หอยเชอรี่ที่วางไข่สีชมพูหวานแหววอยู่เต็มท้องนา สร้างปัญหาหนักใจให้กับชาวนาสุด ๆ เพราะมันจะคอยกัดกินต้นกล้าข้าวเป็นอาหาร ทำให้ลำต้นหักล้มลอยอยู่เต็มผิวน้ำ และแล้วก็มีสัตว์ฮีโรชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “นกปากห่าง” (Ciconiidae) เข้ามาช่วยกู้วิกฤตินี้จนสำเร็จ สามารถลดจำนวนหอยเชอรี่โดยเฉลี่ย 123 ตัวต่อวัน ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดการใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเชอรี่ของเกษตรกรอีกด้วย จนตอนนี้กลายเป็น “ขวัญใจชาวนา” ไปเรียบร้อย
นกปากห่าง เป็นนกเผ่าพันธุ์เดียวกันกับนกกระสา จึงมีขายาว คอยาว และปีกกว้างคล้ายกัน แต่นกปากห่างมีลักษณะที่โดดเด่น คือ ‘ร่องปากที่ปิดไม่สนิท’ เห็นเป็นช่องว่าง คุณสมบัตินี้จะช่วยให้นกปากห่างสามารถคาบเปลือกหอยที่ทั้งกลม ทั้งลื่น ได้อย่างสบาย
เดิมทีนกปากห่างอพยพไป ๆ มา ๆ อยู่หลายประเทศตลอดปี แต่เพราะการระบาดของหอยเชอรี่และหอยโข่งในนาข้าวไทยซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดี ทำให้นกชนิดนี้ปักหลักเป็นประจำถิ่น โดยเฉพาะในภาคกลางและอีสาน ซึ่งมีราว ๆ 300,000 - 400,000 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยแหล่งอาศัยของนกปากห่างที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ ‘วัดไผ่ล้อม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี’
มีงานวิจัยจากสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่าเผยว่า จากจำนวนนกปากห่าง 400,000 ตัว สามารถช่วย “ควบคุมประชากรหอยเชอรี่” ได้มากกว่า 49,200,000 ตัวเลยเชียวล่ะ อีกทั้งยัง “ลดการซื้อสารเคมี” เพื่อมากำจัดหอยเชอรี่ ไม่น้อยกว่า 225,376,550 บาทต่อปี
นกปากห่าง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 “ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก” ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เรียนรู้เรื่องราวของ “นกปากห่าง” ที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ในแง่อื่น ๆ ได้ใน รายการอ่านป่ากับหมอหม่อง ตอน นกปากห่างขวัญใจชาวนา (คลิก)
หรือรับชมตอนอื่น ๆ ที่น่าสนใจรายการ “อ่านป่ากับหมอหม่อง”
🔸Season1 (คลิก) 🔸 Season 2 (คลิก)
ปัจจุบันมีการนำ “สุนัข” มาใช้ในงานตำรวจ ทหาร และหน่วยกู้ภัย โดยเฉพาะด้านการค้นหาสิ่งผิดกฎหมายและทำภารกิจเสี่ยงอันตราย เช่น ค้นหาระเบิด, ยาเสพติด, การสะกดรอย, อารักขา และจู่โจมผู้ต้องสงสัยของตำรวจ มักประจำตามสนามบินสำคัญ ๆ ซึ่งหน่วยสุนัขตำรวจมีชื่อเรียกว่าสั้น ๆ ว่า “K9”
เหตุผลที่เรียกสุนัขตำรวจว่า “K9” เป็นคำพ้องเสียงที่มาจากคำว่า canine (เคไนน์) ในภาษาลาติน แปลว่า “สุนัข” และนำมาใช้เรียกสุนัขที่ผ่านการฝึกฝนพิเศษเพื่อใช้ปฏิบัติงาน เช่น สุนัขทหาร สุนัขตำรวจ สุนัขกู้ภัย ล้วนแต่ใช้ชื่อเรียกว่า K9 ทั้งสิ้น
สุนัข ถือเป็นสัตว์นักล่าที่มีสัญชาตญาณมหัศจรรย์ มีประสาทสัมผัสที่ดีเยี่ยมมากกว่าคนหลายเท่า
นอกจากนี้ สุนัขยังสามารถจู่โจมเป้าหมายได้ทันที หากพบสิ่งผิดปกติ จึงเป็นประโยชน์ในด้านการรักษาความปลอดภัยและการกู้ภัย โดยอาศัยสัญชาตญาณที่มีอยู่
4 สายพันธุ์ที่ถูกฝึกเป็นสุนัขตำรวจและผู้ช่วยมากที่สุด ได้แก่
สำหรับน้องหมาเข้ารับการฝึกในโรงเรียน จะถูกฝึกตามลักษณะงาน เช่น สุนัขรักษาความปลอดภัย, สุนัขสายตรวจ, สุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิด, สุนัขลาดตระเวน, สุนัขสะกดรอย, สุนัขตรวจค้นยาเสพติดให้โทษ และสุนัขตรวจค้นวัตถุระเบิด ฯลฯ แต่ละตัวต้องผ่านการคัดกรองคุณลักษณะและฝึกฝนเช่นเดียวกับตำรวจ ใช้เวลาอย่างน้อย 4 เดือน สุนัข K9 จึงพร้อมปฏิบัติภารกิจ
ในประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน่วยงาน K9 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ “กองบังคับการตำรวจนครบาล” มีสุนัขพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ารับราชการ ทั้งถวายความปลอดภัยและภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สุนัขตำรวจที่ได้รับการยกย่องในฐานะที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศ คือ "เอ็กซ์" พันธุ์เยอรมันเชเฟิร์ดอายุ 6 ปี ที่พลีชีพในภารกิจตามรอยขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน (ขจก.) เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2517 โดยมีอนุสาวรีย์ตั้งอยู่หน้ากองกำกับการสุนัขตำรวจ K-9 กองบัญชาการตำรวจนครบาล
ไขข้อสงสัย สุนัข K9 สามารถดมกลิ่นหาโรคใดได้ ? รับชมได้ในรายการ ท้าให้อ่าน The Reading Hero ตอน สุนัขตำรวจ K9 : น้องฟาฮัทและน้องชุนบี (คลิก)
ตะลุยโลกกว้างไปกับคู่หูฮีโร่นักอ่าน พร้อมกับการไขปริศนาน่ารู้ของแต่ละสถานที่ที่น่าสนใจ รายการ ท้าให้อ่าน The Reading Hero (คลิก)
ฝูงนก ถือเป็นสัตว์ต้องห้ามและเป็นปัญหาใหญ่ในท่าอากาศยานทั่วโลก เพราะพวกมันอาจรบกวนการบิน เกิดการชนของนกกับเครื่องบิน (bird strike) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เครื่องบินขึ้นหรือร่อนลง อาจถึงขั้นทำให้เครื่องบินตก ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สนามบินจึงมีมาตรการหลากหลายเพื่อป้องกันฝูงนกเข้ามาในพื้นที่ และหนึ่งในวิธีธรรมชาติ คือ การใช้ “เหยี่ยว” มือปราบเหินเวหามาขับไล่ฝูงนัก นั่นเอง
เหยี่ยว มีสายตาที่น่าทึ่ง เพราะมันสามารถมองเห็นสัตว์ขนาดเล็กเท่าแมลงวันได้ จากระยะไกลถึง 800 เมตร ด้วยความที่เป็นนกล่าเหยื่อ ซึ่งนกหลายชนิดเกรงกลัว จึงได้รับฉายาว่า “จ้าวเวหา” มนุษย์มักเลี้ยงไว้เพื่อใช้ประโยชน์หลายด้าน เช่น ล่าสัตว์ เพื่อความเพลิดเพลิน และใช้ในการไล่นกชนิดอื่น ๆ ที่เข้ามาก่อกวนในสนามบินหรือชุมชน
จากข้อมูลของ “THAIHAWK MASTER” ผู้ฝึกเหยี่ยวไล่นกมานานนับ 10 ปี เหยี่ยวที่ใช้เป็นตระกูล HAWK และ FALCON ทั้งสองสายพันธุ์จะทำหน้าที่แตกต่างกันตามพื้นที่ ถ้าเป็นพื้นที่ปิด เช่น ในโรงงาน โกดัง ต้องใช้ HAWK เพราะมีรูปร่างและปีกแคบไม่เกะกะ ส่วนสถานที่แบบเปิดโล่งกว้าง ใช้ FALCON เพราะมีความปราดเปรียว รวดเร็ว สามารถไล่เป้าหมายได้จำนวนมาก
พื้นฐานการฝึกเหยี่ยว เริ่มจากการให้จดจำเจ้าของก่อน จากนั้นจึงสอนให้บินไป-กลับมายังจุดเดิมได้อย่างแม่นยำ จนคุ้นชินกับสถานที่ทำงานตามเป้าหมาย
เหยี่ยว เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามมีไว้ในครอบครองหรือเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ และต้องขออนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภารกิจฝึกเหยี่ยวไล่นก มีอุปกรณ์ใดที่ใช้เรียกเหยี่ยวให้บินกลับมาหาเราได้ ? รับชมได้ใน รายการ Kid Rangers ปฏิบัติการเด็กช่างคิด ตอน ฝึกเหยี่ยว (คลิก)
เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เน้นการปฏิบัติจริง เพื่อนำความรู้ไปแก้ไขปัญหาในชีวิตกับ รายการ Kid Rangers ปฏิบัติการเด็กช่างคิด (คลิก)
เมื่อพูดถึง “สัตว์บำบัด” หลายคนอาจนึกถึงสุนัข แมว หรือนก แต่ใครจะคิดว่า ช้างตัวใหญ่ ก็สามารถบำบัดจิตใจคนได้ โดยเฉพาะเด็กออทิสติกหรือเด็กพิเศษ ที่มีความบกพร่องและข้อจำกัดทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ประสาทสัมผัส อารมณ์ และการเข้าสังคม ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต
“ช้างบำบัด” elephant therapy หรือ elephant - assisted therapy เป็นทางเลือกการบำบัดรูปแบบหนึ่งที่นิยมอย่างแพร่หลาย เหตุผลก็เพราะ ช้าง ตัวใหญ่และขี้เล่น เป็นจุดความสนใจและกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ๆ ได้ง่าย อีกทั้งยังมีความสามารถในการเรียนรู้สูง สามารถพัฒนาให้เป็นสัตว์นักบำบัดได้
ช้าง ถือเป็นสัตว์ที่ฉลาดและเป็นสัตว์สังคม ชอบสร้างความสัมพันธ์ในการยอมรับสมาชิกเข้ากลุ่ม จึงเป็นข้อดีที่มาช่วยเติมเต็มสิ่งที่บกพร่องของเด็กออทิสติก จากพฤติกรรมที่กลัวสังคม ทำให้เด็กมีการพัฒนาการ กล้ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และการเรียนรู้กฎเกณฑ์ทางสังคมได้ดีขึ้น การสัมผัสของช้างที่นุ่มนวลด้วย “งวง” ทำให้เด็กพิเศษสร้างรับรู้และมีความสุข ช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสได้เป็นอย่างดี
ในประเทศไทยมี “โครงการช้างบำบัด” (Thai elephant - assisted therapy project: TETP) มาเป็นสิบปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นการศึกษาวิจัยครั้งแรกของโลก ที่นำเอาช้างมาช่วยในการบำบัดบุคคลออทิสติก เกิดจากความร่วมมือระหว่างคณาจารย์ ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เชี่ยวชาญ กับสถาบันคชบาลแห่งชาติ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) จังหวัดลำปาง
โดยอาศัยช้างในการสร้างแรงจูงใจ ความสนใจในการทำกิจกรรม สร้างเสริมสัมพันธภาพระหว่างคนกับสัตว์ เพิ่มการรับรู้สิ่งแวดล้อม ความรู้ความเข้าใจกฎกติกาทางสังคม และทักษะกิจกรรมการดำเนินชีวิต ช่วยให้เกิดเรื่องของความประทับใจที่เด็กอยากบอกเล่า พัฒนาด้านการพูด อารมณ์ และการแสดงออก
ผลการวิจัยพบว่า หลังเข้ารับการบำบัดโดยช้าง พัฒนาการของเด็กดีขึ้นทุกด้าน เช่น การสัมผัส จากที่ไม่กล้าแตะต้องอะไรก็กล้าขึ้น การทรงตัวดีขึ้น ทักษะสังคมดีขึ้น และการดำเนินกิจวัตรประจำวันดีขึ้น เป็นต้น สรุปได้ว่า ช้างบำบัดสามารถกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านของเด็กออทิสติกให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเด็กจะสงบลง มีสมาธิ พร้อมให้ความร่วมมือ และสามารถร่วมกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
กิจกรรมใดที่ช้างไทยเข้ามาช่วยบำบัดเด็กพิเศษได้บ้าง และการเข้าหาช้างที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รับชมได้ใน รายการ สัตว์บำบัดโลก ตอน สัตว์บำบัดนอกบ้าน (คลิก)
🔸เรียนรู้การบำบัดของสัตว์ชนิดอื่น ๆที่น่าสนใจได้ใน รายการ สัตว์บำบัดโลก (คลิก)
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : www.thaipbs.or.th, กองกำกับการสุนัขตำรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ,