“เป็นบ้านของสัตว์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำของคนเพชรบุรี”
31 ก.ค. ของทุกปี เป็น "วันผู้พิทักษ์ป่าโลก" World Ranger Day มาติดตามเรื่องราวของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของไทย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่มากที่สุดในประเทศ
แก่งกระจานมีความหลากหลายของสังคมป่าไม้ และด้วยสภาพป่าที่สมบูรณ์ จึงเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด นกและแมลงนานาชนิด รวมถึงผีเสื้อที่จะพบได้จำนวนมาก ณ แคมป์บ้านกร่าง จุดพักผ่านสำหรับคนที่จะเดินทางขึ้นเขาพะเนินทุ่ง
“พื้นที่แก่งกระจานมันกว้าง” ฉัตรชัย พวงไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าให้ฟังในสัมภาษณ์ช่วง ส.ค. ปี 2563 “สัตว์ที่เราไม่เคยเจอ เราจะเจอ” พร้อมเรื่องราวของสัตว์ป่า เช่น เสือโคร่ง และเลียงผา ซึ่งเขาได้พบเจอจากการทำงานเป็นผู้พิทักษ์ป่า โดยได้อธิบายถึงความสำคัญของเสือโคร่งกับป่าแก่งกระจาน ในฐานะสัตว์ผู้ล่า ที่จะต้องมีอาหาร จำนวนเสือโคร่งที่เพิ่มมากขึ้นจากการลาดตระเวนที่ถี่มากขึ้น จึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของแก่งกระจาน
“ครั้งหนึ่งเคยไปจ๊ะเอ๋กับเสือโคร่งตรงลำห้วย ผมเดินสวนห้วยขึ้นไป ผมถือปืนอยู่แต่ค้างครับ แล้วเสือโคร่งก็โดดหนีไป”
เมื่อถามถึงสัตว์ที่เจอแล้วประทับใจที่สุดในป่าแก่งกระจาน พี่ฉัตรชัยตอบว่า “สมเสร็จครับ ผมเจอสมเสร็จแล้วประทับใจ” เพราะลักษณะที่แปลกตา มีงวงเหมือนหมี ร่องรอยไม่คล้ายกับช้าง โดยพี่ผู้พิทักษ์ป่า ยังอธิบายให้เห็นถึงลักษณะการทำงานของการลาดตระเวนในป่าด้วยว่า ต้องมีการวางแผน การดูแผนที่ และภูมิประเทศว่าสมควรเข้าตรงไหนบ้าง รวมถึงต้องเตรียมอุปกรณ์ เช่น แผนที่ และสายวัดต่าง ๆ ให้พร้อม มีการบันทึกข้อมูลระหว่างเดินทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง กรณีพบรอยเท้าสัตว์ป่าก็จะทำถ่ายภาพ และเพื่อวัดเพื่อจดบันทึก เช่นเดียวกับการเจอต้นไม้ขนาดเส้นรอบวง 100 ซม.ขึ้นไป ก็จะมีการวัดความโต ความสูง ตรวจสอบพิกัดและความสูงจากระดับน้ำทะเล ทั้งตรวจสอบว่าเป็นต้นอะไร
นอกจากภารกิจลาดตระเวน ยังมีงานเพื่อการอนุรักษ์ คือการทำแปลงหญ้าที่ต้องนำหญ้ามาปลูกในป่าที่ไม่มีต้นไม้ใหญ่ และนำหนามออกเพื่อให้สัตว์ใหญ่เดินเข้ามากินได้ นอกจากนั้นยังมีการใช้ไดแคลเซียมฟอสเฟตและเกลือแกงมาคลุมกับดิน แล้วราดด้วยน้ำให้ละลาย ผสมใส่ดิน ทำโป่งเทียมเพื่อให้สัตว์มาหากิน ซึ่งสัตว์ป่าที่ผ่านมากินบ่อยได้แก่กวาง เก้ง กระทิง ช้าง และเม่น
สัตว์อีกประเภทที่พบได้ในแก่งกระจานคือ “นกเงือก” พี่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าถึงความสำคัญของนกเงือก ที่สามารถพบในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระหว่างทางก็ชี้ชวนให้ดูนกเขาเป้าที่เกาะอยู่บนต้นไม้
“นกเงือกคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของป่า และเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน”
พร้อมเล่าเกร็ดเล็ก ๆ ของผืนป่า ที่เห็นไส้เดือนขึ้นมาตายบนดินจำนวนมาก เพราะอากาศหนาวในตอนเช้า ใต้ดินอุ่น ไส้เดือนจึงพากันออกมาหาอากาศเย็นบนพื้นดิน เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง “แต่พอมันโดนแสงแดดแล้วเข้าไปไม่ทัน มันก็ตาย”
สำหรับอุปสรรคที่พบเจอระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เช่น กรณีของการบาดเจ็บที่พบได้ระหว่างการลาดตระเวน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เล่าให้ฟังว่า “มีอยู่เคสหนึ่งที่เดินป่าแล้วเจ้าหน้าที่โดนงูกัด แต่งูตัวนั้นมันเป็นงูเขียวหางไหม้ ซึ่งมันก็ไม่รุนแรงมาก” แต่เป็นปัญหาเพราะต้องนำเพื่อนในทีมออกมาจากป่าให้ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากการรักษาพยาบาลยากกว่าปกติ เพราะถนนหนทางเป็นร่องห้วย มีหินก้อนใหญ่ลื่น ๆ และเส้นทางที่สลับซับซ้อนไปกับภูเขา การเดินทางจึงยากกว่าปกติ
และนี่คือเรื่องราวของป่าได้รับการเล่าร้อยเรียงจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานผูกพันกับผืนป่ามาอย่างยาวนาน กับนิยามของแก่งกระจานที่พวกเขามอบให้ “เป็นบ้านของสัตว์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำของคนเพชรบุรี”