ทุกคนคงทราบดีว่าคนไทยนิยมกินข้าวกันเป็นอาหารหลัก ไม่ว่าจะกินอะไร ก็มักจะมีข้าวอยู่ในมื้ออาหาร ทั้งข้าวสวย ข้าวเหนียว หรือข้าวต้ม ก็มักจะถูกกินคู่กับอาหารอื่น ๆ หลายชนิด แต่การปลูกข้าวก็ไม่ได้สามารถการันตีว่าจะออกมาอุดมสมบูรณ์เสมอไป เนื่องจากต้องอาศัยธรรมชาติ ทั้งอากาศ ทั้งฝน ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ จึงจำเป็นต้องหาตัวช่วย นั่นก็คือการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา และความเชื่อนั้นนำมาสู่วัฒนธรรม พิธีกรรมที่สวยงาม ซึ่งก็มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ วันนี้เราจะพามาดูพิธีกรรมที่เชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและมนุษย์
ในหลายพื้นที่เมื่อจะปลูกข้าว จะต้องมีการทำพิธีกรรมอยู่เสมอ ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ โดยจะเริ่มทำพิธีกรรมตั้งแต่ปลูกข้าวไปจนถึงเก็บเกี่ยว ทุกขั้นตอนมีความละเอียดและสวยงาม รวมถึงเหตุผลของความเชื่อ
1.พิธีกรรมก่อนการเพาะปลูก เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรให้คุ้มครองจากสิ่งอันตราย และขอให้มีความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกข้าว นอกจากนี้ยังมีพิธีต่าง ๆ ที่ทำในช่วงก่อนการเพาะปลูกด้วย ไม่ว่าจะเป็นบุญบั้งไฟ แห่นางแมว หรือพิธีปั้นเมฆ พิธีเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวทั้งนั้น
2.พิธีกรรมช่วงปลูก มีการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพื่อให้การปลูกข้าวดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีอุปสรรคใด ๆ พิธีต่าง ๆ ในช่วงนี้ได้แก่ พิธีแรกดำน้ำ พิธีแรกนาไถ และพิธีตกกล้า เป็นต้น
3.พิธีกรรมเพื่อการบำรุงรักษา ทำเพื่อให้ข้าวเติบโตได้ดี ปลอดภัยจากแมลงและสัตว์ต่าง ๆ มักจะทำพิธีเพื่อไล่สัตว์กันเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมีการใช้เครื่องราง น้ำมนต์ และการหว่านทรายเพื่อเป็นตัวช่วยในการดูแลปกป้องข้าว
4.พิธีกรรมเพื่อการเก็บเกี่ยวและฉลองผลผลิต ทำเพื่อให้ได้ผลผลิตของข้าวจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมที่เรามีต่อข้าว จะมีการใช้พิธีรวบข้าว แรกเกี่ยวข้าว พิธีเปิดยุ้ง พิธีปิดยุ้ง และอื่น ๆ พิธีกรรมเหล่านี้จะถูกจัดขึ้นในช่วงเก็บเกี่ยวเท่านั้น
ประเพณีสมโภชแม่โพสพ (ทำขวัญข้าว)
เชื่อว่าตอนเด็กหลายคนจะโดนบ่นเวลาที่กินข้าวไม่หมด บอกว่าให้สงสารชาวนาบ้าง บอกว่าชาติหน้าจะไม่มีข้าวกินบ้าง แต่บางคนโตมากับคำว่า “ถ้ากินข้าวไม่หมด พระแม่โพสพจะเสียใจ” แต่พระแม่โพสพเป็นใคร เกี่ยวข้องอย่างไรกับข้าวที่เรากิน
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า เดิมทีแล้วพระแม่โพสพเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ มีรูปร่างผิวพรรณผ่องใส แต่อยู่มาวันหนึ่ง พระอินทร์ทรงเห็นว่าพระแม่โพสพนั้นหมองลง เนื่องจากผลบุญที่มีเริ่มหมดลง พระอินทร์จึงแนะนำให้ลงมาสะสมบุญบนโลกมนุษย์ โดยให้นางกลายร่างเป็นต้นข้าว หลังจากนั้นฤาษีจึงได้ชี้ไปที่ต้นข้าวทำให้เมล็ดข้าวกระจายเต็มท้องนา
ต่อมา มีหญิงหม้ายคนหนึ่งใช้ไม้คานทุบเมล็ดข้าวใหญ่ให้แตกกระจาย บางส่วนของเมล็ดข้าวตกบนภูเขาเกิดเป็นข้าวไร่ บางส่วนของเมล็ดข้าวตกในน้ำเกิดเป็นข้าวนาดำชื่อนางโพสพ นางโพสพน้อยใจที่ถูกหญิงหม้ายตีจึงหนีไปอยู่ในถ้ำ ตั้งแต่นั้นมามนุษย์จึงไม่มีข้าวกินนับพันปี วันหนึ่งลูกเศรษฐีหลงทางไปในป่าไปพบแม่โพสพ ลูกเศรษฐีจึงอ้อนวอนแม่โพสพกลับคืนสู่เมืองมนุษย์ และชวนให้มนุษย์ยกย่องนางเป็นเทพธิดา หลังจากที่มีข้าวอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง มีชายโลภมากเก็บข้าวไว้ในครอบครองแต่ไม่แบ่งให้ผู้อื่นกิน แม่โพสพจึงหนีกลับไปอยู่ในถ้ำอีก มนุษย์ก็ไม่มีข้าวกินหลายร้อยปี เทวดาอ้อนวอนให้แม่โพสพกลับไปโลกมนุษย์และสอนให้มนุษย์นับถือและดูแลแม่โพสพให้ดี
ประเพณีทำขวัญข้าว จะทำการเมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวในนาเสร็จแล้ว เพื่อที่จะเรียกขวัญในนาที่ตกหล่นอยู่บ้างกลับมาขึ้นบ้าน เพราะเขาถือว่าเมล็ดข้าวคือแม่โพสพต้องเชิญมาขึ้นฉางข้าวให้หมด เมื่อข้าวสุกเหลืองพร้อมที่จะเก็บได้แล้ว ก่อนที่จะเกี่ยวข้าวต้องทำพิธีรวบข้าว โดยดูฤกษ์เสียก่อนว่าจะรวบได้วันใด วิธีการรวบข้าวต้องรวบกลางแปลงนาข้าว โดยนำข้าวสามกอมารวบมัดไว้ด้วยกัน เวลารวบข้าวต้องใช้คาถาว่าด้วยคาถารวบข้าว ทำแล้วอุ่นใจว่าเป็นสิริมงคล ไม่ประสบภาวะอดอยาก ทำนาได้ผล มีข้าวกินตลอดปี หากมองให้ลึกซึ้งก็ให้คุณค่าทางใจ ทั้งยังปลูกฝังคุณธรรมเรื่องความกตัญญูต่อสิ่งที่มีคุณ ให้ความสำคัญต่อข้าว แสดงออกต่อข้าวด้วยความสำนึกในคุณค่าและรู้จักเก็บรักษา
ประเพณีการเลี้ยงผีตาแฮก
แน่นอนว่าบ้านเรามักจะมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องรักษาสถานที่ต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับท้องนา ชาวนาในภาคอีสานมีความเชื่อว่ามีผีตาแฮกคอยปกป้องดูแลอยู่ ผีตาแฮกเป็นผีที่อยู่ดูแลรักษาท้องนา และจะทำให้ข้าวมีความสมบูรณ์ เจริญเติบโตได้ดี บางคนจะมีที่อยู่ให้สำหรับผีตาแฮก อาจเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ หรือทำสัญลักษณ์เพื่อบอกให้รู้ว่า ตรงนี้คือที่อยู่ของผีตาแฮก สามารถพบเห็นได้มากมายตามท้องนาของชาวบ้าน และเพื่อเป็นการขอบคุณผีตาแฮกที่คอยดูแลท้องนา ก็จะมีการเซ่นไหว้ทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ในช่วงก่อนการปักดำ ในช่วงเดือนพฤษภาคม และช่วงหลังจากที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ทำเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ โดยนำของเซ่นไหว้ไปไว้ในที่ตาแฮกอยู่ จุดเทียนเพื่อบอกกล่าวให้มารับของเซ่น รวมทั้งขอพรในระหว่างที่ทำพิธีเพื่อให้ผีตาแฮกดูแลรักษาท้องนาให้เกิดความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้การปลูกข้าวในครั้งต่อ ๆ ไปจะได้มีผลผลิตที่ดี
ประเพณีบุญบั้งไฟ งานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ในจังหวัดยโสธร!
ชาวบ้านเชื่อว่ามนุษย์อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา และเรียกเทวดาว่า “แถน” เป็นผีชั้นสูงหรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม ผีฟ้า สามารถที่จะดับทุกข์เข็ญหรือทำลายล้างอุปสรรคทั้งปวง และสามารถที่จะช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ และเชื่อว่า ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน หากทำให้แถนโปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน การจุดบั้งไฟก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีเพื่อเป็นการขอฝนจากพญาแถน
บุญบั้งไฟ นิยมทำกันในเดือนหก ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย มีการแข่งขันว่าบั้งไฟใครจะขึ้นได้สูงที่สุดในแต่ละปี งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณีประจำปีที่สำคัญของชาวอีสาน พอใกล้ถึงวันงานชาวอีสานไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะกลับบ้านไปร่วมงาน สร้างความรักความสามัคคีของคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี มีบั้งไฟหลายแบบที่จุด เช่น ไฟน้ำมัน ไฟธูปเทียน หรือไฟดินประสิว สามารถไปชมประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสวยงามได้ที่ จังหวัดยโสธร นอกจากนี้ยังมีจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น อุดรธานี, กาฬสินธ์ุ
เมื่อแห้งแล้งถึงขีดสุด ชาวบ้านจะแห่นางแมว
ทุกคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับประเพณีแห่นางแมวของทางภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ จะทำเมื่อฝนไม่ตกลงมาตามฤดู ผืนดินแห้งแล้งมาก เป็นผลเสียต่อการปลูกพืช โดยเฉพาะอาหารหลักของประเทศไทยอย่าง “ข้าว” คนไทยมักเชื่อในเรื่องของการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงมีการทำพิธีกรรมเพื่อขอให้ฝนตกลงมา โดยใช้สัตว์สีเดียวกับก้อนเมฆในการเรียกฝน นั่นคือการใช้แมวสีสวาดซึ่งสีคล้ายเมฆฝน โดยมีความเชื่อที่ว่าแมวเป็นสัตว์ที่ลึกลับ และมีพลังวิเศษ เมื่อใช้แมวมาทำพิธี ก็จะทำให้ได้ผลดี เทวดาจะช่วยให้ฝนตกลงมาได้ บ้างก็มีความเชื่อว่าเพราะอากาศเป็นพิษ จึงต้องทำการขอฝนจากเทวดาเพื่อมาชำระล้างสารพิษที่ลอยอยู่ในอากาศและในดิน คนที่จะเข้าร่วมพิธีนี้จะแต่งตัวสวยงาม ผู้หญิงจะต้องทาหน้าขาว ทัดหูด้วยดอกไม้ดอกใหญ่ แห่นางแมวไปทั่วหมู่บ้าน ระหว่างที่แห่ก็จะให้คนในหมู่บ้านสาดน้ำใส่แมว เมื่อแมวที่ถูกแห่ร้องเสียงดัง ฝนก็จะตกลงมาตามเสียงของแมว ลักษณะของพิธีกรรมนี้จะค่อนข้างมีความสนุกสนาน เต้นรำ ร้องเพลงกันระหว่างทำพิธี มักจัดขึ้นในวันพระ
ซึ่งในปัจจุบันหลายที่จะมีการใช้ตุ๊กตาแทนแมวจริง ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการทารุณสัตว์ โดยเฉพาะในหมู่คนรักแมว
จะเห็นได้ว่าประเพณีเกี่ยวกับข้าวเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม ความเชื่อของแต่ละพื้นที่ ซึ่งล้วนมาจากการเคารพธรรมชาติ และให้ความสำคัญกับเมล็ดข้าว ที่เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงปากท้องของคนไทยมาอย่างช้านาน
ติดตามเรื่องเล่าจากข้าว ได้ที่รายการ เมล็ดข้าวเล่าเรื่อง ทางแอปพลิเคชัน VIPA