ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
รับมือ “สึนามิ” อย่างมีชั้นเชิง
แชร์
ชอบ
รับมือ “สึนามิ” อย่างมีชั้นเชิง
24 ธ.ค. 67 • 12.00 น. | 94 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

สึนามิ ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยบริเวณแนวชายฝั่งทะเล  เนื่องจากความเร็วมากกว่า 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ในการเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งและความสูงกว่า 30 เมตรของคลื่นยักษ์นี้สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก  ความเสียหายจากภัยสึนามิในอดีตที่รุนแรง เช่น เหตุภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียในปี 2547 และเหตุสึนามิถล่มโทโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ปี 2554

สึนามิคือคลื่น ที่เคลื่อนตัวในมหาสมุทรด้วยความเร็วสูงมาก และมีพลังรุนแรง สามารถเคลื่อนที่ไปได้เป็นระยะทางไกลๆ เมื่อเคลื่อนที่เข้าสู่บริเวณชายฝั่งจะทำให้เกิดเป็นคลื่นขนาดใหญ่มาก ที่เรียกกันว่า คลื่นยักษ์ ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้คน ที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายฝั่ง คลื่นชนิดนี้จึงแตกต่างจากคลื่นธรรมดา ที่เกิดจากแรงลม พัดผ่านเหนือพื้นผิวน้ำในท้องทะเล คำว่าสึนามิมาจากภาษาญี่ปุ่น แปลว่า คลื่นอ่าวจอดเรือ ทั้งนี้ เนื่องจาก บริเวณชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นอ่าวจอดเรือทางด้านมหาสมุทรแปซิฟิก มักได้รับภัยจากคลื่นนี้อยู่บ่อยครั้งจึงเรียกชื่อนั้น ต่อมาชื่อนี้ได้นำไปใช้แพร่หลายจนเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

ลักษณะสำคัญของคลื่นสึนามิ คือ เป็นคลื่นที่เคลื่อนตัวในมหาสมุทร ประกอบด้วยชุดคลื่น ที่มีความยาวมาก โดยมีระยะทางระหว่างยอดคลื่นแต่ละลูก ตั้งแต่ 100 - 200 กิโลเมตร และมีคาบคลื่นหรือ ช่วงเวลาเคลื่อนที่ของยอดคลื่นแต่ละลูก ตั้งแต่ 10 นาที ไปจนถึง 1 ชั่วโมง สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงตั้งแต่ 700 -800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนที่ไปได้ในระยะทางไกลหลายร้อย หรือหลายพันกิโลเมตร หากไม่มีผืนแผ่นดินใดๆ กั้นขวางอยู่ในทะเล 

ขณะเคลื่อนที่อยู่ในบริเวณน้ำลึก ความสูงของคลื่นมีเพียง 30 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร แต่เมื่อเข้าไปถึงบริเวณน้ำตื้น ใกล้ชายฝั่งจะเพิ่มความสูงและความรุนแรงมากขึ้น  จนอาจมีลักษณะคล้ายกำแพงน้ำขนาดใหญ่ที่ถาโถมเข้าหาชายฝั่ง ยิ่งบริเวณชายฝั่งเป็นอ่าวแคบ หรือมีรูปทรงเป็นกรวยยื่นเข้าไปภายในพื้นแผ่นดิน คลื่นอาจเพิ่มความสูงได้มากถึง 30  เมตร มวลน้ำมหาศาลที่คลื่นพัดพาขึ้นไปบนฝั่งจะปะทะกับอาคารบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ขวางหน้า ซึ่งถ้าเป็นอาคารเตี้ยๆ ที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงจะถูกทำลายจนราบเรียบ คลื่นสึนามิจึงนับเป็นพิบัติภัย ที่ร้ายแรงมากอย่างหนึ่งของมนุษย์

การเกิดคลื่นสึนามิ แบ่งเป็น  2  สาเหตุหลัก คือ คลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิไร้แผ่นดินไหว   คลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหวมาจากการเกิดแผ่นดินไหวในระดับที่รุนแรง คือ ตั้งแต่ 8.0  ริกเตอร์ขึ้นไป โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใต้พื้นท้องมหาสมุทร หรือที่บริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล เมื่อใดที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้าหากัน หรือแยกออกจากกันจะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้น และหากบริเวณนั้นอยู่ใต้ทะเล จะยิ่งทำให้เกิดคลื่นสึนามิขึ้นได้   ทั้งนี้คลื่นสึนามิที่เคยเกิดขึ้นในอดีต พบว่ามักเกิดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก บ่อยครั้ง  เนื่องจากเป็นพื้นน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมเนื้อที่ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นผิวโลก การเกิดแผ่นดินไหวจะส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ แผ่กระจายออกไปเป็นวงกว้าง  จุดกำเนิดของแผ่นดินไหวหลายพันกิโลเมตรกระทบถึงหมู่เกาะญี่ปุ่นทางตะวันออกของทวีปเอเชีย

ขณะที่คลื่นสึนามิไร้แผ่นดินไหว   สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือเกิดจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เป็นการเกิดแผ่นดินถล่มขนาดใหญ่ใกล้ชายฝั่งทะเล  หรือการปะทุอย่างรุนแรงของภูเขาไฟใต้ทะเลหรือบนเกาะในทะเล และการพุ่งชนของอุกกาบาตลงบนพื้นน้ำในมหาสมุทร

ขณะที่ปรากฏการณ์ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น  ปรากฏการณ์คลื่นขนาดใหญ่ ที่เคลื่อนตัวมาถึงชายฝั่งของประเทศฟิลิปปินส์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2489 ทั้งที่ไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวมาก่อน แต่เพราะมีการทดลองระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาที่เกาะบิกินี ในหมู่เกาะมาร์แชลล์ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเชื่อว่าความสั่นสะเทือนของพื้นน้ำ ที่เกิดจากการทดลองระเบิดปรมาณู ก็อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขึ้นได้

ส่วนระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิที่ควรดำเนินการ มีทั้งการเตือนภัยด้วยอุปกรณ์เครื่องมือ และมาตรการต่างๆ   เช่น การติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือระบบเตือนภัยคลื่นสึนามิ  ที่ประกอบด้วยฐานเก็บบันทึกข้อมูลใต้ท้องทะเล และทุ่นลอย ส่งสัญญาณที่พื้นผิวทะเล และข้อมูลต่างๆ ทั้งความดันของน้ำทะเล การสั่นสะเทือนของเปลือกโลกและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นทะเล ไปยังทุ่นลอยบนพื้นผิวน้ำ ในขณะเดียวกันทุ่นลอยบนพื้นผิวน้ำจะเก็บวัดข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติมทั้งความเร็วกระแสลม อุณหภูมิ และความกดของอากาศ เพื่อส่งข้อมูลทั้งหมด เป็นสัญญาณผ่านดาวเทียม ไปยังฐานรับส่งข้อมูลคลื่นสึนามิที่อยู่บนฝั่ง 

จากนั้นนักวิชาการจะประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับผ่านดาวเทียม โดยใช้คอมพิวเตอร์จำลองรูปแบบเพื่อทำนายแนวโน้มของการเกิดคลื่นสึนามิ หากผลการวิเคราะห์พบว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดคลื่นสึนามิ จะแจ้งไปให้ศูนย์เตือนภัยตามชายฝั่งต่างๆ ทราบทันที เพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยให้ประชาชนในท้องถิ่นเตรียมตัวอพยพหนีภัยได้ทันเวลา

การวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารเตือนภัยระหว่างหน่วยงานต่างๆ  เพื่อให้การเตือนภัยและการเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จึงให้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เกี่ยวกับการเกิด และการรับภัยคลื่นสึนามิระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการของนายกรัฐมนตรี ศูนย์ปฏิบัติการของหน่วยงาน ทั้งในระดับกระทรวงและระดับกรม รวมทั้งให้มีกลไกในการดำเนินงาน และการวินิจฉัยสั่งการในพื้นที่รับผิดชอบแต่ละแห่งโดยฉับไว

การติดตั้งระบบเตือนภัยในท้องถิ่น  เช่น การส่งสัญญาณจากหอเตือนภัยที่สร้างไว้ตามจุดต่างๆ การติดตั้งป้ายบอกเส้นทางอพยพหนีภัยไปยังจุดปลอดภัยที่อยู่ใกล้ที่สุด พร้อมทั้งคำแนะนำในการหนีภัย ตลอดจนการวางแผนและซ้อมปฏิบัติการตามแผนของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับคลื่นสึนามิ การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องคลื่นสึนามิ ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้มาก เนื่องจากประชาชนในท้องถิ่นจะมีการระมัดระวังตน และรู้วิธีการหนีภัยได้ทันการณ์  ความรู้เรื่องคลื่นสึนามิทั้งความรู้เกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติของคลื่นสึนามิ   และความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนเมื่อมีคลื่นสึนามิเกิดขึ้นในพื้นที่

ในกรณีที่อยู่บนฝั่งหากได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยการเกิดคลื่นสึนามิ ควรเคลื่อนย้ายครอบครัว และตนเอง ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเร็ว และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่โดยรีบด่วน   หากอยู่ที่บริเวณชายหาด และรู้สึกได้ถึงแผ่นดินไหว ให้รีบหนีไปอยู่บริเวณที่สูง และให้อยู่ห่างบริเวณชายฝั่งซึ่งจะมีเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีที่จะหาที่หลบภัย ดังนั้นต้องปฏิบัติการโดยรวดเร็วและฉับพลัน

หากอยู่บนอาคารสูงหลายชั้นที่มีโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง ชั้นบนของอาคาร สามารถใช้เป็นที่หลบภัยคลื่นสึนามิได้ หากไม่มีเวลาพอในการหาที่สูงอื่นๆ เป็นที่หลบภัย   ในกรณีที่ อยู่ในเรือให้นำเรือออกจากฝั่งไปยังบริเวณน้ำลึกนอกชายฝั่งทันที ก่อนกลับเข้าฝั่ง ให้ติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ชายฝั่ง เพื่อทราบสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าเรือ หรือเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#LifeSkill, 
#20ปีสึนามิ, 
#คลื่นยักษ์, 
#ภัยพิบัติ 
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
ALTV CI
ข่าว ALTV
ข่าว ALTV
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
กองบรรณาธิการ ALTV
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#LifeSkill, 
#20ปีสึนามิ, 
#คลื่นยักษ์, 
#ภัยพิบัติ 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา