“ชา” จัดเป็นเครื่องดื่มที่นิยมทุกยุคทุกสมัย และอยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชานมไข่มุก หรือชากลิ่นผลไม้ ที่ยังคงฮิตอยู่เสมอ นอกจากแก้กระหายแล้ว ชายังป็นเครื่องดื่มเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถผสานกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิต ประเพณีและพิธีกรรมของคนทั่วโลก และเพราะเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ALTV จึงอยากพามาสำรวจเรื่องราวเวลาน้ำชาในแต่ละประเทศว่ามีที่มาอย่างไรบ้าง
ภาพการจิบชาจากถ้วยกระเบื้องมักมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งตามซีรีส์จีนแนวย้อนยุคหรือแม้กระทั่งในชีวิตประจำวันสำหรับเหล่าคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมการดื่มชา จึงต้องนึกถึงประเทศจีนมาเป็นอันดับแรก ๆ จีนเป็นชนชาติแรกที่ค้นพบการดื่มชาและใช้ประโยชน์จากใบชา ในสมัยโบราณนิยมนำมาต้มเป็นยาษาโรค บำรุงผิวพรรณ ภายหลังกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ขาดไม่ได้ในทุกชนชั้น และหลอมรวมเข้ากับประเพณี พิธีกรรมทางศาสนาอีกด้วย ในลัทธิเต๋าได้กล่าวถึงการดื่มชาไว้ว่า
“มนุษย์กับธรรมชาติเป็นสิ่งเดียวกัน ตัวบุคคลเป็นดั่งหนึ่งโลกเล็ก ๆ น้ำชาถ้วยหนึ่งสะท้อนดั่งหนึ่งทะเล ชาเป็นสิ่งที่ประกอบด้วยกฎธรรมชาติ คนเราก็ควรจะเรียนรู้ถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ด้วยการดื่มชาอันเป็นแก่นหลักของธรรมชาติ”
จิบชาเมื่อแขกมาเยือน ชาวจีนมีธรรมเนียมที่สืบต่อกันมายาวนาน ด้วยการต้อนรับแขกด้วยน้ำชาหอม ๆ เพื่อแสดงถึงมิตรภาพ ในชาวจีนแต้จิ๋ว มีพิธีชงชาเพื่อต้อนรับแขกที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า “กังฮูเต๊” แปลได้ว่า “ชาละเมียดละไม” นิตยสารศิลปะและวัฒนธรรม อ้างอิงคำกล่าวของ ถาวร สิกขโกศล ไว้ว่า พิธีกังฮูเต๊มีท่วงท่าการรินชาที่สวยงามเป็นศิลปะ แขกต้องนั่งเป็นวงกลม และรินชาหมุนเป็นวงกลมเฉลี่ยให้เท่ากันทุกถ้วย เพื่อปริมาณน้ำ สี กลิ่น รส สม่ำเสมอกัน มีนัยยะแสดงออกถึงความเสมอภาคของแขกทุกคน
จิบชาเมื่อเหนื่อยล้า เมื่อก่อนน้ำชาเป็นเครื่องดื่มของกลุ่มชนชั้นสูงหรือเหล่าบัณฑิต พวกเขามักพบปะกันเพื่อพูดคุยกันถึงศิลปะ วรรณกรรม พลางจิบน้ำชาไปด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังเหล่าเศรษฐีจะสร้างห้องชิมชา เอาไว้สำหรับบัณฑิตที่ต้องศึกษาตำรา เพราะมีความเชื่อกันว่าน้ำชาช่วยกระตุ้นความคิดได้ดี
จิบชาในพิธีวิวาห์ อีกหนึ่งประเพณีสำคัญของชาวจีนที่คุ้นเคยกันดี คือ “พิธียกน้ำชา” หรือพิธี “ชั่งเต๊” เจ้าสาวและเจ้าบ่าวจะคุกเข่าและยกนํ้าชามอบให้กับพ่อแม่่และแขกคนสําคัญ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญู
จิบชาเมื่อต้องการแสดงความเคารพ แนวคิดของคนญี่ปุ่นเชื่อว่าคนเราอาจมีโอกาสพบกันเพียงครั้งเดียวในชีวิต การต้อนรับจึงต้องทำอย่างตั้งใจและน่าประทับใจที่สุด จึงเกิดเป็นธรรมเนียมการต้อนรับด้วยพิธีน้ำชาที่ละเอียดละอ่อนลุ่มลึก มีชื่อเรียกว่า “ชาโด” หรือ “วิถีชา” มีพื้นฐานแนวคิดคือ “การเคลื่อนสู่ห้องชาอย่างช้า ๆ”
ก่อนเริ่มพิธีการแขกต้องรอในห้องที่จัดไว้ให้เรียกว่าโยริซุกิ และจะเข้ามาในห้องชงชาได้ก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงฆ้องจากเจ้าบ้าน ผ่านทางเดินในสวนที่ตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น (Roji) แขกจะต้องเข้ามาในห้องชงชาตามเวลาที่กำหนดโดยไม่ส่งเสียง เสียงเดียวในห้องต้องมีเพียงเสียงไม้คนชาเท่านั้น
เจ้าบ้านจะคำนับและเสิร์ฟชาให้พร้อมพูดว่า “โอซากินิ” และแขกจะต้องพูดอนุญาตก่อนดื่มทุกครั้งว่าด้วยคำว่า "โอตะมะเอะ โจวได อิตาชิมัตสึ" แปลว่า “ขออนุญาตรับชาที่ท่านชงให้” เพื่อแสดงความให้เกียรติซึ่งกันและกัน
วิถีชา หรือ ชาโด จึงไม่ใช่เป็นการเสิร์ฟชาต้อนรับแขกธรรมดา ๆ เท่านั้น แต่หมายถึงการนำเสนอกระบวนการต้อนรับที่แสดงถึงความจริงใจของผู้เป็นเจ้าบ้านที่มีต่อแขกด้วย
สถิติจาก The Tea and Infusions Organisation ระบุไว้ว่าชาวอังกฤษดื่มชามากเป็นอันดับ 2 ของโลก เฉลี่ยปีละมากกว่า 60 พันล้านถ้วย แต่ก่อนความคลั่งไคล้การดื่มชาจะมาถึง "กาแฟ" เคยเป็นเครื่องดื่มที่ครองใจชาวอังกฤษมาก่อน จนหลังจากพระเจ้าชาลส์ที่ 2 และสมเด็จพระราชินีได้สั่งนำเข้าใบชาเพราะความหลงใหลส่วนตัวของทั้งสอง การดื่มชาจึงเป็นกระแสขึ้นมา ไลฟ์สไตล์ที่มีระดับของเหล่าคนชนชั้นสูงตามแบบฉบับผู้ดีเมืองอังกฤษ จนในภายหลังใบชามีราคาถูกลง ส่งผลให้คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้
จิบชาเมื่อยามบ่าย (Afternoon tea)
น้ำชายามบ่าย หรือ “Afternoon tea” แรกเริ่มมีไว้เพื่อประทังความหิวในระหว่างวันของเหล่าราชวงศ์ และคนชนชั้นสูง เพราะพวกเขาทานอาหารกันเพียงวันละ 2 มื้อต่อวัน คือมื้อเช้าและมื้อค่ำ ชุดน้ำชายามบ่ายจึงนิยมเสิร์ฟเวลา 16:00-18:00 คู่กับแซนด์วิช เค้ก หรือสโคน (Scones) นอกจากประทังความหิวในระหว่างวันแล้ว ยังเป็นการพบปะกันเพื่อพูดคุย สังสรรค์ของหญิงสาวชั้นสูงในสมัยนั้นอีกด้วย
จิบชาเมื่อยามเย็น (High tea)
น้ำชายามเย็น หรือ “High tea” มีไว้เสิร์ฟในช่วงเวลาอาหารมื้อเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนชนชั้นแรงงานในสมัยก่อนจะได้ดื่มด่ำกับช่วงเวลาน้ำชา หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานตลอดกลางวัน High tea นิยมเสิร์ฟเวลา 17:00-19:00 คู่กับเนื้อสัตว์ ขนมปัง เนย ฯลฯ
เมื่อพูดถึงไต้หวันสิ่งที่นึกถึงตามมาคือ เครื่องดื่มยอดฮิตอย่าง "ชานมไข่มุก" จนกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ (Pop Culture) ในหลายประเทศทั่วโลก แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากกระแสความป็อบแล้ว ไต้หวันก็ยังมีพิธีกรรมชงชาที่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครอยู่ด้วย
จิบชาเมื่อต้องการขัดเกลาจิตใจ ไต้หวันมีพิธีชงชาที่เรียกว่า "หวูหว่อ (Wu wo)" แปลได้ว่า การเสียสละและไม่ถือตัว ก่อตั้งขึ้นในไต้หวันช่วงปี 1980 เป็นพิธีที่เปิดให้ผู้คนจากทุกระดับชนชั้น ทุกสาขาอาชีพมารวมตัวกันเพื่อเพลิดเพลินกับเวลาน้ำชาโดยคำนึงถึงลำดับยศ หรือ สถานะทางสังคม
หัวใจของพิธีหวูหว่อ คือทุกคนในพิธีต้องเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงยศ ระดับชนชั้น หรือรูปลักษณ์
ผู้เข้าร่วมจะต้องนั่งเป็นวงกลมบนพื้นในระดับเดียวกันอย่างเท่าเทียม และรินชาไปในทิศทางเดียวโดยไม่ใช้เสียงพูดคุย การรินชาแต่ละครั้งต้องอาศัยจังหวะที่ถูกต้อง ผ่านความสามัคคีและความร่วมมือกันทางจิตวิญญาณ นอกจากจะได้ความสดชื่นจากน้ำชา ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีหนึ่งในการขัดเกลาจิตใจอีกด้วย
เราเชื่อว่า "ชาเย็น" เป็นเครื่องดื่มในดวงใจของใครหลายคนอย่างแน่นอน ซึ่งกว่าจะเป็นชาไทยสีส้มให้เราได้ดื่มอย่างในทุกวันนี้ ได้ผ่านการหลอมรวมจากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน
เริ่มต้นจากการได้รับอิทธิพลดื่มชามาจากประเทศจีน ซึ่งมีหลักฐานที่ระบุไว้ว่า ใบชาเข้ามาในไทยครั้งแรกเพราะเป็นหนึ่งในบรรดาเครื่องบรรณาการจากจีนในสมัยสุโขทัย "น้ำชา" จึงเป็นเครื่องดื่มของพระมหากษัตริย์ และเหล่าชนชั้นสูงในอดีตที่ทั้งยากและราคาแพง คนที่จะดื่มได้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีฐานะ แม้กระทั่งสุนทรภู่ก็ได้สะท้อนไว้ใน "นิราศพันพิลาป" ว่าในสมัยที่บวชเป็นพระ ได้เก็บใบชาในวัดมาทดแทดความอยากชาจีน เพราะตนไม่มีเงินพอซื้อดื่มได้
จิบชาเพื่อคลายร้อน ในบันทึกของ ลา ลูแบร์ บ่งบอกว่าคนไทยดื่มชามาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยวิธีดื่มก็ไม่ธรรมดา เพราะคนสมัยนั้นจะอมน้ำตาลไว้ในปากแล้วค่อยดื่มน้ำชาร้อน ๆ ตามทีหลัง เป็นวิธีบ้าน ๆ ที่ไว้ใช้ลดความขมจากใบชา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ชาร้อนรสขมก็ไม่ได้เป็นที่ถูกปากคนไทยทั่วไปนัก เพราะอากาศที่ร้อนเป็นทุนเดิม การดื่มของร้อนจึงไม่ใช่วิธีดับกระหายได้ดีเท่าน้ำเย็น
จนในสมัยที่ติดต่อค้าขายกับอินเดีย คนไทยได้เรียนรู้การเติมนมลงในน้ำชา ตามแบบฉบับการดื่มชาของชาวอินเดีย ประจวบเหมาะกับการมีโรงน้ำแข็งและโรงงานผลิตนมข้นหวานแห่งแรก ชาเย็นสีส้มจึงถือกำเนิดขึ้น
เรียนรู้ประโยชน์จากใบชาเพิ่มเติมไปกับหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ ได้ที่ รายการ สูงวัยวาไรตี้ ตอน สูงวัยมีไฟใส่ใจสุขภาพ ( 25 ต.ค. 64)
ที่มา: บีบีซี นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ThaiJO