เราได้รับหนังสือเล่มนี้มาเมื่อปีก่อน...
สำรวจจากปกและคำนำได้ความคร่าว ๆ ว่า “ALMOND” เป็นวรรณกรรมแนว coming of age ที่แต่งโดย ซนว็อนพย็อง นักเขียนชาวเกาหลีเจ้าของรางวัลชังบี ครั้งที่ 10 สาขาวรรณกรรมเยาวชน
ตัวเอก “ซอนยุนแจ” เล่าเรื่องของตัวเขาเองที่เป็นเด็กชายผู้กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยแนะนำตัวว่า “...ดูเหมือนอัลมอนด์ในหัวผมจะเสีย”
อัลมอนด์ที่ใช้เป็นชื่อเรื่องที่ยุนแจเอ่ยถึง คือ สมองส่วนอะมิกดาลา ที่มีผลทำให้การรับรู้ความรู้สึกของเขาแตกต่างออกไป โดยเขาบรรยายว่า
“ความรู้สึก...เป็นเพียงอักษรที่เลือนรางแทบมองไม่เห็น...” พร้อมกับระบุว่าตัวเองเป็น “เด็กชายที่ไม่สมประกอบ” เสียเสร็จสรรพ
จากคำโปรยเพียงไม่กี่ย่อหน้า มีคำที่พูดถึงความรู้สึกต่างๆ ผ่านตาเราไปหลายครั้ง ตัวเราในปีนั้นที่กำลังอยู่ในแอ่งความเศร้าซึมลึกได้ที่มักถูกกระตุ้นด้วยคำหมวดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ เมื่อพอเห็นเค้าว่าน่าจะเป็นหนังสือที่พุ่งตรงไปสู่เรื่องของจิตใจและความรู้สึกเป็นแน่ คำศัพท์เหล่านั้นก็เด่นขึ้นมา
“ความดีใจ ความเศร้า ความรัก ความกลัว ความเกลียด ความเจ็บปวด...”
ทุกคำล้วนเป็น trigger warning สำหรับเราในเวอร์ชั่น “ร่างอ่อน” (จะอ่อนเยาว์ อ่อนไหว หรืออ่อนแอก็ตาม) ถึงจะพอสัมผัสได้ว่าเรื่องราวในเล่มนี้น่าจะทัชใจ แต่ก็เพราะมันน่าจะโดนเนี่ยแหละ จึงจำเป็นต้องเชิญหนังสือเล่มนี้เข้ากองดองไปก่อน
เวลาผ่านไปเป็นปี กองดองของเราถูกซ้อนทับไปตามเวลา เช่นเดียวกันกับรายชื่อบนชั้นในร้านขายหนังสือที่ถูกผัดเปลี่ยนให้เล่มที่ออกใหม่ขึ้นมาโชว์ตัวแทนเล่มก่อนหน้าที่ถูกจัดให้ไปอยู่เรียงในแถวเสียบสัน (คือเก็บไว้บนชั้นในร้านโดยหันด้านสันหนังสือโชว์ไว้เท่านั้น) แต่ ALMOND ยังครองพื้นที่โชว์เต็มปกเอาไว้ได้เป็นปี
จนวันหนึ่งที่มีเหตุทำให้เราได้นึกถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ตอนนี้ใจถูกรักษาให้หนาหนักขึ้นมากกว่าเดิมแล้ว คิดว่าน่าจะพร้อมรับแรงถาโถมของเรื่องราวที่พูดถึงความละเอียดอ่อนของความรู้สึกได้ไหว จึงได้จังหวะเหมาะให้ไปรื้อกองดองที่รอให้เราอ่านมานาน
ยุนแจเกิดมาพร้อมกับเงื่อนไขในชีวิตที่ถูกกำหนดด้วยขนาดของบางส่วนในสมองที่ไม่ตรงกับค่าเฉลี่ย ทำให้ตัวเขาถูกแปะป้ายว่าเป็นเด็กพิเศษตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าคำว่า “พิเศษ” นี้ไม่ได้มาพร้อมกับความหมายเชิงบวก เขาเติบโตมาพร้อมกับความคิดว่าตัวเองนั้นประหลาดมาตลอด
ประหลาดที่ไม่ยักกะรู้สึกรู้สาอะไรเหมือนคนอื่นทั่วไปไม่ว่าจะดีหรือร้าย ประหลาดที่แม้จะผ่านประสบการณ์สาหัสมาแต่ก็ไม่ได้มีอาการฟูมฟายแต่อย่างใด ประหลาดที่เมื่อถึงเวลาคอขาดบาดตายเขากลับแสดงออกเหมือนไร้ความกลัว
เราติดตามการเติบโตของยุนแจไปด้วยความสงสัยเดียวกันกับตัวละครอื่นในเรื่อง นั่นคือ
นายไม่รู้สึกอะไรจริงๆ หรือ? แล้วมันเป็นยังไงกันนะ?
เพราะตัวเราที่ผ่านจังหวะที่เรียกว่าเป็นกราฟด้านตรงข้ามกับยุนแจมา โรคซึมเศร้าทำให้เราไวต่อความรู้สึกไปหมด (โดยเฉพาะกราฟติดลบนี่ไวเหลือเกิน) จนทำให้จินตนาการไม่ออกเลยจริงๆ ว่าคนเราจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรได้จริงๆ น่ะเหรอ?
ระหว่างทาง ยุนแจพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “อาจารย์หอ B กับจดหมายรัก” เรื่องสั้นของฮยอนจินกอนที่ลงท้ายด้วยบทสรุปที่ต่างกันตามลักษณะของตัวละครที่หลากหลายสามคน
“...เหมือนเขาจะบอกว่าในโลกนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว มันหมายความว่า เมื่อคนอื่นพูดหรือทำพฤติกรรมหนึ่ง ไม่ได้มีวิธีตอบสนองเพียงอย่างเดียวหรือเปล่านะ ในเมื่อทุกคนแตกต่างกัน ‘การตอบสนองที่แตกต่างจากปกติ’ อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องสำหรับใครบางคน อย่างเช่นผมก็เป็นได้” ยุนแจคิด
...แล้วคำตอบที่ถูกต้องของเราที่อยู่อีกฟากฝั่งหนึ่งล่ะ คืออะไรกันนะ?
สามารถชมไฮไลต์ของวรรณกรรมเรื่อง “ALMOND – 아몬드” <<คลิก โดย ซนว็อนพย็อง แปลโดย ภัทธิรา สำนักพิมพ์ Fuurin
ป.ล. ยกความดีให้แฮชแท็ก #บังทันอ่าน ที่ทำให้เรากู้หนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเห็นหนุ่มๆ BTS เลือกมาอ่านในรายการ BTS in the SOOP