คากามิโมจิ (Kagami mochi) ถือเป็นขนมมงคลที่โดดเด่นที่สุดแห่งการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น ประกอบด้วยเค้กโมจิ 2 ก้อนวางซ้อนกัน ตามธรรมเนียมมักนำมาประดับตกแต่งที่มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน หรือถวายบูชาเทพเจ้าแห่งปี "โทชิงะมิซามะ" ในความเชื่อทางศาสนาชินโต วันที่ 11 มกราคมของทุกปีจะมีประเพณีมงคลที่เรียกว่า Kagami Biraki แปลว่า การเปิดกระจก เป็น “พิธีหักคากามิโมจิ” เพื่อปลดปล่อยพรที่เก็บไว้ข้างใน โดยใช้มือหรือค้อนทำให้แตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนนำมาทาน เชื่อว่าพรนั้นจะอวยชัยให้คนในบ้านมีแต่ความสุข ปราศจากโรคภัย และอายุยืน
คากามิโมจิ นั้นทำจาก “แป้งโมจิ” (Mochi) หรือ “เค้กข้าว” ที่ได้จากข้าวเหนียวบด ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ทำได้ทั้งเมนูคาวและหวานสำหรับทานในช่วงปีใหม่ เช่น ซุปโอะโซนิ (ซุปที่ทำจากแป้งโมจิปิ้ง), ชิรุโกะ (ขนมหวานถั่วแดงต้ม), คินาโกะโมจิ (โมจิหวานโรยด้วยผงแป้งถั่วเหลือง) นอกจากนี้ยังนิยมนำโมจิมาทอดแล้วโรยด้วยเกลือหรือซีอิ๊ว อาจกล่าวได้ว่า “โมจิญี่ปุ่น” นั้นเป็นมากกว่าของฝากแตกต่างจาก ขนมโมจิไทย โดยสิ้นเชิง
ตามเอกสารโบราณ คากามิโมจิ ปรากฏครั้งแรกในสมัยมุโรมาจิ (ค.ศ. 1336 - 1573) ขนมชนิดนี้หากแปลตรงตัวนั้นแปลว่า “เค้กข้าวกระจก” ว่ากันว่ามีรูปร่างคล้ายกับ “ “ยาตะโนะคากามิ” (Yata no Kagami) “กระจกทองสัมฤทธิ์โบราณ” 1 ใน 3 ของเครื่องรางโบราณของจักรวรรดิญี่ปุ่น อันได้แก่ ดาบ, หินมากาทามะ และกระจก ตามตำนานญี่ปุ่นยังเชื่ออีกว่า “กระจก” เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้สื่อสารกับเทพเจ้า
ตามความเชื่อเก่าแก่ของชาวญี่ปุ่น คากามิโมจิ ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อบูชา “เทพเจ้าแห่งปีผู้ยิ่งใหญ่” นามว่า "โทชิงะมิซามะ" (Toshigamisama) ผู้มอบความสุขสมหวังให้แก่ผู้คนในช่วงปีใหม่ อีกทั้ง “โมจิ” ยังเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งต้นข้าวและเป็นอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย
ชาวญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญเรื่องการตกแต่งเป็นอย่างมาก สิ่งที่นำมาตกแต่งคากามิโมจิล้วนเป็นส่วนประกอบที่มีความหมายดี ได้แก่
🔸ส้มไดได (Daidai) : ส้มจิ๋วมงคล ผลไม้ที่มีผลสุกติดต้นยาวนานกว่าส้มชนิดอื่น มีความหมายว่า “หลายชั่วอายุคน” ชาวญี่ปุ่นมักอธิษฐานให้ลูกและหลานมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
🔸กระดาษสีขาวขอบสีแดง : “ชิโฮเบนิ” (Shihōbeni) แผ่นกระดาษสี่เหลี่ยมสีขาวที่มีขอบสีแดง วางอยู่ใต้คากามิโมจิ หมายถึงการปัดเป่าไฟในบ้าน, เคราะห์ร้าย, โรคภัยไข้เจ็บ และภัยพิบัติจากทั้ง 4 ทิศ
🔸กระดาษแฉกไม้กายสิทธิ์ : กระดาษรูปทรงสี่เหลี่ยม 2 เส้น มีสีแดงสลับกับสีขาว แขวนอยู่ทั้งสองข้างของคากามิโมจิ ทำเลียนแบบ “โกเฮ” (Gohei) ไม้กายสิทธิ์ที่ใช้ในพิธีกรรมชินโต เป็นสัญลักษณ์แห่งการปัดเป่าวิญญาณชั่วร้ายและความอัปมงคลทั้งปวง
🔸ใบเฟิร์น : พืชโบราณที่ถือเป็นสมุนไพรวิเศษ เพราะเติบโตโดยไม่มีดอกหรือเมล็ด สื่อถึงอายุที่ยืนยาวและมีความสุข
🔸แท่นไม้บูชา : แท่นไม้สำหรับวางคากามิโมจิที่เรียกว่า “ซันโปะ” (Sanpō) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญตามประเพณีของศาสนาชินโตและชินโต
การรับประทานคากามิโมจิไม่เพียงแต่ขอพรให้เป็นปีที่ดีเท่านั้น แต่ยังได้รับพรจากเทพเจ้าให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวอีกด้วย ปัจจุบันคากามิโมจิมักถูกวางในห้องครัว หรือหิ้งบูชาเทพเจ้าในบ้าน บางบ้านอาจจัดวางไว้บริเวณซุ้มตกแต่งห้องที่เรียกว่า “โทโคโนมะ” (Tokonoma)
“ขนมต๊อก” (Tteok) หรือ เค้กข้าวเกาหลี บางครั้งเรียก เค้กข้าวหวาน (Sweet Tteok) ที่มักปรากฏให้เห็นในซีรีส์เกาหลีอยู่บ่อย ๆ ได้กลายเป็นขนมยอดนิยมในช่วงเวลาแห่งความสุข ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่, เทศกาลฤดูเก็บเกี่ยว, วันเกิด และใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนา คนเกาหลีเชื่อว่า ต๊อก เป็นสัญลักษณ์แห่งร่างกายและจิตใจที่บริสุทธิ์ หากได้ทานแล้วจะร่ำรวย มั่งคั่ง และโชคดีตลอดทั้งปี
ต้นกำเนิดของ ต๊อก เกิดขึ้นราว ๆ 500 ปีก่อนคริสตกาล มีตำราหลายเล่มกล่าวถึงต๊อกในบริบทที่ต่างกัน บางเรื่องราวอธิบายว่ามีการนำข้าวที่ล้างแล้วมาตำเป็นผงแล้วผสมกับน้ำ ก่อนจะปั้นเป็นนรูปทรงต่าง ๆ เพื่อนึ่ง ตามรายงานของสถาบันอาหารชาววังเกาหลี ต๊อกในเวลานั้นมักผสมกับดอกไม้เพื่อเพิ่มสีสันและสมุนไพรเพื่อสรรพคุณทางยา
ใน ยุคราชวงค์โกคูรยอ (Goguryeo) หนึ่งในจักรวรรดิโบราณของเกาหลี ต๊อกเคยเป็นอาหารหรูหราหาทานได้เฉพาะในครัวของขุนนางเท่านั้น แต่ด้วยความรุ่งเรืองของศาสนาพุทธ ซึ่งงดการบริโภคเนื้อสัตว์ ข้าวได้กลายเป็นอาหารหลักสากล นับตั้งแต่นั้น “ต้นตำรับต๊อก” ก็เริ่มแพร่หลายในที่ต่าง ๆ
ใช่ว่าต๊อกจะทำด้วยข้าวเสมอไป ครั้งหนึ่งในยุคแห่งสงครามเมื่อการทำนาหยุดชะงัก ชาวเกาหลีเคยนำผลผลิตจาก “ข้าวฟ่าง” มาทดแทนเมล็ดข้าวในการทำต๊อก
ในช่วงราชวงศ์โชซอนถือเป็น “ยุคทองของเค้กข้าว” มีบันทึกระบุว่า ช่วงต้นราชวงศ์ในปีค.ศ. 1392 มีการนำต๊อกมารังสรรเป็นอาหารได้ 8 ชนิดที่ทำขึ้นด้วยกลวิธีที่แตกต่างกัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1670 เมนูต๊อกก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 27 ชนิด จนถึงค.ศ. 1815 มีต๊อกราว ๆ 198 สูตร ซึ่งใช้ส่วนผสมมากกว่า 95 ชนิด อีกทั้งในตำราการแพทย์โบราณในยุคนี้ยังระบุอีกว่า หากต้องการมีกำลังวังชา ควรทานต๊อกก่อนการออกกำลังกายหรือเพื่อพักฟื้นหลังการเจ็บป่วย
“ขนมต๊อก” ทำจากแป้งข้าวเจ้า บางสูตรก็ใช้แป้งข้าวเหนียว นำมานวดกับวัตถุดิบอื่น ๆ เพื่อเพิ่มสีสันและกลิ่นหอม เช่น ผลไม้, ดอกไม้, ถั่วเขียว, ถั่วแดง, พุทรา, น้ำผึ้ง หรือสมุนไพร ต๊อกไม่เพียงแค่ทานเป็นของหวานเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นอาหารได้หลายร้อยเมนูตามแต่ละภูมิภาค หลัก ๆ แล้วแบ่งได้ 4 กรรมวิธี คือ นึ่ง, ทุบ, ทอดและต้ม ซึ่งถูกใช้ในเทศกาลและโอกาสต่าง ๆ เช่น
🔸ต๊อกกุก (Tteokguk) หรือ ซุปเค้กข้าว ถือเป็นอาหารประจำ “วันซอลลัล” (Korean Lunar New Year) หรือวันขึ้นปีใหม่ของเกาหลีซึ่งปีนี้ตรงกับ วันที่ 22 มกราคม 2023 เป็นการนำแท่งต๊อกที่เรียกว่า “กาแรต๊อก” (Garae-tteok) มาฝานบาง ๆ ใส่ลงในซุปใส มีเนื้อวัว ไข่ และผักต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบ โดยแต่ละครอบครัวจะนำต๊อกกุกมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ก่อนที่ทุกคนจะรับประทานอาหารร่วมกันและอวยพรแก่กัน คนเกาหลีนั้นถือว่าการได้ทานต๊อกกุก 1 ชามก็เหมือน “อายุยืนขึ้นอีก 1 ปี” พร้อมกับความโชคดีและมีสุขภาพแข็งแรง ทุกวันขึ้นปีใหม่มักมีคำถามสนุก ๆ ที่ว่า “กินต๊อกกุกไปกี่ชามแล้ว” เพื่อเดาอายุของบุคคล
🔸มูจิแก-ต๊อก (Mujigae-tteok) เค้กข้าวสีรุ้ง ทำจากแป้งข้าวจ้าวผสมกับน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง มีสีสันเป็นชั้น ๆ ที่ได้จากดอกไม้และพืช มักใช้ในพิธีมงคลสำคัญ ๆ ในชีวิต เช่น ประเพณีโดลจันชิ (ฉลองครบรอบ 1 ขวบ), ประเพณีฮวังกัปจันชิหรือแซยิด (ฉลองครบรอบ 60 ปี), งานแต่ง หรือเปิดกิจการใหม่
🔸ซงพยอน (Songpyeon) หรือ เค้กข้าวต้นสน เป็นต๊อกรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวสอดไส้หวาน เช่น เกาลัด, ถั่วเหลือง, ถั่วแดง, พุทรา, อินทผาลัม เป็นต้น และนำไปนึ่งบนกิ่งของต้นสน เพื่อเพิ่มกลิ่นหอมสดชื่น ขนมชนิดนี้เป็นหัวใจสำคัญของการเฉลิมฉลองใน “เทศกาลชูซ็อก” หรือวันขอบคุณพระเจ้าของเกาหลี เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของพระจันทร์เสี้ยวที่กำลังจะเต็มดวง อันหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่ง ตามธรรมเนียมแล้วหากใครต้องการสมหวังก็ให้อธิษฐานไปด้วยขณะรับประทาน
🔸ซีรูต๊อก (Sirutteok) ขนมต๊อกที่มักใช้ในพิธีกรรมหรือถวายเทพเจ้าประจำบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย นำพาความมั่งคั่ง โชคลาภ และสุขภาพมาสู่ครัวเรือน โดยเชื่อว่าไส้ถั่วแดงจะขับไล่วิญญาณร้ายออกไป ส่วนเค้กข้าวสีขาวบริสุทธิ์เป็นตัวแทนแห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่ง
ในอดีต ขนมต๊อกหรือเค้กข้าว มักทำเป็นอาหารเฉพาะเทศกาล แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาหารประจำชาติเกาหลี สามารถหาทานได้ในทุกโอกาสและตลอดปี
กาละแม หนึ่งในสามของขนมที่นิยมทำในช่วงปีใหม่ไทยหรือเทศกาลสงกรานต์ ได้แก่ ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง และกาละแม ซึ่งต้องอาศัยแรงงานชาวบ้านมาช่วยกันกวนก่อนถึงเทศกาล และแจกจ่ายไปทานกันแต่ละบ้าน ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความสามัคคีและการแบ่งปัน นอกจากนี้กาละแมยังเป็นขนมในพิธีแต่งงานเพื่อสื่อถึงความรักที่เหนียวแน่นของคู่บ่าวสาว
การทำ กาละแมเม็ด หรือ กาละแมสูตรโบราณ มีส่วนผสมหลักอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ แป้งข้าวเหนียว หัวกระทิ และน้ำตาลโตนด กวนด้วยไม้พายจนกว่าจะเข้ากันเป็นก้อน ทางภาคเหนือมักห่อด้วยใบตองเพิ่มกลิ่นหอมอ่อน ๆ เรียกว่า กาละแมเสวย เดิมเนื้อกาละแมจะมีสีน้ำตาลเข้มและมีกลิ่นหอมมะพร้าว ปัจจุบันเริ่มมีการเพิ่มเติมส่วนผสมให้มีสีสันและรสชาติที่น่าทานยิ่งขึ้น เช่น สีเขียวจากใบเตย, สีน้ำเงินจากดอกอัญชัญ, กลิ่นกล้วยหอม, กลิ่นกาแฟ และกลิ่นทุเรียน เป็นต้น
พิธีกวน”กวันฮะกอ” อบต.บ้านงิ้ว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ที่มา: 77kaoded.com
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า กาละแม มีต้นกำเนิดมาจากชาติใด แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุไว้ว่า ขนมชนิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากมอญและพม่า เรียกว่า “กฺวายฺนกลาแม” (อ่านว่า กฺวาน-กะ-ลา-แม) ซึ่งเป็นขนมประจำเทศกาลสงกรานต์ในเดือน 5 ตามประเพณีของชาวมอญที่สืบสานกันมากว่า 200 ปี
ก่อนวันสงกรานต์ 1 วัน ชาวไทยเชื้อสายรามัญ (มอญ) จะมารวมตัวกันใน “ประเพณีกวนกาละแม” หรือที่ชาวมอญเรียกว่า "กวันฮะกอ" เพื่อ “ขนมกวน” สำหรับใช้ในการทำบุญ ถวายพระสงฆ์ และแจกญาติสนิทมิตรสหาย การกวนกาละแมนั้นต้องใช้คนจำนวนมากประมาณ 8 -10 คน กระทะหนึ่งอาจต้องใช้เวลานานราว 6 - 7 ชั่วโมง จึงต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจที่เป็นหนึ่งเดียว
ดอดอย โดดอล ยาหนม และกันแม เป็นสำเนียงชาวใต้ที่ใช้เรียก ขนมกาละแม นิยมใช้ในพิธีแต่งงานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาว ให้มีความรักที่หวานชื่นและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดุจความหวานและเหนียวหนึบของเนื้อกาละแม อีกทั้งกาละแมยังมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน กว่าจะสำเร็จต้องใช้ความอดทนและเอาจริงเอาจัง เปรียบเสมือนการใช้ชีวิตคู่ที่จะต้องมีความอดทน หนักแน่น ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน ชีวิตคู่จึงจะมีความสุข
ขนมเข่ง ในภาษาจีนเรียกว่า เหนียนเกา (Nian Gao) แปลตรงตัวว่า เค้กประจำปี เป็นของไหว้เจ้ายอดนิยมใน “เทศกาลตรุษจีน” มาช้านาน รวมถึงเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เช่น วันสารทจีน วันไหว้พระจันทร์ เป็นต้น ต่อมานิยมทานกันแพร่หลายแม้ไม่มีเทศกาล มักทานเป็นของว่างคู่กับน้ำชาหรือกาแฟ ในประวัติศาสตร์จีนขนมชนิดนี้เดิมเคยเป็นอาหารประทังชีวิตในยามอดอยาก มีการนำมาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อระลึกถึงวันที่ยากลำบาก และขอพรให้มีชีวิตที่ราบรื่น มั่งคั่ง ร่ำรวย
เกาเหนียน หรือขนมเข่งของชาวจีน มีส่วนผสมและวิธีทำคล้ายกับ เค้กข้าว ของชาวญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นอาหารที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวผสมกับน้ำตาล เทใส่กระทงใบตองแห้งที่วางบนเข่งเล็ก ๆ คนไทยจึงตั้งชื่อว่า ขนมเข่ง บางชนิดอย่าง “ขนมเข่งแบบฝูโจว” มีการใส่ใส้ถั่วลิสงและพุทราแห้งเพิ่มมาด้วย ชนิดที่โดดเด่นต่างจากขนมเข่งทั่วไปเห็นจะเป็น “ขนมเข่งแบบกวางตุ้ง” มีสีเข้มและได้รสหวานจากน้ำตาลทรายแดง โดยตัวขนมจะถูกเสิร์ฟเป็นแผ่นหนา ลักษณะค่อนข้างยืดหยุ่นและเหนียวมาก อีกทางเลือกหนึ่งก็มักนำไปชุบไข่แล้วทอดเพื่อให้มีสีเหลืองน่ากิน
ตามตำนานของชาวชีนเชื่อกันว่า ขนมเข่ง ทำขึ้นเพื่อถวายแด่ “เทพจ้าวฮุ่นหรือเทพเจ้าเตาไฟ” ซึ่งสถิตอยู่ในบ้านทุกหลัง มีนิทานพื้นบ้านเล่าว่า ทุก ๆ สิ้นปีเทพเจ้าเตาไฟจะขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อรายงานความดีและความชั่วของมนุษย์ต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ บรรดามนุษย์ทั้งหลายที่รู้ตัวว่าทำตัวไม่ดี จึงคิดทำ “ขนมกวน” จากแป้งใสที่มีแต่ความเหนียวหนึบ เคี้ยวแล้วพูดไม่ถนัด เพื่อหวังจะ “ปิดปากเทพ”
อีกตำนานหนึ่งที่เล่าขาน “ต้นกำเนิดของขนมเข่ง” ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว มีคำสั่งหนึ่งของ อู๋ จื่อซฺวี (Wu Zixu) นายพลและนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงแห่งแคว้นอู๋ เขาได้กล่าวไว้เมื่อตอนยังมีชีวิตว่า "หากประเทศกำลังมีปัญหาและผู้คนต้องการอาหาร จงขุดดินใต้กำแพงเมืองสัก 3 ฟุตแล้วหาอาหาร" เมื่อถึงคราวที่เมืองหลวงของแคว้นอู๋ถูกโจมตี พลเมืองและทหารต่างอดอยากระหว่างถูกปิดล้อม ทหารจึงทำตามคำสั่งของอู๋ จื่อซฺวี แล้วพบว่า ฐานของกำแพงสร้างด้วย “อิฐชนิดพิเศษที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว” และถูกนำมาเป็นอาหารช่วยชีวิตผู้คนมากมาย หลังจากนั้นในทุกปีผู้คนก็ทำขนมเข่งเพื่อรำลึกถึง อู๋ จื่อซฺวี และถูกเรียกว่า “เค้กข้าวตรุษจีน” ในเวลาต่อมา
ในภาษาจีนกลาง เหนียนเกา (年糕 : Nian Gao) แปลว่า ขนมกวนหรือเค้กข้าวเหนียว ๆ เหตุผลที่นิยมใช้ในเทศกาลตรุษจีน อาจเป็นเพราะชื่อขนมพ้องเสียงกับคำอวยพรที่ว่า “เหนียนเหนียนเกาเซิง” แปลว่า ขอให้เจริญยิ่งขึ้นทุกปี ดังนั้นการได้ทานเหนียนเกาเปรียบเสมือนได้รับพรสุดวิเศษ ซึ่งหมายถึงชีวิตที่ดีขึ้นและโชคดีในปีหน้า
ในมุมมองของคนเฒ่าคนแก่ การไหว้ด้วย ขนมเข่ง หมายถึงการขอให้อายุยืนยาว สำหรับคนหนุ่มสาวจะขอให้ได้เลื่อนตำแหน่งและมีรายได้สูง สำหรับเด็กเป็นการแสดงความปรารถนาที่จะเติบโตขึ้น
ขนมเข่งแบบดั้งเดิมนั้นมี 2 สี คือ สีขาวและดำ ทำแป้งข้าวเหนียวขาวและแป้งข้าวเหนียวดำ แทนสัญลักษณ์หยินและหยาง หมายถึง ความสมดุลที่เต็มไปด้วยความสงบสุขร่วมเย็นและความเจริญรุ่ง
ในเทศกาลตรุษจีนและวันสารทจีน ขนมเข่งจะถูก “แต้มจุดสีแดง” และจัดไว้ในสำรับไหว้เจ้า เนื่องจากชาวจีนถือเคล็ดที่ว่า “สีแดง” เป็นสีมงคล หมายถึง ไฟ ที่สื่อถึงความสุข ความโชคดี และความมีชีวิตชีวา อีกทั้งยังเป็นสีประจำชาติที่อยู่ร่วมในวัฒนธรรมของชาวจีนมาโดยตลอด
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, thansettakij.com, silpa-mag.com, Korean Cultural Center in Thailand, marumura.com