“รู้สึกตัวเองไม่มีอะไรดีสักอย่าง”
“รู้สึกตัวเองไร้ประโยชน์ ไม่มีความสุขกับชีวิตเหมือนคนอื่น”
“รู้สึกเกลียดตัวเอง ทำอย่างไรดี”
เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบกับความรู้สึกหมดความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต คนรอบข้างประสบความสำเร็จมากกว่าตัวเอง รู้สึกไร้คุณค่า หาข้อดีของตัวเองไม่เจอ สับสน คิดว่าไม่สามารถทำอะไรได้ดีเหมือนคนอื่น ๆ เกิดการเปรียบเทียบ ไม่สามารถรักตัวเองได้ ซึ่งความจริงแล้วอาการเหล่านี้สามารถอธิบายได้ในเชิงจิตวิทยา
การมองเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self-Esteem) คือ ความนับถือและเห็นคุณค่าตัวเองโดยไม่ต้องให้ผู้อื่นมานิยาม ความรู้สึกเหล่านี้มีผลต่อทุกเรื่องในชีวิต
ซึ่งการมองเห็นคุณค่าในตัวเองของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม, สังคม, บุคคลรอบตัว สามารถขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ แต่หากขาดการมองเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ส่งผลเสียในระยะยาว และสามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้ Self-Esteem จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ
วันนี้เราจึงนำ "9 วิธีเบื้องต้น เรียกความมั่นใจ" มาฝาก
สำหรับใครที่กำลังท้อ หมดไฟ ขาด Passion หรือกำลังมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง สามารถลองทำตามเบื้องต้นได้
1. ลองสำรวจตัวเอง
การสำรวจตัวเองเป็นขั้นตอนแรกในการทำให้เห็นตัวตนเราได้มากขึ้น โดยวิธีการง่ายๆ คือ หากระดาษสักแผ่นมาเพื่อเขียนจุดเด่น-จุดด้อยของตัวเอง แต่ถ้าหากยังคิดไม่ออกลองเปิดใจถามคนใกล้ตัวได้ และควรยินดีกับจุดเด่นของตัวเอง อาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันที่เราหลงลืมไป เช่น ชื่นชมตัวเองเมื่อตรงต่อเวลา
ส่วนในข้อเสียนั้นต้องค่อย ๆ หาทางแก้ไขเพื่อนำไปพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น แต่หากเป็นจุดด้อยที่แก้ไม่ได้ก็ยอมรับและทำความเข้าใจว่าไม่ใครเกิดมาสมบูรณ์แบบไปทุกเรื่อง ไม่ว่าใครก็มีจุดด้อยได้ทั้งนั้น
2. ตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เราสามารถทำได้จริง
การตั้งเป้าหมายให้ตัวเองเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสร้างแรงจูงใจ แต่ควรตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เราสามารถทำได้จริง เป็นลำดับขั้นตอนเหมือนการก้าวขั้นบันได ควรเริ่มมองจากก้าวที่ใกล้ตัวที่สุดก่อน เพราะจะทำให้เราเกิดความภูมิใจในตัวเองเมื่อเราสามารถทำได้สำเร็จ อาทิเช่น การตั้งใจดื่มน้ำให้ได้วันละ 7 แก้ว, ตั้งใจที่จะตื่นเช้าให้ได้ 7 วัน นอกจากจะรู้สึกภูมิใจเมื่อทำสำเร็จแล้ว ยังเป็นการปรับนิสัยบางอย่างให้กับตัวเองได้อีกด้วย
3. หลีกเลี่ยงการอยู่กับคนที่ทำให้เรารู้สึกแย่
หลายครั้งที่บุคคลอื่นทำให้เราขาดความมั่นใจในตัวเอง คำพูดจากสังคมภายนอกมีผลต่อจิตใจเราอย่างมาก พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กับบุคคลที่ให้เรารู้สึกบั่นทอนกำลังใจ เช่นเพื่อนใน Social Media เราสามารถกดปิดกั้นเพื่อไม่ให้เห็นข้อความที่จะทำให้เรารู้สึกแย่ได้ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราควรเก็บเรื่องส่วนตัวให้ห่างไกลจากบุคคลนั้นให้ได้มากที่สุด และไม่ซึมซับความคิดด้านลบกลับมาคิดต่อให้ปวดหัว เลือกอยู่กับบุคลลที่เสริมสร้างกำลังใจให้แก่เรา ทำให้เราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆในแง่บวกจะดีที่สุด
4. รู้จักปฏิเสธ
ความรู้สึกด้อยค่าบางทีอาจเกิดจากการต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในตัวเอง ควรรู้จักปฏิเสธเพื่อเป็นการเคารพตัวเอง อาจเริ่มต้นด้วยคำพูดที่ถนอมน้ำใจคนฟัง เช่น เสนอทางเลือกอื่นเพื่อให้เห็นว่าเราใส่ใจ แสดงจุดยืนที่แน่วแน่แต่ยังคงไว้ซึ่งความสุภาพ ปฏิเสธพร้อมแสดงความเห็นอกเห็นใจ ถ้าหากยังไม่ได้ผลควรลองเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองว่าตัวเรามีคุณค่าและเคารพความสุขของตัวเองเป็นหลัก
5. ปล่อยให้ตัวเองมีความสุขบ้าง
ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และไม่มองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ทุกคนสามารถมีงานอดิเรกที่ทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ทำสวน ดูปลาว่ายน้ำในอ่าง หรือการพักผ่อนอยู่กับที่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นวิธีการจัดการกับความเครียดเช่นเดียวกัน เพราะบางครั้งเราก็ลืมสิ่งที่มีความสุขใกล้ตัว ให้เวลากับตัวเองได้ทำในสิ่งที่ชอบในแต่ละวันสัก 1 ชั่วโมง หรือใน 1 สัปดาห์ควรให้เวลาตัว 1 วันเพื่อทำกิจกรรมที่ชอบ
6. เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
การเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นส่งผลทำให้ยิ่งกดตัวเองให้ไม่มีความมั่นใจ ทุกคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน มีจุดเด่นจุดด้อยคนละรูปแบบ โอกาสและบริบททางสังคมของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ดังนั้นไม่ควรนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น และเราก็สามารถมีความสุขและมีคุณค่าในแบบของตัวเองได้
"ถ้าเรามัวแต่สนใจว่าคนอื่นจะมองเราเป็นยังไง เราจะไม่มีวันเห็นเราเป็นเรา" - ครูเงาะ รสสุคนธ์ ทองเกตุ
7. จัดที่อยู่อาศัยให้ปลอดโปร่ง
สภาพแวดล้อมสามารถส่งผลกับจิตใจเราเช่นกัน การจัดเก็บข้าวของให้ดูสะอาดตาปรอดโปร่ง สามารถเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจให้อยากที่จะทำอะไรใหม่ ๆ
8. รักษาสุขภาพ
หันมาดูแลรักษาสุขภาพทั้งอาหารการกิน และ ออกกำลังกายทำให้เรามีความสุขได้เช่นกัน เพราะในขณะที่ออกกำลังกายจะมีสารเอ็นโดฟิน, สารโดพามีน ที่หลั่งออกมา ช่วยให้รู้สึกดีและสบายตัว ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดี และเมื่อร่างกายแข็งจะทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
9.หาวิธีบันทึกเรื่องราวของตัวเอง
หาสมุดประจำตัวไว้สักเล่มเพื่อจดไดอรี่ หรือบันทึกเสียเงอาไว้ในช่วงเวลาที่รู้สึกอยากระบาย เพราะการเก็บบันทึกเหล่านี้ทำให้สามารถย้อนเรื่องราวความคิดได้ ช่วยให้เราเห็นความเป็นไปโดยรวม เห็นความแตกต่างของตัวเองในแต่ละวัน และยังช่วยให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น
สุดท้ายนี้…อย่าหลงลืมที่จะรักตนเอง
ทุกคนมีคุณค่าในตัวเองทางใดทางหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมีความรู้สึกแย่กับตัวเอง
เพียงให้โอกาสตัวเองเรียนรู้วิธีจัดการกับความรู้สึกด้านลบ
เติมเต็มจิตใจของตัวเองให้แข็งแรง เราก็จะมีทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง และมีกำลังใจในการก้าวข้ามผ่านปัญหาที่เจอมากขึ้น (:
สามารถติดตาม PLAY LEARN เพลินดี ทาง ALTV ทีวีเรียนสนุก ช่องหมายเลข 4
รับชมได้ทาง #ALTVช่อง4ทีวีเรียนสนุก #ช่องหมายเลข4