รูปทรงหัวใจ ❤ สัญลักษณ์สื่อรักที่พบเห็นได้ทุกที่ ตั้งแต่เครื่องประดับ ช็อกโกแลต อิโมจิ ไปจนถึงท่าถ่ายรูปสุดฮิตอย่างมินิฮาร์ต แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ทำไมรูปทรง ❤ ถึงใช้แทนความรัก? และยังไม่เหมือนหัวใจของคนเราอีก? เนื่องในวันแห่งความรัก ALTV จึงอยากพาทุกคนมาร่วมหาคำตอบถึงที่มาของรูปทรงหัวใจ สัญลักษณ์สื่อรักไปพร้อม ๆ กัน
ที่มาที่ไปของรูปทรงสื่อรักนี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ การเขียนรูปทรงหัวใจที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรีก-โรมันโบราณแล้ว! พิสูจน์ได้จากเครื่องปั้นดินเผา แจกันเซรามิกต่าง ๆ ที่มักพบร่องรอยการวาดลวดลายรูปหัวใจที่เราคุ้นเคยอยู่ด้วย ส่วนใหญ่ปรากฎอยู่บนภาชนะที่ใช้บรรจุไวน์ เครื่องดื่มรสเลิศของเหล่าชนชั้นสูงที่มักเสิร์ฟในช่วงประชุมสัมมนา
ทฤษฎีที่น่าสนใจมีอยู่ว่าหรือแท้จริงแล้ว รูปทรงหัวใจที่ปรากฏอยู่นั้นไม่ได้มาจากหัวใจของคนเรา แต่มาจากรูปทรงของ “ใบต้นไอวี่” พืชไม้เลื้อยลักษณะคล้ายเถาว์องุ่น มีใบสีเขียวชอุ่มให้เห็นตลอดปี ซึ่งจะคุ้นหน้าคุ้นตาพืชชนิดนี้ดี จากเครื่องสวมศีรษะของเทพเจ้าตามตำนานกรีก-โรมัน หรือรูปแบบสไตล์การตกแต่งบ้านเก๋ ๆ บน Pinterest ก็มักจะเห็นต้นไอวี่อยู่ด้วย
ในยุคกรีกโบราณ ต้นไอวี่ถือเป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าแห่งไวน์ นามว่า ไดโอนีซุส (Dionysus) ตามตำนานเล่าขาน เทพเจ้าไดโอนีซุสไว้ว่าจะใช้เถาว์ต้นไอวี่ ดักจับหญิงสาวที่ไม่นับถือต่อพระองค์ เมื่อใครก็ตามที่ถูกจับด้วยเถาว์ไอวี่แล้วก็จะตกอยู่ภายใต้มนต์สะกดทันที นอกจากนี้มันยังปรากฏอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของ ความต้องการทางเพศ ในวรรณกรรม Bacchus ของโรมันโบราณอีกด้วย ซึ่งถ้าหากเทียบดูแล้วจะเห็นได้ว่าใบไอวี่มีความใกล้เคียงกับรูปทรงหัวใจมากทีเดียว และอาจมากกว่าอวัยวะหัวใจที่เราพกติดตัวมาตั้งแต่เกิดเสียอีก ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเชื่อว่าต้นแบบของรูปหัวใจอาจมาจากใบไอวี่ก็เป็นได้
อีกทฤษฎีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือมาจาก "เมล็ดดอกซิลเฟียม (Silphium)" พืชดอกแถบลิเบียที่ในปัจจุบันเป็นต้นไม้ใกล้สูญพันธุ์ หาชมยาก ลักษณะมีดอกสีเหลือง ไฮไลท์อยู่ตรงเมล็ดรูปทรงคล้ายหัวใจ ซึ่งในสมัยโบราณเชื่อกันว่ารักษาโรคได้ครอบจักรวาล ที่สำคัญสามารถใช้เป็นยาคุมกำเนิดได้!
ในสมัยก่อนความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ยังตกต่ำ การคลอดบุตรถือเป็นอีกความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ ถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว ผู้หญิงที่ต้องการคุมกำเนิดจึงต้องดื่มน้ำที่สกัดจากเมล็ดซิลเฟียม เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
อ้างอิงจาก The mystery of the lost Roman herb โดย BBC ระบุไว้ว่า การใช้ดอกซิลเฟียมอาจเป็นการคุมกำเนิดครั้งแรกของมนุษยชาติ ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในยุคนั้น และด้วยเมล็ดรูปทรงหัวใจจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราเชื่อมโยงมันเข้ากับความโรแมนติกต่าง ๆ มาถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้เองดอกซิลเฟียม จึงถือเป็นตัวแทนของการเยียวยารักษา เซ็กส์ ความรักของคนหนุ่มสาว ทั้งยังได้รับการยกย่องจากนักปราชญ์โบราณ นามว่า "Pliny the elder" ว่าเป็นเหมือนของขวัญล้ำค่าที่ธรรมชาติมอบให้
ครั้งหนึ่งมนุษย์เราเคยปักใจเชื่อว่าโลกแบน จนถึงตอนนี้ทฤษฎีที่ว่าก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกันกับการเกิดรูปทรงหัวใจ ที่ในยุคก่อนวิทยาศาสตรและการแพทย์ยังไม่เจริญถึงขีดสุดเหมือนทุกวันนี้ โดยเฉพาะความรู้เรื่องกายวิภาคที่ยังตกต่ำมาก เพราะถือเป็นเรื่องผิดบาปที่ใครสักคนจะชำแหละศพ เพื่อศึกษา เรียกว่าขัดกับหลักคริสต์ศาสนาในสมัยนั้นก็ว่าได้
อย่างไรก็ตามไม่มีอะไรปิดกั้นความอยากรู้ของคนเราได้ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 นายแพทย์ชาวกรีก นามว่า Galen ใช้องค์ความรู้และประสบการณ์อันน้อยนิดของเขา ศึกษาเกี่ยวกับสรีระร่างกายของมนุษย์ จนได้ข้อสรุปว่า หัวใจมนุษย์มีสามห้อง ทำงานร่วมกับตับ มีรูปร่างกลมรีเหมือนลูกแพร์หรือลูกสน ถึงแม้ว่าไม่ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงเท่าไหร่ แต่มุมมองนี้ก็ดำเนินไปถึงยุคกลาง และเป็นแนวคิดการวาดภาพหัวใจของเหล่าจิตรกร ตัวอย่างภาพชิ้นแรก ๆ คือผลงาน ชื่อว่า Caritas (1305) โดย Giotto di Bondone เป็นภาพหญิงสาวที่ในมือข้างหนึ่งถือตะกร้าผลไม้ และอีกมือหนึ่งกำลังเอื้อมไปรับหัวใจจากพระเจ้าที่มอบให้เธอ จะเห็นว่าหัวใจในมือมีลักษณะกลมรีคล้ายผลลูกแพร์
"❤" สื่อถึงการแสดงความรักครั้งแรกในหนังสือต้นฉบับ The Romance of the Good King Alexander ช่วงปี ค.ศ. 1338-1344 จากภาพวาดในหนังสือที่ชื่อว่า The Heart Offering (การถวายหัวใจ) เป็นภาพหญิงสาวกำลังประคองหัวใจรูปร่างคล้ายผลลูกแพร์ ที่รับมาจากชายหนุ่มตรงหน้าเธอ ขณะเดียวกันชายหนุ่มก็ใช้มือแตะหน้าอกของตัวเอง สื่อถึงที่มาของหัวใจในมือของหญิงสาวเป็นการอ้อนวอนให้รับรักตนนั่นเอง
จุดรุ่งเรืองของสัญลักษณ์สื่อรัก เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1400 เป็นต้นมา รูปทรงหัวใจดังกล่าว พบเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายไม่ว่าจะในหนังสือ อัญมณี เสื้อคลุม ไพ่ หีบไม้ ด้ามดาบ สถานที่ฝังศพ งานแกะสลักไม้ และเครื่องหมายการพิมพ์ มันได้เดินทางผ่านมาหลายยุคสมัย ละทิ้งกรอบจากอิทธิพลศาสนาแบบดั้งเดิมลงไป จนในปี 1977 สโลแกนหัวใจระดับตำนานที่สร้างความป๊อบไปทั่วโลก 'I ❤ NY' (I LOVE NEWYORK) โดย Milton Glaser ก็ถือกำเนิดขึ้นและทำให้ทั่วโลกเข้าใจตรงกัน ถึงรูปทรงหัวใจในฐานะสัญลักษณ์สื่อรักนั่นเอง
ไม่น่าเชื่อเลยว่าสัญลักษณ์ธรรมดา ๆ ที่เราเห็นได้ทุกวัน มีที่มาที่ไปไม่ธรรมดาเลยนะเนี่ย! แล้วเพื่อน ๆ ล่ะ คิดว่ารูปทรงหัวใจมากจากไหนกันบ้าง ? อย่างไรก็ตามเนื่องในโอกาสวันแห่งความรัก ALTV ขอให้ผู้อ่านมีความสุขกับเทศกาลวันวาเลนไทน์ และได้ใช้โอกาสนี้แสดงความรัก ความห่วงใยกับคนที่คุณรักอย่างเต็มที่นะคะ ❤