ออกจะอ่อนไหวสักหน่อย ถ้าบอกว่าคอยโปสการ์ดมาหลายปี
โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวทีไร ผ่านไปสักสองอาทิตย์จะไปคอยด้อม ๆ มอง ๆ ที่ตู้ไปรษณีย์เสมอ อย่างน้อยก็จะมีโปสการ์ดของตัวเองนี่แหละ ที่ส่งกลับมา เพื่อเก็บความทรงจำว่า ปีนี้ได้ไปเที่ยวที่ไหน และรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น
อีกปีแล้ว...ที่ไม่ได้ท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ตู้ไปรษณีย์จึงเต็มไปด้วยบิลค่าน้ำค่าไฟและโบชัวร์เงินกู้
เสน่ห์ของการเขียนโปสการ์ด มันเริ่มต้นตั้งแต่คิดว่าจะเขียน มันย้อนแยงกับเทคโนโลยีพิมพ์ผ่านแอปพลิเคชัน ส่งปุ๊บปลายทางอ่านช้าไปสามนาที ตอบช้าไปหกวินาที ใจมันจะขาดตายไปเดี๋ยวนั้น แต่การเขียนโปสการ์ดมันไม่ใช่เลย
มันแทบจะเป็นการสื่อสารทางเดียวโดยไม่หวังผลตอบแทน เรามักส่งโปสการ์ดจากที่ต่าง ๆ เพียงเพื่อบอกเล่าว่าเราอยู่ที่ไหน เพียงเพื่อบอกว่าขณะนั้นหัวใจเรารู้สึกยังไงในช่วงเวลาหนึ่ง
จึงโรแมนติกตั้งแต่คิดว่าจะเขียน ตั้งแต่เดินวนหมุนหาภาพที่เราถูกใจ ตั้งแต่คิดว่าใบนี้จะเป็นของคนไหน ตั้งแต่ใครจะเป็นคนได้รับ มาถึงการเลือกสีปากกา การขยับกล้ามเนื้อมือที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ใช้ ไหนจะเล่าเรื่องอะไรลงไป เขียนผิดเขียนถูกอ่านไม่ค่อยออก สุดท้ายมาตกม้าตายตอนที่ อ่าว แล้วที่อยู่หละ... ไม่มี
การเขียนโปสการ์ดจึงทำให้รู้ว่า เราไม่รู้อะไรเลย
ไม่รู้ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ของคนที่เราเจอหรือคุยกันทุกวัน ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้อากรแสตมป์หน้าตาเป็นยังไง ต้องใช้แสตมป์กี่บาท ใช้เวลากี่วันในการส่งไปรษณีย์ รู้เพียงอย่างเดียวคือ คนที่รับโปสการ์ด จะรู้ว่าเราคิดถึง มันอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่โปสการ์ดทำหน้าที่ได้โดยสมบูรณ์แบบ
จุดกำเนิดของโปสการ์ด เริ่มขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1869 หรือ พ.ศ. 2412 ยังเป็นแค่กระดาษเปล่า ๆ ไม่มีรูปอะไร แล้วจึงค่อยๆพัฒนาแบบมีภาพประกอบขึ้น โดยผู้พิมพ์ก็เริ่มใส่ภาพที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ ภาพบุคคลสำคัญ นักกีฬา นักแสดง รวมไปถึง ประเด็นร้อนทางสังคม สมัยปลายรัชกาลที่ 5 โปสการ์ดถึงจะได้เริ่มมีใช้ในประเทศไทย โดย Robert Lenz ชาวเยอรมัน
นอกจากจะมีคุณค่าทางจิตใจ ยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ภาพบนโปสการ์ดเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์จากกระดาษเล็ก ๆ เพียงหนึ่งใบ แสดงถึงภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ สิ่งปลูกสร้าง สภาพแวดล้อม ค่านิยม ความบันเทิง แฟชั่น ตัวหนังสือ อารมณ์ขัน ศิลปะ ไปจนถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ การวิจัยของนักประวัติศาสตร์สามารถใช้โปสการ์ดเพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึกทั้งในเรื่องของกายภาพและโลกโซเชียลในยุคสมัยนั้น ๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่โปสการ์ดได้กลายเป็นหนึ่งในของสะสมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแม้จะไม่มีตัวหนังสือเลยก็ตาม
มาถึงปัจจุบัน ถ้าได้ไปท่องเที่ยวในเมืองที่มีวิถีSlow Life สักหน่อย เราอาจได้พบร้านค้าที่ขายโปสการ์ด หรือแม้แต่ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ โดยเฉพาะบางร้านให้ความสำคัญกับโปสการ์ดมาก ถึงขั้นที่สะพายกล้องออกไปถ่ายรูปด้วยตัวเอง ในมุมมองที่ถ่ายทอดตัวตนและช่วงเวลาเฉพาะ บางคนวาดโปสการ์ดด้วยฝีมือตัวเอง บางที่เป็นภาพวาดด้วยฝีมือศิลปินในท้องถิ่น และบ้างก็มีถ้อยคำที่ทำให้เราหวนคิดถึงความทรงจำแบบตรงใจ ความเฉพาะเจาะจงที่อยากส่งให้ใครสักคนได้รับรู้ โปสการ์ดแบบนั้นคือความพิเศษที่ทำให้เงินในกระเป๋าตังย้ายที่
สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจดูอ้อยสร้อยเชื่องช้า
ในยุคที่ทุกอย่างพุ่งปรี๊ดและต้องการความเร็วสูง
อย่างการได้รับโปสการ์ดสักใบ
ในตู้ไปรษณีย์ที่เต็มไปด้วยบิลค่าใช้จ่าย
ลายมือที่ไม่คุ้นเคย แถมผู้ส่งก็ลืมที่จะลงชื่อ
จะด้วยตั้งใจหรือไม่
มันทำให้หัวใจฟูได้อย่างมหัศจรรย์
ไม่เชื่อให้ลอง
ข้อแนะนำจากประสบการณ์
ขอบคุณภาพประกอบจาก PAI REPUBLIC
บทความและภาพประกอบโดย : ณภัค ภูมิชีวิน