ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
4 มุมมองน่ารู้จากช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์
แชร์
ชอบ
4 มุมมองน่ารู้จากช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์
27 พ.ย. 64 • 18.00 น. | 791 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

ในประเทศไทยมีช่างภาพจำนวนไม่มากนัก ที่ตัดสินใจเข้าสู่วงการถ่ายภาพเชิงสารคดี เหตุผลเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครก็ทำได้ และต้องอาศัยทักษะเฉพาะมากมายที่มากกว่าการกดลั่นชัตเตอร์กล้องเท่านั้น ALTV จึงอยากพาทุกคนมาเข้าใจการทำงานของช่างภาพสารคดีผ่านมุมมองการทำงานของ ชิน ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ ที่ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองการเป็นช่างภาพ ในรายการ Class one ทางฉันฝันเธอ

ชิน ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย ในระหว่างถ่ายภาพใต้น้ำ ที่มา: National Geographic Thailand

เคล็ดลับของสุดยอดภาพถ่าย  

“การศึกษาข้อมูลเอกสาร ช่วยให้ได้ภาพถ่ายที่บอกเล่าความพิเศษของเรื่องราว” 

ประโยคของ ชิน ศิริชัย อรุณรักษ์ติชัย อดีตนักวิจัยทางทะเลผู้ผันตัวเป็นช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ เจ้าของภาพถ่าย “มาเรียม” ที่โด่งดังจนกลายเป็นภาพติดอันดับ The 20 photographs of the week ของสำนักข่าว The Guardian สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการสร้างสรรค์งานภาพถ่ายเชิงสารคดี ไม่ได้อาศัยเพียงความรู้ความเข้าใจการถ่ายภาพเท่านั้น แต่รวมไปถึงการศึกษาข้อมูลเอกสารที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับคนเป็นช่างภาพ

 

ชิน เล่าว่า ก่อนลงพื้นที่ถ่ายภาพแต่ละครั้ง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่จุดมุ่งหมาย ส่วนใหญ่เป็นงานด้านเอกสารงานวิจัย บทความ ควบคู่ไปกับการดูรูปถ่ายเก่า ๆ ที่ถูกถ่ายไว้โดยช่างภาพท่านอื่น สำหรับหลายคน อาจเป็นขั้นตอนที่น่าเบื่อ แต่สำหรับชินถือเป็นขั้นตอนที่สนุก เพราะยิ่งอ่านเยอะ ก็ยิ่งได้รู้ข้อมูลที่น่าสนใจเยอะ ในหลายครั้งที่การอ่านช่วยให้ได้ภาพถ่ายในมุมมองที่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน  

จากคำกล่าวข้างต้น สรุปสาระสำคัญได้ว่า ก่อนการลงพื้นที่ถ่ายทำ การใช้อินเทอร์เน็ตค้นคว้าเอกสารงานวิจัย หรือไปเยี่ยมชมห้องสมุดท้องถิ่น ส่งผลให้คุณสามารถทำความเข้าใจประเด็นได้มากขึ้น แถมยังช่วยให้คุณได้ไอเดียสดใหม่ให้กับภาพถ่ายของคุณอีกด้วย  

ที่มา: Shinsphoto

กระบอกเสียงของธรรมชาติ 

“การถ่ายภาพเชิงอนุรักษ์ คือการถ่ายทอดความสวยงามของธรรมชาติ ควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น”  

มีผลงานวิจัยระบุไว้ว่า ผู้คนจำสิ่งที่พวกเขาได้ยิน 10 เปอร์เซ็นต์ 20 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่พวกเขาอ่านและ 80 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งที่พวกเขาเห็น 

ชินเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในพลังของภาพถ่ายว่าสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ เขาจึงผันตัวจากการเป็นนักวิจัยสิ่งแวดล้อมมาสู่ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ ด้วยความต้องการที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับธรรมชาติที่พูดไม่ได้ นอกจากความสวยงามที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชมแล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของภาพถ่ายสารคดี จึงเน้นไปที่ความสำคัญของภาพเหตุการณ์และเรื่องราวเป็นหลัก ควบคู่กับการนำเสนอให้สร้างสรรค์ดึงดูดสายตาของผู้ชม เป็นที่มาของชุดภาพถ่ายที่สวยงามที่มาพร้อมกับการสื่อสารที่แข็งแรง 

ที่มา: Shinsphoto

ภาพถ่าย 1 ใบ กับการรอยคอยที่คุ้มค่า

“ไม่ได้นอนข้ามคืน แต่พอได้รูปนี้มาก็รู้สึกมีคุณค่าในความรู้สึก”

ชินกล่าวถึงภาพถ่ายชุด Thailand Marine Protect Area: The last hope of thai seas ที่เขาใช้เวลากว่าหลายเดือน กว่าจะได้ภาพถ่ายทุ่งปะการังทางช้างเผือกนี้มา

ในสมัยนี้ที่ใคร ๆ ต่างก็เป็นช่างภาพได้เพียงแค่มีสมาร์ตโฟนในมือ กดชัตเตอร์หนึ่งครั้งก็ได้รูปภาพแล้ว แต่สำหรับการถ่ายภาพสารคดีเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่านั้น 

ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำว่า "สารคดี" ไว้ว่า เป็นเรื่องราวที่เรียบเรียงขึ้นจากความจริง ไม่ใช่การปรุงแต่งจากจินตนาการ ในการถ่ายภาพสารคดี ช่างภาพจึงไม่สามารถกำหนดสถานการณ์ ฉาก หรือวัตถุใด ๆ ให้ผิดจากความเป็นจริงได้เลย การคาดหวังให้สิ่งต่าง ๆ เปิดเผยทันทีเพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปได้ยาก สิ่งที่ทำได้คือการรอคอย จึงต้องอาศัยความอดทนและรอคอยช่วงเวลาที่เหตุการณ์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้น ในบางครั้งอาจต้องรอเป็นชั่วโมงหรือหลายวัน กว่าจะได้ภาพตามที่ใจต้องการ  

งานภาพภ่ายสารคดีแทบทุกชิ้นจึงต้องอาศัยการรอคอย เช่นเดียวกับงานภาพถ่ายทุ่งปะการังช้างเผือกของชิน ที่ทำให้เขาต้องลงพื้นที่ถ่ายทำมากกว่า 5 ครั้ง ซึ่งในทุกครั้งก็ไม่ได้ภาพที่สวยงามดั่งใจ แต่ด้วยความไม่ท้อถอยสุดท้ายเขาได้ภาพมาในที่สุด

ที่มา: Shinsphoto

เริ่มจากสิ่งที่สนใจ ก็เป็นช่างภาพสารคดีได้! 

“เลือกเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ แล้วค่อยหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราว” 

ชินกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การเป็นช่างภาพสารคดี เพียงค้นหาสิ่งที่ตนรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ กับความต้องการบอกเล่าเรื่องราวก็เพียงพอแล้ว เพราะเส้นทางในสายอาชีพของเขาก็เกิดขึ้นจากความต้องการเล่าสิ่งที่ได้พบเจอในชีวิตประจำวันของตัวเอง ในฐานะนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ชินอาศัยการส่งงานเข้าประกวดตามงานแข่งขันต่าง ๆ และคว้ารางวัลมาได้ อาทิ รางวัล National Geographic Thailand awards 2018 ที่เป็นอีกหนึ่งรางวัลสำคัญที่ช่วยให้งานภาพถ่ายของเขาก้าวไปสู่การยอมรับมากขึ้น จนเวลาผ่านล่วงเลยมาเกือบ 8 ปีแล้วที่เขาเดินทางสายช่างภาพสารคดี และถือว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในอาชีพของเขา แม้ว่าไม่ได้จบคณะโดยตรง 

 

เทคนิคถ่ายภาพธรรมชาติให้สวยเหมือนมืออาชีพ

เมื่อได้เรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์งานภาพถ่ายจากช่างภาพสารคดีมืออาชีพไปแล้ว เรายังได้รวบรวม เทคนิคการการถ่ายรูปธรรมชาติ ที่จะช่วยให้ภาพของคุณดูสวยเหมือนมืออาชีพได้่ง่าย ๆ แม้ว่าจะเป็นมือใหม่

  • เก็บภาพเคลื่อนไหวด้วยสปีด ชัตเตอร์ (Speed shutter) 

เพื่อไม่ให้พลาดช็อตสำคัญไป ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "สปีด ชัตเตอร์" หรือ ความไวชัตเตอร์ เสียก่อน นอกจากจะฟังก์ชันสำคัญในการเก็บภาพเคลื่อนไหวแล้ว ยังสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ที่น่าสนใจให้รูปถ่ายของคุณอีกด้วย

กล้องทุกตัวจะมีสิ่งที่เรียกว่า "ม่านชัตเตอร์" หรือ "Diaphragm" ซึ่งเป็นที่มาของเสียง "แกร็ก" เมื่อกดบันทึกภาพ ม่านชัตเตอร์ทำหน้าที่เก็บบันทึกแสงสว่างตามที่ผู้ถ่ายภาพได้การตั้งค่าของระบบเอาไว้ ยิ่งความเร็วชัตเตอร์สูง แสงจะเข้าน้อยลง ภาพวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่จะหยุดนิ่ง ตรงกันข้าม หากความเร็วชัตเตอร์ต่ำ แสงจะเข้ามากขึ้นทำให้วัตถุละลายเห็นการเคลื่อนไหว เกิดเป็นเอฟเฟ็กต์ที่เรียกว่า "Motion blur"

  • จัดองค์ประกอบด้วยเทคนิคจุดตัดเก้าช่อง (Rule of third) 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความน่าสนใจของภาพถ่าย ส่วนหนึ่งมาจากการจัดองค์ประกอบที่ดี ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพก็เรียนรู้ได้ง่าย ๆ จากหลักการ "จุดตัดเก้าช่อง" เทคนิคการจัดวางองค์ประกอบในตำแหน่งจุดสนใจ เป็นการแบ่งพื้นที่ภาพให้ออกเป็น 3 ส่วนเท่ากัน จนเกิดตำแหน่งจุดตัดด้วยกัน 4 จุด ซึ่งในจุดตัดนี้จะเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจของภาพถ่ายนั่นเอง

  • เพิ่มความน่าสนใจด้วยการย้อนแสง (Silhouette)

เทคนิคการถ่าย ภาพย้อนแสง (Silhouette) เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ภาพถ่ายน่าสนใจไปอีกขั้น จุดเด่นของภาพซิลลูเอต คือการละทิ้งรายละเอียดของภาพและเหลือไว้เพียงรูปร่างของวัตถุที่ตัดกับแสง สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่เลือกวัตถุหรือ จัดให้ตำแหน่งตัวแบบบังแสงให้กล้อง โดยส่วนใหญ่จะอาศัยแหล่งกำเนิดแสงจากดวงอาทิตย์ในเวลาก่อนขึ้นและตกดิน  

  • เก็บความรู้สึกด้วยภาพถ่ายระยะใกล้ (Close up)

การถ่ายภาพระยะใกล้ หรือ (Close up) เป็นอีกวิธีที่ใช้ได้ดีในการสื่ออารมณ์ อีกทั้งยังสามารถดึงความสนใจของผู้ชมไปยังส่วนที่เฉพาะเจาะจงของภาพได้ง่าย มีหลักการง่าย ๆ อยู่ที่รูรับแสงขนาดใหญ่ เช่น f/2.8 จะช่วยให้กล้องสามารถโฟกัสพื้นที่แคบ ๆ ได้ดี โดยสิ่งอื่นนอกเหนือจากจุดโฟกัสจะหลุดโฟกัสไป หรือวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเลือกใช้เลนส์ชนิดนี้มีความยาวโฟกัสยาว ที่เรียกว่า เลนส์เทเลโฟโต้ (Telephoto Lens) จะช่วยให้มุมการถ่ายแคบลง ได้ภาพที่มีขนาดใหญ่กว่าภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์ปกติ

 

สำหรับใครที่มีความสนใจในสายอาชีพที่ได้ใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม อย่างช่างภาพสารดคีสิ่งแวดล้อม หรืออาชีพนักอนุรักษ์ สามารถรับชมคำแนะนำและเคล็ดลับดี ๆ จากพี่ชินเพิ่มเติมได้ที่รายการ Class one ทางฉันฝันเธอ ตอน รักษ์โลกผ่านเลนส์ (23 ต.ค. 64)

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ช่างภาพ, 
#ถ่ายภาพ, 
#ช่างภาพเชิงสารคดี, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#นักอนุรักษ์, 
#นักสิ่งแวดล้อม 
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#ช่างภาพ, 
#ถ่ายภาพ, 
#ช่างภาพเชิงสารคดี, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#นักอนุรักษ์, 
#นักสิ่งแวดล้อม 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา