ความสุขของเด็กสมาธิสั้น – นิ่งไปหรือใจลอย
...พรุ่งนี้วันที่เท่าไหร่แล้วนะ? เราเลื่อนดูปฏิทินบนหน้าจอคอมพิวเตอร์
หลังจากที่จัดรายการวิทยุทั้งในทั้งช่วงเวลาปกติของตัวเองบวกกับจัดรายการแทนดีเจที่ลางานไป ทำให้ทุกวันกลายเป็นวันที่ต้องออกจากบ้านเหมือน ๆ กันมาหลายสัปดาห์ ทำให้คนที่ไม่ได้มีพื้นฐานทำงานรูทีนอย่างเราชักจะงง ๆ ว่าวันไหนเป็นวันอะไร
เอ้อ วันนี้ก็ลืมสั่งข้าวอีกแล้ว
อาหารคลีนที่ตุนไว้ในตู้เย็นร่อยหรอจนเหลือพอสำหรับวันพรุ่งนี้อีกวันเดียว กดโทรศัพท์ส่งไลน์ไปบอกให้แม่จดเมนูของของแม่มาด้วย เพราะต้องสั่งก่อนเที่ยง ร้านจะได้เอาอาหารชุดใหม่มาส่งทันในวันถัดไปพอดี
...เล็บที่หักนี่ทำให้พิมพ์งานไม่ค่อยคล่องเท่าไหร่เลยนะ
ช่วงนี้มีกิจกรรมใหม่คือกลับมารื้อฟื้นการเล่นกีต้าร์ของตัวเอง จะเรียกว่าหัดเล่นใหม่เลยก็ว่าได้ ทำให้เล็บมือนิ้วชี้ข้างขวาที่ใช้ดีดสายแทนปิ๊กกีต้าร์นั้นสึกหรอจนหักง่ายอยู่ตลอด จริง ๆ ควรจะตัดให้เรียบร้อย ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ จากเล็บหักเดี๋ยวจะกลายเป็นเล็บฉีก ว่าแล้วก็หยิบกรรไกรตัดเล็บมาจัดการเสียก่อนเลยดีกว่า
...เมนูพิเศษของวีคนี้จะมีอะไรบ้างหนอ อยากให้เค้าเอาเมนูปลากับน้ำพริกตอนนั้นกลับมาขายอีกจังเลย ชอบอะไรแซ่บ ๆ แถมผักให้เยอะดีด้วย
นึกในใจระหว่างที่มือก็ตะไบเล็บจนเสร็จ ลุกไปล้างมือที่ห้องน้ำโดยคว้าเอาไอโฟนไปด้วยอย่างติดเป็นนิสัย แอบเข้าไปส่องโปรโมชั่นอาหารคลีนของวีคนี้ไว้ก่อนเลยดีกว่า อุ๊ย มีเมนูใหม่เป็นซุปกิมจิด้วยล่ะ น่ากินจัง ท้องร้องเลยเนี่ย...
ตัวกลับมานั่งที่เดิมแล้ว แต่สายตายังคงเลยเถิดไปแวะดูรูปหมารูปแมวในอินสตาแกรมต่อ
เอ๊ะ ตอนแรกว่าจะเปิดคอมพิวเตอร์มาทำอะไรนะ?
ข้าง ๆ กันมีขนมวางอยู่ใกล้ ๆ จึงเอื้อมมือไปหยิบเข้าปากอย่างเคยตัว แล้วถึงได้เห็นสมุดโน้ตและหนังสือที่วางคว่ำค้างไว้
ตั้งใจจะลงมือเขียนคอลัมน์นี่นา!
กว่าจะดึงสติตัวเองกลับมาที่จุดเริ่มต้นได้ก็เลยเถิดไปเป็นสิบ ๆ บรรทัด เอ้า ๆ ทำงาน ๆ หายใจเข้าลึก ๆ หนึ่งทีรวบรวมลมปราณพร้อมให้ไอเดียหลั่งไหลผ่านปลายนิ้วออกมาเป็นตัวหนังสือ
“ความสุขของเด็กสมาธิสั้น”
|
เราพิมพ์ชื่อหนังสือที่ตั้งใจเลือกมารีวิวไว้ที่บรรทัดบนสุดเหมือนทุกครั้งที่เริ่มงานเขียน กด enter
แล้วเคอร์เซอร์ก็ได้แต่กระพริบเฝ้ารอเราที่ตาหลุดโฟกัสอยู่อย่างนั้น ...เขียนไม่ออก
มือผละจากคีย์บอร์ดมาลูบผมอย่างใจลอย ขณะที่เรายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะพูดถึงหนังสือเล่มนี้อย่างไร
เรื่องราวสองร้อยกว่าหน้าที่ “นักเขียนผีเสื้อเด็ก ๆ หมายเลข ๑๓” บันทึกไว้ตลอดปีนั้นถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่ายคล้ายกับไดอารี่ แม้ว่าแต่ละตอนจะมีความยาวไม่มากและไม่ได้มีลีลาการเล่าที่หวือหวาอะไร แต่ก็สัมผัสถึงความตั้งใจและความอยากเล่าของคนเขียนได้อย่างชัดเจน
เราได้รู้จักกับเด็กชายวัยสิบสามที่แนะนำตัวเองว่าเขาเป็นเด็กสมาธิสั้น ตามที่ชื่อหนังสือจั่วหัวเอาไว้ เขาเล่าความทรงจำเมื่อตอนที่รับรู้ว่าตัวเองถูกจัดให้เป็นเด็กพิเศษที่มีข้อจำกัด เล่าเรื่องที่พ่อแม่พาเขาไปรับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เล่าเรื่องยาและการรักษาที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนอย่าง “อาชาบำบัด” กิจกรรมที่ช่วยพัฒนาการเรื่องการทรงตัว กล้ามเนื้อ และแน่นอนช่วยเรื่องสมาธิ
บางบทก็คั่นด้วยช่วงเวลาปรับตัวที่โรงเรียน เรื่องความพยายามทำความเข้าใจกับบทเรียนโดยต้องต่อสู้กับความอยากจะลุกออกไปวิ่งข้างนอก นิสัยติดเกมที่เขาอยากแก้ไข เล่าเรื่องการผูกมิตรกับเพื่อน ๆ เล่าเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เขาเอ่ยชมคุณแม่อย่างมากที่ใส่ใจดูแลเขาอย่างเต็มที่ด้วยความรัก บรรยายความรู้สึกว่าตัวเขานั้นโชคดีที่มีครอบครัวที่ไม่ละความพยายามที่จะช่วยให้ตัวเขาทำสิ่งใหม่ ๆ สำเร็จได้ในทุกวัน
ดูเหมือนการฝึกทำกิจกรรมให้เสร็จทีละหนึ่งอย่างนั้นสำคัญกับพัฒนาการของเด็กอย่างเขามาก
เขาเล่าเรื่องการนั่งกินข้าวหมดจานให้ได้โดยไม่ลุกเลย มีการทำแบบฝึกหัดลากเส้นประติดต่อกันหลายๆ นาที ไปจนถึงการนั่งสมาธิและฟังเทปบรรยายธรรมแบบร่วมสมัยที่ถูกใจเขาอย่างจัง ดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะเป็นกิจกรรมทั่วไปที่ไม่น่าจะยากอะไร แต่ทั้งหมดนี้เขาบอกว่าล้วนต้องใช้ความพยายามเพื่อที่จะควบคุมตัวเองทั้งสิ้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เขาจะย้ำอยู่เสมอว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวเขา เป็นความรู้สึกของเขาเท่านั้น มันอาจจะต่างหรือเหมือนกับประสบการณ์ของเด็กคนอื่น ๆ โปรดอย่าด่วนตัดสินไป
“ทุกคนบนโลกนี้ไม่มีใครเหมือนกันเลย ดังนั้นที่ผมไม่เหมือนคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลก”
เด็กชายบันทึกคำของแม่ที่ตอบเขาระหว่างที่เปิดใจคุยกันเรื่องปมด้อย
เรายิ้มชอบใจในมุมมองของครอบครัวนี้ สอนกันมาดีจังเลยน้า
หยุดมือจากการพิมพ์หยิบขนมอีกชิ้นเข้าปาก ได้ยินเสียงแจ้งเตือนข้อความที่เด้งขึ้นมาบนหน้าจอโทรศัพท์ แม่ส่งเมนูอาหารคลีนที่จะให้สั่งเผื่อสำหรับสัปดาห์นี้มาให้แล้ว จัดการส่งต่อออร์เดอร์ให้เรียบร้อยกลัวจะลืมอีก
เดี๋ยวเขียนจบแล้วลงไปอุ่นข้าวดีกว่า มีซีรีส์ที่กำลังสนุก จะได้ดูไประหว่างกิน แต่ตอนนี้กินขนมรองท้องไปก่อน ก็งานยังไม่เสร็จเลยนี่นา
เขียนไปถึงไหนแล้วนะ...
เราไล่สายตาอ่านทวนเร็วๆ ผ่านหน้าจอมามองเคอร์เซอร์ที่กำลังกระพริบรออยู่ตรงบรรทัดถัดไปอีกครั้ง
|
หนังสือ “ความสุขของเด็กสมาธิสั้น” โดย นักเขียนผีเสื้อเด็ก ๆ หมายเลข ๑๓ จาก สำนักพิมพ์ ผีเสื้อเด็ก ๆ เป็นหนึ่งในผลิตผลจากโครงการ ‘วิธีสมุดบันทึก’ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็ก ๆ โดยมอบสมุดบันทึกให้แก่เยาวชนทั่วประเทศกว่าพันเล่ม ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ “เมื่อได้รับสมุดแล้วต้องเขียนบันทึก” จนเป็นทำให้พวกเขาได้รู้จักตัวเอง และก็ทำให้เราได้ค้นพบ นักเขียนเด็ก กวีเด็ก เด็กนักวาดภาพประกอบ นักแปลเด็ก นักออกแบบเด็ก ๆ หน้าใหม่อีกหลายคน
นักเขียนผีเสื้อเด็ก ๆ หมายเลข ๑๓ เจ้าของหนังสือชื่อ “ความสุขของเด็กสมาธิสั้น” เล่มนี้ก็เป็นผลิตผลจากโครงการเดียวกัน
ยังมีเด็ก ๆ ที่เล่าเรื่องราวผ่านการเขียนอีกหลากหลาย ไปทำความรู้จักกับพวกเขาได้ที่ facebook page ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเด็ก ๆ