คิดถึงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ...
ตั้งแต่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ปิดเพื่อปรับปรุง เหล่าผู้ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และหนอนหนังสือต้องออกร่อนเร่ย้ายที่พบปะสมาคมไปมา ทั้งเมืองทองธานี ทั้งไบเทคบางนา ไปจนครั้งหนึ่งต้องเว้นวรรคให้กับโควิด-19 หนีไปจัดในระบบออนไลน์
ถึงเวลาที่สัปดาห์หนังสือฯ ได้วนมาอีกครา ครั้งที่ 50 นี้นักอ่านต้องออกสำรวจพื้นที่ใหม่กันที่สถานีกลางบางซื่อ ก็ยังไม่รู้จะได้อารมณ์เดียวกับการบุกไปรับวัคซีนหรือไม่
สำหรับเราที่ไม่ได้ชื่นชอบผู้คนวุ่นวาย นอกจากคอนเสิร์ตที่มีดนตรีเป็นสิ่งดึงดูดแล้ว งานสัปดาห์หนังสือฯ นี่น่าจะเป็นงานมหาชนงานเดียวที่เรายอมให้
เราเลือกช่วงชั่วโมงท้าย ๆ ของวันธรรมดาเป็นเวลาโปรด เพราะคนเข้าชมงานเริ่มซากลับบ้านกันไปบ้างแล้ว ลูกค้าพอมีที่เดิน และลานพอมีที่จอดรถ ไปถึงงานแล้วก็มักจะใช้เวลายาว ๆ ไปจนกว่าบู๊ทจะปิด มีแค่ไม่กี่ครั้งที่จงใจบุกไปที่งานในช่วงไพรม์ไทม์เพื่อกิจกรรมแจกลายเซ็นของนักเขียน
ถ้าหากไม่ใช่ที่งานสัปดาห์หนังสือฯ เราก็นึกไม่ค่อยออกนะว่าถ้าผู้อ่านอยากพบผู้เขียนตัวเป็น ๆ จะต้องไปรอเจอที่ไหน พูดแล้วก็นึกภาพแถวยาวเหยียดหน้าบู๊ทดังออกเลยทีเดียว
คิดถึงบรรยากาศงานออกร้านแบบดั้งเดิมที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์จังนะ... คิดถึงการเดินสวนผู้คนในระยะไหล่เกยไหล่ คิดถึงย่ามผ้าที่บรรจุหนังสือเต็มพิกัดที่สะพายอยู่บนไหล่ คิดถึงอากาศอบอ้าวช่วงปิดเทอม คิดถึงตู้กดไอศกรีมโคนที่แฝงเนียนอยู่ในแถวของว่างและเครื่องดื่ม คิดถึงการซอกแซกไปตามแนวบูธต่าง ๆ อย่างคุ้นเคย ผ่านจุดตรวจกระเป๋าที่ชั้นล่างหน้าร้านกาแฟแล้วทะลุไปสู่เมนฟอเยร์ก่อนถึงแพลนารีฮอลล์ โดยปักหมุดสำนักพิมพ์โปรดไว้แล้วอย่างขึ้นใจ ไม่ต้องสำรวจผังจัดงานซ้ำ
นอกฤดูโกยหนังสือราคาโปรโมชั่นมาปลูกเป็นกองดองที่บ้าน เราก็ชอบไปล่องลอยอยู่ตามชั้นหนังสืออยู่ดี ร้านเงียบ ๆ แอร์เย็น ๆ ได้ละเลียดพลิกดูไปทีละเล่มนี่คือความสุข หนึ่งในร้านโปรดที่เป็นลูกค้ามาตั้งแต่เด็กคือ คิโนะคุนิยะ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ (อุดหนุนมาตั้งแต่ศูนย์การค้ายังชื่อเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์... นานจริง) ซึ่งตอนนี้กำลังตกแต่งพื้นที่หลักแบบยกเครื่อง ตอนนี้จึงย้ายมาเปิดสาขาชั่วคราวที่ชั้นห้าเป็นคูหาที่กระชับขึ้นมาหน่อย แต่เราก็แอบชอบความแคบของพื้นที่ตรงนี้นะ เดิมที่สต็อกหนังสือของเขาก็มากหลากหลายอยู่แล้ว ย้ายมาโซนเล็กกว่าเดิมยิ่งต้องบริหารพื้นที่ทุกจุดให้คุ้ม ทำให้ทุกชั้นวางมีหนังสือมากปกเบียดชิดกันมากกว่าเดิม บางหมวดเดาว่าพนักงานกลัวลูกค้าเลือกไม่สะใจจึงเสริมเล่มปีนซ้อนเกยเหนือตู้ขึ้นไปอีก พอต้องตั้งใจไล่สายตาดูมากกว่าเดิม พอเจอหนังสือถูกใจ ก็เลยเหมือนเจอรางวัล
หนังสือที่เตะตาเราครั้งนี้เป็นหนังสือภาพลายเส้นสะอาดตา ปกแข็งสีเขียวสงบล้อมกรอบคุณลุงหัวเหม่งหน้าตาใจดี สวมผ้ากันเปื้อนยืนอยู่ข้าง ๆ ส่วนจัดแสดงสินค้าที่ดูก็รู้ว่าเป็นคุณลุงร้านหนังสือแน่ ๆ กับบางเล่ม เราตัดสินใจพากลับบ้านมาด้วยอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องแกะซองพลาสติกเปิดดูเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่เห็นปกและชื่อ “ร้านหนังสือชื่อ มีไหมนะ” ก็ถูกชะตาทันที
หนังสือภาพเล่มนี้พาเราไปสู่ร้านหนังสือในอีกโลกที่ยอดเยี่ยมอย่างเหนือจริง เพราะไม่ว่าคุณจะถามหาหนังสือเกี่ยวกับอะไร คุณลุงสามารถคัดออกมาพรีเซนต์ให้คุณได้ทุกประเภท
โลกคู่ขนานใบนี้ประกอบไปด้วยวันธรรมดา ๆ ที่ร้านหนังสือต้อนรับลูกค้าหลากหลาย แต่ละคนแต่ละเล่มมีทั้งเรื่องราวคุ้นใจนักอ่าน ไปถึงสิ่งอัศจรรย์จนอยากให้มี “ร้านหนังสือชื่อ มีไหมนะ” มาเปิดบริการในโลกจริง
ถ้าบทความมีระหว่างบรรทัดให้ตีความ หนังสือภาพเล่มนี้ก็มีระหว่างรูปให้เราได้อมยิ้มตามได้ไม่รู้จบเลยล่ะ
แง้มดูโลกของ “ร้านหนังสือชื่อมีไหมนะ あるかしら書店” ของ ชินสุเกะ โยชิทาเกะ แปลโดย ชมนาด ศีติสาร
คลิก >> SandClock Books <<
ส่วน “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50” จัดขึ้นตั้งแต่วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม ถึงวันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 10.00 น. ถึง 21.00 น. ที่สถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพ
สามารถเข้าชมงานแบบออนไลน์ได้ด้วยที่ คลิก >> www.thaibookfair.com <<