วันที่ 14 มีนาคมของทุกปี คือวันคณิตศาสตร์โลก หรือเราอาจรู้จักในอีกชื่อว่า “วันพาย”
เป็นวันที่จัดขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองค่าพาย ที่เรียกว่าวันพายเพราะค่าประมาณของพายที่เรารู้กันดีอยู่ที่ 22/7 หรือในรูปทศนิยมก็คือ 3.14...
พายเป็นค่าคงตัวทางคณิตศาสตร์ เป็นอัตราส่วนของเส้นรอบวงกลม หารด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลม
พาย (Pi) หรือที่เรารู้จักกันในสัญลักษณ์ " π " แท้จริงแล้วมาจากภาษากรีก พายเป็นอักษรตัวที่ 16 ของภาษากรีก ของคำว่า perimitros หรือที่แปลว่า เส้นรอบรูปนั่นเอง
เพราะค่าของพาย อยู่ที่ประมาณ 3.14 จึงเป็นที่มาของวันพาย หรือวันคณิตศาสตร์โลก โดยจัดขึ้นในวันที่ 14 เดือน 3 ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ตรงกับวันนี้ นั่นก็คือวันเกิดของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" ด้วย
หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าคณิตศาสตร์ก็รู้สึกอึดอัดขึ้นมา เพราะเป็นวิชาที่ไม่ชอบสุด ๆ ไม่ว่าจะตั้งใจเรียนแค่ไหนก็สอบได้คะแนนน้อยทุกที แต่ความคิดที่ว่าเรียนไปก็ไม่ได้ใช้ บอกเลยว่าเป็นความคิดที่ผิด! เพราะคณิตศาสตร์ไม่ได้มีแค่การบวกเลข แต่ให้อะไรมากกว่าที่คิด
ในชีวิตประจำวันเราพึ่งพาคณิตศาสตร์มากกว่าที่คิด!
ถ้าพูดถึงคณิตศาสตร์อาจจะนึกไม่ออกว่ามันมีความสำคัญอย่างไร ที่เรียนไปเนี่ย สำคัญจริงเหรอ? จริงอยู่ที่ไม่ใช่เราทุกคนจะได้ใช้สิ่งที่เรียนไปทั้งหมด แต่คณิตศาสตร์ให้อะไรกับเรามากกว่าที่คิดโดยที่บางทีเราก็ไม่รู้ตัว
คณิตศาสตร์สอนให้เรารู้จักแก้ปัญหา
ในทุกโจทย์ปัญหาไม่ว่าจะยากหรือง่าย ก็ต้องต้องผ่านการหาวิธีการคิดออกมาเพื่อให้ได้คำตอบ บางปัญหาอาจมีวิธีคิดที่หลากหลาย บางปัญหาก็มีวิธีคิดเดียว ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะหาตัวเลขที่รวมกันได้ 10 จะต้องใช้เลขอะไรกับอะไรล่ะ วิธีคิดก็มีมากมายไม่ว่าจะเป็นเอา 5+5 เอา 1+9 หรือจะเป็น 2+8 ก็ยังได้ เช่นเดียวกันกับการใช้ชีวิต เราล้วนเจอกับปัญหากันทั้งนั้น แต่วิธีการแก้ปัญหาไม่ได้มีทางเดียวเสมอไป อาจมีหลายทางมากกว่าวิธีการหาตัวเลขที่รวมกันได้จำนวน 10 ซะอีก
คณิตศาสตร์สอนให้เราช่างสังเกต
เชื่อว่าหลายคนคงจะประสบปัญหากับเวลาไม่พอในการสอบเลข แต่ทำไมเพื่อนบางคนถึงได้คิดเลขเร็วจังนะ ทั้ง ๆ ที่ก็เรียนพอกับเรานี่นา การจับจุดสังเกตหาวิธีที่ง่ายและสั้นที่สุดก็เป็นอีกวิธีนึงที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้เร็วขึ้น เช่น โจทย์ถามว่า 9+8 ได้ผลลัพธ์เท่ากับเท่าไหร่ คำถามอาจจะดูไม่ยากมาก แต่ถ้าเทียบวิธีแก้ปัญหาของเด็ก 2 คนระหว่างเด็กคนที่ 1 เป็นคนไม่ช่างสังเกต กับเด็กคนที่ 2 ที่เป็นคนช่างสังเกต ดังนั้นจะเห็นความสัมพันธ์ของตัวเลขและเห็นวิธีการคิดที่แปลกใหม่มากกว่า ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ คือ
หากเราจับจุดสังเกตได้นิดหน่อย ก็จะมีวิธีที่ทำให้การคิดเลขง่ายขึ้น ซึ่งการช่างสังเกตก็จะทำให้เรารู้จักการคิดวิเคราะห์และเห็นความสัมพันธ์และความเป็นไปได้ของสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น
คณิตศาสตร์ อยู่ในทุกอาชีพ
คณิตศาสตร์เป็นรากฐานของทุกอาชีพ! ไม่ว่าเป็นคนอบขนม ก็จะต้องชั่งตวงสัดส่วนของแป้งและน้ำตาล หรือจะเป็นคนขับรถ ก็จะต้องคำนวณระยะทาง แม้แต่ศิลปินวาดรูป ก็ยังต้องเข้าใจเกี่ยวกับสัดส่วนของสิ่งต่าง ๆ การเข้าใจเหตุและผลของคณิตศาสตร์อยู่บ้างก็จะทำให้การเข้าใจเรื่องอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น เราอาจไม่จำเป็นต้องเก่งขั้นเทพ แต่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องหลีกหนีตัวเลข ในขณะเดียวกันถ้าเราลองตั้งใจอีกสักนิด อาจได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้เราได้มีอาชีพหลากหลายมากกว่าที่คิด
คณิตศาสตร์สอนให้เราใช้เหตุผล
การบวกลบคูณหารง่าย ๆ ก็ต้องใช้ความสมเหตุสมผลเป็นหลัก การแก้โจทย์ปัญหา ถ้าหาความสมเหตุสมผลของวิธีทำไม่ได้ ก็จะไม่เข้าใจปัญหาสักที หรือถ้าใช้วิธีทำที่ผิด ก็จะแก้โจทย์ปัญหาไม่ได้ นั่นก็เพราะมันไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลยังไงล่ะ ยกตัวอย่างให้ฟังง่าย ๆ คือ ถ้าต้องเลือกซื้อส้มให้ประหยัดเงินที่สุด จะซื้อร้านไหน ระหว่าง ร้านที่ 1 ส้ม 4 ลูกเป็นเงิน 20 บาท และ ร้านที่ 2 ส้ม 6 ลูกเป็นเงิน 25 บาท และทั้ง 2 ร้าน คุณภาพส้มเหมือนกัน ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้นก็คือ
ทุกอย่างล้วนมีเหตุและผล มีความเป็นไปทั้งหมด เพียงแค่คิดเลขง่าย ๆ ก็ทำให้เราได้ฝึกการใช้เหตุผลไปด้วย หากเราคำนวณเป็นสักหน่อย การใช้เหตุและผลกับสิ่งรอบตัวก็จะมีมากขึ้น
3 วิธีที่จะทำให้เราเก่งเลขขึ้นอีกสักนิด
ที่ไม่เก่งไม่ใช่ว่าไม่พยายามนะ แต่ทำยังไงมันก็ยังไม่เก่งขึ้นเลย สอบทีไรก็แพ้เพื่อน แถมความสำคัญของคณิตศาสตร์ก็เริ่มดูจำเป็นขึ้นมาแล้วสิ ถ้าหากตั้งใจว่าจะเอาชนะตัวเองคนเก่าที่ไม่ถูกกับคณิตศาสตร์เลยล่ะก็ บอกเลยว่ามีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝาก เชื่อว่าช่วยได้แน่นอน
1.เปิดใจสักหน่อย จะช่วยให้ทำได้ดีขึ้น คนเรามักอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบได้ไม่นาน เพราะจะรู้สึกว่าฝืนใจ ไม่มีความสุข ในเมื่อไม่ชอบจะให้เปลี่ยนได้ยังไง ลองเริ่มต้นด้วยการทำอะไรสนุก ๆ เช่นการเล่นเกม อาจเริ่มด้วยเกมง่าย ๆ เช่นแข่งบวกเลขเร็วกับเพื่อน อาจจะเล่นเป็นเกม 24 ก็ได้ วิธีการเล่นก็คือ คิดเลขอะไรก็ได้มา 4 ตัว แล้วก็เอาเลข 4 ตัวนั้นมาบวก ลบ คูณ หารกันยังไงก็ได้ให้มีผลลัพธ์เท่ากับ 24 ยกตัวอย่างเช่น เอาเลข 1 2 3 4 วิธีการคือ เอาเลข 1+2+3 แล้วคูณกับ 4 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 24 พอดี พอเราทำได้ เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้ยากเกินความสามารถ แล้วค่อย ๆ ขยับความยากขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยอาจเปลี่ยนเป็น ลบ คูณ หรือว่าหารก็ได้ และเมื่อเราเริ่มเปิดใจให้กับคณิตศาสตร์แล้ว การเรียนรู้ก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้น
2.คณิตศาสตร์ต้องเรียนรู้ไปทีละขั้นตอน! การเรียนรู้ทุกอย่างมักจะเริ่มจากขั้นพื้นฐานก่อนเป็นอันดับแรก อย่างที่เขาพูดกันว่า ถ้าไม่เคยฝึกเดิน จะวิ่งได้ไง! การเรียนคณิตศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่เข้าใจตั้งแต่ต้น แต่อยากจะเข้าใจเรื่องที่ยากกว่านั้น จะข้ามขั้นตอนไปเรียนเรื่องที่ยากเลยดีไหมนะ ต้องบอกว่า ‘การพยายามเรียนสิ่งที่ยากก่อน แล้วจะทำให้เข้าใจเรื่องที่ง่ายได้เร็วขึ้น’ สามารถใช้ได้กับแค่บางคนเท่านั้น แต่กับบางคนการเริ่มทำความเข้าใจใหม่ตั้งแต่ขั้นแรกหรือขั้นพื้นฐานก็เป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะจะได้เป็นการลำดับความเข้าใจจากความความซับซ้อนน้อยไปมาก ดีกว่าการที่ทำเรื่องยาก ๆ ก่อนแล้วไม่ได้ผล สุดท้ายก็ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ ทำแบบนี้จะเสียเวลายิ่งกว่าเดิมแน่นอน ดังนั้นต้องอย่ามองข้ามปัญหาเล็ก ๆ ทำทุกอย่างให้เป็นขั้นเป็นตอน ไม่อย่างนั้นเราก็จะไปขั้นต่อไปไม่ได้สักที
3.อย่ากลัวที่จะผิดพลาด การเรียนรู้ทุกอย่างมันไม่ได้เป็นตามใจเราเสมอไป ขนาดแค่ใส่เสื้อง่าย ๆ เรายังใส่กลับตะเข็บได้เลย แล้วโจทย์ปัญหาที่ยากและซับซ้อนทำไมจะทำผิดบ้างไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะทำโจทย์ผิดบ้าง เพราะเราอาจไม่ได้เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ ความผิดพลาดจะแสดงให้เราเห็นเองว่าตรงไหนที่เรายังไม่เข้าใจ และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ถึงแม้ว่าจะผิดพลาดบ่อย แต่ก็ห้ามท้อเด็ดขาด แม้กระทั่งคนเก่งก็ไม่ได้สอบได้ 100 คะแนนเต็มสักหน่อย นำข้อผิดพลาดนั้นไปเรียนรู้และแก้ไขดีกว่า จะได้เป็นคนที่เก่งขึ้น
เรื่องสุดว้าวของคณิตศาสตร์ที่คุณอาจไม่เคยรู้!
จากหนังสือและภาพยนตร์ชื่อดังอย่างเรื่อง Harry Potter ก็ต้องเรียนวิชาตัวเลขมหัศจรรย์นะ! ถึงแม้ว่าจะมีน้อยคนมาก ๆ ที่จะเรียน เพราะไม่ว่าในโลกมนุษย์หรือโลกของพ่อมด คณิตศาสตร์ก็เป็นวิชาที่ยากเสมอ! แต่ถ้าอยากจะเป็นผู้ถอนคำสาป จะต้องสอบวิชาตัวเลขมหัศจรรย์ผ่านเท่านั้นนะถึงจะเป็นได้ และหนึ่งในคนที่สอบผ่านก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์” แม่มดสาวมากความสามารถนั่นเอง!
ในภาษาอังกฤษ เลขจำนวนคี่ทุกจำนวน ถ้าเขียนด้วยตัวหนังสือจะมีตัว E อยู่ด้วยเสมอ! เช่น One, Three, Five, Seven, Nine
เพราะว่าในหนึ่งปี ไม่ได้มีจำนวน 365 วันแบบเป๊ะ ๆ ยังไงล่ะ แต่หนึ่งปีมีจำนวน 365.2564 วันต่างหาก เนื่องจากการโคจรรอบโลกใน 1 ปี จะมีจำนวน 365 วันกับอีกประมาณ 6 ชั่วโมง ถ้าเราจะมานับ 6 ชั่วโมงก็คงจะเกิดความงง แต่ถ้าตัดออกไปก็ไม่ได้ เพราะ 6 ชั่วโมงรวมกันหลาย ๆ รอบ ก็จะเกิดเป็นหลายวัน ดังนั้นปฏิทินของโลกก็จะรวน ทำให้เราต้องเอาเศษเศษที่เหลือมารวมกัน จึงทำให้เกิดเป็นปีที่มี 366 วัน
คณิตศาสตร์เป็นมากกว่าแค่ตัวเลข และยังให้ทักษะเราในด้านการคิดวิเคราะห์แบบที่เราไม่รู้ตัวอีกด้วย ว่ากันว่าคณิตศาสตร์สามารถทำให้เราเป็นนักคิดที่ดีได้ เมื่อได้อ่านแล้วก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจกันเลยใช่ไหมล่ะคะ คณิตศาสตร์มีประโยชน์มากกว่าที่เราเคยรู้ อาจจะมีความซับซ้อนบ้างสักหน่อย แต่บอกเลยว่าถ้าอดทนกับเจ้าพวกตัวเลขพวกนี้สักนิด เชื่อว่าทุกคนจะต้องเข้าใจคณิตศาสตร์มากกว่าเดิมแน่นอน!
ถ้าเปิดใจให้วิชาคณิตศาสตร์แล้ว กดดู PLAYLIST คณิตศาสตร์ กันยาว ๆ ได้เลย