาปลอดภัยกว่ากาแฟนั้นไม่เป็นความจริง เพราะในความจริง ชาและกาแฟปลอดภัยเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากปริมาณคาเฟอีนในกาแฟ มีมากกว่าชา ดังนั้นจึงต้องจำกัดปริมาณการดื่ม เพื่อป้องกันการรับคาเฟอีนมากเกินไป

 

การเขียนที่มีจุดประสงค์เพื่อตำหนิ  

การเขียนเพื่อตำหนิ หลายคนอาจสับสนกับการตักเตือน การตำหนิมักใช้กับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ใด ที่มีการกระทำความผิดไปแล้ว

 

ตัวอย่างการเขียนเพื่อตำหนิ: อย่าลดคุณค่าของตัวเอง เพียงเพราะยากให้เขาห็นคุณค่าในตัวเรา วันใดที่เราออกวิ่งตามใครสักคน วันนั้นเป็นวันที่คุณค่าในตัวเราลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากเขาจะไม่เห็นคุณค่า เรายังต้องเหนื่อยกายและใจ คนเราถ้าเขาเห็นค่ายืนเฉยเขาก็เห็น

 

เจตนาของผู้เขียน 

เจตนาแจ้งให้ทราบ: ประโยคที่ผู้เขียนต้องการแจ้งให้รับรู้เนื้อหาสาระ อาจอยู่ในลักษณะประโยคบอกเล่า หรือประโยคปฏิเสธก็ได้ 

 

เจตนาถามให้ตอบ: ประโยคที่ผู้เขียนต้องการ ‘คำตอบ’ จะมีการแสดงคำถามอยู่ในประโยคด้วย เช่น คำว่า หรือไม่, ที่ไหน, อย่างไร, ทำไม, อะไร, อย่างไร เป็นต้น

 

เจตนาบอกให้ทำ: ประโยคที่ผู้เขียนใช้ถ้อยคำเชิงคำสั่ง ตักเตือน หรือขอร้องให้ปฏิบัติตาม มักมีคำว่า ต้อง... อย่า…. จง… โปรด...

 

น้ำเสียงและอารมณ์ความรู้สึกในงานเขียน

น้ำเสียงที่ใช้ในงานเขียน เป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้สึกและทัศนคติของผู้เขียนที่มีต่อเรื่องที่เขียน ไปจนถึงต่อตัวผู้อ่านเอง การจับอารมณ์และน้ำเสียงของผู้เขียนได้ จะช่วยให้เข้าใจงานเขียนนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

  • ประชดประชัน: มีลักษณะกล่าวน้อยหรือมากเกินไปจากความคิด หรือ ตรงกันข้ามกับความคิดความรู้สึกที่แท้จริง เช่น "ถ้าจะรีบขนาดนี้ ทำไมไม่มาตั้งแต่เมื่อวานเลยล่ะ" 

 

  • โศกเศร้า: มักเป็นการพูดถึงเหตุการณ์ในแง่ลบ การสูญเสีย การจากลา ทำให้ผู้อ่านจะรู้สึกสลดใจ เช่น "กว่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ไม่มีเธอ มันช่างยากเย็น" 

 

  • น้อยใจ: แสดงอาการตัดพ้อ มีความเจือปนกันระหว่างอารมณ์โกรธและเสียใจ เช่น "ไม่ว่าทำอะไรฉันก็ไม่เคยดีพอในสายตาเขา" 

 

  • วิตกกังวล: แสดงอาการครุ่นคิด วกวน คิดถึงผลกระทบของสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เช่น "การบ้านสัปดาห์นี้ทั้งเยอะและยาก ฉันจะทำเสร็จทันไหม ถ้าหากทำไม่เสร็จจะต้องโดนทำโทษแน่เลย" 

 

  • ปลุกใจ: มีลักณะเชิญชวนหรือโน้มน้าวใจให้รู้สึกมุ่งมั่น หึกเหิมในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ หรือเป็นการทำให้รู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างไปในทางที่ดีขึ้น เช่น "ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับสังคมของเรา"

 

 

เมื่อได้ทำความเข้าใจถึงหลักการจำแนกน้ำเสียงและอารมณ์ของผู้เขียนไปบ้างแล้ว ALTV ยังมีสรุปเนื้อหาสำคัญข้อสอบด้านการอ่านและการวิเคระห์จุดประสงค์ จาก ครูพี่แป้ง มณฑิชา บูรพิสิทฐิกุล มาฝากกันอีกด้วย โดยสามารถรับชมต่อได้ที่รายการ ห้องเรียนติวเข้ม ม.ปลาย วิชา A-Level ภาษาไทย ตอน การวิเคราะห์จุดประสงค์ ทางเว็บไซต์ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ตีความสาร, 
#วิเคราะห์จุดประสงค์, 
#A-Level, 
#ติวเข้มภาษาไทย, 
#วิชาภาษาไทย, 
#ภาษาไทยม.ปลาย, 
#เตรียมสอบ 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ตีความสาร, 
#วิเคราะห์จุดประสงค์, 
#A-Level, 
#ติวเข้มภาษาไทย, 
#วิชาภาษาไทย, 
#ภาษาไทยม.ปลาย, 
#เตรียมสอบ 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา