89 ปี การอภิวัฒน์สยามประเทศ สู่ “ระบอบการปกครองประชาธิปไตย”
เช้าตรู่ ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่ม “คณะราษฎร” ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ได้เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย และได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระองค์ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของประเทศไทย
หากย้อนเวลาไปยังจุดเริ่มต้นของ “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ในครั้งนั้น เริ่มขึ้นจากกลุ่มนักเรียนและข้าราชการทั้งสายทหารและพลเรือนที่ศึกษาอยู่ในทวีปยุโรป อาทิ ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี พ.ศ. 2463-2473 ซึ่งได้ประชุมแลกเปลี่ยนแนวคิดกัน และเห็นว่าการจะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย
ผู้ก่อการเริ่มแรกประกอบได้ด้วย ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี นักศึกษาวิชาการเมือง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) นักศึกษาวิชากฎหมาย ร้อยโทแปลก ขีตะสังคะ นักเรียนวิชาทหาร ร้อยโททัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหาร นายตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ นายแนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย และนายจรูญ สิงหเสนี ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในฝรั่งเศส
ทั้งหมดได้มีมติจากที่ประชุมให้หาสมาชิกเพิ่ม จนสุดท้ายในวันยึดอำนาจการปกครอง คณะราษฎรมีสมาชิกทั้งสิ้น 115 นาย โดยแบ่งเป็น 3 สาย ได้แก่สายทหารบกจำนวน 33 นาย มีหัวหน้าคณะคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) สายทหารเรือ 18 นาย มีหัวหน้าคณะคือ นาวาตรี หลวงสินธุสงคราม และสายพลเรือน 64 นาย โดยมีหัวหน้าคณะคือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) และได้ตกลงให้พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้าคณะราษฎร
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น ใช้เวลาในการเข้ายึดประมาณ 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่รวมพล คณะราษฎรก็สามารถยึดอำนาจในกรุงเทพฯ เอาไว้ได้ โดยปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายรัฐบาล ในวันนั้นเอง หัวหน้าคณะราษฎร ได้อ่านประกาศคณะราษฎร บริเวณลานพระราชวังดุสิต หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม กล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีหลัก 6 ประการในการยึดการปกครอง ซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย
2. จะรักษาความสงบปลอดภัยในประเทศ
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิ์เสมอภาคกัน
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
ขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงประทับอยู่พระราชวังไกลกังวล หลังทรงทราบข่าวการยึดอำนาจของคณะราษฎร ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับการทูลเชิญของคณะราษฎร และเสด็จแปรพระราชฐานสู่กรุงเทพฯ ในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยรถไฟพระที่นั่งถึงยังสถานีรถไฟหลวงจิตรลดาเวลา 00.04 นาฬิกา แล้วเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จกลับสู่พระตำหนักวังศุโขทัย
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน ก็ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยจึงมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475” โดยมีบททั่วไปยืนยันถึงอำนาจของประชาชนและการใช้อำนาจแทนประชาชนไว้ใน 2 มาตรา คือ
“มาตรา 1 อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” “มาตรา 2 ให้มีประธานและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรตามที่จะได้กล่าวต่อไปในธรรมนูญ คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล” โดยให้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ขึ้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมา และได้นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยนั้นก็คือ พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) หลังจากนั้น จึงได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
โดย 4 ปี ต่อมา ปี พ.ศ. 2479 พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะราษฎร ในขณะนั้น ได้ติดตั้ง "หมุดคณะราษฎร" เพื่อระบุตำแหน่ง ณ จุดที่เคยประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นหมุดทองเหลืองระบุข้อความว่า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยกลุ่ม “คณะราษฎร” จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านเพียง 4 วันเท่านั้น หนึ่งในสิ่งที่หลงเหลือของคณะราษฎร คือสถาปัตยกรรมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ถ่ายทอดความคิดและความมุ่งหมายของหลัก 6 ประกาศของคณะราษฎรเอาไว้ให้เห็น ผ่านงานสถาปัตยกรรมของรัฐ เช่น ศาลากลางเดิมของ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีเสาใหญ่ 6 เสาด้านหน้า อ้างอิงถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น
นอกจากนั้นแล้ว ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก ยังมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้ได้ศึกษากันต่อ ในรายการ ห้องเรียนติวเข้ม ม.6 เข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศแล้ว ยังมีการติวสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับน้อง ๆ จากติวเตอร์ชื่อดัง ตลอดทั้ง 7 วัน 7 รายวิชา พร้อมเนื้อหาที่เข้มข้น
ข้อมูลจาก : สถาบันพระปกเกล้า