ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ชาลส์ ดาร์วิน’ คือนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษผู้ทรงอิทธิพลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ผู้เป็นเจ้าของทฤษฏีสุดโด่งดังอย่าง ‘ทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Theory of Evolution by Natural Selection)’ ที่เป็นรากฐานสำคัญต่อวงการวิทยาศาตร์ในโลกสมัยใหม่ และเพื่อระลึกถึงคุณูปการของเขาผู้นี้ ในทุกวันที่ 12 กุมภาพันธ์ จึงถูกกำหนดให้เป็น 'วันดาร์วิน (Darwin Day)' ตามวันคล้ายวันเกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352
ชาลส์ ดาร์วิน เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2352 ที่เมืองชรูว์สเบอรี (Shrewsbury) ประเทศอังกฤษ เขาเป็นบุตรคนที่ 6 ของ โรเบิร์ต วอริง ดาร์วิน (Robert Waring Darwin) นายแพทย์ชาวอังกฤษ และผู้เป็นแม่ ซูซานนาห์ เวดจ์วูด (Susannah Wedgwood) ทั้งคู่ล้วนมีหน้ามีตาในสังคม ทำให้ครอบครัวดาร์วินจัดว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะมั่งคั่ง
ในปี ค.ศ.1825 ดาร์วินเข้าศึกษาในโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh) ตามความปรารถนาของผู้เป็นพ่อ ที่ต้องการให้ดาร์วินสืบสานความเป็นครอบครัวนายแพทย์ แต่ตัวของดาร์วินเองนั้น กลับไม่ได้สนใจใฝ่รู้ด้านการแพทย์เลยแม้แต่นิด กลับกันเขาสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต ไปจนถึงการสตัฟฟ์สัตว์ การสะสมซากแมลง เปลือกหอย ก้อนหินรูปทรงแปลก ๆ ซึ่งภายหลังดาร์วินเขียนไว้ในอัตชีวประวัติว่า ความหลงใหลนี้เป็นส่วนสำคัญที่นำพาเขาไปสู่การเป็นนักธรรมชาติวิทยาในอนาคต
เมื่อชีวิตการเป็นนักศึกษาแพทย์ดูจะไปได้ไม่รอด ในปี ค.ศ. 1827 ดาร์วินได้เข้าศึกษาด้านศาสนาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ตามคำสั่งของผู้เป็นพ่อที่ต้องการให้ลูกชายเริ่มต้นเส้นทางใหม่ในฐานะ 'นักบวช' แต่นั่นก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต ที่ทำให้ดาร์วินได้มาศึกษาเรียนรู้ กีฏวิทยา ชีววิทยา ธรณีวิทยา มากขึ้น จนท้ายที่สุดได้มีโอกาสร่วมเดินทางสำรวจโลกไปกับเรือรบบีเกิ้ล (H.M.S.Beagle) ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1831
ดาร์วินได้ไปเยือนหมู่เกาะต่าง ๆ ทั่วโลกหนึ่งในนั้นคือ 'หมู่เกาะกาลาปากอส' (Galapagos) ที่ทำให้ดาร์วินได้เห็นความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต อันนำไปสู่การค้นพบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ต่อยอดไปสู่ทฤษฎีสุดโด่งดังอย่าง ทฤษฎีวิวัฒนาการโดยการคัดเลือกตามธรรมชาติได้นั่นเอง
หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลจากการเดินทางรอบโลก และศึกษาทดลองอยู่ร่วม 20 ปี ในปี ค.ศ. 1859 หรือเมื่อ 162 ปีก่อน ดาร์วินได้ตีพิมพ์ หนังสือ 'กำเนิดสปีชีส์' หรือ 'On the Origin of Species' สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก ภายในมีเนื้อหาสำคัญที่อธิบายเกี่ยวกับกลไกการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตผ่านการคัดสรรโดยธรรมชาติไว้อย่างละเอียด
แนวคิดที่ดาร์วินนำเสนอไว้ในหนังสือมีใจความสำคัญว่า 'ธรรมชาติมีอิทธิพลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะพืชและสัตว์ล้วนต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมเพื่อความอยู่รอด ส่วนที่ปรับตัวไม่ได้มักจะผลิตลูกหลานได้น้อยลงจนสูญพันธุ์ไปเอง ส่วนเผ่าพันธุ์ที่ปรับตัวได้ก็จะมีโอกาสอยู่รอด และสามารถสืบทอดลักษณะต่าง ๆ เช่น ลักษณะรูปร่าง สรีระ ให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป' ซึ่งภายหลังดาร์วินได้ตั้งข้อสังเกตว่า มนุษย์เราอาจมีบรรพบุรุษร่วมกันกับลิง หรือ เป็น 'ญาติ' ห่าง ๆ กันกับลิง
แม้ว่าแนวคิดของดาร์วินจะฟังดูเรียบง่ายเพียงใด แต่ในทันทีที่หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ออกไปก็ก่อให้เกิดการถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง เพราะมันดันไปหักล้างกับแนวคิดตามความเชื่อทางศาสนาที่ว่า 'พระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์และทุกสรรพสิ่งในโลก' นำมาซึ่งกระแสความไม่พอใจให้กลุ่มผู้เคร่งศาสนาเป็นอย่างมาก บางกลุ่มถึวขั้นตราหน้าดาร์วินว่าเป็นพวกนอกรีต และเป็นพวกขวางโลก
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หนังสือของดาร์วินได้ทำให้ผู้คนละทิ้งความเชื่อเดิม ๆ เกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลต่อวงการวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างมาก ซึ่งนอกจากผลงานสำคัญอย่าง On the Origin of Species แล้ว ดารวินยังตีพิมพ์หนังสืออีกหลายเล่มในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ เช่น The Descent of Man, and Selection in Relation to Sex ตามด้วย The Expression of the Emotions in Man and Animals ซึ่งล้วนแต่มีคุณูปการอย่างมากต่อวงการชีววิทยาและมานุษยวิทยา
ด้วยเหตุนี้เองดาร์วินจึงได้รับการยกย่องในฐานะ 'นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก' ผู้วางรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ ซึ่งยังคงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนจนถึงปัจจุบัน
ที่มา: National Geographic