ย้อนไปสัก 20-30 ปีที่แล้ว การ์ตูนหนึ่งเล่มคือความสุข คือความบันเทิง คือความตื่นเต้น คือไอเท็มที่มีแล้วเท่ มีแล้วป๊อบ มีแล้วเพื่อนรัก (ถ้าขอแล้วมันแบ่งเราดูด้วย) การ์ตูนเป็นเหมือนโลกอีกใบที่ไม่เคยจำกัดจินตนาการ
การ์ตูนดังในตำนานหลายต่อหลายเรื่อง ถูกส่งผ่านวนอ่านกันจนเปื่อย บางเล่มยืมกันไกลจนกลับไปหาเจ้าของไม่เจอ แต่รอยยับยู่ก็เป็นหลักฐานว่ามันได้ทำหน้าที่สมกับที่เกิดมาเป็นการ์ตูนแล้ว
สำหรับหลายคน การ์ตูนเป็นมากกว่าหนังสือ มันคือของสะสมที่ต้องออมเงินค่าขนมไว้ซื้อโดยเฉพาะ บางคนบ้านไม่หรูพอจะเหมามาเก็บเป็นคอลเล็กชัน ก็ยังมีตัวเลือกเป็นร้านเช่าการ์ตูน ถึงจะช้าหน่อย แต่พอมันรวมเล่มออกมาครบทั้งภาคแล้วได้เช่ากลับบ้านมาอ่านทั้งตั้งก็คือสานฝันวัยเด็กเรามาก ๆ
ในขณะเดียวกัน การ์ตูนกลับเป็นเรื่องไร้สาระในสายตาผู้ใหญ่สมัยก่อน (หวังว่าจะเป็นผู้ใหญ่ “สมัยก่อน”) เป็นของผิดกฎ ห้ามพกไปโรงเรียน ถ้าครูเจอเมื่อไหร่ก็คือถูกทำโทษ ถูกยึดของกลาง และการ์ตูนเล่มนั้นก็จะหายไปตลอดกาล
อ่านการ์ตูนแล้วได้อะไร? อ่านเอาแต่สนุก การ์ตูนน่ะมันมอมเมา มีแต่ฉากสู้กันรุนแรง ไม่ก็เป็นเรื่องบัดสี
ทำไมไม่เอาเวลาอ่านการ์ตูนไปอ่านหนังสือเรียน? ทำไมไม่หัดใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เสียบ้าง?
ล้วนเป็นคำบ่นที่ได้ยินกันจนเป็นประโยคยอดฮิต
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมสิ่งล้ำค่าของเด็กๆ มันมักจะเป็นของต้องห้ามในสายตาผู้ใหญ่ ไม่เชื่อก็ลองเปลี่ยนจากคำว่าการ์ตูนเป็นคำอื่นดูก็ได้ (อย่างเช่น ขนม เกม หรืออินเทอร์เน็ต) เพียงเท่านี้คุณผู้ปกครองก็สามารถเอาประโยคชุดเมื่อกี๊ไปใช้บ่นต่อได้เลยทันที แบบไม่มีรอยต่อ
หมุนเวลามาสู่ยุคปัจจุบัน เด็กเหล่านั้นเติบโต บางคนได้เป็นพ่อแม่
บางคนเปลี่ยนมารับบทบาทครูฝ่ายปกครองเสียเองก็ยังมี
มุมมองที่มีต่อการ์ตูนของผู้ใหญ่ในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป มันก็เปิดกว้างขึ้นแล้วล่ะ
อย่างการ์ตูนฝีมือคนไทยเล่มนี้ไง ชื่อเรื่องก็บอกเอาไว้เลยนะว่าพูดถึงการศึกษาและความฝัน
ตรงประเด็นกับที่ผู้ใหญ่อยากส่งเสริมเยาวชนไทยให้เอาดีทั้งเรื่องเรียนและความคิดสร้างสรรค์!
โอ้โห พวกเรามาไกลเหลือเกิน! (กอดคอเพื่อน สายตาทอดไกล น้ำตาไหลซาบซึ้ง)
ถ้านับเราที่อายุสามสิบกว่าว่าเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ เด็กทั้งหลายที่ร่วมรุ่นกันกับเรามาในวันก่อน มันต้องเคยอ่านต่วยตูน ขายหัวเราะ หรือการ์ตูนหมึกจีน/ วิบูลย์กิจกันมาบ้างแหละ เราจึงมีพื้นที่ให้กับความเข้าใจว่าการ์ตูนไม่ใช่สื่อไร้สาระเสมอไป
บางคนมีการ์ตูนเป็นเหมือนเพื่อน บางคนมีการ์ตูนเป็นแรงบันดาลใจ บางคนเอาจริงกับมันจนวาดถนนสร้างทางขึ้นมาเดินได้ด้วยตัวเอง (ดวงอาทิตย์เรืองรองส่องอำไพ อาบแสงซุปเปอร์โกลวไปยังเหล่านักเขียนการ์ตูนไทยผู้แข็งแกร่ง)
เรามากันได้ไกลแล้วจริง ๆ ด้วยสินะ!
การ์ตูนเรื่อง “การศึกษาของกระป๋องมีฝัน” โดย สะอาด สำนักพิมพ์ ด้วงคอมิกซ์
อยู่ในโครงการเพื่อการศึกษา สนับสนุนโดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย (Friedrich-Ebert-Stiftung)
และ มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง (Thai Civic Education Foundation)
ชมสัมภาษณ์ของ ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ ผู้เขียน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของกระป๋องมีฝัน