นอกจากโรคระบาดที่เราต้องเผชิญกันอยู่แล้วในทุกวัน ยังมีภัยพิบัติมากมายที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่โลกเราเผชิญกับความแปรปรวนในสภาพอากาศอย่างหนัก และแน่นอนว่าสาเหตุสำคัญของความรุนแรงนั้นมาจากสิ่งที่เราคุ้นหูกันดีอย่างคำว่า "โลกร้อน"
ล่าสุด องค์การบริหารด้านมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration-NOAA) ได้ออกมาแถลงว่าเป็นเดือนที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติมา วัดจากพื้นผิวดินและผิวน้ำแล้วคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยออกมาได้สูงกว่าตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยของศตวรรษที่ 20 ไปถึงเกือบ 1 องศาเซลเซียส โดยร้อนกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 0.01 องศาเซลเซียส และเรียกได้ว่า เป็นเดือนที่โลกร้อนที่สุดในรอบ 142 ปี ซึ่งหากเป็นเมื่อก่อนเรายังหลีกเลี่ยงที่จะไม่แก้ปัญหาโลกร้อนได้ เพราะผลกระทบต่าง ๆ ยังไม่รุนแรงมาก แต่ตอนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่มีเวลาเหลือที่จะเพิกเฉยต่อปัญหานี้อีกแล้ว
(ข้อมูลจาก : Green Digital Libery)
แต่บางครั้งโลกร้อนที่ว่าอาจเป็นแค่คำพูดลอย ๆ หากไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตัวเอง วันนี้เราจึงพาทุกท่านมาดู 6 เหตุการณ์สภาพอากาศสุดช็อก ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แล้วคุณจะได้รู้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นเพียงไม่กี่องศา ส่งผลกระทบให้เกิดอะไรได้บ้าง
วิกฤตน้ำท่วมในมณฆลเหอหนาน หนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี! (เดือน กรกฎาคม 2564)
เดือน กรกฎาคม 2564 เมืองเหอหนาน ถือเป็นเมืองใหญ่ในประเทศจีน และมีจำนวนประชากรกว่า 99 ล้านคน รัฐบาลจีนประกาศว่าเป็นการเตือนภัยในระดับสูงสุด
สาเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นจากฝนที่ตกลงอย่างหนัก โดยเจ้าหน้าที่ทางกรมอุตุวิทยาถึงอ้างอิงว่า เป็นช่วงที่ฝนตกมาหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี พายุฝนที่เกิดขึ้นทำให้น้ำท่วมขัง การจราจรหยุดชะงัก ไฟฟ้าดับ รถโดยสารทุกชนิดต้องหยุดทำงาน
ความน่ากลัวของเหตุการณ์นี้คือ ได้มีผู้โดยสารรถไฟใต้ดินสาย 5 ในเมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองเอกในมณฆลเหอหนาน เธอถ่ายคลิปวีดีโอร้องขอความช่วยเหลือในรถไฟใต้ดิน จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12 คน และยังมีเหตุการณ์น้ำทะลักเข้าท่วมอุโมงค์โดยใช้เวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 55 คน
ขอบคุณรูปภาพจาก The New York Times
จากเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ สร้างความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินบาทเท่ากับ 6 พันล้านบาทเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังเป็นสัญญาณเตือนที่แสดงให้เห็นว่าสภาพอากาศของจีนกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก เมื่อชั้นบรรยากาศโลกอุ่นขึ้นจะกักความชื้นมากขึ้นส่งผลให้ฝนตกหนักขึ้น ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น !
ดินถล่มจากฝนตกหนักที่ญี่ปุ่น กับภาพคล้ายวันสิ้นโลก! (เดือนกรกฎาคม 2564)
ขอบคุณรูปภาพจาก : Infoquest
เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหนักทำให้ฝนที่ญี่ปุ่นตกอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการปลูกสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำทำให้เกิดภัยพิบัติดังกล่าว เหตุการณ์คล้ายกับประเทศจีน แต่ที่รุนแรงมากกว่านั้นคือเหตุการณ์ภัยพิบัติดินถล่มในเมืองอาตามิ ที่ทำให้บ้านเรือนเสียหายกว่า 300 หลัง มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ศพ และสูญหายอีกหลายสิบคน อีกทั้งในจังหวัดฮิโรชิม่าก็ได้มีการสั่งอพยพประชาชนกว่า 7 หมื่นคนจากน้ำท่วมด้วย ข่าวนี้อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกปี แต่จากจำนวนผู้ที่ต้องอพยพแล้วจะทำให้เห็นได้ว่า ภัยพิบัติจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลต่อมนุษย์ในวงกว้างอย่างมาก
ไฟไหม้ป่าที่รัฐแคลิฟอร์เนีย! รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา (เดือนสิงหาคม 2564)
ขอบคุณรูปจาก สำนักข่าวไทย
ภาพของท้องฟ้าที่เปลี่ยนเป็นสีแดงระอุในจอโทรทัศน์ เป็นข่าวที่เราคุ้นตากันอย่างดี เพราะเกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี ดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนเมือง แต่หากนำมาทบทวนแล้วแม้ป่าจะไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แต่เป็นบ้านของสัตว์หลายชนิดซึ่งล้วนแล้วมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น อีกทั้งควันจากไฟป่าทำให้เกิดมลพิษในอากาศ ส่งผลต่อระบบการหายใจ เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นสภาพอากาศที่เลวร้ายที่สุดในเนอร์วานา รัฐแคลิฟอร์เนียก็ว่าได้ มีบ้านเรือนจำนวนหนึ่งถูกไฟไหม้และประชาชนอีกหลายพันคนต้องอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ไฟป่าได้เผาไหม้พื้นที่ขนาดกว่า 1,875 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับเผาไหม้มากกว่านครลอสแองเจลิส ใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมมากกว่า 14,200 คนต่อสู้กับไฟป่า และมีการประมาณผลจากไฟไหม้ว่าก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 91 ล้านเมตริกตัน ซึ่งมากกว่าการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลประจำปีของรัฐแคลิฟอร์เนียประมาณ 25% ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากความแห้งแล้งที่เริ่มแห้งขึ้นไปอีก และร้อนกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือไฟป่าที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศ มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นมากทุกปี!
ฝนตกที่เกาะกรีนแลนด์ครั้งแรกของโลก! (เดือนสิงหาคม 2564)
ขอบคุณรูปจาก CNN
ถ้านึกภาพไม่ออกว่าเรื่องราวนี้แปลกประหลาดแค่ไหน ให้ลองนึกภาพว่ามีคนเดินมาบอกคุณว่า "หิมะตกที่เมืองไทย" เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่ดูไปไม่ได้แต่ก็ได้เกิดขึ้นที่กรีนแลนด์ มีรายงานข่าวมาเมื่อเดือนสิงหาคม ณ เกาะกรีนแลนด์ฝั่งขั้วโลกเหนือ แทนที่จะมีหิมะตกตามปกติ แต่กลับกลายเป็นน้ำฝนที่เมื่อวัดแล้วมีปริมาณมากถึง 7,000 ล้านตัน! ตกกระหน่ำลงบนแผ่นน้ำแข็ง โดยเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดปกติอย่างรุนแรงขึ้นในรอบ 20 ปี และเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยผลกระทบเกิดจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องคอยติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือกับสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อีกทั้งน้ำแข็งยังละลาย ลมกระโชกแรง และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ก๊าซเรือนกระจกมากสุดใน 5 ล้านปี (เดือนตุลาคม 2564)
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ WMO ระบุในจดหมายข่าว “ก๊าซเรือนกระจก” ฉบับล่าสุดของ WMO ว่า การสะสมตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บนชั้นบรรยากาศของโลก พุ่งทุบสถิติสูงสุดในรอบ 3-5 ล้านปี ถึงแม้ว่าเมื่อปีที่แล้วจะมีการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิดก็ตาม ซึ่งก๊าซเรือนกระจกเป็นต้นเหตุของปัญหา climate change หรือ สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงนั้น สูงกว่าระดับของก๊าซ CO2 ในยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ถึงร้อยละ 149 นั่นหมายความว่า โลกกำลังออกนอกเส้นทางที่จะไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และแม้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตอนนี้ แต่มันจะยังคงอยู่ไปในอีกหลายศตวรรษ และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนแน่นอน
หนูแฮมสเตอร์ยุโรปผู้ไร้เดียงสา เสี่ยงสูญพันธุ์จากโลก! (เดือนมกราคม 2564)
ผลกระทบนี้ยังส่งผลกับสัตว์ตัวน้อยแสนน่ารัก อย่างเจ้าหนูแฮมสเตอร์ยุโรป เป็นสายพันธุ์แฮมสเตอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าหนูแฮมสเตอร์ซีเรีย แต่ก็ยังจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก แต่ในขณะนี้ หนูแฮมสเตอร์ชนิดนี้ได้อยู่ในรายชื่อของสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ หากเปรียบเทียบจากในศตวรรษที่ 20 แฮมสเตอร์ยุโรปตัวเมีย สามารถออกลูกได้ปีละเฉลี่ย 20 ตัว แต่ขณะนี้พวกมันออกลูกได้เฉลี่ยปีละ 5-6 ตัวต่อปีเท่านั้น สาเหตุการลดลงของการขยายพันธุ์ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การพัฒนาอุตสาหกรรม ภาวะโลกร้อน และปัญหามลพิษ อาจเป็นสาเหตุของการลดลงของการเจริญพันธุ์ของสัตว์ชนิดนี้ และหากไม่ดำเนินการอะไรเพื่ออนุรักษ์ สัตว์น่ารักอย่างเจ้าหนูแฮมสเตอร์ยุโรปอาจสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ได้
และทั้งหมดเป็นเพียงแค่ 6 เหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากทั่วมุมโลกในปี 2564 ยังมีอีกหลากหลายสัญญาณเตือนที่รุนแรงจนได้รับชื่อว่า "สัญญาณเตือนสีแดง" ผู้เชี่ยวชาญหลายคนพูดว่า เราไม่สามารถหันหลังกลับได้อีกต่อไปแล้ว ปัญหานี้อาจแก้ไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือจริงจังกับการรับมือและไม่ทำลายโลกไปมากกว่านี้
หากต้องการรับชมทางแก้ไขปัญหาของวิกฤตการณ์นี้ สามารถติดตามรับชมได้ที่ รายการ 2 องศา ทาง ALTV ช่องหมายเลข 4