จากงานพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา หากใครได้ชมการถ่ายทอดสดก็อาจจะเห็นทัพนักกีฬา มีธงนำขบวนที่เขียนว่า Refugee Olympic Team เดินเข้ามายังสนามเป็นลำดับที่ 2 รองจากประเทศกรีซ อาจมีความสงสัยว่าทีมนี้คือใคร และมีความเป็นมาอย่างไร
CREDIT: ODD ANDERSEN / AFP
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นได้อย่างไร
จากมติการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) เมื่อเดือนตุลาคม 2015 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ส่งผลกระทบและทำให้เห็นผู้คนนับล้านในโลกต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเกิด ทั้งนี้ “โธมัส บาค” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ได้ประกาศจัดตั้งทีม Refugee Olympic ขึ้น โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกริโอ 2016 เป็นครั้งแรก มีนักกีฬา 10 คน ซึ่งเดิมมาจากเอธิโอเปีย ซูดานใต้ ซีเรีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ได้แข่งขันร่วมกับนักกีฬาอีก 11,000 คนในบราซิล ส่งข้อความแห่งความหวังและการรวมตัวไปยังผู้ลี้ภัยหลายล้านคนทั่วโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้กับโลกด้วยความแข็งแกร่งของจิตวิญญาณของมนุษย์
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกริโอ 2016
โครงการพิเศษนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ IOC ที่จะยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยและสนับสนุนพวกเขาผ่านการเล่นกีฬา และยังแสดงให้เห็นว่า Olympic Solidarity ผ่านโครงการสนับสนุนนักกีฬาผู้ลี้ภัย ช่วยให้นักกีฬาผู้ลี้ภัยไม่เพียงแต่ฝึกฝนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีคุณสมบัติสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว 2020 แต่ยังเพื่อสานต่ออาชีพนักกีฬาและสร้างอนาคตของพวกเขาได้
“นี่จะเป็นสัญลักษณ์ของความหวังสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนในโลก
และจะทำให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตครั้งนี้
นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณไปยังประชาคมระหว่างประเทศว่า
ผู้ลี้ภัยคือ เพื่อนมนุษย์ของเราและเป็นการเติมเต็มให้กับสังคม”
Thomas Bach (IOC President)
ในเดือนตุลาคม 2018 ก่อนที่จะถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว 2020 การประชุมของ IOC ตัดสินใจว่าจะมีทีมผู้ลี้ภัยโอลิมปิกสำหรับโตเกียว 2020 และมอบหมายให้ Olympic Solidarity มีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขการมีส่วนร่วม และกระบวนการคัดเลือกทีมเข้าแข่งขันโตเกียว 2020 กระบวนการนี้ดำเนินการด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ สหพันธ์กีฬาระหว่างประเทศ และคณะกรรมการจัดงานโตเกียว 2020 ทั้งนี้ IOC มอบทุนสนับสนุนนักกีฬา 56 คน ในจำนวนนี้ได้รับเลือกเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 รวม 29 คน โดยยึดที่ผลงาน รวมถึงการรับรองคุณสมบัติจากหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ
สำหรับนักกีฬา 29 คน ประกอบด้วยนักกีฬาเชื้อชาติซีเรีย 9 คน, อิหร่าน 5 คน, เซาธ์ซูดาน 4 คน และอัฟกานิสถาน 3 คน แข่งขันใน 12 ชนิดกีฬา โดยมีนักกีฬาจากชุดรีโอเกมส์ได้สิทธิแข่งขันในครั้งนี้ด้วยรวม 6 คน ซึ่งรวมถึงโลโคเนียนและมิเซนก้า ผู้ถือธงจากพิธีเปิดและปิดในครั้งก่อน
CREDIT: AP PHOTO
ส่วนชื่อย่อของทีมจะใช้ EOR มาจาก Equipe Olympique des Refugies ซึ่งในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยโอลิมปิก ในพิธีเปิดการแข่งขัน ทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยจะเดินเข้าสู่สนามเป็นลำดับที่ 2 ต่อจากกรีซ ซึ่งเป็นชาติต้นกำเนิดโอลิมปิก และเข้ามาเป็นทีมแรกตามธรรมเนียม
ในส่วนของการแข่งขัน นักกีฬาจากทีมผู้ลี้ภัยจะแข่งภายใต้ธงของโอลิมปิก หากมีการคว้าเหรียญทองเกิดขึ้น ก็จะบรรเลงเพลงประจำการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์แทนเพลงชาติของนักกีฬาคนนั้น ๆ
CREDIT: JAVIER SORIANO / AFP
ALTV ขอแนะนำสารคดีดี ๆ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยให้แฟน ๆ ได้รับชมสร้างแรงบันดาลใจในช่วงโควิด-19 กับสารคดีเรื่อง "ลี้ภัย หัวใจไม่ไร้หวัง" เรื่องราวเกี่ยวกับ “ซาทารี” ค่ายผู้อพยพลี้ภัยในจอร์แดนที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และห้ามพลาด! มาร่วมส่งแรงใจเชียร์กองทัพนักกีฬาไทยใน "โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020" ไทยพีบีเอสร่วมถ่ายทอดสด ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. - 8 ส.ค. 64 สามารถรับชมได้ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 และทาง www.thaipbs.or.th/Live
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Source : www.olympics.com