หนึ่งในผลกระทบจากการใช้ชีวิตออนไลน์ ก็คือ การแพร่ระบาดของยาเสพติด จนตอนนี้อาจจะบอกได้ยากว่า ที่ไหนคือชุมชนเสี่ยง ที่ไหนไม่เสี่ยง เพราะ ยาเสพติดถูกสั่งโดยใครก็ได้ ส่งที่ไหนก็ได้
นี่คือความท้าทายทางสุขภาพ ที่ทำให้หลายบ้านเป็นกังวล อะไรคือ เครื่องมือที่จะทำให้ลูกหลาน รอดพ้นจากความเสี่ยงนี้ได้ ดูเหมือนสิ่งๆ นั้น จะถูกเรียกว่า “ทักษะ EF”
กว่า 10 ปีมาแล้วที่สังคมไทย รู้จักคำว่า EF หรือ Executive Function แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่า EF คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไร ทำไมถึงถูกยกให้เป็นเครื่องมือเอาตัวรอดในศตวรรษที่ 21 (ปี ค.ศ.2001-2100)
ซึ่งถ้าหากคุณไม่ใช่พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือ คนที่ทำงานกับเด็ก อาจไม่รู้เลยว่า ชีวิตเด็กไทยทุกวันนี้อ่อนแออย่างมาก โดยมีตัวชี้วัดที่เราอาจจะผ่านตามาก็ไม่น้อย ทั้งการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ระดับไอคิวลดลง สมรรถนะตามมาตรฐานสากล หรือ PISA ก็ต่ำกว่าค่ามาตรฐานสากล
ในขณะที่โลกใบนี้ก็ไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาทเปลี่ยนโลกทั้งใบให้ไร้การควบคุม ชีวิตประจำวันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แม้แต่ฤดูกาลก็ไม่มาตามนัด และ สิ่งที่เข้ามาเยือนคือ ภัยธรรมชาติ จากภาวะโลกรวน ที่ทำให้สภาพเศรษฐกิจ สังคม ของผู้คนบนโลก มีความยากลำบากมากขึ้น
นั่นทำให้เด็กๆ ที่อยู่รอดได้ในช่วงนั้น ต้องเป็นคนที่อ่านออกเขียนได้ คิดวิเคราะห์ เข้าใจและใช้เทคโนโลยีเป็น ยืดหยุ่น เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีเป้าหมายวางแผนชีวิตได้ รู้จักการอยู่ร่วมกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทำงานร่วมกันเป็นทีม และทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจาก ทักษะ EF ค่ะ
นักวิทยาศาสตร์ พบว่า การสร้างทักษะ EF เกิดที่โครงสร้างสมองส่วนหน้า ซึ่งควบคุมอารมณ์ การกระทำ การแสดงออกทางอารมณ์ และความคิดของคนหนึ่งคนเพื่อไปสู่เป้าหมายบางอย่าง ซึ่งมีส่วนสัมพันธ์กับสมองส่วนอื่น
หากฝึกฝนจนแข็งแรง ก็จะเกิด “ความยับยั้งชั่งใจ” ต่อสิ่งที่ไม่ดี และนี่คือ คำอธิบายว่า ทำไม ถ้า EF แข็งแกร่ง ก็จะปกป้องลูกหลานเราให้ปลอดภัยจากยาเสพติดได้
“มีผลวิจัย คนที่เริ่มใช้บุหรี่ เป็นประตูสู่การใช้ยาเสพติดที่รุนแรงขึ้นได้ ”
ปะภาสี คัยนันท์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ป.ป.ส. เปิดเผยว่า บุหรี่ เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สารเสพติดในเด็กและเยาวชนที่นำไปสู่การใช้ในระดับที่รุนแรงขึ้น
ถ้าดูจากข้อมูลของคนที่เข้าสู่กระบวนการบำบัด คนกลุ่มแรกที่เริ่มเข้าสู่วงจรการใช้สารเสพติด อยู่ในช่วงอายุ 15-19 ปี สาเหตุอาจมาจากการเป็นช่วงวัยเปลี่ยนผ่าน บางคนเลิกการศึกษา หรือ เริ่มเป็นวัยรุ่นต้องการค้นหาตัวเอง หรือ มีปัญหาต่างๆ หรือ อยากแสดงตัวตนในกลุ่มเพื่อน ทำให้มีโอกาสใช้ยาเสพติดได้
แม้ว่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ แต่มันก็ยังมีช่องว่า ที่ทำให้การป้องกันยังไม่ได้ผลกับทุกๆคน หน่วยงานภาครัฐเองก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงตัวเด็กทุกคนได้ กลไกสำคัญคือ ครอบครัว
“ท่านเลขาธิการ ป.ป.ส. (พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ) เคยให้หลักคิดไว้ว่า ยาบ้าไม่กลัวตำรวจ แต่กลัวความรักของครอบครัว กลัวความเข้าใจของชุมชน”
ทำอย่างไร ให้ลูกเราคุมตัวเอง มีเป้าหมายไปต่อ ลำพังหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวคงป้องกัน หรือ ไปให้ถึงตัวเด็กไม่ได้ ต้องพึ่งพาครอบครัว ชุมชนด้วย ... ผอ.ปะภาสี ระบุ
เริ่มแรก EF ถูกนำไปพัฒนาทักษะเฉพาะในกลุ่มเด็กที่เป็นวัยเสี่ยง แต่การทำงานในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ถ้ารอให้ถึงวัยเสี่ยงนั้นสายเกินไป
การเสริมทักษะ EF ถูกขยับลงมาในกลุ่มปฐมวัย เริ่มตั้งแต่ 3-4 ขวบขึ้นไป พัฒนาทักษะทางสมอง ความจำ การควบคุมอารมณ์ เกิดการวางแผนชีวิต และ ทักษะการปฏิเสธสิ่งที่ไม่ดี
นอกจากนี้ ป.ป.ส. ยังมุ่งไปที่กลุ่มเด็กนอกสถานศึกษา มีกิจกรรมเข้าไปช่วยเหลือ ร่วมมือกับครอบครัว และชุมชน เพื่อให้กำลังใจเด็กๆ
ไม่ว่าจะเป็นเด็กในระบบ หรือ นอกระบบการศึกษา ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาครอบครัว ในการสร้าง EF ทำให้เราเกิดคำถามว่า ครอบครัวสามารถสร้าง EF ได้อย่างไร ต้องลงทุนด้วยเงินแสนแพงหรือไม่ คำตอบที่ได้จาก ป.ป.ส. คือ การโอบกอด แสดงความรัก ชวนคิด ชวนคุย เพื่อให้ครอบครัวไม่มีช่องว่างระหว่างวัย เพราะถูกเติมเต็มด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน
“การใช้พอดมีต้นทุน เด็กยังไม่ได้ทำงาน ได้ค่าขนมเล็กน้อย อาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเชิงลบเพื่อหาเงินมาซื้อหา”
เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้ถูกยกระดับให้เป็นสารเสพติด หรือ ยาเสพติด แต่ถูกกฎหมายกำกับดูแล ใน 3 ประการ คือ ห้ามขาย ห้ามนำเข้า ห้ามครอบครอง แต่ก็ยังพบว่า การบังคับใช้กฎหมายยังมีปัญหา เพราะยังสามารถพบเห็นคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือ ลักลอบนำเข้าและจำหน่าย ทั้งออนไลน์ และ หน้าร้าน
ในมุมของคุณปะภาสี ชี้ว่า มีโอกาสที่ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจะเสพติดสารนิโคติน แม้ ป.ป.ส. จะมองว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ใช่ยาเสพติด แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งในระยะหลังยิ่งน่ากังวล เมื่อพบการผสมยาเสพติด เช่น เคตามีน ที่เรียกว่า พอดเค ทำให้ ป.ป.ส. เข้ามาติดตาม และเฝ้าระวัง โดยเฉพาะสถานศึกษา ที่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า ตัดวงจรไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาในอนาคต
พรวดี ลาทนาดี : เรียบเรียง