ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
7 เรื่องน่ารู้ "วันลอยกระทง"
แชร์
ฟัง
ชอบ
7 เรื่องน่ารู้ "วันลอยกระทง"
18 พ.ย. 64 • 08.00 น. | 7,957 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เราต่างก็รู้กันดีว่าเป็นช่วงเวลาของ เทศกาลลอยกระทง เทศกาลที่ผู้คนพร้อมใจนำกระทงไปลอยตามแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือขอขมาพระแม่คงคาตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา ซึ่งก่อนที่คืนนี้จะไปลอยกระทง ALTV อยากชวนมาอ่านเรื่อราวที่่น่าสนใจที่คุณอาจยังไม่เคยรู้เกี่ยวกับวันลอยกระทงกันก่อน

เมื่อก่อนไม่ได้เรียก “ลอยกระทง” 

จนถึงปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าประเพณีลอยกระทงเกิดขึ้นในยุคสมัยใด แต่พบคำว่า “ลอยกระทง” ปรากฏอยู่ในหนังสือตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์  

ในช่วงสมัยอยุธยารู้จักกันในนาม “พิธีลอยประทีป” หรือ “พิธีจองเปรียง” เดิมเป็นพิธีบูชาไฟตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ฮินดู มีไว้เพื่อสักการะพระพุทธเจ้าและพระแม่คงคา ในกฏมณเฑียรบาลในสมัยอยุธยา ระบุไว้ว่า พิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกเดือน 12 ซึ่งจะมีกิจกรรมการชักโคมไฟขึ้นสู่ยอดไม้ และกิจกรรมที่ทำให้น้ำคือการลอยโคมลงน้ำ 

การแข่งขันประชันกระทงมีมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ 

ในเทศกาลลอยกระทง นอกจากการประชันความงามของนางนพมาศแล้ว การประกวดประชันฝีมือการทำกระทงก็มีให้เห็นได้ในทุกปี ซึ่งถือเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ช่วงกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว พระราชพงศาวดาร สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ระบุไว้ว่า เมื่อถึงพิธีจองเปรียงในรัตนโกสินทร์ยิ่งใหญ่ที่สุด พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับสูง พร้อมข้าราชบริวารจะร่วมกันทำกระทงหลากหลายขนาด และทำแข่งขันกันจนหมดค่าใช้จ่ายไปมาก มีตั้งแต่กระทงสูงตลอด 10 ศอกเหมือนยอดเขาพระสุเมรุ กระทงทรงกระจาดซ้อนกันเป็นชั้น นอกจากนี้ในกระทงแต่ละใบยังมีกลไกและมีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงได้อีกด้วย  

 “ในพิธีจองเปรียง มีการประชันกระทงลอยในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่หน้าตำหนักแพท่าราชวรดิฐ ไปจนถึงวัดโพธิ์และวัดแจ้ง ทั้งสองฝั่งน้ำเต็มไปด้วยราษฏร และข้าราชการที่มาดูความยิ่งใหญ่ของกระทง” 

นางนพมาศไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง 

นางนพมาศ ถือสิ่งที่อยู่คู่กับเทศกาลลอยกระทงมาแต่ไหนแต่ไร จาก ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ในรัชกาลที่ 3 ได้มีการบรรยายถึงนางนพมาศเอาไว้ว่า 

“นางนพมาศมีคุณสมบัติงดงาม เป็นธิดาของพระศรีมโหสถกับนางเรวดี บิดาเป็นพราหมณ์ปุโรหิต นางถวายตัวรับราชการในพระร่วงเจ้า มีความดีความชอบ เช่น ริเริ่มประดิษฐ์โคมลอยประทีปเป็นรูปดอกบัวได้”

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้หลายคนเข้าใจว่านางนพมาศเคยมีตัวตนจริง และเป็นผู้คิดค้นกระทงคนแรก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กรมศิลปากรได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า นางนพมาศไม่ตัวตนอยู่จริง และไม่ได้เป็นผู้คิดค้นกระทงในสมัยสุโขทัย อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นเพียงแค่นางในวรรณคดีจากเรื่องสมมติที่อ้างอิงเหตุการณ์ในช่วงสุโขทัยเท่านั้น  

 เพลง “รำวงลอยกระทง” แต่งขึ้นในวันลอยกระทง และใช้เวลาเพียง 30 นาที 

“ลอย ลอยกระทง ลอย ลอยกระทง ลอยกระทงกันแล้ว ขอเชิญน้องแก้วออกมารำวง”  

เมื่อได้ยินเสียงเพลงนี้ทีไรก็ทำให้รู้ว่าเทศกาลวันลอยกระทงมาถึงแล้ว บทเพลงในตำนานที่มีเนื้อร้องสั้น ๆ ท่วงทำนองง่าย ๆ ที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องร้องได้นี้ เป็นฝีมือการแต่ง โดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ผู้ก่อตั้งละครวิทยุคณะแก้วฟ้า และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ หนังสือพิมพ์มติชน ได้อ้างอิง คำบอกเล่าของ อาจารย์อติพร สุนทรสนาน ทายาทของครูเอื้อไว้ว่า 

ย้อนไปเมื่อปี 2492 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานวันลอยกระทงขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสำหรับงานเทศกาลแล้ว วงดนตรีถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่นำโดยครูเอื้อ ได้รับเชิญไปเล่นดนตรีในวันนั้น

ในระหว่างที่ค่ำคืนวันลอยกระทงดำเนินไป ทางคณะจัดงานได้เอ่ยปากขอให้วงสุนทราภรณ์ แต่งบทเพลงสำหรับค่ำคืนวันลอยกระทง เมื่อได้ยินดังนั้น ครูเอื้อและครูแก้ว จึงได้ร่วมกันแต่งบทเพลงกันสด ๆ ร้อน ๆ โดยครูแก้วเป็นรับหน้าที่เขียนคำร้อง ส่วนครูเอื้อเป็นคนคิดทำนอง ใช้เวลาเพียง 30 นาทีเพลง "รำวงวันลอยกระทง" ก็ถือกำเนิดขึ้นและถูกขับร้องเป็นครั้งแรก ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในคืนนั้นเอง

วันลอยกระทงปี 2559 ดวงจันทร์ใหญ่ที่สุดในรอบ 68 ปี 

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ตรงกับวันลอยกระทง ได้เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงแถมยังตรงกับวันลอยกระทงพอดี ซึ่งแน่นอนว่าปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงขึ้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ความพิเศษของในคืนนั้น คือดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 68 ที่ระยะห่างประมาณ 356,511 กิโลเมตร เรียกกันว่า “ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon)”

ระยะที่ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกได้มากที่สุดไว้ คือ 406,700 กิโลเมตร ในคืนนั้นดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกในระยะ 356,511 กิโลเมตร ซึ่งหมายความว่าห่างจากจุดใกล้สุดเพียง 111 กิโลเมตรเท่านั้น ทำให้เราได้เห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่และสว่างกว่าคืนไหน ๆ

ไม่ใช่แค่ไทยที่ลอยกระทง  

  • ประเทศจีน เทศกาลจงเยวี๋ยน (สารทจีน) สารทจีนเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชาวจีนตามความเชื่อในลัทธิเต๋า มีไว้เพื่อบวงสรวงบูชาวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อถึงวันสารทจีน สิ่งที่คุ้นตากันดีคือภาพการเผากระดาษเงินกระดาษทอง แต่อีกกิจกรรมหนึ่งของชาวจีนอีกอย่างหนึ่ง คือ การลอยกระทง หรือ โคมดอกบัว ลงน้ำตามความเชื่อว่าเป็นแสงนำทางให้วิญญาณบรรพบุรุษมายังโลกมนุษย์ 
  • ประเทศอินเดีย เทศกาลทีปะวารี เมื่อถึงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลทีปาวลี หรือเทศกาลแสงไฟของชาวอินเดีย มีไว้เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อทางศาสนา ด้วยการลอยประทีปลงในแม่น้ำคงคา หรือแหล่งน้ำใกล้บ้าน ประทีปที่ใช้ลอยมีลักษณะเป็นรูปชามเล็ก ๆ ทำจากใบไม้แห้ง ภายในบรรจุธูปเทียนและดอกไม้  

ลอยกระทงทั้ง 4 ภาคแตกต่างกัน 

  • ภาคเหนือ ในวันลอยกระทงของภาคกลาง ชาวเหนือจะมี “ประเพณียี่เป็ง” เป็นพิธีเก่าแก่ของชาวล้านนาที่สืบสานต่อกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ในตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผู้คนนิยมปล่อยโคมลอย จุดผางประทีป (เครื่องสักการบูชา) ตามวัดและบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีประเพณีลอยกระทงสายไหล ของจังหวัดตาก ที่จะมีการลอยกระทงที่ทำจากกะลามะพร้าวทอดยาวไปตามแม่น้ำปิง 
  • ภาคอีสาน ลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่า “ประเพณีไหลเรือไฟ” มีขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือในช่วงเทศกาลออกพรรษา ผู้คนจะนำต้นกล้วยหรือไม้ไผ่มาประกอบเป็นรูปทรงเรือ ข้างในจะมีสิ่งของ ขนมข้าวต้มมัด พร้อมปักธูป เทียนไว้ส่วนนอกของเรือไฟ และลอยลงสู่น้ำ 
  • ภาคกลาง เทศกาลลอยกระทงภาคกลาง ถือเป็นรากฐานของประเพณีลอยกระทงในทุกภาค มีไว้เพื่อสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา 
  • ภาคใต้ ในปัจจุบันจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องงานลอยกระทง ก็ตกให้จังหวัดสงขลาที่จะจัดอย่างยิ่งใหญ่ แต่ในสมัยก่อนคนภาคใต้จะลอยกระทงก็ต่อเมื่อพบกับโรคภัยใกล้เจ็บ เพื่อสะเดาะเคราะห์ซึ่งกระทงจะเรียกว่า “แพลอยเคราะห์” ทำมาจากส่วนลำต้นกล้วย ทำให้เป็นลวดลายสวยงามด้วยการแทงหยวก ภายในบรรจุดอกไม้ ธูปเทียน 

 

หลังจากได้อ่านเกร็ดความรู้เกี่ยวกับในวันลอยกระทงกันแล้ว เราหวังว่าผู้อ่านทุกคนจะมีความสุขไปกับเทศกาลวันลอยกระทงในปีนี้ และสำหรับใครที่จะไปลอยกระทง ก็อย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งตัวเองและผู้อื่น ด้วยงดการเล่นพลุหรือประทัด เว้นระยะห่าง และใส่หน้ากากอนามัยให้มิดชิดด้วยนะ!

 

ที่มา: นิตยสารศิลปวัฒนธรรม มติชนออนไลน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ลอยกระทง, 
#วันลอยกระทง, 
#ลอยกระทง2564, 
#นางนพมาศ, 
#ประเพณี, 
#วัฒนธรรมไทย, 
#เพลงรำวงลอยกระทง, 
#กระทง, 
#ลอยประทีป, 
#จองเปรียง 
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
ALTV CI
วันสำคัญ วันนี้ในอดีต
วันสำคัญ วันนี้ในอดีต
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
THANATCHA SUVIBUY
นับถือแมวเป็นศาสนา มีไอดอลเกาหลีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ลอยกระทง, 
#วันลอยกระทง, 
#ลอยกระทง2564, 
#นางนพมาศ, 
#ประเพณี, 
#วัฒนธรรมไทย, 
#เพลงรำวงลอยกระทง, 
#กระทง, 
#ลอยประทีป, 
#จองเปรียง 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา