ในยุคดิจิทัลที่การติดต่อสื่อสารสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วเพียงแค่คลิกนิ้ว การเขียนจดหมายส่งถึงกันก็ดูจะเลือนหายไปจากชีวิตประจำวันของใครหลายคน แต่หากย้อนกลับไปร้อยปีก่อน 'การส่งจดหมาย' ถือเป็นเรื่องใหม่และน่าตื่นเต้น เพราะทำให้เราสื่อสารโต้ตอบกันได้แม้จะอยู่กันคนละที่ ในวันนี้ ALTV ได้นำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับจดหมายและกิจการไปรษณีย์มาฝากกัน
ก่อนการมาถึงของโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต มนุษย์รู้จักการติดต่อสื่อสารทางไกลมาแล้วหลายพันปีพอ ๆ กันกับการเกิดขึ้นของระบบการเขียนและการสร้างเส้นทางคมนาคม ในประเทศจีนเริ่มจัดตั้งระบบส่งข่าวสาร เมื่อราว 4,000 ปีก่อน เช่นเดียวกับในยุคกรีกโรมันโบราณ ผู้คนใช้วิธีส่งข่าวสารตั้งแต่อาศัย “นักวิ่งเร็ว” เป็นผู้จดจำข่าวสารแล้วนำไปบอกยังอีกที่หนึ่ง (Memorized messages) หรือการใช้คนขี่ม้านำสารไปส่งยังอีกที่หนึ่ง หรือที่เรียกว่า “ม้าเร็ว”
ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1 การใช้ ‘สัตว์’ เป็นตัวแทนส่งสารแทนมนุษย์เป็นที่นิยมในหลายแห่งทั่วโลก ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาด้านอุบัติเหตุ การปล้นชิง หรือการรั่วไหลเนื้อหาภายในจดหมาย จากการถูกเปิดอ่านก่อนถึงมือผู้รับ โดยสัตว์ที่มีบทบาทนำส่งข่าวสารแทนมนุษ์คือสัตว์ปีกอย่าง กาเรเวน (Raven) และ 'นกพิราบ' ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการสื่อสารที่รวดเร็วที่สุดในเวลานั้น
การใช้นกพิราบสื่อสารทางไกล หรือ ‘Carrier Pigeon’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตมนุษย์มานานนับหลายพันปี ชาวอียิปต์โบราณเป็นชนกลุ่มแรก ๆ ที่เลี้ยงนกพิราบไว้เพื่อติดต่อสื่อสารในเขตลุ่มแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เรื่อยมาในสมัยกรีกโรมัน เพื่อแจ้งข่าวสารทางทหารไปจนถึงใช้เพื่อแจ้งผลการแข่งขันรถม้า (Chariot races)
นกพิราบสื่อสารเป็นที่นิยมถึงขีดสุดตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939-1945) มีสาหตุมาจากสภาพพื้นที่ทุรกันดาร ความเสี่ยงจากการถูกจับโดยศัตรู นกพิราบจึงเข้ามามีบทบาทในการส่งข่าวสารระหว่างแนวรบกับศูนย์บัญชาการ
นกพิราบสื่อสารทุกตัวต้องผ่านการฝึกฝน และเป็นนกพิราบสายพันธุ์ “Homing Pigeon” ที่มีสัญชาติญาณจดจำเส้นทางที่อยู่อาศัยของตนได้แม่นยำ พวกมันจะบินกลับรังของตนเองถูกต้องเสมอ นอกจากนี้ยังเป็นนกที่แข็งแรงรวดเร็วและบินได้ไกลหลายชั่วโมงโดยไม่หยุดพัก วิธีการฝึกนกพิราบสื่อสารจึงต้องเริ่มจากการสร้างรังและแหล่งให้อาหารอยู่คนละที่ เพื่อให้นกพิราบบินออกจากรังไปยังแหล่งอาหาร ในขณะเดียวกันก็จะนำจดหมายติดไปกับตัวด้วย
ทั้งนี้ นกพิราบสื่อสารเสื่อมความนิยมลงไปจากการมาถึงของเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต ในปัจจุบันนกพิราบนิยมเลี้ยงไว้เพื่อการแข่งขันประลองความเร็ว หรือ 'Pigeon Racing' กีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
สามารถทำความรู้จักกับกีฬาชนิดนี้เพิ่มเติม ได้ที่รายการ สังคม สนุกคิด ตอน 'นกพิราบสื่อสาร'(คลิก)
ที่ทำการไปรษณีย์ มีไว้เพื่อจัดการกับจดหมายหรือพัสดุที่ส่งทางไปรษณีย์ มีหน้าที่ตั้งแต่ คัดแยก รวบรวม จนกระทั่งนำจ่ายส่งถึงผู้รับ ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ในยุคสมัยจักรวรรดิเปอร์เซียอาคีเมนิด (Achaemenid Empire) ได้ก่อตั้งที่ว่าการไปรษณีย์ครั้งแรกของโลกมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเพอร์ซ์โปลิส พร้อมทั้งมีสาขาย่อยกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ
จนกระทั่ง ในศตวรรษที่ 17 มีการก่อตั้งที่ทำการไปรษณีย์ในแทบทุกประเทศ โดยเริ่มแรกเปิดให้บริการตามเมืองใหญ่ มีการเก็บเงินค่าฝากส่งจดหมาย การตั้งตู้รับจดหมายและมีบุรุษไปรษณีย์ที่คอยทำหน้าที่เก็บจดหมายทั้งหมดเข้าสู่ระบบไปรษณีย์เพื่อนำจ่ายไปยังปลายทาง
ส่วนในประเทศไทยได้มีการจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเรียกกันว่า "ไปรษณียาคาร" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองโอ่งอ่าง เขตฝั่งพระนคร
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าก่อนการส่งจดหมายทุกครั้ง เราจำเป็นต้องติด “ตราไปรษณียากร” หรือ “แสตมป์” ไว้บนมุมขวาบนของจดหมาย ทั้งนี้ก็เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจดหมายฉบับดังกล่าวได้ชำระค่าธรรมเนียมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การติดแสตมป์เป็นแนวคิดของ โรว์แลนด์ ฮิลล์ (Rowland Hill) นักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษ ที่เสนอว่าควรมีระบบการเก็บค่าธรรมเนียมฝากส่งไปรษณีย์ และแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมด้วยการติดแสตมป์ไว้บนมุมขวามือของซองจดหมาย ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี ค.ศ. 1840 สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ได้ออกแสตมป์ชุดแรกของโลก มีชื่อเรียกว่า ‘แสตมป์เพนนีแบล็ค’ (Penny Black) มีลักษณะเป็นสีดำ และมีพระบรมฉายาลักษณของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ขายอยู่ที่ราคาดวงละ 1 เพนนี
40 ปีต่อมาในประเทศไทยเริ่มออกใช้ตั๋วแสตมป์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2426 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันเริ่มกิจการไปรษณีย์แห่งแรกของสยาม แสตมป์ชุดแรกมีชื่อว่า "แสตมป์ชุดโสฬส"
แม้ว่าการส่งจดหมายด้วยการติดแสตมป์จะมีให้เห็นน้อยลง แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดการสะสมแสตมป์เป็นงานอดิเรก
ฟังเรื่องเล่าของคนขายแสตมป์มากว่า 50 ปี ได้ที่รายการลุยไม่รู้โรย ตอน 'ร้านแสตมป์ 50 ปี' (คลิก)
คงไม่มีใครไม่รู้จักกับ ‘ตู้ไปรษณีย์’ จุดรับฝาก-ส่งจดหมายสีแดงสดสามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามริมทางเท้า การติดตั้งตู้ไปรษณีย์ครั้งแรกเริ่มขึ้นใน ปี ค.ศ. 1850 ที่นครเซนต์ปีเตอร์พอร์ต (St.peter port) สหราชอาณาจักร โดยมีลักษณะเป็นกล่องไปรษณีย์แบบตั้งพื้น รูปทรงหกเหลี่ยม ทาด้วยสีแดง มีชื่อเรียกว่า “Pillar Box” ในปัจจุบันจัดเป็นตู้ไปรษณีย์อายุเก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังคงมีหลงเหลือไว้
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ก็อาจทำให้พอเดาออกได้แล้วว่าตู้ไปรษณีย์สีแดง หรือ 'ตู้แดง' ของบ้านเรานั้น ได้รับอิทธิพลมาจากตู้ไปรษณีย์แบบอังกฤษนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันตู้ไปรษณีย์ที่ใช้กันในทั่วโลกล้วนมีรูปแบบแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม มีทั้งแบบตั้งกับพื้น ติดผนังหรือแบบแขวน ในประเทศฝรั่งเศษและเยอรมนี ทาด้วยสีเหลือง ประเทศจีนและไอร์แลนด์ใช้สีเขียว และสหรัฐอเมริกาใช้สีน้ำเงิน
ในการจ่าหน้าจดหมายหรือพัสดุทุกครั้ง นอกจากชื่อ-ที่อยู่ของผู้รับแล้ว รหัสไปรษณีย์ (Postal code) เป็นสิ่งที่หลงลืมไปไม่ได้ เพราะหมายเลขทั้ง 5 หลักนี้ ทำหน้าที่เป็นรหัสพื้นที่ สามารถบ่งบอกพิกัดของจุดหมายปลายทางของจดหมายทุกฉบับได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
ระบบรหัสไปรษณีย์ใช้ครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 1838 เพื่อคัดแยกจดหมายส่งไปจุดหมายปลายทางได้รวดเร็วแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพราะความหนาแน่นและซับซ้อนของแหล่งที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ในปัจจุบันรหัสไปรษณีย์มีรูปแบบแตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศ ทั้งแบบ 'ระบบตัวอักษรผสมตัวเลข' และ 'ระบบตัวเลข' มีตั้งแต่ 3-10 หลัก โดยรหัสไปรษณีย์ของไทยเป็นระบบตัวเลขล้วน เริ่มใช้ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2525 ประกอบด้วยเลข 5 หลัก ซึ่งแต่ละหลักแทนรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้