ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เมล็ดพันธุ์ หวนคืนสู่ดินแปลงเดิม "ตุ๋ม อมรรัตน์"
แชร์
ชอบ
เมล็ดพันธุ์ หวนคืนสู่ดินแปลงเดิม "ตุ๋ม อมรรัตน์"
02 ต.ค. 64 • 17.00 น. | 270 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

เราอาจจะมีเรื่องราวชีวิตที่ต่างกัน แต่สิ่งที่นักผจญภัย หรือนักต่อสู้อย่างเรามีเหมือนกัน คือ เราต่างเติบโตจากแสงแดดของดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน

 

พี่ตุ๋ม - อมรรัตน์ ทินมะณี สาวอีสานคนรุ่นใหม่ผู้ที่ตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด หลังจากที่ได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครร่วมกว่า 15 ปี ทั้งในบทบาทนักศึกษา และบทบาทของนักการตลาดสายแกร่งขององค์กร

 

ใครจะไปรู้ว่าเหตุการณ์หลาย ๆ อย่าง ทั้งความคิด ภาระหน้าที่ และการใช้ชีวิตประจำวันที่จำเจ จะประกอบการตัดสินใจให้เธอได้หวนกลับมาใช้ที่ชีวิตที่บ้านเกิดในจังหวัดร้อยเอ็ดกับครอบครัวอีกครั้ง โดยสิ่งท้าทายที่สุด คือการที่ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะนำไปสู่เป้าหมายอะไรในอนาคต

 

 

เมื่อโลกหมุนวนรอบตัวเองได้ ก็ไม่แปลกอะไรที่มนุษย์ตัวเล็ก ๆ อย่างเราทุกคนจะเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง

 

วันนี้ผมขอนำเสนอบทสนทนาท่ามกลางสวนผักบุ้งที่กำลังโตเต็มวัย และไร่นาสวนผสมในที่ดินผืนแรกของครอบครัวพี่ตุ๋ม อมรรัตน์ ที่ต่างช่วยกันเก็บหอมรอมริบจากรายได้การปลูกผักบุ้งในครอบครัว ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในบ้านเกิดของคนที่ไร้ต้นทุน เพื่อการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญ 

 

เดือนมิถุนายน 2563 สถานการณ์โรคระบาดของเชื้อไวรัส-19 ระลอกแรกเริ่มเกิดขึ้นหมาด ๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านวังชัย อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด คนที่นี่เกือบ 80% ทำอาชีพปลูกผักเพื่อนำผลผลิตไปขายในตลาดสดในตัวอำเภอ ผลกระทบที่ปรากฏอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือค่าเฉลี่ยรายได้จากการขายของไม่ค่อยดีเหมือนครั้งที่ผ่านมา

 

ผมลงจากรถเพื่อเดินเท้าลุยคันนา ผ่านด้านข้างที่เป็นนาข้าวที่กำลังเขียว มุ่งหน้าไปที่สวนเกษตรที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวหมู่บ้านอยู่พอสมควร ผมได้รับการต้อนรับจากเจ้าของสวนผัก นักออกแบบผลผลิต สาวอีสานวัย 30 ต้น ๆ ผู้ที่มียูนิฟอร์มเป็นเสื้อแขนยาวผ้าย้อมหม้อฮ่อม ยืนโบกมือให้เราอยู่กลางสวนผักบุ้ง ณ ฝั่งกระโน้น

 

01 "เที่ยวป่าครั้งสุดท้าย สู่การค้นหาเป้าหมายในจิตใจ"

เริ่มต้นบทสนทนาที่แสนจะธรรมดาด้วยคำถามที่ถูกตั้งทิ้งไว้ในใจก่อนมาถึง คือเรื่องราวชีวิตของเมล็ดพันธุ์กับการตามฝันในกรุงเทพมหานคร

 

“เราใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ก็เกือบเกินครึ่งชีวิตที่ผ่านมา ตอนแรกเข้าไปเพื่อเข้าเรียนหนังสือ พอเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ทำงานต่อเลย เราก็ตั้งใจจะเก็บเงินไปเรื่อย ๆ เก็บได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ตามปกติของคนทั่วไป"

 

"ทำงานเสร็จก็กลับเข้าบ้าน ชีวิตก็ไม่ได้มีกิจกรรมพิเศษอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเราก็มีความคิดที่อยากจะกลับมาอยู่บ้าน จึงทำการวางแผนไว้ แล้วตั้งใจที่จะเก็บเงินภายใน 3 ปี"

 

"สุดท้ายได้เงินกลับมาบ้านแค่ 1 แสนบาท เราเองก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ตั้งใจเก็บเงินให้มันเป็นสัพเพเหระเท่าไหร่ ตอนที่มีเงินก็นึกคิดว่าอยากได้นู่นอยากได้นี่เหมือนกับมนุษย์เราทั่ว ๆ ไป”

 

"มีเหตุการณ์อยู่ครั้งหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นการไปเที่ยวครั้งสุดท้ายของการใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ คือการเดินทางไปเที่ยวอุทยานแก่งกระจาน แล้วไปอยู่ที่นั่นตั้ง 3 วัน 2 คืน และในป่ามันก็มักจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ สุดท้ายก็เลยทำให้เราตกตะกอนอะไรบางอย่างกับความคิดของตัวเอง คือการที่ใช้ชีวิตโดยที่ไม่พึ่งพาสิ่งอำนวยความสะดวกเราก็สามารถอยู่ได้นี่หว่า"

 

"พอกลับมาถึงห้องพัก ก็รู้สึกว่าการไปเที่ยวครั้งนี้ มันทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจ มีความสุขมากกว่าทุก ๆ ครั้ง การที่เราอยู่กับความคิด อยู่กับจิตใจตัวเอง มันทำให้รู้สึกว่าเรามีความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติ ก็เลยเป็นจุดที่ทำให้ตัดสินใจในการกลับมาอยู่บ้านได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม” 

 

 

02 "เพราะเราเป็นสมาชิกของครอบครัว ที่ไม่มีใครจะมาแทนที่เราได้"

“แม้งานประจำเราที่อยู่กรุงเทพฯ ในการทำตลอดระยะเวลาหลาย ๆ ปี ถ้าองค์กรขาดคนหรือขาดเราไป เขาก็ยังสามารถหาคนอื่นมาแทนเราได้ แต่ถ้าสมมติว่าเราไม่กลับมาอยู่บ้าน ถ้าครอบครัวเราขาดเราไป เขาไม่สามารถหาคนอื่นมาแทนที่ได้ เพราะเราเป็นสมาชิกของครอบครัว อย่างนั้นก็ควรกลับมาดูแลครอบครัวดีกว่า” พี่ตุ๋มพูดขึ้นทันทีโดยที่ไม่มีจังหวะคิดรีรออะไร

 

“ส่วนตัวพ่อกับแม่อยากให้เรากลับมาอยู่บ้านตั้งนานแล้ว แต่ตอนนั้นเองก็ยังไม่พร้อม ยังไม่มีทรัพย์สินการันตีอะไร ยังไม่รู้ว่าจะใช้เหตุผลอะไรมาใช้ในการขอลาออกจากงานประจำด้วย แต่พอดีตรงกับจังหวะที่พ่อป่วย ก็เลยได้ใช้เหตุผลที่ดีในการลาออกจากงานมาดูแลพ่อ แต่ปัจจุบันพ่อก็สบายดีแล้ว”

"ทั้งหมดนี้มันเป็นความคิดของเราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่เพียงตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเราจะกลับมาเริ่มต้นด้วยอะไร หรือกลับมาทำอาชีพอะไรก็ยากอยู่เหมือนกัน และเราก็ได้พบกับอาชีพใหม่คือการเป็นแม่ค้าช่วยแม่ขายของที่ตลาดสดประจำอำเภอ มันก็ดีนะ” (หัวเราะ)

 

 

03 ปฐมบทชีวิตใหม่ ของวันแรกในไร่ผักบุ้ง

“เราเริ่มต้นไปขายผักอยู่ตลาด ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ คือตี 4 ของทุก ๆ วัน กลับจากตลาดมาถึงบ้านก็ประมาณ 7 - 8 โมงเช้า ก็จะกลับมาพักผ่อนทำกิจวัตรให้เสร็จสรรพ แล้วก็จะไปปลูกผักบุ้งต่อ พอตกช่วงบ่ายก็จะมาเก็บผักเพื่อเตรียมผักไปขายที่ตลาด ถึงประมาณสัก 1 ทุ่มครึ่งก็จะไปเตรียมผักในร้านที่ตลาดจนถึง 3 ทุ่มก็จะกลับเข้าบ้านเพื่อพักผ่อนให้เต็มที่ และก็ตื่นไปตลาดอีกครั้งตอน ตี 4 ชีวิตในแต่ละวันก็จะเป็นแบบนี้"

 

"มาอยู่ตอนแรก เราก็ไม่รู้ว่าจะมาทำอาชีพอะไรด้วยซ้ำไป การกลับมาอยู่บ้านครั้งนี้ก็อยากขอให้มีรายได้นิดเดียวที่พออยู่ได้ก็พอ กลับมาอยู่บ้านให้เราทำงานอะไรก็ได้นะ เป็นคนไม่เกี่ยงงานเลย ขอแค่ให้มีรายได้”

 

"และพอกลับมาอยู่จริง ๆ ก็ได้ไปช่วยแม่ขายของที่ตลาดสดในตัวอำเภอ แม่ให้ค่าแรงวันละ 300 บาท (หัวเราะ) มันก็เกินคาดเราก่อนหน้านี้อยู่เหมือนกัน เพราะอยู่บ้านไม่ค่อยมีค่าใช่จ่าย เงินค่าแรงที่จากแม่ก็กลายเป็นเงินเก็บของเราไป”

 

"ชีวิตของเรามันเริ่มต้นจากศูนย์จริง ๆ นะ ถ้าสมติวันใดวันหนึ่งทำสิ่งที่ตัวเองตั้งใจสำเร็จตามเป้าหมาย มันจะกลายเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนอื่นมาก ๆ เลย เพราะการกลับบ้านครั้งนี้เริ่มต้นจากที่ไม่มีอะไรเลย"

 

"ทำไมต้องบอกว่าเริ่มต้นจากศูนย์ ส่วนตัวมองว่าเราเองมีพื้นฐานต้นทุนค่อนข้างต่ำ ตอนแรกครอบครัวไม่มีที่ดินเพื่อทำกินเลย พอดีตอนนั้นทางหมู่บ้านมีโครงการแบ่งพื้นที่ริมห้วยซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะให้ชาวบ้านครอบครัวละ 1 งานไว้ทำการเกษตร ปลูกผัก ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกผักบุ้ง และปลูกผักเพื่อนำไปขายที่ตลาดสด"

 

"ครอบครัวช่วยกันปลูกผักบุ้ง และก็ได้ขายทุกวัน ที่ดินสาธารณะที่เคยปลูกผักก็มักจะเจอกับปัญหาน้ำท่วมที่ดินริมห้วยอยู่ตลอด ส่งผลให้ตอนนั้นมันทำให้ขาดรายได้อยู่ประมาณ 3 เดือน จึงนึกอยากมีที่ดินเป็นของตัวเองแล้ว เพราะที่ผ่านมาครอบครัวก็พอมีรายได้ที่กลายเป็นเงินเก็บอยู่บ้าง

 

เมื่อมีเป้าหมายแล้วว่าอยากซื้อที่ดินในราคานี้ เราก็ขยันเก็บเงินไว้ไม่ซื้ออะไรเลยทั้งสิ้น อยากจะได้รถเหมือนคนอื่นเราก็ไม่ซื้อ เพราะมีสิ่งชี้ชัดที่ตั้งเป้าไว้แล้ว พอดีมีจังหวะที่คนอยากขายที่ดินพอดี และสามารถต่อรองราคากันได้ ก็เลยได้ที่ดินตรงนี้มาเป็นของตัวเอง ความสำเร็จส่วนหนึ่งก็เกิดจากการขายผักบุ้งนี้แหละ"

 

04 ก่อนที่จะประสบผลสำเร็จ ทุกอย่างต้องมีขั้นตอนของมัน

"หากพูดถึงเป้าหมายของเรา คำตอบนั้นคือการอยากกลับมาดูแลพ่อแม่เป็นสิ่งแรก สิ่งต่อมาคืออยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เพราะเบื่อการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ เราเชื่อว่าแต่ละคนมีความฝันเป็นของตัวเอง ถ้าถามถึงความฝันเรา ก็ตอบได้เลยว่าอยากใช้ชีวิตที่ง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่วุ่นวาย เพราะแต่ละขั้นตอนในชีวิตที่เราทำมันทุกครั้ง เพื่อต้องการให้เป้าหมายมันดำเนินไปสู่จุดสำเร็จ ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็คือการเดินตามความฝันของเรา"

 

"ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงิน ในตอนที่ไม่มีที่ดิน ในระหว่างนั้นเราต้องศึกษาหาความรู้ และหาโอกาสเพื่อสานต่อความฝันอยู่ไม่เคยขาด บางครั้งก็ได้มีโอกาสดี ๆ ได้ไปช่วยงานในศูนย์เรียนรู้ของหมู่บ้านทำโครงการเกี่ยวกับเกษตรต่าง ๆ เราก็ได้ทั้งช่วยงาน และได้ทั้งความรู้ไปพร้อม ๆ กัน ก็ถือว่าเป็นผลผลิตทางความคิดเช่นเดียวกัน เมื่อมีที่ดินแล้วก็ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของตัวเอง และใช้ความรู้ที่เราเก็บสะสมมาในระหว่างทาง"

 

05 คนรุ่นใหม่ควรที่จะกลับมาอยู่บ้านเพื่อลงหลักปักฐาน ?

"เรามองว่ามันแล้วแต่ชีวิตของแต่ละคน เรามีความจำเป็น ภาระหน้าที่ ความฝัน และความหวัง ไม่เหมือนกัน เพราะเราไม่ใช่คนเดียวกัน หากถามถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องทรัพย์สินเงินทอง แต่เราอยากเป็นต้นแบบ และอยากเป็นแหล่งกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังเริ่มต้นจากศูนย์เหมือนเรา การกลับมาอยู่บ้านครั้งแรกนั้น เราไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากอะไรด้วยซ้ำไป สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เพิ่งจะเริ่มได้แค่ระยะเวลา 1 ปีครึ่งเท่านั้นเอง หรือคนรุ่นใหม่บางคนมีต้นทุนมากกว่าเราแน่นอน เพราะส่วนมากจะมีที่ดินเป็นของตระกูลตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเราทำสำเร็จ คนอื่นก็ต้องทำได้" 

 

"สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน อย่ายึดติดกับการที่เราต้องมีรายได้เท่าไหร่ ขอแค่ให้ทำอะไรก็ได้ที่มันเกิดรายได้ อย่าอยู่เฉย ๆ หากพร้อมที่จะกลับมาอยู่บ้านแล้ว อยากกลับก็ให้กลับมาอยู่เลย และอีกอย่างที่สำคัญคืออย่าฟังคำพูดคน ถ้าเรามัวแต่สนใจคำพูดของคนอื่นว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น เรียนจบมาตั้งสูงทำไมต้องกลับมาอยู่บ้าน ทำไมไม่ไปทำงานที่มันดีกว่านี้ ถ้าเรามัวแต่สนใจอะไรแบบนั้นอยู่ส่วนตัวรู้สึกว่ามันไม่ได้ ชีวิตเรา เราต้องเป็นคนตอบมันเอง อย่าให้คนอื่นมาชี้คำตอบชีวิตแทนเรา"

 


06 ต้องฟังเสียงหัวใจตัวเอง

"ต้องเริ่มจากที่ต้องฟังเสียงหัวใจตัวเอง ที่เขาเรียกร้องว่าตัวตนอย่างเราต้องมาอยู่บ้าน เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ต้องสนองเสียงจากหัวใจหากพ่อแม่เราไม่เชื่อว่าเราทำได้ เราก็ต้องยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำได้ ไม่ว่าพืชอย่างเราจะถือกำเนิดขึ้นจากดินชนิดไหน ระหว่างทางจะพบเจอเรื่องราวอะไร สุดท้ายแล้วเมล็ดพันธุ์ที่บ่งบอกการเป็นตัวตนของเรา ย่อมเติบโตอย่างสวยงามในผืนดินที่เคยฟูมฟักเราได้เสมอ”

 

“ปรับขนาดความฝันให้เล็กลง ให้มันตรงกับที่เราทำได้ เก็บแรงก้อนสุดท้าย กลับไปหา ไปกอดความสุขใจที่บ้านเรา” เนื้อเพลงท่อนฮุค ของศิลปินมนต์แคน แก่นคูณ ดังขึ้นมาในหัวอยู่ทุกครั้งเมื่อตัวผู้เขียนเองได้ฟังสัมภาษณ์จากพี่ตุ๋ม อมรรัตน์

 

บทเพลง แรงก้อนสุดท้าย กล่าวถึงชีวิตหนุ่มสาวอีสานคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านการต่อสู้กับความเจริญที่ต้องพยายามเอื้อมมือไปคว้าด้วยตัวเองในใจกลางเมืองหลวง เนื้อเพลงที่กล่าวถึงประกอบกับเรื่องราวของทั้งพี่ตุ๋ม อมรรัตน์ หรือแม้กระทั่งคนรุ่นใหม่หลาย ๆ คน ที่กำลังตัดสินใจเริ่มต้นเส้นทางนี้เองเหมือนกัน สุดท้ายแล้วปลายทางที่จะตามมาคือคำตอบใหม่ ที่จะนำไปสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงมายาคติที่ถูกกำหนดขึ้นโดยสังคม ซึ่งยังถูกฝังรากความคิดนี้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

คือ การกลับไปอยู่บ้านเกิดในชนบท ≠ หมดหนทางในชีวิต

 



แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Interview, 
#บทสัมภาษณ์, 
#เกษตร, 
#กลับบ้าน, 
#แรงก้อนสุดท้าย, 
#ALTV, 
#Innerview, 
#ALTV4, 
#รัตนพลทิพย์มะณี, 
#เมล็ดพันธุ์หวนคืนสู่ดินแปลงเดิม, 
#ตุ๋มอมรรัตน์ 
ALTV CI
InnerViews
InnerViews
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Interview, 
#บทสัมภาษณ์, 
#เกษตร, 
#กลับบ้าน, 
#แรงก้อนสุดท้าย, 
#ALTV, 
#Innerview, 
#ALTV4, 
#รัตนพลทิพย์มะณี, 
#เมล็ดพันธุ์หวนคืนสู่ดินแปลงเดิม, 
#ตุ๋มอมรรัตน์ 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา