พูดถึงคำว่าวีแกน หรือ Plant-based (กินพืชทดแทนเนื้อสัตว์) สิ่งที่มักจะตามมาคือคำว่า แพง แปลกดีที่ความคิดอยากจะกินดี ๆ มีประโยชน์สักมื้อหนึ่ง กลับต้องถูกสะกัดด้วยเรื่องของราคา แต่ไม่ใช่กับร้านนี้
เราถาม Samantha Haberli (แซม) เจ้าของร้าน The Earthing Café ว่า กลุ่มเป้าหมายของเธอคือใคร
“คือทุกคนที่อยากมีกายใจที่ดี กินอาหารที่ใช้วัตถุดิบดีในราคาจับต้องได้ เราอยากให้คนหันมาใส่ใจการกิน เพราะก่อนความคิดคุณจะดีได้ ท้องของคุณต้องดีเสียก่อน”
แซมเป็นลูกครึ่ง อเมริกัน-เม็กซิกัน-สวิสเซอร์แลนด์ เรียนจบทางด้านแฟชั่นดีไซน์
8 ปีที่แล้ว มีเหตุให้แซมหันมาสนใจเรื่องของ Plant-based เธอเลยเรียนเพิ่มทางด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม ต่อด้วยเรียน Plant-based Nutrition ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันแซมเป็น Nutritionist and Plant-based Chef ที่โรงแรม Soneva ทั้งสามแห่ง และมีร้านอาหาร Plant-based อยู่ที่นั่นด้วย ส่วน The Earthing Café คือแพสชัน คือตัวตนจริงๆ ของแซมในวัย 33
“แปดปีก่อน สมัยที่ฉันยังกินเนื้อสัตว์อยู่ วันหนึ่งฉันนั่งกินข้าวกับเพื่อนบนโต๊ะอาหาร มีคนพูดถึงธุรกิจเนื้อหมาขึ้นมา ตอนนั้นฉันฟังแล้วรู้สึกแย่มาก ฉันได้แต่คิดว่าพวกคนที่ชอบกินเนื้อหมานี่ เขาคิดอะไรกันอยู่นะ กินลงได้ยังไง วันนั้นเพื่อนฉันถามกลับว่า แล้วเนื้อวัวหรือเนื้อหมูที่คุณกำลังกินอยู่ล่ะ มันต่างยังไงกับเนื้อหมา ฉันเถียงสุดตัวเลยนะ ฉันบอกเพื่อนว่า ใช่ มันก็เนื้อสัตว์เหมือนกัน แต่มันคนละแบบ เพื่อนถามกลับอีกว่า แล้วมันไม่เหมือนยังไง ปรากฏว่าฉันหาคำอธิบายให้เขาไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริง เนื้อสัตว์ก็คือเนื้อสัตว์ ความต่างของมันเป็นแค่เรื่องของความรู้สึกในการกิน จากวันนั้นฉันก็เลยพยายามหาข้อมูลการกินสิ่งที่ทดแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งตอนนั้นข้อมูลมีอยู่น้อยมาก เวลาไปร้านอาหารก็มีออพชั่นเดียวให้เลือก คือสลัด”
สำหรับแซม Plant-based ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่อยากมีพลังในการใช้ชีวิตที่ดี ด้วยการไม่ทำร้ายสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
อาหารร้านนี้ ปราศจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้กระบวนการในการปรุงน้อยมาก หากต้องเต็มเค็มก็ใช้เกลือหิมาลายัน หากต้องพึ่งความหวานก็ใช้ความหวานจากอินทผาลัม หรืออย่างเบอร์เกอร์ไก่ที่เราคุ้นเคย ทางร้านก็จะใช้เห็ดมาทดแทนเนื้อไก่ กินกับเครื่องเคียงอย่างแตงกวาดอง รวมทั้งเบอร์เกอร์บางเมนู ก็ผสมด้วยถั่วและบีทรูต กัดเข้าไปแต่ละคำนี้ อื้อฮือ อยากยกมือสั่งต่ออีกสักชิ้นสองชิ้น แต่ไม่น่าจะกินไหว
95% ของวัตถุดิบที่ใช้ในร้าน มาจากฟาร์มในเขาใหญ่และเชียงใหม่ ชั้นล่างของร้านเป็นพื้นที่ร้านอาหารวีแกนที่อบอุ่นสุด ๆ ทั้งด้วยต้นไม้ที่ตกแต่งโดยรอบและทิศทางของช่องแสง ลูกค้าแต่ละคนที่เดินเข้ามาก็ดูจะมีแนวคิดในการใช้ชีวิตที่คล้าย ๆ กัน
‘จงเมตตาและอ่อนโยนกับร่างกาย’
ชั้นสองของ The Earthing Café เป็นพื้นที่เวิร์กช็อปโยคะ Sound Healing และ Meditation Therapy บนชั้นดิสเพลย์มีสินค้าที่ถูกคัดสรรมาเพื่อสนับสนุนธุรกิจรายย่อยที่ทำโดยผู้หญิง
ชาออร์แกนิค เกลือทะเล หนังสือเด็ก แชมพูสระผมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้ำยาล้างจานในรูปแบบของสบู่ก้อนที่ทำจากชาโคล รวมไปถึงเทียนหอมอโรม่า กลิ่น All you need is love หอมสุดยอด ดมแล้วรู้สึกอารมณ์ดี!
“ฉันว่ามนุษย์เราทุกวันนี้ขาดความเข้าใจในการคอนเน็กกับอาหาร อย่างคนที่กินเนื้อสัตว์เอง ถึงเวลาก็เดินไปซื้อเนื้อที่เขาแพ็กเสร็จไว้แล้วในซูเปอร์มากิน โดยที่ไม่รู้ที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเลยว่า มันมาจากแหล่งผลิตที่ไหน ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง ไม่ใช่แค่เนื้อนะ พวกผักผลไม้เองก็เช่นกัน เวลาไปตลาด เราเลือกมองหาผักสวย ๆ ที่เราชอบ ซื้อใส่ตะกร้ากลับบ้าน โดยที่น้อยคนนักจะสนใจว่าผักที่ซื้อมานั้นใครเป็นคนปลูก และในกระบวนการปลูกนั้นเขาต้องใช้น้ำเท่าไหร่ ใช้พลังใช้เวลาไปเยอะขนาดไหน ใช้ปุ๋ยแบบไหน ซึ่งพอคนส่วนใหญ่ไม่เคยสร้างปฏิสัมพันธ์ในการหาข้อมูลเรื่องวัตถุดิบที่ตัวเองซื้อมากิน มันก็ทำให้ไม่มีความผูกพัน ไม่มีการคอนเน็กกับข้อมูล เลยไม่แปลกที่เวลาไปตามร้านอาหารหรือโรงแรม เราจะเห็นคนกินอาหารเหลือทิ้งเต็มไปหมดโดยไม่นึกเสียดาย นี่คือจุดหนึ่งที่ทำให้ฉันอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่ตัวเองกินเข้าไป จะได้เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น”
ฉันนั่งขัดสมาธิคุยกับแซมบนพื้นชั้นสองของ The Earthing Café ในวันที่ร้านเพิ่งเปิดทำการยังไม่ทันถึงหนึ่งอาทิตย์ ฉันพบว่าแซมเป็นผู้หญิงที่มีความเป็นธรรมชาติในตัวเองสูงมาก ไม่มีอีโก้จากสถานะของคำว่า ’เชฟ’ สำคัญสุดคือเธอเป็นคนมีจิตใจที่ดี เต็มไปด้วยแพสชั่น
ฉันเชื่อว่า ลองผู้ปรุงมีพลังงานที่ดีแบบนี้แล้ว อาหารทุกจานที่ถูกปรุงออกมาก็จะทรงพลังมากเช่นกัน โดยที่ผู้กินสามารถรู้สึกได้ทันทีตั้งแต่คำแรกที่ตักเข้าปาก
“ใช่ ฉันรู้สึกได้” ฉันพูดกับตัวเองขณะตัก Breakfast Scramble เข้าปาก บ่นพึมพำกับตัวเอง “ทำไมดีขนาดนี้”
“ลองแก้วนี้ดูนะ”
แซมยกเครื่องดื่มชนิดหนึ่งมาให้ฉันลองชิม เธอเรียกมันว่า Moon milk หรือชื่อเต็มๆ คือ Vanilla Rose Milk
“แก้วนี้กินแล้วจะคอนเน็กกับจักระหัวใจ ผสมด้วยนมข้าวโอ๊ต นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลืองตีฟองด้านบน อบเชย ลูกจันทน์ ขิง ส่วนวานิลลากับกุหลาบที่อยู่ในแก้วคือตัวสำคัญที่ช่วยเปิดจักระหัวใจ ให้พลังงานไหลเวียน อาหารทุกอย่างมีพลังงาน เหมือนที่คุณหรือฉันเองก็มีพลังงาน ต้นไม้ สัตว์ ทุกอย่างมีพลังงานด้วยกันทั้งนั้น อย่างถ้าเราจัดกลุ่มอาหารที่ให้พลังชีวิต เนื้อสัตว์จะอยู่ชั้นล่างสุดเลย ในขณะที่อาหารที่ให้พลังชีวิตสูงสุดคือพวกถั่ว สมุนไพร ที่เขาใช้กันในศาสตร์ของอายุรเวท และทำพวกยาจีน”
พูดถึงจักระหัวใจแล้ว ฉันเลยอยากขอเสริมอีกนิด จักระหัวใจแทนด้วยสีเขียว วันไหนออกจากบ้านและอยากมีหัวใจที่เปิดกว้าง ให้ลองหาเสื้อผ้าที่มีส่วนผสมของสีเขียวมาใส่ และอย่างที่แซมบอก
“ก่อนความคิดคุณจะดีได้ ท้องของคุณต้องดีเสียก่อน”
อยากให้ไปลองชิมอาหารของแซมค่ะ มันเป็นมากกว่าอาหาร
ติดตามความอบอุ่นของอาหารร้านนี้ได้ที่ IG : the.earthling.cafe << คลิก