ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เคานต์ดาวน์ 6 ที่ สำรวจคืนสิ้นปีจากทั่วโลก
แชร์
ฟัง
ชอบ
เคานต์ดาวน์ 6 ที่ สำรวจคืนสิ้นปีจากทั่วโลก
29 ธ.ค. 64 • 09.00 น. | 3,919 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

“5 4 3 2 1 …สุขสันต์วันปีใหม่!!” เสียงสุดคลาสสิกที่เรามักได้ยินเมื่อถึงช่วงคืนรอยต่อระหว่างปี "เทศกาลเคานต์ดาวน์" ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแสนพิเศษที่ใคร ๆ ต่างเฝ้ารอและไม่อยากพลาด ALTV จึงได้รวบรวมกิจกรรมเฉลิมฉลองในคืนสิ้นปีที่น่าสนใจของแต่ละประเทศทั่วโลกมาฝากผู้อ่านทุกท่าน เป็นการอุ่นเครื่องเตรียมความพร้อมก่อนถึงคืนเคานต์ดาวน์ที่จะถึงนี้!

สหรัฐอเมริกา: นับถอยหลังรอลูกบอลร่วงหล่น ในเทศกาล "Ball Drop" ณ ไทม์สแควร์ 

ไทม์สแควร์แลนด์มาร์คสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใคร ๆ ก็ต้องอยากไปเยือนสักครั้งในชีวิต ตั้งอยู่ ณ ใจกลางมหานครนิวยอร์ก บริเวณจุดตัดถนนบรอดเวย์ และถนนเซเว่นอเวนิว ก่อนหน้าเป็นที่รู้จักกันในนาม "Longacre Square" แต่ภายหลังได้มีการลงนามเปลี่ยนชื่อเป็น "Times square" เพื่อให้ล้อไปกับภูมิทัศน์ที่รอบล้อมไปด้วยสำนักงานใหญ่ของ The New York Times หนังสือพิมพ์รายวันสัญชาติอเมริกา

เทศกาลเคานต์ดาวน์ปีใหม่ของสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า เทศกาล "Ball drop" เริ่มขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2447 โดย Adolph Ochs อดีตเจ้าของหนังสือพิมพ์ The New York Times ที่ต้องการเฉลิมฉลองวันสิ้นปี ไปพร้อมกับย้ำจุดมุ่งหมายของการมีอยู่ของหนังสือพิมพ์ การเฉลิมฉลองในครั้งนั้นจึงจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการ คาดว่ามีผู้คนเข้าร่วมมากกว่า 2 แสนคน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา งานเคานต์ดาวน์ที่ถนนไทม์สแควร์ก็ถูกจัดขึ้นทุกปี และถือเป็นต้นแบบการเคานต์ดาวน์ของแต่ละประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

ลูกบอลในเทศกาล Ball Drop บอกอะไร?

ไฮไลท์สำคัญของงานเฉลิมฉลองในคืนสิ้นปีจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการนับถอยหลังเข้าสู่คืนวันใหม่ พร้อมรอคอยให้ "ลูกบอลไทม์สแควร์" ที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าตึกวันไทม์สแควร์ ค่อย ๆ เคลื่อนตัวลงจากจุดสูงสุดในเวลาเที่ยงคืนตรง

หลายศตวรรษมาแล้วที่คนเราใช้ลูกบอลในการบอกเวลา “Time ball” หรือ "ลูกบอลเวลา" ประดิษฐ์ขึ้นโดย โรเบิร์ต เวาโชป ใช้ครั้งแรกในปี ค. ศ.1829 ที่เมืองพอร์ทสมัธ ประเทศอังกฤษ ออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่จับเวลาในการเดินเรือ โดยการทำงานของมันก็ไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด เมื่อลูกบอลค่อย ๆ เคลื่อนลงจากยอดเสา นั่นหมายความว่าตอนนั้นเป็นเวลาบ่ายโมงตรงแล้ว 

ภายใน 3 ปีให้หลัง ไอเดียลูกบอลเวลาของโรเบิร์ตแพร่หลายมากขึ้น หอดูดาวในกรุงลอนดอนก็เป็นอีกที่หนึ่ง ที่เราสามารถพบเห็นลูกบอลเวลานี้ได้ ซึ่งยังคงเปิดใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้ ดังนั้นสำหรับการเฉลิมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าครั้งใหญ่ในไทม์สแควร์ "ลูกบอลไทม์สแควร์" จึงเปรียบเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดช่วงเวลาหนึ่ง และการเริ่มต้นอีกช่วงหนึ่งนั่นเอง

สเปน: กินองุ่นนำโชค 12 ลูก เพื่อโชคลาภในอีก 12 เดือน 

กินองุ่นให้เต็มปากภายในเวลาเที่ยงคืน ถือเป็นธรรมเนียมการเคานต์ดาวน์อีกรูปแบบหนึ่งของสเปน เมื่อใกล้ถึงช่วงลั่นระฆังนับถอยหลังสิ้นปีที่ดังมาจากโบสถ์ใกล้บ้าน จะเป็นที่รู้กันว่า ช่วงเวลาของการกิน "องุ่นนำโชค (The Twelve Lucky grapes)" มาถึงแล้ว

องุ่นทั้ง 12 ผล ถือเป็นตัวแทนทั้ง 12 เดือน และที่สำคัญต้องเป็นองุ่นเขียวเท่านั้น วิธีการก็ไม่ซับซ้อน เพียงแค่เฝ้ารอเสียงระฆังที่จะลั่นทั้งหมด 12 ครั้ง เมื่อเสียงระฆังดัง 1 ครั้ง ให้กินองุ่น 1 ผล และทำต่อไปเรื่อย ๆ จนหมดก่อนเสียงระฆังสุดท้ายจะหยุดลง ซึ่งคุณจะมีเวลาในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ ทั้งหมดเพียง 12 วินาทีเท่านั้น งานนี้ใครมีสกิลกินเร็วก็จะได้เปรียบหน่อยล่ะ

ผู้คนเชื่อว่าหากสามารถกินองุ่น 12 ผลสำเร็จทันระฆังเสียงสุดท้าย ชีวิตของคุณในปีใหม่ก็จะราบรื่นไร้อุปสรรค และพบเจอแต่ความโชคดี ชาวสเปนเอาจริงเอาจังกับการกินองุ่นนำโชคมากถึงขนาดที่ว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตบางที่ จะมีการจำหน่ายองุ่นกระป๋องไร้เมล็ด จำนวน 12 ลูก ไว้โดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถกินได้เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาคายเมล็ด 

ญี่ปุ่น: “โจยะโนะคาเนะ” ลั่นระฆังไล่ตัณหา 108 ครั้ง  

ประเทศท่องเที่ยวสุดฮอตใกล้บ้านเราอย่างประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะมีเคานต์ดาวน์แบบสากลแล้ว ก็ยังมี “โจยะโนคาเนะ” หรือ "พิธีลั่นระฆัง 108 ครั้ง" ที่เป็นประเพณีทางศาสนาพุทธของชาวญี่ปุ่น ที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในค่ำคืนวัน “โอมิโซกะ" หรือวันสิ้นปีนั่นเอง

ขั้นตอนของพิธีโจยะโนะคาเนะ จะเริ่มการลั่นระฆังทั้งหมด 107 ครั้ง ก่อนเวลาเที่ยงคืน และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนจะลั่น ครั้งที่ 108 จนครบ ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาของชาวญี่ปุ่นว่าจำนวนระฆัง 108 ครั้ง ถือเป็นตัวแทนของตัณหา 108 อย่าง ที่คนเราต้องเจอ เพราะฉะนั้นการลั่นระฆังเท่ากับจำนวนตัณหาจึงเปรียบเสมือนการไล่ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากตัว และเป็นเครื่องเตือนใจในการเริ่มต้นใหม่ในปีใหม่ด้วยจิตใจบริสุทธิ์

โจยะโนะคาเนะ จัดขึ้นตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดชิออนอิน ในเมืองเกียวโต ที่ค่อนข้างโด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยว นอกจากการลั่นระฆังแล้ว ยังมีธรรมเนียมอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ที่ทำกันในวันนี้ไม่ว่าจะเป็น ทำโมจิ กินโซบะ หรือ ทำความสะอาดบ้าน ล่วงเลยไปถึงในวันที่ 1 มกราคม ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มจะมุ่งหน้าไปยังวัด หรือศาลเจ้าใกล้บ้าน เพื่อสวดมนต์ขอพรต่อเทพเจ้า เรียกว่าการทำ "ฮัทซึโมเดะ" หรือ การไปวัดครั้งแรกของปีอีกด้วย

เดนมาร์ก: ตอนรับปีใหม่อย่างเกรี้ยวกราด ด้วยการปาถ้วยชามไปที่หน้าประตูบ้านเพื่อน 

ใครบอกว่าบรรยากาศการเฉลิมฉลองต้องมาในรูปแบบอบอุ่นใจเสมอไป เพราะที่เดนมาร์กเขามีวิธีการเข้าสู่ปีใหม่สุดเกรี้ยวกราดอย่างการหยิบข้าวของไปขว้างปาหน้าประตูบ้านเพื่อน! 

"Plate smashing" หรือ ธรรมเนียมการเขวี้ยงถ้วยชามในเดนมาร์ก จะเริ่มขึ้นในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม โดยแต่ละครอบครัวจะรวบรวมเครื่องถ้วยชามในบ้านที่แตกบิ่น หรือเครื่องใช้ในบ้านที่หมดประโยชน์แล้วมาจำนวนหนึ่ง จากนั้นตระเวนไปยังละแวกบ้านแล้วเขวี้ยงปาจนแตกบริเวณหน้าประตูบ้านใครสักคนหนึ่ง อาจเป็นคนที่รู้จัก เพื่อนที่สนิทสนม หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ได้ และเมื่อเช้าวันใหม่มาถึง บ้านหลังไหนมีกองจานแตกมากสุด แสดงว่าจะพบเจอกับโชคดีมากกว่าใคร 

ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า Plate smashing เริ่มจากใคร เกิดขึ้นครั้งแรกที่ไหน แต่นอกจากเดนมาร์กแล้ว ในประเทศกรีซเอง ก็ยังเป็นที่แพร่หลายเช่นเดียวกัน ชาวกรีซเชื่อว่าเป็นการแสดงถึงสัญญาณของจุดจบ เพื่อการเริ่มต้นใหม่ และปัดเป่าพลังชั่วร้าย  

ซึ่งถ้าหากมองข้ามมิติความเชื่อไป การขว้างปาสิ่งของอย่างเกรี้ยวกราด ก็ถือเป็นเครื่องระบายอารมณ์ดี ๆ นี่เอง ในหลายประเทศถึงกับมีธุรกิจระบายความโกรธ ที่ได้หยิบจับไอเดียการขว้างปาสิ่งของมาทำเงิน หนึ่งในนั้นคือ บริษัท Smash ในประเทศจีน ที่มีการสร้างห้อง "Angry room" ให้ผู้คนได้เข้าไปทุบทำลาย ขว้างปาสิ่งของระบายพลังลบได้เต็มเหนี่ยว ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่จานชาม ไปจนถึงรถยนต์ และในแต่ละเดือนมีคนเข้ามาใช้บริการเดือนละมากกว่า 600 คน สามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทได้อย่างน่าเหลือเชื่อ 

สกอตแลนด์: ส่งท้ายปีอย่างโชดช่วง ด้วยเทศกาลแห่งไฟ 

ประเทศสกอตแลนด์ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเฉลิมฉลองในคืนก่อนขึ้นปีใหม่ในแบบของตัวเอง ด้วยการใช้ "แสงไฟ" ก่อนที่เสียงระฆังบอกเวลาเที่ยงคืนจะมาถึง ในสโตนเฮฟเว่น เมืองท่าเล็ก ๆ ของประเทศสกอตแลนด์ จะมีเสียงดนตรีจากวงดนตรีไปป์ออร์แกน และขบวนพาเรดของเหล่าชาย-หญิง ที่จะปรากฏขึ้นในช่วงก่อนการนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ พวกเขามาพร้อมกับลูกบอลไฟ ที่ออกแบบมาให้ยึดกับลวดยาว โดยจะเหวี่ยงมันไปรอบ ๆ ร่างกาย สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม

ขบวนพาเรดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลฉลองวันปีใหม่ของชาวสกอตแลนด์ ที่เรียกกันว่า “ฮอกมาเนย์” (Hogmanay festival) ที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น นอกจากนี้ทั่วมุมถนนยังประดับประดาไปด้วยแสงไฟ และจบด้วยพลุสุดตระการตาเหนือปราสาทเอดินบะระ เพื่อเป็นการอำลาปีเก่าต้อนรับปีใหม่ด้วยแสงสีอย่างแท้จริง 

ไทย: สวดมนต์ข้ามปี เสริมสิริมงคลดี ๆ ให้ชีวิต 

การส่งท้ายปีของใครหลายคนอาจไปเฉลิมฉลองกันเพื่อน หรือเคานต์ดาวน์ตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยเรา ก็มีประเพณีในวันก่อนขึ้นปีใหม่ที่ทำสืบทอดกันมาหลายปีอย่าง "การสวดมนต์ข้ามปี" ที่จะจัดขึ้นตามวัดวาอารามใกล้บ้านตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 31 ธันวาคม ไปจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 1 มกราคม ตามความเชื่อที่ว่าเป็นการเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ก่อนเริ่มต้นใหม่ในปีใหม่ 

การสวดมนต์ข้ามปีของไทยเริ่มจัดอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยกรมศาสนา แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่พบร่องรอยหลักฐานว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นประเพณีดั้งเดิมของไทยหรือไม่ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย พบการสวดมนต์ข้ามปีอยู่เช่นกัน ซึ่งปรากฎอยู่ในพระราชพิธี 12 เดือน ในรัชกาลที่ 5 เรียกว่า "พิธีสัมพัจฉรฉินท์" ที่จะจัดขึ้นเพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่บ้านเมือง ราษฎร และพระเจ้าแผ่นดิน  

สัมพัจฉร แปลว่า ปี ฉินท แปลว่า ตัด รวมกันเป็นคำว่า “พิธีตัดปี” 

 

เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับกิจกรรมเคานต์ดาวน์ของแต่ละประเทศ ชวนให้หวนนึกถึงบรรยากาศวันสิ้นปีที่กำลังมาถึงเลยใช่ไหมล่ะ! เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่นี้ ALTV จึงหวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะพบเจอแต่ความสุขและความโชคดีตลอดปี และอย่าลืมดูแลสุขภาพกายใจให้เแข็งแรง เพื่อรอวันเคานต์ดาวน์อีกครั้งพร้อมกันในปีหน้า และปีต่อ ๆ ไปนะ

 

 

 

ที่มา: Times square NPR News Culture Trip Independent

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#วันขึ้นปีใหม่, 
#คืนส่งท้ายปี, 
#HappyNewyears, 
#ปีใหม่65, 
#ฺBalldrop, 
#ท่องเที่ยว, 
#สถานที่เคานต์ดาวน์, 
#2565 
ALTV CI
StayInspired
StayInspired
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#วันขึ้นปีใหม่, 
#คืนส่งท้ายปี, 
#HappyNewyears, 
#ปีใหม่65, 
#ฺBalldrop, 
#ท่องเที่ยว, 
#สถานที่เคานต์ดาวน์, 
#2565 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา