อัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักวิทยาศาตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลก เคยกล่าวไว้ว่า “Play is the highest from of reserch” หรือ การเล่นคือที่สุดแห่งการเรียนรู้ หากให้ทุกคนย้อนนึกถึงการเล่นในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเล่นทำอาหาร แต่งตัวตุ๊กตา หรือสร้างบ้านจากตัวต่อเลโก้ ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นการจำลองโลกของผู้ใหญ่นั่นเอง อาจไม่เกินจริงที่จะบอกว่าของเล่นสร้างเราทุกคน ALTV จึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับผู้อยู่เบื้องหลังความสุขของเด็ก ๆ ที่เห็นว่าของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
“ต้องดีที่สุดเท่านั้น ถึงจะดีพอ”
“Only the best is good enough” หรือ “ต้องดีที่สุดเท่านั้นถึงจะดีพอ” คติพจน์ประจำใจของ “โอเล่ เคิร์ก คริสเตียนเซน” ผู้ก่อตั้งบริษัท LEGO Group และคิดค้นของเล่นตัวต่อในตำนานอย่าง “เลโก้” ถึงแม้เวลาจะผ่านมาร่วม 100 ปีแล้วที่เลโก้ถือกำเนิดขึ้น แต่คติพจน์ดังกล่าวยังคงถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อย้ำเตือนถึงการใส่ใจคุณภาพของเล่นทุกชิ้น ก่อนถึงมือเด็ก ๆ ทั่วโลก
เมื่อเห็นถึงความใส่ใจขนาดนี้แล้ว แต่ในความเป็นจริงโอเล่ไม่ได้เริ่มหมกหมุ่นกับการทำของเล่นตั้งแต่แรก แต่เริ่มต้นจากการเป็นช่างไม้ธรรมดาคนหนึ่งในแถบชานเมืองของประเทศเดนมาร์ก รับสร้างบ้าน และทำเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ผลงานถือว่าไม่ได้หวือหวามาก
จนในปี 1929 โรงงานไม้ของเขาเกิดไฟไหม้จนเหลือแต่ซาก ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The great depression) ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่มีใครกล้าจ้างเขาให้ไปสร้างบ้าน หรือทำเฟอร์นิเจอร์อย่างแน่นอน แต่ด้วยความไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา เขาได้ปิ๊งไอเดีย “ผลิตภัณฑ์จากไม้ราคาย่อมเยาว์” ให้หลายคนเอื้อมถึงสินค้าของเขา ไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ บันได เรื่อยมาจนถึงของเล่นเด็ก
ในสถานการณ์ที่ผู้คนต้องเผชิญกับความยากลำบาก “ของเล่น” ที่จัดอยู่ในหมวด “สิ่งของสิ้นเปลือง” หรือ “ของไร้สาระ” สำหรับบางคน ก็ยิ่งถูกตีค่าให้เป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องเสียเงินซื้อเข้าไปอีก แต่ไม่ใช่สำหรับโอเล่ เขาเชื่อว่าถึงอย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ ยังสมควรได้รับความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์ที่น่าหดหู่เช่นนี้ ของเล่นยิ่งขาดไม่ได้
แม้เศรษฐกิจจะย่ำแย่ แต่ของเล่นไม้กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เป็ดไม้ติดล้อ (Quacking duck) ถือเป็นของเล่นชิ้นแรก ๆ ที่ได้ผลตอบรับดี ด้วยราคาย่อมเยาว์ สวนทางกับคุณภาพที่สูงตามความตั้งใจของโอเล่ที่ต้องการให้คงทน เล่นได้นาน เขาเลือกใช้ไม้บีช (beech wood) คุณภาพดี และขั้นตอนที่พิถีพิถันราวกับทำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง
LEGO มาจากคำว่า “Leg godt” ในภาษาเดนมาร์ก หมายความว่า “เล่นสนุก”
ภายในปี 1934 บริษัท LEGO ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาสินค้าภายใต้คติพจน์ Only the best is goo enough เสมอมา จนกลายเป็นแบรนด์ของเล่นที่มียอดขายปีละหลายล้านชิ้น และ 20 ปีให้หลังโอเล่ก็ได้ถึงแก่กรรมในวัย 66 ปี โดยลูกชาย Godtfred Kirk Christiansen เข้ามารับช่วงต่อ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
“บาร์บี้เป็นตัวแทนของความจริงที่ว่า
ผู้หญิงมีทางเลือกเสมอ”
ผู้อยู่เบื้องหลังความคลั่งไคล้ของสาว ๆ ทั่วโลก คือ รูธ แฮนด์เลอร์ นักธุรกิจหญิงแกร่ง เป็นทั้งผู้ก่อตั้ง Mattel ค่ายของเล่นยักษ์ใหญ่ และผู้ให้กำเนิด "บาร์บี้" หนึ่งในของเล่นที่ขายดีที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมสมัยนิยมของสาวอเมริกันอีกด้วย แต่ทว่าเบื้องหลังความสำเร็จของตุ๊กตาบาร์บี้ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มีน้อยคนนักที่รู้ว่าจริง ๆ แล้วรูธไม่ชอบเล่นตุ๊กตา ?!
“ฉันไม่แน่ใจว่าอะไรผลักดันให้ฉันทำบาร์บี้ รู้เพียงแค่ว่าฉันต้องการพิสูจน์ตัวเอง”
รูธ ได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สาวตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องด้วยแม่ของเธอป่วยหนักตั้งแต่จำความได้ รูธเป็นเด็กเรียนดี ขยันหมั่นเพียร แต่มีรสนิยมไม่ค่อยเหมือนเด็กสาวทั่วไปนัก ด้วยนิสัยห้าว ๆ เธอไม่ชอบการเล่นตุ๊กตาเหมือนเด็กสาวคนอื่น กลับกันรูธเลือกใช้เวลาไปกับการช่วยพี่สาวทำงานในร้านขายของชำ
จนในช่วงมหาวิทยาลัย เธอพบรักกับสามี นามว่า เอลเลียต แฮนด์เลอร์ ทั้งสองย้ายไปอยู่ด้วยกัน และร่วมก่อตั้งบริษัททำเฟอร์นิเจอร์ของเล่น รายได้ถือว่าเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ แต่ก็ไม่ได้กำไรมากนัก จุดเปลี่ยนชีวิตของรูธ เกิดขึ้นในช่วงการพักร้อนที่ยุโรป ในปี 1956 รูธบังเอิญเห็นตุ๊กตาตัวหนึ่งชื่อ บิลด์ ลิลลี่ ตุ๊กตาหญิงสาวโตเต็มวัยที่มาพร้อมชุดวันพีช ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูจัดจ้านตรงข้ามกับผู้หญิงสมัยนิยม ที่มักสวมแต่กระโปรงพุดเดิลสเกิร์ตยาวคลุมเข่า บิลด์ ลิลลี่ จึงเป็นสินค้าที่ขายให้กับผู้ใหญ่เสียมากกว่า
''เด็กหญิงทุกคนล้วนต้องการตุ๊กตาสักตัว เพื่อพาไปสู่ความฝันในอนาคต'' รูธ กล่าวกับสำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์ถึงความคิดแรกเมื่อเห็นตุ๊กตา บิลด์ ลิลลี่ ความปราถนาของรูธคือการสร้างตุ๊กตาให้มีรูปร่างเหมือนผู้ใหญ่โตเต็มวัย และในสหรัฐอเมริกาก็ไม่เคยมีตุ๊กตาที่รูปร่างเหมือนผู้ใหญ่มาก่อน มีเพียงแต่ตุ๊กตากระดาษเท่านั้น บาร์บี้ตัวแรก ที่ชื่อว่า “Barbie Teenage Fashion Model” จึงได้ถือกำเนิดครั้งแรกที่งาน American International Toy Fair ปี 1959 ด้วยรูปร่างพร้อมเพรียว มีหน้าอกแบบหญิงสาวโตเต็มวัย มาพร้อมกับแฟชั่นชุดว่ายน้ำเข้ารูป และแน่นอนว่ามันประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่วางขาย
ถึงแม้ว่าบาร์บี้จะประสบความสำเร็จด้วยยอดขายถล่มทลาย แต่ก็ไม่รอดพ้นจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ ตั้งแต่ปี 1970 มาแล้วที่ตุ๊กตาบาร์บี้ถูกวิจารณ์เรื่องความเป็นวัตถุนิยม (Materialism) ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยตั้งแต่การสะสมรถยนต์ มีบ้านหลังโต และคอลเลกชันเสื้อผ้ามากมาย มิหนำซ้ำยังมีสัดส่วนร่างกายที่ไม่สมจริง ซึ่งเป็นการสร้างค่านิยมความงามแบบผิด ๆ ครั้งหนึ่งนักวิจัยในฟินแลนด์กล่าวว่า ถ้าหากตุ๊กตาบาร์บี้เป็นผู้หญิงจริง ๆ เธอจะไม่สามารถมีประจำเดือนได้ ด้วยสัดส่วนที่ผอมจนเกินไป
รูธ ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวอะไรและดูท่าทางจะไม่แยแสคำวิจารณ์เหล่านั้นมากนัก เธอได้แสดงความคิดเห็นของตนต่อคำวิจารณ์ลงในหนังสือของตัวเอง Dream doll (1994) ไว้ว่า พวกเขาคิดผิดอย่างแรง “สาวน้อยจะเป็นอะไรก็ได้ที่เธออยากเป็น ตุ๊กตาบาร์บี้เป็นตัวแทนของความจริงที่ว่าผู้หญิงมีทางเลือกมาโดยตลอด บาร์บี้ไม่เคยแต่งงาน ไม่มีลูก เธอเป็นเพียงผู้หญิงที่สนุกกับชีวิต ประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น นักเล่นกระดานโต้คลื่น นางแบบ หมอ นักบินอวกาศ หรือแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ในขณะนั้นไม่มีผู้หญิงคนไหนมีโอกาสได้เป็นหมอด้วยซ้ำ"
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2016 บริษัท Mattel ได้ออกบาร์บี้โฉมใหม่มา 3 รูปร่างคือ ตัวเล็ก สูง และรูปร่างท้วม มีต้นขาและมีหน้าท้อง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสีผิวให้เลือกถึง 7 เฉดสี ดวงตา 22 สี และทรงผมอีก 24 แบบ ล่าสุดบาร์บี้ยังได้ออกตุ๊กตาบาร์บี้ผิวด่าง และไม่มีเส้นผมออกมาด้วย ถือว่าสลัดคราบตุ๊กตาผิวขาวผมบลอนด์ทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง
“ของขวัญเล็ก ๆ รอยยิ้มกว้าง ๆ”
หากพูดถึงธรรมเนียมการมอบของขวัญ เราแน่ใจว่าประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแรก ๆ ในใจของใครหลายคน การมอบของขวัญในโอกาสต่าง ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นมานาน ไม่ว่าจะเป็นวันเกิด วันอายุครบ 5 ขวบ 7 ขวบ วันเข้าศึกษาต่อ วันเข้าทำงาน ก็มักจะมีของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ มอบให้กันเสมอ จนถึงขั้นมีศาสตร์แห่งการห่อของขวัญกันเลยทีเดียว ซึ่ง ชินทาโร ทสึจิ ผู้ก่อตั้งซานริโอและผู้สร้างตัวละครแมวสีขาว Hello kitty เชื่อว่า การมอบของขวัญสามารถถ่ายทอดความรู้สึกดี ๆ ได้ และเพื่อหล่อเลี้ยงสิ่งนี้ให้คงอยู่ แบรนด์ซานริโอจึงถือกำเนิดขึ้น
“Small gift, Big smile”
ของขวัญเล็ก ๆ รอยยิ้มกว้าง ๆ
คติพจน์ประจำใจของทสึจิที่เป็นมากกว่าวลีติดปาก แต่เป็นรากฐานของการสร้างซานริโอ ย้อนกลับไปยังวัยเด็กของทสึจิ ในปี 1933 หนึ่งในความทรงจำที่เขาไม่เคยลืมจวบจนถึงทุกวันนี้ และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างซานริโอ นั่นคือ ปาร์ตี้วันเกิดในช่วงอนุบาล เหล่าพี่เลี้ยงประจำโรงเรียนคริสเตียนที่เขาศึกษาอยู่ จะร่วมกันจัดปาร์ตี้เพื่อฉลองให้กับเด็ก ๆ ที่เกิดภายในแต่ละเดือน ทสึจิจำได้ว่าทุกคนสวมชุดกิโมโนในวันนั้น พ่อแม่ของเด็กอื่น ๆ ก็ร่วมฉลองและมอบของขวัญให้เด็ก ๆ ด้วย แต่ละคนจะได้ของขวัญติดไม้ติดมือกลับบ้านไปไม่ต่ำกว่า 3 ชิ้น นอกจากนี้ ทุกคนจะนำอาหาร ผ้าห่ม และสิ่งของต่าง ๆ ไปบริจาคให้กับคนเร่รอนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ทสึจิเห็นว่าพวกเขาดูมีความสุข เมื่อได้รับสิ่งของเหล่านั้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สร้างความประทับใจให้กับทสึจินับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
ในปี 1960 ทสึจิได้ส่งลูกชายเข้าเรียนโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน เมื่อได้เห็นบรรยากาศห้องเรียนที่คุ้นเคย ความทรงจำเกี่ยวกับปาร์ตี้วันเกิดในวัยอนุบาลก็ย้อนคืนมา ด้วยความสงสัยเขาจึงเอ่ยถามเพื่อนร่วมชั้นเรียนของลูกชายตนว่า "วันเกิดได้ของขวัญไหม ?" ซึ่งคำตอบของเด็ก ๆ ทำให้เขารู้สึกแปลกใจอย่างยิ่ง เพราะเด็กหลายคนบอกว่าตนไม่เคยได้รับของขวัญหรือมีปาร์ตี้วันเกิดเลย บางคนได้ 1-2 ชิ้นจากพ่อแม่ของเขา เมื่อได้ยินดังนั้น ทสึจิรู้สึกว่าตนต้องทำอะไรสักอย่าง จนเกิดเป็นไอเดียการทำซานริโอนั่นเอง
ในปี 1970 สินค้าไลน์แรกที่วางจำหน่าย คือ เสื้อยืด รองเท้าแตะ และอุปกรณ์เครื่องเขียน โดยเพิ่มความคาวาอี้ลงไปด้วยรูปสตรอว์เบอร์รี่ ที่ถึงแม้ว่าจะดูธรรมดา แต่ผลตอบรับกลับดีเกินคาด และหลังจากสินค้าวางจำหน่ายไประยะหนึ่ง ทสึจิกลับไปถามคำถามเดิม ๆ กับเด็กอนุบาลว่า "วันเกิดได้ของขวัญไหม ?" ส่วนใหญ่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาได้รับของขวัญในวันเกิด แตกต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ส่วนน้อยจะได้รับของขวัญวันเกิด ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวของทสึจิ แต่ก็ทรงพลังมากพอที่ทำให้เขาเริ่มคิดค้นตัวละครที่มีเอกลักษณ์มากขึ้น ตั้งแต่สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า ไปจนถึงแมลง มีตั้งแต่ สุนัข ช้าง ยีราฟ นก ผีเสื้อ แต่ก็ไม่สำเร็จเท่าแมวสีขาว จนถึงทุกวันนี้เขาก็ยังไม่แน่ใจว่าเหตุใดแมวสีขาวถึงได้ครองใจผู้คนทั่วโลกได้ถึงเพียงนี้
ทสึจิใช้เวลาครึ่่งศตวรรษเพื่อส่งเสริมและรักษามิตรภาพผ่านการให้ของขวัญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผ่านธุรกิจแบบ Gift-giving business ด้วยตัวละครคิตตี้ที่อยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ สามารถซื้อเก็บสะสมก็ได้ ให้เป็นของขวัญก็ดี จนในวันนี้ซานริโอได้ฝังเข้าไปในจิตใจของผู้คนทั่วโลก และมอบความสุขให้กับผู้คนมาถึงปัจจุบัน
ใครจะคิดว่าของเล่นชิ้นเล็ก ๆ นี้สามารถสะท้อนตัวตนของผู้คิดค้นได้มากทีเดียว และยังทำให้เราได้เห็นว่า มากกว่าธุรกิจ คือการแบ่งปันความสุขและรอยยิ้มให้กับเด็กทั่วโลกที่เหล่าผู้สร้างต่างยึดถือ ซึ่งนอกเหนือจากผู้สร้างของเล่นที่เราหยิบยกมาแล้วยังมี "พี่เป้" นักออกแบบของเล่นมืออาชีพ ที่จะมาแบ่งปันความรู้ตั้งแต่วิธีคิดจนถึงวิธีการสร้าง สามารถรับชมได้ที่ รายการ สนุกเรียน ตอน เรียนรู้อาชีพนักออกแบบของเล่นไม้ (02 ส.ค. 64)
ที่มา: The New York Times The Daily Telegraph Britannica LEGO ThoughCo