มิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1820 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในครอบครัวชาวอังกฤษผู้มีฐานะดี เธอถูกเลี้ยงดูในแบบฉบับคนชั้นสูงเพื่อให้โตเป็นกุลสตรีที่มีความพร้อมทำหน้าที่ภรรยาและมารดาที่ดีต่อไป แต่เธอกลับไม่ได้คิดแบบนั้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลสนใจในคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อเธออายุได้ 17 ปี จึงตัดสินใจเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยด้านคณิตศาตร์ จนสามารถสำเร็จการศึกษาได้
เมื่อฟลอเรนซ์ ไนติงเกล อายุได้ 24 ปี เธอได้ค้นพบสิ่งที่ต้องการในใจ คือเธอต้องการที่จะทำตนให้เป็นประโยชน์ก่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่าให้ได้มากที่สุด และอาชีพ “พยาบาล” คือคำตอบ เธอจึงตัดสินใจไปสมัครเป็นนางพยาบาล แม้จะต้องขัดกับความคิดของทุกคนในครอบครัว และต้องบอกเลิกกับแฟนที่คบหาดูใจกันมาหลายปี ก็อยากที่จะอุทิศตนทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เหตุที่ทางบ้านไม่อยากให้ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ไปเป็นนางพยาบาล เพราะในขณะนั้นเป็นยุคที่การพยาบาลอยู่ในฐานะตกต่ำอย่างมาก ผู้หญิงไม่ควรไปดูแลคนอื่น โดยเฉพาะชายอื่นนอกจากครอบครัว ทำให้อาชีพพยาบาล ถือเป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ เธอพยายามขออนุญาตจากครอบครัวหลายครั้ง จนสามารถทำตามความประสงค์ได้สำเร็จ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล วางแผนเดินทางไปแสวงหาประสบการณ์ในการเป็นพยาบาลกับคณะแม่ชีพยาบาลดีคอนเนสที่รับดูแลเด็กกำพร้าที่สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าไครเซอร์เวิร์ธประเทศเยอรมัน โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเศษ และได้ขอศึกษาดูงานการบริหารจัดการโรงพยาบาลบางแห่งในประเทศฝรั่งเศสระหว่างเดินทางกลับประเทศอังกฤษ
ในปี ค.ศ. 1853 ได้เกิดสงครามไครเมียซึ่งทหารอังกฤษถูกส่งไปช่วยพันธมิตรคือออตโตมัน (ตุรกี) รบกับรัสเซีย ผลของสงครามทำให้ทหารอังกฤษจำนวนมากเจ็บป่วยและล้มตายจากโรคระบาดคืออหิวาตกโลก ทำให้ลอร์ดซิสนี่ เฮอร์เบิร์ท เสนาธิการกลาโหมของอังกฤษขอความช่วยเหลือจากมิสไนติงเกลให้จัดหาพยาบาลไปทำงานในกองทัพที่สนามรบในสงครามไครเมีย เธอจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงให้โลกประจักษ์ในคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของการพยาบาล จึงให้ความช่วยเหลือโดยคัดเลือกผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและอาสาสมัครไปทำงานเป็นพยาบาลในกองทัพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลและคณะได้ทุ่มเทดูแลทหารที่เจ็บป่วยเป็นอย่างดีและศึกษาสถิติทำให้พบว่าสาเหตุการตายของทหาร เกิดจากการติดเชื้อมากกว่าจากการสู้รบ ดังนั้นจึงได้พยายามปรับปรุงสุขอนามัยของโรงพยาบาลและค่ายทหารทำให้อัตราการตายของทหารลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ซึ่งรัฐบาลอังกฤษและครอบครัวทหารต่างชื่นชมยินดีอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงร่วมใจกันก่อตั้ง “กองทุนไนติงเกล” เพื่อมอบให้เป็นของขวัญตอบแทนเมื่อสงครามสงบลง
ฟลอเรนซ์ ไนติงเกลกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแผ่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ในฐานะ “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีปผู้ก่อกำเนิดการพยาบาลแผนใหม่” กวีนักประพันธ์นักแต่งเพลงและนักดนตรีต่างจัดทำบทประพันธ์ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้สังคมเกิดความนิยมคลั่งไคล้การเป็นพยาบาล จึงมีผลอย่างมากต่อการส่งเสริมให้กุลสตรีชั้นสูง ให้ความสนใจต่ออาชีพพยาบาลมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ที่มา : พิพิธภัณฑ์ประวัติคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่