“บทกวีนั้นอยู่รอบตัวเรา” ไม่ว่าจะเป็นโคลงกลอน สุภาษิต เพลง ไปจนถึงท่อนแร็พ แม้บทกวีจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบไหน วัตถุประสงค์เดียวที่กวีต้องการสื่อถึงผู้อ่านก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือการถ่ายทอดภาษาความรู้สึกที่อยู่ก้นบึ้งออกมาเป็นคำพูด เพราะไม่มีวรรณกรรมใดที่ทำให้สะเทือนอารมณ์ได้มากเท่าบทกวี
ประเทศไทยมีศิลปะการใช้ภาษาที่ยาวนาน ย้อนไปสมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่งเคยถูกยกย่องให้เป็น “ยุคทองของวรรณคดี” ด้วยนิสัย “เจ้าบทเจ้ากลอน” ของชาวอโยธยา ว่ากันว่ามักโต้ตอบกันด้วยภาษากลอน แม้แต่ยามผู้รักษาประตูวังก็ยังพูดจาเป็นโครงกลอนมาดกวี ด้วยค่านิยมที่ว่าหากผู้ใดที่อ่านออกเขียนได้ มีสำนวนโวหารคมคาย ถือเป็น “คุณสมบัติอันล้ำค่าที่น่ายกย่อง”
บทกวีไทยมักถูกใช้เป็นกุศโลบายแทนคำสอน สุภาษิตเตือนใจ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เพราะพยัญชนะไทยมีความพิเศษอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยเสียงวรรณยุกต์สูง-ต่ำ เอก โท ตรี จัตวา เปรียบได้กับ “เสียงเมโลดี้” บวกกับการเขียนร้อยกรองที่มีการสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร สัมผัสสระ และสัมผัสเสียง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแต่งบทกวีออกมาได้ไพเราะ กินใจคน
เนื่องในวันที่ 21 มีนาคม “วันกวีนิพนธ์โลก” เป็นวันแห่งการอนุรักษ์ศิลปะแห่งกวีนิพนธ์ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่นักกวีไทยและแรงบันดาลใจของกวียุคใหม่ จึงได้หยิบยก 5 กวีนิพนธ์ไทย ที่ถ่ายทอดบทกลอนสื่อความหมายบรรยายภาพได้งดงามจับใจ
สุนทรภู่ กวีเอกของโลกผู้เป็นต้นแบบ
"สุนทรภู่" เป็นกวีไทยที่มีผลงานการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย” และในปี ปี พ.ศ. 2529 องค์การยูเนสโกได้ยกย่องให้สุนทรภู่เป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้มีผลงานเด่นด้านวรรณกรรม อีกทั้งยังใช้ภาษาที่แปลกใหม่ ความหมายกินใจเป็นแนวทางให้แก่กวีรุ่นหลัง
กวีนิพนธ์ของท่านสุนทรภู่ มีความโดดเด่นโดยเฉพาะ “กลอนแปด” ด้วยลีลาการเดินกลอนแพรวพราว ลื่นไหลดั่งสายน้ำ อ่านแล้วไม่รู้สึกติดขัด มีการใช้ภาษาชาวบ้าน อิงจากประสบการณ์จริง ทำให้ เข้าใจง่าย อีกทั้งยังแฝงไปด้วยแนวคิด สุภาษิตสอนใจเชิงอุปมา อุปไมย จึงเป็นลักษณะพิเศษกลอนสุนทรภู่ที่ต่างจากกวีท่านอื่น ผลงานของสุนทรภู่มีทั้งบทนิราศ กลอนนิทาน สุภาษิต บทละคร ที่มีชื่อเสียง เช่น นิราศเมืองแกลง นิราศภูเขาทอง นิราศอิเหนา เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และพระอภัยมณี โดยเฉพาะเรื่อง พระอภัยมณี ได้รับยกย่องจาก วรรณคดีสโมสร ว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงอัจฉริยะเชิงกวีที่สะท้อนทักษะ ความรู้ และทัศนคติของสุนทรภู่มากที่สุด ซึ่งมีการนำไปดัดแปลงเป็นหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละครอย่างต่อเนื่อง
เพลงยาวถวายโอวาท หนึ่งในวรรณกรรมของสุนทรภู่ในรูปแบบเป็นกลอนแปด ที่แต่งขึ้นเมื่อครั้งที่เป็นครูสอนหนังสือให้กับเจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 เพื่อเป็นคำสอนแก่เจ้านายที่มีเชื้อสายราชวงศ์ ให้สามารถนำวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ในราชการบ้านเมืองต่อไป เนื้อหาสอนเรื่องการวางตัวและกล่าวถึงประเพณีเก่าแก่ เช่น กฎมณเฑียรบาล การแต่งกาย การล้างหน้า การตัดผม รวมถึง มีวรรคทองปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนี้มากมาย เช่น
อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย
อังคาร กัลยาณพงศ์ กวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่
กวีผู้บุกเบิกกวีนิพนธ์ยุคใหม่อย่าง อังคาร กัลยาณพงศ์ มีความโดดเด่นทั้งในด้านความคิดและบทกลอนที่เป็นอิสระ ไม่มีรูปแบบตายตัว ได้รับการยอมรับในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และเจ้าของรางวัลซีไรต์ หรือ รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ. 2529 จากผลงานกวีนิพนธ์ที่ชื่อว่า “ปณิธานกวี”
ลีลากาพย์กลอนของท่านอังคารเป็นอิสระ ไม่มีสูตรตายตัว หลายคนที่ได้อ่านผลงานของท่านต่างชื่นชอบตรงที่การใช้คำตรง ๆ กระแทกอารมณ์ ด้วยเนื้อหาสะท้อนสังคม มุ่งให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่จรรโลงจิตใจและเป็นทางรอดของมนุษย์ ครั้งหนึ่งบทกวีของท่านได้กระแทกใจกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดในสหรัฐอเมริกาท่านหนึ่งชื่อว่า อลัน กินส์เบิร์ก จนขอนำไปแปลเป็นภาษาอังกฤษให้โลกได้อ่าน ต่อมาไม่นานผลงานที่ชื่อว่า ปณิธานกวี ได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2529 และในปี พ.ศ. 2532 ก็ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กวีร่วมสมัยผู้ชุบชีวิตศิลปะวรรณกรรมไทยให้สอดคล้องกับศิลปะวรรณกรรมร่วมสมัย โดยการศึกษาแก่นด้านความงามและความคิดจากบทประพันธ์ของนักกวีโบราณ เช่น สุนทรภู่ ศรีปราชญ์ เจ้าฟ้ากุ้ง มาต่อยอดเป็นบทกวีในสไตล์ของท่านเอง
ขอยกบทประพันธ์วรรคหนึ่งของท่านอังคาร ที่บรรยายความงามตามธรรมชาติได้งดงามและเห็นภาพที่สุดเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ลำนำภูกระดึง เป็นบันทึกการเดินทาง เปรียบได้กับ "นิราศ" ของกวีสมัยก่อน
ภูกระดึงตะลึงฝันว่าชั้นฟ้า
เมฆลอยมาหุ้มกายคล้ายสวรรค์
สวนสนป่าพฤกษาลดาวัลย์
เย้ายวนป่วนปั่นสั่นวิญญาณ
เนินเถินสล้างสลับซับซ้อน
หญ้าอ่อนชะอ้อนใจไหวสะท้าน
งามเงื้อมชะโงกโตรกเหวธาร
ปานวิมานนฤมิตวิจิตรจริง
แม้ในวันนี้แม้ท่าน อังคาร กัลยาณพงศ์ จะล่วงลับไปแล้ว แต่ด้วยคุณงามความดีของการเป็นกวี ก็ได้ร้อยเรียงบทประพันธ์อันแฝงไว้ด้วยแง่คิด ช่วยยกระดับจิตใจให้แก่เพื่อนมนุษย์
ไพวรินทร์ ขาวงาม
กวีผู้ถ่ายทอดชีวิตชนบทได้ลึกซึ้งกินใจ
ศิลปินแห่งชาติและกวีซีไรต์ ชื่อจริงและนามปากกาเดียวกัน ว่า “ไพวรินทร์ ขาวงาม” เจ้าของรางวัลซีไรต์ พ.ศ. 2538 จากหนังสือรวมบทกวี ม้าก้านกล้วย กวีชาวร้อยเอ็ด ผู้เติบโตและมีจิตวิญญาณของธรรมชาติชนบท มีลีลาเขียนกลอนที่อ่อนหวาน ลึกซึ้ง ตรึงใจ
“บทกวีไม่ใช่แค่กลอนที่อยู่ในหนังสือบนหิ้ง” เป็นคำกล่าวของ ไพวรินทร์ ขาวงาม ที่มุ่งเน้นให้กลอนหรือบทกวีต้องสามารถเข้าถึงใจคนได้ง่าย ดังนั้นกวีนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองของท่านจึงมีความไพเราะ ถ่ายทอดเนื้อหาที่เรียบง่าย สัมพันธ์กับวิถีชนบท ลุ่มลึก และมีมุมให้ขบคิด โดยร้อยกรองมีรูปแบบที่ชัดเจน คงฉันทลักษณ์ดั้งเดิม ใช้ถ้อยคำกระชับ คล้องจอง ไหลลื่นตามสัมผัสสระ บางครั้งมีการประยุกต์ฉันทลักษณ์พื้นบ้านเพื่อนำเสนอเนื้อหาร่วมสมัย ผลงานประเภทร้อยกรองที่เป็นที่รู้จัก เช่น ลำนำวเนจร เจ้านกกวี
นอกจากผลงานด้านวรรณศิลป์แล้ว ไพวรินทร์ ขาวงาม ยังประพันธ์บทเพลงลูกทุ่งในลีลาบทกวี ร่วมกับครูสลา คุณวุฒิ นักประพันธ์เพลงลูกทุ่งอีสานและหมอลำ เป็นบทเพลงสุดซึ้งฟังแล้วคิดถึงแม่ชื่อว่า “ไหมแท้ที่แม่ทอ” โดย ไพวรินทร์ ขาวงาม เห็นว่าบทเพลงคือบทกวีที่สามารถสะเทือนอารมณ์ ปลอบ ปลุกใจ และทำให้ผู้คนมีแรงบันดาลใจได้ ดังที่ถ่ายทอดไว้ในร้อยกรอง “เพลงกวี เปลี่ยนชีวิต”
“คือแรงใจและไฟฝัน” หนังสือที่รวมบทกวีของ ไพวรินทร์ ขาวงาม มีการใช้ภาษาที่อ่านง่าย บางเบา แต่ทรงพลัง
ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์รางวัลดีเด่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2535
"เพื่อน"
แสงแดดบอกว่า......จะมาสาดแสง
เริงรำสำแดง......แสงแดดสีทอง
เมื่อเธอวิ่งเล่น......โลดเต้นสุขสม
แดดจักชื่นชม......ลมจักชื่นใจ
มาดูแดดเริง......กระเจิงฟ้าใส
มาฟังลมไกว......ดอกไม้ดนตรี
อย่าหยุดเรียนรู้......อย่าอยู่กับที่
มาซิ คนดี......มีเพื่อนรอคอย
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
กวีผู้เก่งโคลงกลอนและดนตรีไทย
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อดีตนักการเมืองและศิลปินแห่งชาติ เจ้าของกวีนิพนธ์ “เพียงความเคลื่อนไหว” ได้รับรางวัลซีไรท์ ปี พ.ศ. 2523 ผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านฉันทลักษณ์ตามแบบแผน โดยพัฒนาเพลงพื้นบ้านที่เป็นเพลงกล่อมเด็ก มาสอดสาระทางการเมือง และสังคมที่ร้อนแรง
อัตลักษณ์ที่โดดเด่นในของงานเขียนของอาจารย์เนาวรัตน์ คือ ถ้อยคำที่ใช้ในบทกวีจะมีเสียงสูง-ต่ำไม่เท่ากัน ฟังดูคล้ายตัวโน๊ตของดนตรี ด้วยความที่ท่านมีรสนิยมทางดนตรี จึงร้อยเรียงถ้อยคำอย่างมีจังหวะจะโคน เกิดเป็นแนวกวีเฉพาะตัวที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดออกมาได้อย่างนุ่มนวล ต่างจากบทกวีของท่านอื่น
กวีนิพนธ์อาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ที่พัฒนาจากเพลงพื้นบ้านของ เช่น เรื่อง “หวานคมเคียว” ในกวีนิพนธ์ชุดคำหยาด ที่นำ “เพลงเกี่ยวข้าว” มาถ่ายทอดในฉันทลักษณ์กลอนแปด และกวีนิพนธ์เรื่อง “เจ้าขุนทอง” เป็นการนำ “เพลงวัดโบสถ์” ประเภทเพลงกล่อมเด็ก มาแต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ จะเห็นได้ว่าผลงานของท่านล้วนเป็นการผสมผสานบทกวีสมัยใหม่และกวีพื้นบ้านได้อย่างไพเราะลงตัว
นอกจากการเขียนบทกวีได้อย่างไพเราะแล้ว ท่านยังสามารถอ่านกวีนิพนธ์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งใช่ว่ากวีทุกคนจะสามารถเป็นนักอ่านได้ เพราะการเป็นนักอ่านคือศาสตร์หนึ่งที่ใช้การแสดงเข้ามาช่วย จึงจะสามารถถ่ายทอดอารมณ์ของบทกวีได้อย่างน่าสนใจมากขึ้น หากเป็นการอ่านบทกวีเคล้ากับเสียงดนตรีด้วยแล้วยิ่งสะกดให้อยู่ในห้วงอารมณ์อย่างจับใจ ดั่งกวีนิพนธ์เรื่อง “ความรัก”
ความรัก ไม่ต้องการ แค่วันเดียว
ความรัก ไม่ต้องเกี่ยว กับวันไหน
ความรัก ไม่ต้องมี เวลาใด
ความรัก ไม่ต้องใช้ ให้ใครชี้
ความรัก ไม่ต้องมี ข้อวิจารณ์
ความรัก ไม่ต้องการ การกดขี่
ความรัก ไม่ต้องให้ ใครตราตี
ความรัก ไม่ต้องมี เส้นพรมแดน
ความรักคือสำเนียงเสียงปลอบปลุก
ความรักคือความทุกข์และสุขสันต์
ความรักคือเสน่ห์หาสารพัน
ความรักคือความฝันอันตราตรู
ความรักคือศิลปะของหัวใจ
ความรักคือสายใยโยงใจอยู่
ความรักคือการให้ไม่หมายรู้
ความรักคือใจผู้รู้ค่ารัก
ประยอม ซองทอง
กวีผู้อนุรักษ์ภาษาและผลักดันนักเขียนรุ่นใหม่
นามปากกา : ธารทอง, ระฆังทอง, เจ้าพระยา, สุดสงวน, ราตรีประดับดาว, ลักขณ์ เรืองรอง, ปรง
ศิลปินแห่งชาติ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ผู้อนุรักษ์และสืบทอดการแสดงสักวาอย่างแน่วแน่มา 4 ทศวรรษและเป็นครูต้นแบบของนักกวีและครูภาษาไทย ทั้งยังเป็นที่ปรึกษา สนับสนุน และให้กำลังใจนักเขียนรุ่นใหม่เสมอมา กวีนิพนธ์ของ ประยอม ซองทอง มีการรวมเล่มตีพิมพ์อยู่หลายครั้ง อีกทั้งยังเขียนบทความรณรงค์การใช้ภาษาและวัฒนธรรมไทย ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
แนวการเขียนกลอนที่โดดเด่นของ ประยอม ซองทอง คือการใช้สำนวนโวหารที่ไพเราะลึกซึ้งตรงตามฉันทลักษณ์ฉบับสุนทรภู่ เนื้อหาเต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการ อ่อนหวานและสะเทือนอารมณ์ใจในตอนจบ แฝงทัศนคติต่อสภาพสังคมและเหตุการณ์บ้านเมืองไว้อย่างคมคาย ผลงานที่เป็นที่จดจำของประชาชน ได้แก่
ขอหยิบยกกวีนิพนธ์เรื่อง “ชีวิตเราถ้าเหมือนเรือ ปี พ.ศ 2502 ในรูปแบบฉันทลักษณ์ กลอนแปด ที่มีเรื่องราวและข้อคิดของการสู้ชีวิตเป็นใจความสำคัญ
ชีวิตเรา ถ้าเหมือนเรือ เมื่อออกท่า
ไม่รู้ว่า ค่ำนี้ นอนที่ไหน
จะลอยล่ม จมน้ำ คว่ำลำไป
หรือสมใจ จอดฝั่ง ..ก็ยังแคลง
ได้แต่ดื่ม น้ำตา เมื่อฟ้าร่ำ
ยิ่งยามย่ำ สายัณห์ ยิ่งกรรแสง
ถูกลมหวน หอบข่ม ระดมแรง
จึงรู้แล้ง หมดแล้ว น้ำแก้วตา
เพราะหากมัว มาร่ำ กำสรวลอยู่
ไหนจะรู้ ทรงเรือ บ่ายเมื่อหน้า
ต้องตักพาย หมายขืน ฝืนลมฟ้า
ไร้เวลา อาดูร พอกพูนใจ
ฉันทลักษณ์กลอนแปดและโคลงสี่สุภาพ นักกวีนิยมเขียนกันมาก ซึ่งสามารถสรุปวิธีเขียนได้ดังนี้
โคลงสี่สุภาพ บทหนึ่งมี 4 บาท
กลอนแปด บทหนึ่งมี 2 บาท บาทละ 2 วรรค วรรคละ 8 คำ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล
วิทยานิพนธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ฐานเศรษฐกิจออนไลน์, หออัครศิลปิน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, happyreading.in.th