ขึ้นชื่อว่า เดือนมีนาคม หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “มีนา” เป็นเดือนแห่งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ และขณะเดียวกันบางประเทศก็เข้ากำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิเช่นกัน สำหรับฤดูร้อนในเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่อากาศปลอดโปร่ง นาข้าวกำลังเขียวขจี เวลานี้จึงเหมาะแก่การออกไปท่องเที่ยวเพื่อซึมซับธรรมชาติ
วิวทุ่งนา ในสายตาของคนสมัยก่อนอาจเป็นภาพที่เห็นจนชินตา แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ นาข้าวนั้นมีเสน่ห์ เพราะนอกจากจะให้ผลิตผลแก่เกษตรกรแล้ว ทิวทัศน์ที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตายังสามารถนำมาใช้เป็น “จุดขาย” เชิงการท่องเที่ยวได้ วิวนาข้าวแต่ละช่วงก็ให้ทิวทัศน์ที่ไม่เหมือนกัน บางช่วงเป็นวิวต้นกล้า บางช่วงเป็นวิวทุ่งข้าวสีทอง และในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวก็มีพืชชนิดอื่นมาแทนที่เต็มท้องนา ในเดือนมีนาคมนี้ ALTV จึงขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับ "นาข้าว" ซึ่งแต่ละสถานที่นอกจากจะได้มาพักผ่อนแล้ว ยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากกว่าแค่นั่งมอง
หากกำลังมองฟาร์มสเตย์ที่พักสไตล์เรือนไทย บรรยากาศเงียบสงบ ตั้งอยู่ริมนา ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แม้ที่นี่จะไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ก็ได้สูดลมธรรมชาติเต็มปอด รอบ ๆ ที่พักจะได้สัมผัสความสดชื่นของท้องนา ชมแปลงผักสวนผสม นั่งดูเป็ดห่านแหวกว่ายในหนองน้ำ หรือจะปั่นจักรยานชมวิวทุ่งนาได้อย่างเพลิดเพลิน
"ทานข้าวให้เป็นยา อย่าทานยาแทนข้าว" เป็นคำพูดที่เจ้าของบ้านข้าวหอมฟาร์มสเตย์ คุณวิระ ชูเชื้อ และคุณสายพิณ ชูเชื้อ มักกล่าวไว้ให้คิดได้อย่างน่าสนใจ จาก "ลูกชาวนา" เติบโตและทำงานเป็นวิศวกรมา 30 ปี คิดสำนึกรักบ้านเกิด จึงออกจากงานประจำมาทำ “บ้านข้าวหอมฟาร์มสเตย์แห่งนี้” เริ่มจากการทำนา ปลูกผัก ลงมือทำจริงอย่างแตกต่างโดยไม่ใช้สารเคมี หวังให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้อุดหนุนสินค้าที่ทำจากคนชุมชน
สิ่งได้มากกว่าการไปทุ่งนา
บ้านข้าวหอมโฮมสเตย์ ไม่ได้เป็นเพียงที่พักสำหรับปล่อยกายปล่อยใจท่ามกลางธรรมชาติเท่านั้น ยังมีกิจกรรมให้แขกที่มาพักได้ทำตามวิถีชนบท เช่น
และก่อนกลับบ้านอย่าลืมของฝากติดไม้ติดมือ คือผลิตภัณฑ์ข้าวหอมปทุมและข้าวไรซ์เบอร์รี ที่ทางบ้านข้าวหอมโฮมสเตย์ปลูกเอง มั่นใจได้ว่าปลอดสารเคมีทุกขั้นตอน มาทำความรู้จักข้าวทั้งสองสายพันธุ์กันสักหน่อย ข้าวหอมปทุม หรือ ข้าวหอมปทุมธานี 1 หนึ่งในข้าวที่หลายบ้านนิยมทาน เมื่อหุงแล้วมีกลิ่นหอม เหนียวนุ่ม คล้ายข้าวหอมมะลิ โดยเฉพาะข้าวใหม่ต้นฤดูจะมีกลิ่นหอมมากเป็นพิเศษ คุณประโยชน์ของข้าวหอมปทุมให้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตสูงถึง 77% รองลงมาคือโปรตีน นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และมีวิตามินบี 1, บี 2 ที่มีส่วนช่วยบำรุงประสาท และระบบไหลเวียนของเลือด
สำหรับข้าวไรซ์เบอร์รี ที่เห็นเป็นข้าวเมล็ดสีม่วงเข้มนั้น เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล มีเอกลักษณ์โดดเด่น คือเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาวสีม่วงเข้ม และข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่เมื่อหุงแล้วนุ่ม มีกลิ่นหอม กลายเป็นข้าวไรซ์เบอร์รีที่มีสีม่วงเข้มคล้ายกับลูกเบอร์รี่ รสชาติหอมมัน เหนียวนุ่ม โดยคุณประโยชน์ที่โดดเด่นที่จะพบได้ในน้ำมันรำข้าว และรำข้าว ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน, วิตามินอี, วิตามินบี 1, โอเมก้า 3, ธาตุเหล็ก ที่มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน คงความอ่อนวัย ลดระดับไขมัน และคอเรสเตอรอลได้ดี จึงเหมาะสำหรับสายรักสุขภาพทุกคน
ข้อมูลเพิ่มเติม
บ้านข้าวหอมฟาร์มสเตย์ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี (แผนที่)
“ทุ่งนา” และ “กาแฟ” เป็นสองสิ่งที่อยู่ในโซน "ดัชฟาร์ม" (Dutch Farm) ภายในโครงการออนไอที วัลเลย์ (Oon IT Valley) แลนด์มาร์กแห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนที่ห้อมล้อมไปด้วยขุนเขาติดกับนาข้าว นักท่องเที่ยวสามารถนั่งจิบกาแฟเบา ๆ ถ่ายรูป เช็กอิน พร้อมดื่มด่ำกับวิวทุ่งนาได้ทุกฤดูกาล อะไรจะดีไปกว่าการได้นั่งทำงานท่ามกลางภูเขาและทุ่งนากว้างไกล เพราะที่นี่มีสำนักงาน Co-Working Space พร้อมฟรี Wifi ที่จะช่วยเพิ่มความสุขในการทำงานให้กับคุณ
“การทำร้านกาแฟในบรรยากาศทุ่งนา ไม่ได้ทำตามกระแส” เพราะที่ดินผืนนี้มีแปลงนาข้าวหอมมะลิออร์แกนิก ราว 7 ไร่อยู่แล้วตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2558 และด้วยความบังเอิญของการวางผังร้านกาแฟของโครงการ จึงกลายเป็นที่มาของ “ทุ่งนากาแฟ” ซึ่งนาข้าวหอมมะลิแห่งนี้ให้ผลผลิตที่มากสามารถนำออกจำหน่ายและใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารของโครงการ
สิ่งได้มากกว่าการไปทุ่งนา
ทุ่งนากาแฟ เราจะได้จิบกาแฟหอมกรุ่นและลิ้มลองเบเกอรีแสนอร่อยที่ได้วัตถุดิบจากโครงการ โดยใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต นอกจากจะได้ดื่มด่ำกับวิวทุ่งนาแล้ว ใกล้คาเฟ่ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้อื่น ๆ ที่เหมาะสำหรับครอบครัว พ่อแม่และเด็ก ๆ ได้ทำร่วมกัน
ข้าวหอมมะลิแดงอินทรีย์เป็นข้าวหอมมะลิที่มีสีน้ำตาลแดง มีเอกลักษณ์ หอม นุ่ม ไม่ต่างจากข้าวหอมมะลิ แต่ให้น้ำตาลต่ำกว่าข้าวทั่วไป อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวธรรมดาถึง 31 เท่า ข้าวชนิดนี้จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก ส่วนไข่ไก่จากแม่ไก่อารมณ์ดี เป็นไข่ไก่ที่มีคุณภาพ อุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น วิตามินบี, วิตามินอี, และเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี มีไขมันโอเมก้า 3 สูง
โครงการออนไอที วัลเลย์ (Oon IT Valley) เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มผู้พัฒนาซอฟแวร์ โดย “คุณวิโรจน์ เย็นสวัสดิ์” เจ้าของโครงการที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านไอทีให้กับเหล่าสตาร์ตอัป SMEs ในด้านการเกษตร ด้านการจัดการ ฯลฯ ซึ่งจะเกิดการจ้างงาน สร้างโอกาส สร้างสังคมให้แก่เกษตรกรในชุมชนแบบเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวคิด “ร่วมแรงและแบ่งปัน” บนพื้นที่ 100 ไร่ ถนนสันกำแพงสายใหม่-แม่ออน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ข้อมูลเพิ่มเติม
พิกัด : อยู่ในโซน "ดัชฟาร์ม" อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ (แผนที่)
เปิดบริการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 18.00 น.
โครงการออนไอที วัลเลย์ (Oon IT Valley)
ข้อมูลเพิ่มเติม : www.oonvalley.com
การที่มีทุ่งนาอยู่หลังบ้านไม่ได้เป็นสิ่งที่แปลกใหม่อะไรสำหรับคนในชุมชนย่านชานเมือง แต่อยู่ดี ๆ ก็มีคน ๆ หนึ่งมองเห็นความงดงาม ลงทุนทุบกำแพงหลังบ้าน ทลายอดีตที่ผ่านไปแล้ว "เริ่มต้นชีวิตใหม่" เปิดเป็นร้านอาหารเล็ก ๆ สุดเรียบง่าย ชื่อ “ครัวยัยไก่” ทำอาหารบ้าน ๆ และมี “วิวนาข้าว” ส่งเสริม แต่ละวันที่มา เราจะได้เห็นทิวทัศน์ทุ่งนาเสมือน Wallpaper ที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะเจ้าของนาผืนนี้ทำนาปรังกันทั้งปี มีหว่าน ดำ และเก็บเกี่ยว บางครั้งได้เห็นวิวสีเขียวของต้นกล้า บางครั้งเป็นสีเหลืองทองของต้นข้าวออกรวง และหลังเก็บเกี่ยวก็จะเห็นตอซังข้าวสลับกับต้นหญ้าเขียวขจี
แม้กำไรที่เป็นตัวเงินจะไม่ได้มากมาย แต่กำไรที่สัมผัสได้ด้วยใจ โดยรวมเรียกว่า “ความสุข”
เจ้าของร้าน คุณไก่-กนกวรรณ บุตรชาติ และคุณบ๊อบ-กิตติศักดิ์ บุตรชาติ คู่รักที่เคยทำงานสายอาร์ต กลายเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันให้ชุมชนสนใจนาข้าวธรรมดา ๆ ที่อยู่หลังบ้าน มองเห็นความพิเศษกว่าที่เคย เมื่อทั้งคู่ได้ทำลายกำแพงและพบเจอกับธรรมชาติที่เป็นทุ่งนาหลังบ้าน ทำให้เกิดการเรียนรู้ เฝ้ามองการเติบโตของต้นข้าว และค้นพบว่าทุ่งนาหลังบ้านเหมือนเฟรมผ้าใบขนาดใหญ่ที่มีวิวทุ่งนา สวยไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน
สิ่งได้มากกว่าการไปทุ่งนา
ครัวยัยไก่เป็นร้านอาหารบ้าน ๆ ที่มีไลฟสไตล์ไม่ใช่แค่มาทานอาหารแล้วจากไป ครั้งหนึ่งเจ้าของร้านเคยมีแคมเปญสนุก ๆ เชิญชวนให้ผู้มาเยือน "ใส่ผ้าถุง" สไตล์ชาวบ้าน แล้วแชะภาพกับวิวท้องทุ่ง นอกจากนี้ยังได้ชมบรรยากาศภายในร้านที่ตกแต่งสุดสร้างสรรค์ ความอัธยาศัยดีของ คุณบ๊อบ และ คุณไก่ คือ เสน่ห์ที่ทำให้เหมือนไปกินข้าวบ้านเพื่อน แม้ครัวยัยไก่จะมีอาหารให้ทานไม่กี่เมนู แต่ก็มีเมนูจานแนะนำของทางร้านที่ คุณไก่ พัฒนาสูตรความอร่อยขึ้นมาเอง อย่าง ผัดไทยสูตรโบราณ โรยกากหมูหอม ๆ, ผัดกระเพราแห้ง ๆ ที่หลายคนชื่นชอบ และเนื้อผัดใบยี่หร่า รสจัดจ้าน
เมื่อพูดถึง “การทำนาปรัง” เป็นการทำนานอกฤดูปกติ ที่เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมกราคมบริเวณภาคกลางที่มีระบบจัดสรรน้ำที่ดี ข้าวที่เหมาะทำนาปรังจึงเป็น “ข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง” เช่น ข้าวหอมปทุมธานี 1, ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี แสงไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอกของพันธุ์ข้าว เมื่อครบอายุก็สามารถเก็บเกี่ยวได้
ข้อมูลเพิ่มเติม
พิกัด : หมู่บ้านอินเตอร์ เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ (แผนที่)
เปิดบริการ : ทุกวันพุธ - อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00 - 18.00 น.
ทุ่งข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์อาจเห็นไม่บ่อยนักในประเทศไทย แต่ที่ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาถ่ายรูปกับทุ่งข้าวสาลีและทุ่งข้าวบาร์เลย์ พร้อมเก็บเกี่ยวความรู้ในศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงกว่า 308 ไร่แห่งนี้ ความสุนทรีย์ของทุ่งข้าวสาลี คือในยามเย็นที่สายลมพัดผ่าน ทุ่งข้าวพริ้วไหวสลับกันไปมา เป็นโอกาสที่จะได้ได้ถ่ายรูปข้าวสีทองกระทบกับแสงอาทิตย์ นอกจากนั้นยังมีวิวทุ่งข้าวบาร์เลย์ผืนเล็กที่สวยงามไม่แพ้กัน
ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับมาเที่ยวชมทุ่งข้าวสาลี คือช่วง กลางเดือน ก.พ. - กลาง มี.ค. ของทุกปี จะได้ชมทุ่งข้าวสีทองอร่ามทั่วทุ่ง แต่หากถ้ามาเที่ยวช่วง ม.ค. จะได้พบกับทุ่งข้าวสีเขียว ได้บรรยากาศไปอีกแบบ
สิ่งได้มากกว่าการไปทุ่งนา
ทุก ๆ ปีทางศูนย์วิจัยข้าวสะเมิงจะจัด "งานปอยข้าวสาลีล้านนา" เทศกาลที่ให้ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวสาลี ในงานมีกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมสนุก แชะ แชร์ เช็กอิน และถ่ายรูปชิงรางวัล
สำหรับ ข้าวบาร์เลย์ (Barley) และข้าวสาลี (Wheat) เป็นธัญพืชที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูงถือว่าเป็นแหล่งพลังงานแก่มนุษย์มากที่สุด มอลต์ เป็นเมล็ดธัญพืชได้มาจากข้าวบาร์เลย์มีใยอาหารสูง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินในร่างกาย นิยมนำมาใส่ในอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น สลัด ซุป น้ำเต้าหู้ ส่วน ข้าวสาลี มีส่วนประกอบสำคัญ คือ กลูเตน รวมทั้งวิตามิน และแร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี เช่น แป้งข้าวสาลีที่เอามาทำเป็นเบเกอรี โรตี ปาท่องโก๋ และอาหารจำพวกเส้น เช่น พาสต้า บะหมี่
ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เดิมชื่อว่า " โครงการในพระราชประสงค์ที่ 7 " ก่อตั้งเมื่อปี 2521 โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ บุกเบิกโครงการเพื่อให้ชาวไทยภูเขาและชาวไทยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงสำหรับประกอบอาชีพการเกษตรโดยอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ปัจจุบันศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง เป็นแหล่งศึกษา วิจัย และพัฒนาพันธุ์ข้าวและธัญพืชเมืองหนาว รวมทั้งการเก็บเกี่ยวข้าวมาแปรรูป พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ตรวจสอบและรับรองระบบการผลิตข้าวสาลีที่ดี นักท่องเที่ยวสามารถใช้เป็นแหล่งความรู้ด้านข้าวและข้าวสาลีได้อีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม
พิกัด : อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ (แผนที่)
เปิดบริการ : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 16.30 น.
ด้วยความที่ประเทศไทยปลูกนาได้ทั้งปี มีทั้งนาปีและนาปรัง ทุกซีซันของการท่องเที่ยวแต่ละสถานที่ก็มีเสน่ห์ของ วิวทุ่งนา ที่ต่างกันตามการเติบโตของข้าว