วิถีชีวิตของชาวไทยผูกพันกับสายน้ำมาตั้งแต่ในอดีต “เรือพาย” จึงมีความสำคัญมากสำหรับการดำเนินชึวิตในสมัยก่อน และถือเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ALTV จึงขอหยิบยกเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรือพายพื้นบ้านมาฝากกัน
เรือพายพื้นบ้านของไทย สามารถแบ่งตามลักษณะการใช้งานได้เป็น 2 ประเภท คือ เรือขุด และ เรือต่อ
เมื่อไหร่ที่ได้ไปเยือนตลาดน้ำแล้วได้เห็นภาพพ่อค้าแม่ค้าพายเรือเร่ขายก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นปิ้ง หรือผักผลไม้นานาชนิด คุณอาจจะพบเข้ากับ “เรือสำปั้น” เรือพายสารพัดประโยชน์ที่ใช้บรรทุกของก็ได้ ใช้โดยสารก็ดี แถมมีหลากหลายชนิด คนไทยในสมัยก่อนนิยมใช้บรรทุกของเร่ขายไปตามแม่น้ำริมคลอง ซึ่งในสมัยนี้ยังพบเห็นได้ตามตลาดน้ำ
เรือสำปั้นเข้ามาในไทยตอนไหนไม่มีการระบุเอาไว้แน่ชัด แต่คาดว่าเป็นเรือที่นำเข้ามาจากประเทศจีน เดิมใช้ชื่อว่า เรือซำปัง หรือ ซาปัง หมายถึงเรือขนาดเล็ก มีการบันทึกไว้ว่าเริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 2 สำหรับการประพาสสระน้ำในพระบรมมหาราชวัง
เรือสำปั้นมีบทบาทมากมายที่จะเห็นได้ชัดที่สุดคือเป็นพาหนะบรรทุกของเร่ขายตามแม่น้ำลำคลอง ที่เด่นชัดคือ การขายก๋วยเตี๋ยวในเรือ โดยเริ่มจากชายเชื้อสายจีนนามว่า “โกฮับ” ที่จะพายเรือสำปั้นเร่ขายก๋วยเตี๋ยวในแทบคลองรังสิต จนเป็นที่เลื่องลือกันทั่วว่าก๋วยเตี๋ยวของโกฮับอร่อยถูกปากที่สุดในรังสิต เป็นที่มาของก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับในปัจจุบัน
ภาพโดย: Thaipbs
เรือผีหลอก เป็นเรือพายชนิดหนึ่งที่ไม่ได้มีไว้โดยสาร และไม่ใช่เรือที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด แต่มีไว้ใช้สำหรับหาปลาโดยเฉพาะ เป็นส่วนสำคัญของประมงพื้นบ้านที่หาดูได้ยากของไทย ลักษณะของเรือผีหลอก มีรูปร่างยาว ท้องแบนทำให้น้ำตื้นไม่ใช่อุปสรรค ด้านหลังมีแจวติดอยู่
ที่เรียกว่าเรือผีหลอก เพราะด้านข้างจะติดตั้งกระดานเคลือบสีขาว มีไว้แหย่ไปตามพุ่มไม้ริมตลิ่ง เพื่อให้ปลาตกใจตื่น จนกระโดดเข้ามาติดตาข่ายบนเรือ ปลาเล็กจะกระโดดเข้ามาในเรือ แต่ปลาใหญ่ที่มีแรงมากจะกระโดดข้ามไปอีกฟากจนติดตาข่ายอีกด้านหนึ่งของเรือ ทำให้ตกลงสู่ท้องเรือพอดี ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอันชาญฉลาดในการทำประมงของคนสมัยก่อน นอกจากนี้การพายเรือผีหลอกนิยมทำในคืนเดือนมืด เพราะการที่จะไม่ให้ปลาหนีไปเสียก่อนจึงต้องอาศัยทั้งความเงียบ และความมืด
ที่มา: พลอยโพยม
เรือบด เพี้ยนมาจากคำว่า โบ๊ต (Boat) ในสมัยก่อนบ้านริมคลองแทบทุกหลังต้องมีเรือบดติดไว้ เพราะสะดวกต่อการใช้เดินทางใกล้บ้าน มีน้ำหนักเบา รูปร่างเพรียว สามารถยกพาดเก็บได้สะดวก เรือบดมักทำจากไม้สัก ไม้ยมหอม หรือไม้ยาง ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าได้ต้นแบบมาจากเรือคายัคของชาวตะวันตก ถ้าหากเราสังเกตดูแล้ว รูปทรงมีความคล้ายคลึงกันมาก
หากจะพูดถึงเรือที่เล็กและพายได้เร็วที่สุดในบรรดาเรือพื้นบ้านทั้งหมด คงต้องยกให้ “เรือเข็ม” ซึ่งมีความยาวเพียง 4-5 เมตร อาศัยไม้กระดานเพียง 3 แผ่นก็ได้เรือเข็ม 1 ลำ ทั้งยังมีน้ำหนักเบาจนสามารถยกได้ด้วยมือข้างเดียว หัวเรือเล็กแหลมไม่ต้านน้ำ
ข้อดีของความเล็กและน้ำหนักเบา คือช่วยให้คล่องตัว จัดเก็บง่าย ในสมัยก่อนเป็นเรือนิยมในหมู่วัยรุ่น หากจะเปรียบเทียบก็คงเหมือนกับมอเตอร์ไซค์ในปัจจุบัน สำหรับการพายเรือเข็มนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยความที่เบาและบางกว่าเรือชนิดอื่น การพายคัดท้ายเรือจึงอาจทำให้เรือคว่ำ ผู้พายจะต้องไม่ยกพายขึ้นเหนือผิวน้ำ เพื่อไม่ให้เสียสมดุล
ภาพโดย: Thaipbs
เมื่อถึงฤดูน้ำหลากและผู้คนเว้นว่างจากการเพาะปลูก นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่ลำน้ำจะถูกแต่งแต้มไปด้วยสีสันของการแข่งขันเรือยาวประเพณี และการประกวดขบวนเรือ กีฬาพื้นบ้านของไทยที่สืบทอดกันมารวมศตวรรษ
การแข่งขันเรือยาวประเพณี นิยมจัดขึ้นช่วงออกพรรษา ถือเป็นกีฬายอดนิยมสามารถพบเจอได้ทั่วทุกภาคของไทย แต่ที่โด่งดังเห็นจะเป็นจังหวัด พิจิตร น่าน อ่างทอง และชุมพร ที่จัดกันอย่างยิ่งใหญ่อลังการ อ้างอิงจากบันทึกของลาลูแบร์ ที่กล่าวไว้ว่า การพายเรือยาวเป็นกีฬาทางน้ำที่นิยมละเล่นกันของชาวอยุธยา
ที่ขาดไปได้สำหรับพระเอกสำคัญ นั่นคือ "เรือยาว" คาดว่ามีต้นแบบมาจากเรือพิธีกรรมของจีน เรียกว่า เรือมังกร (Dragon boat) มีลักษณะคล้ายคลึงกับเรือยาวของไทย ต่างกันที่โขนเรือจะเป็นรูปหัวมังกร ในขณะที่ไทยจะเป็นรูปร่างของพญานาค หรือพญาครุฑ มากกว่า ในอดีตนิยมทำจากต้นตะเคียนทองทั้งต้น นำมาขุดถากด้วยเครื่องมือต่าง ๆ จนมีรูปทรงเพรียวยาว ต่อมาเริ่มใช้การต่อทั้งลำ
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการใช้เรือพายสัญจรทางน้ำไม่ได้เป็นที่นิยมแล้ว เพราะการวิวัฒนาการที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตให้เราต้องใช้รถยนต์มากกว่า แต่เรือพายเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ต่อไป แต่ถึงอย่างไรก็ตามกิจกรรมพายเรือในสมัยอย่างการกีฬาคายัคก็ยังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย รวมผจญภัยทางน้ำด้วยเรือคายัคตามรอยเส้นทางในอดีตและสัมผัสวิถีชีวิตของผู้คน ได้ที่ รายการ หนังสือเดินทาง ตอน ตะลุยบางปะกง
ที่มา: มหาวิทยาลัยศิลปากร สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี แนวหน้า