หากเราให้คุณบอกชื่อหนังซุปเปอร์ฮีโร่ในดวงใจมาคนละหนึ่งเรื่อง แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นหนังซุปเปอร์ฮีโร่จากจักรวาลมาร์เวล ผลงานชิ้นโบว์แดงของค่ายชื่อดัง มาร์เวล สตูดิโอส์ (Marvel studios) เป็นแน่ และรู้หรือไม่ว่าในบรรดาซุปเปอร์ฮีโร่มาร์เวล มีเพียงหนึ่งตัวที่ไม่ได้ถูกคิดขึ้นโดย ‘แสตนลีย์’ แต่มาจากตำนานความเชื่อที่มีอยู่จริงบนโลก!
จักรวาลมาร์เวล หรือ มาร์เวล ซีเนมาติก ยูนิเวิร์ส (MCU) แบบรวบรัด คือ อาณาจักรที่รวบรวมตัวละครต่าง ๆ ในค่ายมาร์เวลไว้ด้วยกัน ทั้งจากภาพยนตร์ หนังสือการ์ตูน และซีรีส์ นำมาเรียงร้อยให้แต่ละเรื่องราวที่แตกต่างกลายเป็นหนึ่งเดียว เสมือนว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขี้นในภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้น ได้เกิดขึ้นบนโลกใบเดียวกัน เช่น การพบกันอย่างไม่คาดคิดระหว่างสไปเดอร์แมน และไอรอนแมน ในเรื่อง Spider-Man: Far From Home
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจักรวาลมาร์เวล และให้กำเนิดเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ที่ครองใจคนทั่วโลก คือ ชายที่มีนามว่า สแตนลีย์ มาร์ติน ลีเบอร์ (Stan lee) นักเขียนและอดีตบรรณาธิการบริหาร มาร์เวล คอมมิกส์
แสตนสร้างเหล่าตัวละครด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่า ‘ไม่มีใครเติบโตได้เร็วกว่าความรัก’ ในตอนที่ยังเป็นเด็ก เราล้วนชื่นชอบนิทานเรื่องเล่าแฟนตาซี ไม่ว่าจะเป็น พ่อมด แม่มด ยักษ์ หรือคนแคระก็ดี จริงอยู่ที่ว่าเมื่ออายุมากขึ้น เราล้วนแก่เกินกว่าจะอ่านหนังสือนิทาน แต่แสตนเชื่อว่าสำหรับความรักหรือความชื่นชอบต่อสิ่งเหล่านั้นไม่มีคำว่า ‘แก่เกินไป’ แต่อาจถูกเก็บซ่อนเอาไว้ภายใต้ความเป็นผู้ใหญ่เท่านั้น มาร์เวลในความเชื่อของแสตน จึงเปรียบเสมือน 'นิทานสำหรับผู้ใหญ่' ที่คอยดึงเด็กน้อยภายในจิตใจของทุกคนออกมา
เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่มาร์เวลไม่ว่าจะเป็น ไอรอนแมน กัปตันอเมริกา ฮัลค์ สไปเดอร์แมน หรือแบล็กแพนเธอร์ ล้วนแล้วแต่มาจากจินตนาการสุดบรรเจิดของแสตนทั้งสิ้น ทว่าในบรรดาซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งหมด มีเพียงหนึ่งเดียวที่แสตนไม่ได้คิดขึ้น แต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานปกรณัมโรมัน นั่นคือซุปเปอร์ฮีโร่นามว่า ‘ธอร์’ จากเรื่องเทพเจ้าสายฟ้า ผู้ใช้ค้อนโยลเนียร์ร่ายมนตร์เพื่อบิน ควบคุมสภาพอากาศ และพลังอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเดิมทีเป็นเทพเจ้าในตำนานความเชื่อของชาวนอร์ส และเป็นเทพประจำ ศาสนาอาซาทรู ศาสนาอันเก่าแก่ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์
ชาวนอร์ส หรือ ชาวไวกิ้ง คือคำนิยามกลุ่มชนในสมัยยุคกลาง ที่ตั้งรกรากอยู่ในแถบสแกนดิเนเวียตอนเหนือของภูมิภาคยุโรป ส่วนหนึ่งของกลุ่มประชากรจะประกอบอาชีพค้าขายและเป็นนักสำรวจ อีกส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมล่องเรือออกปล้นสะดม และบุกโจมตีอาณาจักรต่าง ๆ ซึ่งชาวนอร์สในกลุ่มนี้จะถูกเรียกขานกันว่า “ชนเผ่าไวกิ้ง” ลักษณะเด่นของกลุ่มชนเผ่าไวกิ้ง คือ เก่งกาจเรื่องการสู้รบ และขึ้นชื่อในความโหดร้ายป่าเถื่อน นอกจากนี้ชาวไวกิ้งยังช่ำชองในการเดินเรือ เนื่องจากเติบโตมาในภูมิประเทศที่ล้อมรอบไปด้วยมหาสมุทร จึงไม่แปลกที่เรามักเห็นภาพลักษณ์ของชนเผ่าไวกิ้งอยู่คู่กับเรือหัวมังกรตามหน้าสื่อต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุที่จำเป็นต้องออกสู้รบอยู่เป็นประจำ สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเหล่านักรบไวกิ้งให้ยังคงยืนหยัดในการสู้รบต่อไปได้ คือ ความเชื่อในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าและโลกหลังความตาย อันเป็นที่มาของการก่อตั้งศาสนาอาซาทรู
ศาสนาอาซาทรู เป็นศาสนาแบบพหุเทวนิยม (มีความเชื่อในพระเจ้าและนับถือเทพพระเจ้าหลายองค์) เช่นเดียวกันกับ ศาสนาฮินดู และศาสนากรีกโบราณ เทพเจ้าองค์สำคัญ ของศาสนาอาซาทรูมีอยู่มากมาย อาทิ เทพเจ้าโอดิน (เทพเจ้าสูงสุดของศาสนาอาซาทรู) เทพเจ้าธอร์ เทพเจ้าเทียร์ เทพเจ้าแซตเทิร์น เทพเจ้าโลกิ เทพธิดาฟรีย่า เทพธิดาฟริก ฯลฯ ในภายหลังเทพตามตำนานชาวนอร์สเหล่านี้ ก็ได้ไปโล่ดแล่นอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง ธอร์ เทพเจ้าสายฟ้า จนกลายเป็นตัวละครในดวงใจของใครหลายคน
ย้อนความกลับไปก่อนเกิดจักรวาล เหล่าชาวนอร์สมีความเชื่อว่า ทุกหนแห่งล้วนไม่มีสิ่งใดคงอยู่เลย ไม่มีพื้นน้ำ ไม่มีพื้นดิน หรือแม้กระทั่งท้องฟ้า จะมีก็เพียงแต่หุบเหวที่ไร้ก้นบึ้งอันมืดมิด ชื่อเรียกตามตำนานของดินแดนอันว่างเปล่านี้ มีชื่อว่า กินนุงนากับ (Ginnungnagap) หรือ ‘ห้วงเหวลึกก่อนกำเนิดจักรวาล’
แต่เมื่อวันเวลาพ้นผ่านไป ห้วงเหวลึกนี้ได้ถูกแทนที่ด้วยดินแดนใหญ่สองขั้ว ได้แก่ นิเวิลเฮย์เมอร์ (Niflheim) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ มีลักษณะเป็นหุบเหวน้ำแข็งลึก มืดมิดมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด และหนาวเย็นจนไม่มีสิ่งมีชีวิตใดสามารถมีชีวิตอยู่ได้ ส่วนอีกดินแดนหนึ่งเรียกว่า มูสเป็ลล์สเฮย์เมอร์ (Muspelheim) เป็นดินแดนที่ปกคลุมไปด้วยแสงสว่าง ทุกอณูของพื้นผิวลุกท่วมไปด้วยไฟและลาวา
ในเวลาต่อมา หยดน้ำที่ละลายจากน้ำแข็งในดินแดนนิเวิลเฮย์เมอร์ได้ไหลมาบรรจบกับเปลวไฟ ณ ดินแดน มูสเป็ลส์เฮย์เมอร์ กำเนิดเป็นยักษ์ตัวใหญ่มหึมาตัวแรกของโลก นามว่า เออร์เยอเมียร์ (Aurgelmir) หรือ ยีเมียร์ (Ymir) ซึ่งหากใครเป็นแฟนพันธ์แท้การ์ตูนคอมมิกส์ จากค่ายมาร์เวล อาจเคยได้ยินชื่อนี้ผ่านหูผ่านตามาบ้าง ยักษ์ยีเมียร์ในตำนานดั้งเดิมของชาวนอร์สได้รับมาพัฒนาเป็นตัวละครหนึ่งในจักรวาลมาเวล ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในคอมมิกส์ ชุด Journey into Mystery เล่มที่ 97 ในปี 1963
ภายหลังจากที่กำเนิดยักษ์ยีเมียร์ โลกก็ถือกำเนิดแม่วัวตัวแรกของโลก นามว่า “โอดุมลา” (Audumla) โอดุมลาเกิดจากหยดน้ำที่ไหลออกมาจากก้อนน้ำแข็งบริเวณดินแดนนิเวิลเฮย์เมอร์ และได้ถูกขนานนามว่าป็นแม่วัวแห่งโชคชะตา หลังจากนั้นวัวโอดุมลาได้เลียหยดน้ำจากก้อนน้ำแข็ง จนก้อนน้ำแข็งนั้นกลายเป็นรูปร่างของผู้ชาย เกิดเป็นเทพเจ้าบูริ (ฺBuri) บรรพบุรุษและบิดาของเหล่าเทพเจ้านอร์สทั้งปวง มีศักดิ์เป็นพ่อของ เทพเจ้าบอร์ (Bor) และเป็นปู่ของเทพเจ้าโอดิน (Odin) เทพเจ้าสูงสุดประจำศาสนาอาซาทรู
รูปปั้นเทพเจ้าธอร์ ตั้งอยู่ที่สะพานเยอร์การ์เดนต์ (Jurgordsbrun) ในประเทศสวีเดน
ชาวไวกิ้งมีความเชื่อเดิมว่า ผู้ที่พร้อมสละชีวิตในสนามรบอย่างกล้าหาญ เมื่อถึงคราวเสียชีวิต ดวงวิญญาณจะถูกส่งไปยังวัลฮัลลา (Vallhalla) หรือหอคอยแห่งวีรชนบนดินแดนที่ชื่อว่า “แอสการ์ด” ซึ่งเป็นดินแดนสวรรค์ของเหล่าทวยเทพ ด้วยการคัดเลือกจากเทพเจ้าโอดิน
ณ ดินแดนแอสการ์ด พวกเขาจะได้ใช้ชีวิตในโลกหลังความตายอย่างมีความสุข มีเหล้าสุราให้ดื่มตลอดวัน และได้สู้รบกันจนตัวตายเหมือนตอนที่ยังมีชีวิต และจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ในทุกเช้าของวัน เป็นแบบนี้เรื่อยไปจนกว่าดวงวิญญาณจะดับสลายในวันสิ้นโลกแร็กนาร็อก (Ragnarok)
ด้วยเหตุนี้ศาสนาอาซาทรู จึงมุ่งเน้นให้เห็นคุณค่าของชีวิต และมีหลักความเชื่อสำคัญที่ว่า ‘ไม่มีสิ่งใดในโลกเป็นนิรันดร์ สรรพสิ่งในโลกล้วนแตกดับ’ แม้กระทั่งเหล่าทวยเทพที่พวกเขานับถือก็จะดับสลายไปในวันสิ้นโลกแร็กนาร็อกเช่นเดียวกัน ไม่มีใครสามารถหนีสัจจธรรมข้อนี้พ้น
นอกจากนั้นศาสนาอาซาทรู ไม่มีแนวคิดเรื่องการชำระบาปหรือไถ่ถอนบาป แต่ะมุ่งเน้นไปที่การสอนให้ละเว้นการทำชั่ว เพื่อรักษาเกียรติ และคุณค่าของตน แต่เมื่อใดที่ได้กระทำความผิดลงไปแล้ว ผู้นั้นจะต้องยอมรับความผิดบาปของตน ด้วยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเหล่านั้นแทนการสารภาพบาปต่อพระผู้เป็นเจ้า เพราะจะไม่มีการอภัยโทษจากพระเจ้าองค์ใด และการชำระบาปเพื่อดวงวิญญาณที่ขาวสะอาด เพียงสิ่งเดียวที่สามารถทำได้ คือ สำนึกกับความผิดบาปของตนไปจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 10- 11 คือช่วงที่ศาสนาอาซาทรูค่อย ๆ สูญหายไปพร้อมกันกับประชากรชนเผ่าไวกิ้งที่ลดน้อยลง ประกอบกับอิทธิพลของศาสนาคริสต์ในสมัยนั้นที่เป็นศาสนาหลักของชาวยุโรปส่วนใหญ่ ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอย่างอาซาทรู มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนนอกรีต ชาวไวกิ้งบางส่วนก็เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ด้วยเช่นกัน จนในภายหลังรัฐสภาในเครือชนเผ่าไวกิ้งได้ประกาศว่า ศาสนาคริสต์จะกลายเป็นศาสนาหลักในประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งศาสนาอื่น ๆ อย่างอาซาทรูยังคงสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ต้องปฏิบัติกันอย่างลับ ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตามท้ายที่สุด ก็ไม่สามารถต้านอิทธิพลของศาสนาคริสต์ในช่วงนั้นได้ และสูญหายไปในที่สุด ถึงแม้ว่าในช่วงปี 1973 จะมีการรวมตัวกันของเหล่าสาวกที่ต้องการนำอาซาทรูกลับมาอีกครั้ง แต่ในทางศาสนาศาสตร์ ศาสนาอาซาทรูจัดอยู่ในประเภทศาสนาที่ตายแล้ว (Dead religion)
ในความคิดของบางคนอาจมองว่า ศาสนาอาซาทรู เป็นความเชื่อที่แปลกประหลาดเกินกว่าจะเข้าถึง แต่เมื่อเรามองข้ามเรื่องเล่าและตำนานต่าง ๆ ไป จะพบว่าภายใต้ความเชื่อเหล่านั้นได้สอดแทรกหลักคำสอนบางอย่างที่สามารถนำมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่นเดียวกันกับหลายหลายศาสนาบนโลกที่มีความเชื่อและหลักคำสอนที่แตกต่างกันไป หน้าที่ของเราในฐานะคนต่างศาสนา อาจเป็นการทำความเข้าใจ และเคารพในศรัทธา ความเชื่อของผู้อื่น อันนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข
ทำความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อของมนุษย์ได้ที่ รายการ Tutor HuB ในหัวข้อ 'ศาสนา' ทางเว็บไซต์ ALTV
ที่มา : IcelandMag Nordic Culture Silpa-Mag Britannica Blogger Time