คนทั่วไปเขารู้จักอัลคาทราซกันไหม?
นั่นสิ... เราหันไปถามเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ สองคน ได้คำตอบมาว่ารู้จักนะ คนแรกบอกว่าเคยได้ยินจากในหนังว่าอัลคาทราซเป็นชื่อของคุกที่เข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อีกคนก็เออออบอกว่ารู้จักประมาณนั้นเหมือนกัน แต่เคยอ่านผ่านตาจากนิยาย
ส่วนเราผู้ชอบดูรายการที่ว่าด้วยตำนานทั้งเรื่องลี้ลับและเรื่องจากประวัติศาสตร์ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้จักทัณฑสถานแห่งนี้
อัลคาทราซคือชื่อของเกาะเล็กจิ๋วกลางอ่าวทะเลซึ่งตั้งอยู่บนทำเลทอง เพราะถ้าหากคุณมองออกมาจากตัวเกาะแล้วล่ะก็ คุณจะได้เห็นสะพานโกลเดนเกตทอดตัวออกมาจากความเจริญของเมืองซานฟรานซิสโกอยู่ไม่ไกล
แต่เกาะแห่งนี้ท่าจะดวงชง เพราะแทนที่โลเคชั่นวิวหลักล้านนี่จะได้เป็นที่ตั้งของรีสอร์ตหรูหรือคฤหาสน์มหาเศรษฐี มันกลับกลายที่เป็นที่ตั้งของอดีตเรือนจำกลางความมั่นคงสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อพูดถึงคุกอัลคาทราซ บางคนจึงเห็นว่ามันเป็นตัวแทนแห่งการกักขังทำโทษ และการถูกเนรเทศ เพราะมันทำหน้าที่เป็นคุกทหารอยู่เกือบร้อยปีตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เกาะอัลคาทราซที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคุกที่แหกยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถูกใช้เป็นสถานที่จองจำเหล่าคนที่ถูกตัดสินว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐมามากมาย ก่อนที่จะปิดตัวลงไปในช่วงปลายยุค 60’s แล้วกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมจนอุทยานแห่งชาติขนาดเล็กแห่งนี้มีผู้คนข้ามเรือมาเยี่ยมชมมากกว่าห้าพันคนต่อวัน
……………..
“ไม่ใช่ทุกคนในคุกที่เป็นอาชญากร”
เจ้าของคำพูดนี้คือ อ้ายเว่ยเว่ย – ศิลปินอดีตนักโทษชาวจีน ผู้เป็นนักเคลื่อนไหวและนักสิทธิมนุษยชนที่ถูกรัฐตัดสินว่าความเห็นต่างของเขาถือเป็นความผิด การแสดงออกของเขาสร้างความระคายเคืองเสียจน “ทางการ” จำเป็นต้องกักบริเวณและดำเนินการอายัดหนังสือเดินทางของเขาเสีย เนื่องจากมีทัศนคติที่อันตรายและเป็นภัยต่อความมั่นคง
อ้ายเว่ยเว่ยเชื่อว่าตนผู้เป็นศิลปิน มีหน้าที่แสดงออกถึงสุนทรียะและมุมมองทางการเมือง ผ่านการจัดแสดงงานศิลปะ
“นี่ถือเป็นหน้าที่ของเหล่าศิลปิน ที่จะต้องต่อสู้เพื่อปกป้อง freedom of speech – เสรีภาพในการแสดงออก เพราะนั่นคือจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์”
รัฐพยายามแยกอ้ายเว่ยเว่ยออกจากสังคม แต่ไม่อาจกักความคิดของเขาเอาไว้ได้เหมือนที่กักบริเวณร่างกายของเขา
การถูกตัดสิทธิ์การเดินทางออกนอกประเทศไม่ใช่อาวุธที่จะหยุดเขาได้ เมื่อทัศนคติดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเดียวดาย แต่มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยและช่วยสนับสนุนเขาอยู่อย่างแข็งขัน จนวันหนึ่งอเล็กซานดรา มันโร ภัณฑารักษ์ชาวอเมริกันได้เดินทางไปเยี่ยมเขาถึงที่พำนักแล้วถามว่า มีอะไรที่เธอพอจะช่วยเขาได้บ้างไหม?
“ช่วยให้งานของผมได้เข้าถึงผู้คนให้ได้มากๆ”
คือคำตอบของอ้ายเว่ยเว่ย
ถ้าหากไม่สามารถพาตัวศิลปินออกไปสร้างผลงานต่อสาธารณะชนได้ด้วยตนเองแล้วจะจัดแสดงผลงานของเขาได้อย่างไร?
ถ้าตัวเขาออกไปไม่ได้ แต่พาไอเดียของเขาออกไปแทนล่ะ...?
“What if I brought you a prison? – ถ้าฉันหาคุกมาให้คุณได้ล่ะ?”
ประโยคคำถามนี้ผุดขึ้นมาระหว่างที่อเล็กซานดราพยายามคิดแก้ปัญหา ถึงจะฟังดูทะแม่งที่จะยกเอาคุกมาเสนอให้คนที่ถูกกุมขัง แต่คุกที่ว่ามานั้นไม่ใช่การประชดกัน
อเล็กซานดราเสนอว่า เธออยากหาคุกมาให้เขาจริงๆ คือเธออยากนำงานศิลปะของอ้ายเว่ยเว่ยออกไปจัดแสดงบนเกาะอัลคาทราซ
เมื่ออ้ายเว่ยเว่ยผู้ช่ำชองในการใช้ทั้งเทคโนโลยีและวิธีการใหม่ๆ เพื่อสื่อสารเรื่องราวความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ร่วมมือกับภัณฑารักษ์ผู้อาสานำสารออกไปส่งให้กับผู้ชม นิทรรศการแสดงงานศิลปะชื่อ @Large: Ai Weiwei on Alcatraz จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
นอกจากตัวงานที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2019 แล้ว กระบวนการสร้างโครงการและจุดประสงค์ของนิทรรศการยังได้ถูกบันทึกเรียบเรียงเอาไว้เป็นอย่างดีในสารคดี “AI WEIWEI: YOURS TRULY on Alcatraz”
ระหว่างที่สารคดีดำเนินไป ประโยคหนึ่งในบทสัมภาษณ์ของ สตีเฟน ฮอว์กินส์ อดีตกรรมการบริหารองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) แขกคนสำคัญที่มาชมงานศิลปะสะดุดใจเราเข้าอย่างจัง
“human rights abuse can only be flourished under the cloak of darkness.—การละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเติบโตได้ก็เพียงภายใต้ความมืดมิด”
...ความคิดจึงเป็นเหมือนแสงที่ฉายนำทางให้การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ยังมีชีวิตต่อไป
ผลงานของอ้ายเว่ยเว่ย เป็นแหล่งกำเนิดแสงอย่างมากมาย แต่ไม่ใช่เพียงศิลปินผู้มีความสามารถอย่างเอกอุเท่านั้นที่มีกำลังผลิตแสง เราทุกคนสามารถจุดประกายส่งต่อกันได้ขอเพียงมีความหวังเป็นแหล่งพลังงานในใจ
เราอยากชวนคุณไปจุดประกายแสงด้วยกัน
ชมสารคดี AI WEIWEI: YOURS TRULY on Alcatraz ได้ที่ VIPA
เมื่อคุณกักขังเสรีภาพ เสรีภาพจะโผบิน
แล้วเกาะลงตรงขอบหน้าต่าง
- อ้าย เว่ยเว่ย-