ที่นี่ที่ไหน...?
เราหันไปหันมาอย่างตัดสินใจไม่ถูก ว่าจะต้องพาตัวเองไปทางไหนถึงจะออกจากลานคอนกรีตชั้นใต้ดินตรงนี้ไปเจอตัวงานที่จัดอยู่ในตึกได้ หลังจากหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายเลขเสาเอาไว้กันลืมเรียบร้อยก็กวาดสายตาหาป้ายบอกทางซึ่งไม่ช่วยอะไรเท่าไหร่ จนเห็นมีคนเดินอยู่ตรงโน้นลิบ ๆ ไม่รู้ใช่ทางออกไหมแต่เดินตามไปก่อนแล้วกัน (ใช่ค่ะ นอกจากถ่ายภาพเสาแล้ว เราถ่ายคลิปพาตัวเองเดินออกมาด้วย ไม่งั้นคงไม่มีวันกลับมาสู่จุดเริ่มต้นได้ถูก)
สถานีกลางบางซื่อกว้างใหญ่กว่าที่เดาด้วยสายตาเมื่อตอนขับรถเข้ามาวนหาลานจอดเสียอีก นี่ขนาดค้นวิธีเดินทางมาล่วงหน้าแล้วนะ ก็ยังงงเป็นไก่ตาแตก
หลังจากเดินคลำ ๆ เดา ๆ มาได้สักพัก ก็เจอเจ้าหน้าที่ถือแผงสติ๊กเกอร์ระบุผู้ที่วัดอุณหภูมิและล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ตามมาตรการควบคุมโรคระบาดยืนต้อนรับอยู่ ตรงนี้ต้องเป็นทางเข้าแน่แล้ว
ในที่สุดก็พาตัวเองมาเดินล่องลอยอยู่ในงานสัปดาห์หนังสือของปี 2565 จนได้ เราก้มลงกางสูจิบัตรลายท้องฟ้าสดใสที่ระบุที่ตั้งของร้านรวงสำนักพิมพ์เพื่อเข้าสู่ความมึนขั้นต่อไป... ถ้าหากเป็นนักเดินงานหนังสือฯ เวอร์ชั่นดั้งเดิมแล้วล่ะก็ เราไม่ต้องแวะดูแผนที่ใด ๆ ด้วยซ้ำ สามารถเที่ยวชมงานได้คล่องเหมือนเดินตลาดนัดแถวบ้าน แต่มาคราวนี้ถึงแม้รายชื่อสำนักพิมพ์ต่าง ๆ จะคุ้นตา แต่ว่ามันไม่ทำให้เราเข้าใจเลยว่าแต่ละบู๊ทมันตั้งอยู่ตรงไหนกันบ้าง นี่ขนาดมายืนกางลิสต์อยู่หน้าแผนผังงานแล้วนะเนี่ย!
เราถอดใจจากความแอนะล็อกเปลี่ยนมากดโทรศัพท์ดูในอินเทอร์เน็ต เพื่อที่จะพบว่านอกจากจะค้นเจอวิธีการเดินทางมาให้ถึงตัวงานแล้ว แต่ละบูธยังแนะนำวิธีการการ “เดิน” ไปให้ถึงที่บูธให้อย่างละเอียดอีกด้วย (ขอบคุณที่เข้าใจคนขยันหลงทิศตัวน้อย ๆ อย่างเรา มา ณ ที่นี้) พับสูจิบัตรเทอะทะลงกระเป๋าผ้า เช็คว่ากระเป๋าเงินอยู่ในที่ปลอดภัยและมีสเปรย์ฆ่าเชื้อโรคอยู่พร้อมใช้แล้วก็ออกเดินกันดีกว่า
เราใช้เวลาหลงไปในแต่ละโซนจัดงานมากกว่าเวลาที่ใช้พิจารณาหนังสือไปมากอยู่ เพราะเพิ่งเคยมาที่สถานีกลางบางซื่อนี้เป็นครั้งแรก ประกอบกับที่เรามีรายชื่อหนังสือที่อยากได้อยู่ในใจมาแล้วพอสมควร เมื่อไปถึงแต่ละบูธ ร่างกายก็ขยับไปที่ชั้นหนังสือแต่ละประเภทอย่างแทบจะเป็นอัตโนมัติ เป้าหมายหลักเป็นหนังสือออกใหม่ที่จัดโปรโมชั่นเป็นมิตรต่อเกษตรกรกองดองอย่างเราเสมอ
นอกจากลูกค้าผู้ชำนาญอย่างเราแล้ว เห็นจะมีหน่วย ’reader service’ นี่ล่ะที่เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ขาดไม่ได้ในงานหนังสือฯ ที่ต้องเรียกชื่อกันแบบเต็มยศเพราะพวกเขาเป็นมากกว่าพนักงานขายหนังสือทั่วไป
เราได้ยินยศถาตำแหน่งนี้ครั้งแรกจากประกาศของสำนักพิมพ์แซลมอน ที่จะโพสต์รับสมัคร ‘หน่วยบริการนักอ่าน’ ขึ้นเพจก่อนการมาถึงของงานหนังสือทุกครั้ง เพราะถือเป็นจ๊อบพิเศษสองสัปดาห์ที่จำเป็นต้องหาคนเพิ่ม
จากที่บอกไว้ในประกาศรับสมัครว่า หน่วยบริการนักอ่านนั้นทำหน้าที่เป็นกำลังกายและกำลังใจให้กับนักอ่านที่กำลังตัดสินใจ หยิบหนังสือของเรากลับบ้านไปอ่านสักเล่มสองเล่มสามเล่ม เพราะฉะนั้นนอกจากการมีอัธยาศัยที่เหมาะกับการขายของแล้ว คุณสมบัติของตำแหน่งนี้ที่ขาดไม่ได้เลยคือพวกเขา “ต้องเป็นนักอ่าน” เช่นกัน
เพื่อให้การ “ให้กำลังใจ” เป็นไปด้วยดี คนขายก็จำเป็นต้องตอบคำถามเกี่ยวกับหนังสือของสำนักพิมพ์ได้ทันทีแบบไม่ต้องดูโพย บวกกับจำโปรโมชั่นประจำงานได้อย่างขึ้นใจ เพื่อให้การตัดสินใจที่ว่า เพิ่มจากสองเล่มเป็นสามหรือสี่เล่ม (หรือสักหกเจ็ดเล่ม จะได้กระเป๋าผ้าลิมิติดอิดิชันรอบแถมไปด้วย)
เราคิดว่าคนขายหนังสือที่เก่งนั้นสามารถทำนายบุคลิกและความต้องการของคนที่เดินเข้ามาสอบถามได้อย่างชำนาญ จัดหาหนังสือให้ได้อย่างว่องไว และมากไปกว่านั้นคือ แนะนำหนังสือที่หลงหูหลงตาให้คุณลูกค้าพากลับบ้านไปด้วยได้อย่างไม่ตกหล่น
เมื่อเป็นนักอ่านเหมือนกัน ย่อมทำให้บทสนทนาเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ “10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI" เล่มนี้เพิ่งมาเมื่อบ่ายเลยค่ะพี่ เพิ่งออกจากโรงพิมพ์มาเลย พี่มาถูกวันมาก ๆ งานเดี่ยวเล่มแรกเลยค่ะ คนเขียนเป็นนักวาดภาพประกอบ หนูอ่านแล้ว ฮามากพี่...” ระหว่างที่เรากำลังพลิกปกไปมา น้องเค้าก็ชี้ไปที่อีกเล่มที่วางอยู่ไม่ไกลกัน “ถ้าพี่ชอบอ่านแนวบันทึก perspective หนูแนะนำเล่มนี้เลยค่ะพี่ ออกจากโรงพิมพ์มาพร้อมกันวันนี้เลย” เราย้ายสายตาไปโฟกัสที่หนังสือปกสีฟ้าสดขนาดกะทัดรัดชื่อ “mabuhay manila – มะนิลามาเมคอัพ” แล้วจ้องไปที่คำโปรยที่ตัวเล็กกว่า “ทริปฝึกงานของเมคอัพอาร์ทิสต์ กับการรู้จักผู้คนและวิถีชีวิตระหว่างแต่งหน้า”
“พี่เคยอ่านงานเค้าหรือยังคะ ก่อนหน้านี้เขียน LIFE IN FLIGHT MODE ค่ะ ออกมาเมื่อปีก่อน” พร้อมกันกับหยิบเล่มที่พูดถึงมาวางข้าง ๆ กันอย่างรู้งาน
...พริบตาเดียว หนังสือย้ายมาอยู่ในมือเราสามเล่มเข้าไปแล้ว ถ้าหากน้องคนนี้ไม่มารับพาร์ทไทม์เป็นหน่วยบริการนักอ่าน น้องน่าจะทำหน้าที่พ่อสื่อแม่สื่อได้ดีมากแน่ ๆ
SALMONBOOKS เองก็เช่นกัน ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่เราเป็นแฟนของสำนักพิมพ์นี้มา ปลาส้มตัวนี้พาเราไปทำความรู้จักกับคนที่น่าสนใจทั้งที่เป็นนักเขียนมืออาชีพอยู่แล้ว และยังทาบทามคนเจ๋ง ๆ มากมายให้มาเล่าเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ จนทำให้เรารู้เรื่องราวมุมมองของผู้คนหลากหลายไม่เคยซ้ำ
“เล่มนี้ก็เพิ่งออกใหม่งานนี้เลยค่ะพี่ ลายมือเค้าสวยเนาะ” คุณน้องกรีดหนังสือเปิดภาพประกอบในเล่มที่เป็นลายมือบรรจงแบบคนหัดเขียนภาษาไทยยื่นให้เราดู “เค้าเป็นคนญี่ปุ่นนะพี่ ชอบประเทศไทยมากจนออกหนังสือภาษาไทยได้เลย แถมลายมือสวยกว่าหนูอีก” น้องปิดหนังสือลงโชว์ให้เห็นปกชื่อ “บันทึกภาษาไทยของผม” พิมพ์ด้วยฟอนต์ที่ดูก็รู้ว่าคัดมาจากลายมือของคนเขียนเองแน่ ๆ ...อืมม ไม่ใช่แค่น้องหรอก ลายมือสวยกว่าเราด้วย แล้วหนังสือเล่มที่สี่ก็ถูกเติมเข้ามาในมือเราอย่างว่าง่าย
“สี่เล่ม ได้ลด 20% ค่ะ เอ้อ! พี่เห็นกระเป๋าผ้าลายใหม่ยังคะ...?”
สามารถอ่านตัวอย่างหนังสือ คลิก >> “บันทึกภาษาไทยของผม” โดย โทะโมะยะ อิซากะ
รวมถึงบันทึกวีรกรรมสุนัขสุดแสบ คลิก >> “10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI – บ้านนี้ไม่มีหมาเห่า” ของ พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด
ขอบคุณภาพประกอบ : SALMONBOOK, thebangkokinsight