ระบบเตือนภัยพิบัติฉุกเฉิน คือ ระบบการเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัยพิบัติที่ชัดเจนและทันเวลา เพื่อให้บุคคล ชุมชนและองค์กรที่ถูกคุกคามจากภัยพิบัติอันตราย สามารถเตรียมพร้อมและดำเนินการอย่างเหมาะสมในเวลาที่เพียงพอเพื่อลดความอันตรายหรือความสูญเสีย ระบบเตือนภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ ความสามารถประเมินความเสี่ยง ความสามารถในการตรวจสอบ วิเคราะห์และการพยากรณ์อันตราย ความสามารถในการสื่อสารหรือแพร่กระจายข้อมูลเตือนภัยและความสามารถของท้องถิ่นในการตอบสนองต่อข้อมูลเตือนภัย
ธวัฒชัย ปาละคะมาน นักวิชาการด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ ชวนวิเคราะห์กราฟ 2 เส้น บ่งชี้ว่าปัจจุบันโลกกำลังเผชิญความท้าทายกับภัยธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สะท้อนว่าทุกครั้งที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 0 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ปี 1960 - 2019 จำนวนความถี่การเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้น ผลการศึกษา ระบุว่า ทุกครั้งที่แนวโน้มของภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติเพิ่มขึ้น ระบบเตือนภัยล่วงหน้าโดยโฉพาะระดับโลกจะได้รับการทบทวน เพื่อปรับระบบยู่เป็นระยะ
“ปัจจุบันภัยพิบัติเกิดขึ้นถี่ ต่อเนื่องและเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น มี 3 คำที่อยากชวนทำความเข้าใจ คือ “ซับซ้อน” ภัยธรรมชาติปัจจุบันไม่ได้มีแค่อุทกกภัย อัคคีภัย หรือลมพายุ แต่วันนี้มีลักษณะเฉพาะเป็นภัยพี่ภัยน้อง กรณีเหตุแผ่นดินไหว ผู้ประสบภัยอาจไม่ได้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวโดยตรง แต่ความซับซ้อนทำให้มีความเสี่ยงต่อชีวิต เพราะอาศัยอยู่ในอาคารที่ไม่ปลอดภัย อาคารถล่ม ไฟฟ้าลัดวงจร นี่คือความซับซ้อนของภัย”
ธวัฒชัย เผยข้อมูลล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง ลองตั้งโจทย์กรณีความซับซ้อนในพื้นที่เมืองกับการจัดการภัยพิบัติ ด้วยคำว่า “เชื่อมร้อย” ภัยพิบัติหนึ่งๆ ที่ถูกเชื่อมร้อยด้วยกัน อย่างการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าโควิด-19 ไม่ใช่ภัยพิบัติจากธรรมชาติแต่เป็นโรคระบาด ที่มีความเชื่อมร้อยกับความบอบบางทางสังคม ทำให้เห็นศักยภาพในการตอบสนองหรือการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาภาครัฐ
ระบบการเตือนภัยล่วงหน้า เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ส่งสัญญาณเตือนมนุษย์ว่ากำลังเผชิญสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างเมื่อเข้าฤดูฝน ปริมาณฝนไม่ได้ตกหนักเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน แต่เป็นลักษณะของฝนที่ตกช่วงเวลาสั้น ๆ คือภัยเงียบความรุนแรงที่มนุษย์กำลังเผชิญทุกครั้งที่ภัยธรรมชาติเปลี่ยนแปลง การเตือนภัยล่วงหน้า จึงเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการภัยพิบัติในภาพรวมที่ต้องขยับตามทั้งมาตรฐานการลงทุนงบประมาณ ทำอย่างไรให้ระบบเตือนภัยล่วงหน้า สามารถที่เข้าถึง ตอบสนองและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงภัยธรรมชาติรูปแบบใหม่
ทิศทางมาตรฐานโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ย้อนไปปี 1960 ระบบเตือนภัยเน้นลงทุนการพัฒนาระบบที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (radar) เป็นเครื่องมือในการระบุระยะต่าง ๆ แต่ช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ระบบเตือนภัยปรับมาตรฐานไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง มีความพยายามนำความรู้ที่หลากหลายอาศัยศาสตร์แบบองค์รวม สร้างระบบเตือนภัยให้คนปลายทางปลอดภัย เพราะสังคมมีความหลากหลายมีกลุ่มคนเปราะบาง ที่ยังเข้าไม่ถึงนวัตกรรมเทคโนโลยี วันนี้ภาครัฐมีระบบเตือนภัยที่เข้าถึงความหลากหลายของประชากรแล้วหรือยัง เกิดการรับรู้มากน้อยแค่ไหน เมื่อส่งการเตือนภัยไปยังบุคคลที่มีความหลากหลายในสังคม
“ระบบเตือนภัยของไทยแบบสากล ยึดมาตรฐานโลกกำหนด เพื่อเชื่อมเข้ามาในบริบทพื้นที่ของประเทศไทย ภายใต้ 4 องค์ประกอบที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ คือ 1.ระบบตรวจจับทรัพยากร 2.ระบบความรู้ 3.ระบบเตือนภัยต่างๆ เมื่อเกิดหตุวิกฤต และ4.ศักยภาพในการตอบสนองต่อคำเตือนภัย”
ในขณะที่ทั่วโลกขยับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรับมือภัยพิบัติ ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เริ่มมีสิ่งเตือนภัยครั้งแรก หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิ มีการออกแบบจัดตั้งหลายศูนย์เตือนภัย รวมถึงศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติที่เป็นศูนย์เตือนภัยหลักของประเทศ แต่ “วันนี้ไหวหรือไม่” คงตอบว่ายังไหวในแบบที่เริ่มจะไม่ไหวแล้ว ด้วยสองเหตุผลคือ 1. ภัยพิบัติเกิดขึ้นและรุนแรงต่อเนื่อง และ 2. มาตรฐานโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สวนทางกับการปรับตัวการรับมือต่อภัยภิบัติของประเทศไทยที่ค่อนข้างล่าช้า
แม้การขับเคลื่อนระบบเตือนภัยประเทศไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงาน แต่เป็นการเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ เช่นเรื่องน้ำที่มีไม่ต่ำกว่า 20 หน่วยงาน แต่ระบบเตือนภัยมีความเสี่ยงหลากหลาย ทั้งเหตุแผ่นดินไหว อาคารถล่ม หรือแม้แต่ความแปรปรวนของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ที่ผ่านมาไทยยึดระบบการเตือนภัยของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ แต่วันนี้ทุกหน่วยงานพยายามทำงานบนฐานของตัวเอง แต่ประเทศไทยยังขาดระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ
ธวัฒชัย ย้ำว่าประเทศไทยขาดการลงทุนกับระบบการเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ อย่างเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เวทีโลกให้การยอมรับและมีมติร่วมกันคือ ระบบเตือนภัยล่วงหน้าในปี 2027 ทั่วโลกควรจะมีการลงทุนต่อเนื่องด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับระบบเตือนภัยล่วงหน้า ตามแนวโน้มการเกิดภัยพิบัติที่ต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น
จากข้อมูลงานวิจัยของ UNDRR หรืองานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ รับรองว่า การลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้า สามารถป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติได้ 3 - 10 เท่า เพราะทุกประเทศมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดภัยพิบัติแบบฉับพลันโดยที่ไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ขาดการบริหารจัดการภาวะหยุดชะงักของห่วงโซ่ที่มีประสิทธิภาพมากพอ ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียมูลค่ามหาศาล
“วันนี้ทิศทางทั่วโลก จับตาการลงทุนพัฒนาการเข้าถึงระบบเตือนภัย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำอย่างไรให้เกิดความมั่นใจว่าระบบเตือนภัยจะเข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกพื้นที่เพื่อมนุษยชาติ ไม่แบ่งเชื้อชาติ ไม่แบ่งแยกประเทศ โดยแนะว่าควรมี 3 ระยะ ที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน คือช่วง 1 - 3 ปีแรก จัดสรรงบประมาณเติมเต็มช่องว่างระหว่างหน่วยงานให้ทุกคนทำงานบนมาตรฐานเดียวกัน ส่วนแผนระยะกลางถึงระยะยาว ตั้งเป้าว่าประเทศไทยควรมีระบบเตือนภัยแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซับซ้อน”
หมายเหตุ : เรียบเรียงจาก DxC Talk ตอน ระบบเตือนภัยแบบไทยๆ ไหวไหมในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม