เห็นหนังสือบันทึกการเดินทางในอินเดียด้วยตัวอักษรและภาพวาด Digital Art สองเล่มนี้ของ รงรอง หัสรังค์ แล้ว ด้วยความที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ก็นึกจินตนาการลักษณะของผู้เขียนไปว่า เธอคงเป็นนักเดินทางอีกคนที่คลั่งไคล้ในผู้คนและวัฒนธรรมของประเทศอินเดียเอาเสียมาก ๆ สังเกตได้จากหนังสือจำนวน 100 กว่าหน้า ขนาดเล่มน้อย ๆ ที่มากับวิธีการเขียนแบบจับประเด็นเล็ก ๆ แต่เจาะลึก จนทำให้เรื่องราวเล็ก ๆ ระหว่างทางที่ได้พบเจอ มีคุณค่าด้วยความหมายของการเดินทางที่ยิ่งใหญ่
เวลาไปอินเดีย วิถีการท่องเที่ยวของหลายคนอาจเน้นไปเช็กอินหรือเซลฟี่เป็นหลัก แต่รงรองเลือกจะเดินเข้าไปทำความรู้จักกับวีถีของคนอินเดียอย่างลึกซึ้ง เธอแฝงตัวเข้าไปอยู่กับคนท้องถิ่น สังเกตและจดบันทึกในทุกข้อมูลชนิดไม่ยอมปล่อยให้ข้อสงสัยในใจใด ๆ ผ่านไป ไม่ว่าจะเรื่องราวชองชาวทมิฬนาดูที่ไม่มีนามสกุล สลัมมุมไบที่มองลงมาจากเครื่องบิน เราจะเห็นอาณาเขตของหลังคาสีฟ้าเต็มไปหมด มองผิวเผินเหมือนมีคนทาสีเอาไว้ แต่ที่จริงแล้ว มันคือผืนผ้าใบเพื่อกันความร้อน Dobi Ghat ลานตากผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก วิถีชีวิตของ Dubbawalla ชายผู้ทำหน้าที่ส่งปิ่นโตอาหาร การเฝ้าสังเกตผู้คนในสถานีรถไฟฮาวราห์ที่มีนายแบบเป็นคนในพื้นที่มานอนเป็นแบบให้เธอวาดอยู่ตรงหน้า รายละเอียดของอาหารอินเดียใต้ที่ถูกยกเสิร์ฟมาในภาชนะธรรมชาติอย่างใบตองเสมอ
เหล่านี้เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบางช่วงตอนของหนังสือทั้งสองเล่ม ที่ฉันพอจะสรุปได้ในหนึ่งประโยคว่า ไม่รักอินเดียจริง ทำไม่ได้
เรามีโอกาสได้เจอกับรงรองเข้า จึงได้ทราบว่าก่อนหน้านี้เธอเคยทำบริษัทผลิตสื่อมาหลายปี ก่อนจะหันเหมาต่อยอดธุรกิจของครอบครัวซึ่งค้าขายสินค้าเกษตรกับคนอินเดีย จากการที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับชาวอินเดียเป็นจำนวนมาก ทำให้รงรองเกิดความรู้สึกที่อยากจะรู้จักความเป็นอินเดียอย่างลึกซึ้งให้มากขึ้น
ด้วยความสนใจอยากเขียนหนังสือเป็นทุนเดิม วันหนึ่งรงรองไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ยังเฟื้อ (เขียนโดย นรา ) บางส่วนในหนังสือพูดถึงวิศวภราตี มหาวิทยาลัยศิลปะ ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองศานตินิเกตัน ห่างจากเมืองโกลกาตาออกไปประมาณสองชั่วโมงด้วยรถไฟ
แรงขับเดิมของความอยากรู้จักชีวิตความเป็นอยู่ของคนอินเดีย บวกด้วยแรงดึงดูดของเมืองศานตินิเกตันในหนังสือ ทำให้รงรองตัดสินใจว่า “เอาล่ะ ฉันจะไปอินเดีย ฉันจะไปหาคำตอบด้วยตัวเอง อยากเห็นศานตินิเกตัน”
การเดินทางในทริปแรกของเธอมีแผนวางไว้เพียงหลวม ๆ ซึ่งถ้าใครเคยมีประสบการณ์เดินทางไปอินเดียก็คงจะเห็นตรงกันว่า ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แม้แต่รถไฟที่เราตั้งใจจะขึ้น พอถึงเวลาขบวนที่ว่านั้นก็ไม่โผล่มาให้เห็นแม้แต่เงา บ้างก็ดีเลย์ไป 6 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง ฉะนั้นการเดินทางอินเดียแบบวางแผนมากเกินไป บางทีก็กลายเป็นเหมือนล้อมรั้วตัวเองไว้ ถึงเวลาจะขยับหรือเปลี่ยนกิจกรรมก็ติดขัดไปเสียหมด ฉะนั้นการวางแผนแบบเปลี่ยนแปลงได้เสมอ คือหนทางรอดที่ดีที่สุด
ก้าวแรกที่ได้เหยียบพื้นของประเทศอินเดีย รงรองไม่มีความลังเลหรือความกลัวใด ๆ เลย แม้จะมีหนังสือเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ เล่มที่พูดถึงอินเดียไว้ในด้านที่ผู้หญิงเดินทางคนเดียวต้องระวัง
“ครั้งแรกที่เข้าโกลกาตา เรารู้สึกว่ามันมีแต่เรื่องสนุก โชคดีที่คนอินเดียสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ส่วนเรื่องที่พัก เราเองก็ไม่ใช่จะเดินทางไปโดยไม่รู้ว่าปลายทางคือที่ไหน แต่เรามีแผนหลวม ๆ รู้ว่าเราจะพักที่นี่ ไปเจอคนนี้ แค่ระหว่างทางเราอาจจะเจอเรื่องไม่คาดคิดบ้าง แต่มันก็ผ่านไปได้ เพราะเราชัดเจนในปลายทาง”
ทันทีที่ไปถึงศานตินิเกตัน รงรองใช้คำว่า ‘ถูกจริต’ ในบรรยากาศชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนในเมืองนี้ เธอได้พบกับร้านหนังสือชาวบ้านธรรมดา ๆ แต่ด้วยวิถีปฏิบัติและความเมตตาของเขา ทำให้รงรองเรียกร้านหนังสือใต้ต้นไม้ใหญ่ว่าเป็นร้านหนังสือร้านโปรด วิถีชีวิตชาวบ้านที่เรียบง่าย เข็มนาฬิกาไม่มีความหมาย ทำให้เธอคิดถึงบ้านเกิดในจังหวัดจันทบุรี
“มันเหมือนเราอยู่ในโลกสักเมื่อหกสิบปีที่แล้ว รู้สึกถูกจริตในแบบเรา การใช้ชีวิตไม่รีบด่วน นั่งสามล้อไปกินอาหารก็ไปแบบเรื่อย ๆ เอื่อย ๆ ไม่คาดหวัง พอไปถึง เอ้าร้านปิด ก็ไม่เป็นไร นั่งรอได้ เจ้าของเขาไปธุระแถวนี้ เดี๋ยวเขาก็มาเปิด ซึ่งเราเองเป็นเด็กต่างจังหวัดมาก่อน ตอนเด็ก ๆ ก็มีชีวิตคล้าย ๆ กับบรรยากาศแบบนนี้ พอได้มาเจอความร่มเย็นของวิถีในศานตินิเกตัน ไม่มีลีลาหรือพิธีรีตอง มันก็เลยรู้สึกเกิดความเชื่อมโยง รู้สึกผูกพัน ถึงจะเพิ่งมาที่นี่เป็นครั้งแรกก็ตาม”
ในทริปที่สองจากแปดทริปของการเดินทางไปอินเดีย ด้วยความชื่นชอบในสถาปัตยกรรมเก่าแก่ รงรองเลยเลือกจะเดินทางไปทางใต้ในรัฐทมิฬนาดู ซึ่งหลังจากฉันได้อ่านหนังสือของรงรองทั้งสองเล่มจนจบภายในหนึ่งวันแล้ว ฉันพบว่าเนื้อหาการเดินทางในอินเดียใต้ของเธอมีความเข้มข้นกว่าเนื้อหาในส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เมืองร้าง เชตินา เมืองซึ่งเต็มไปด้วยบ้านร้างในสถาปัตยกรรมทมิฬผสมศิลปะตะวันตกจากยุคสมัยของการล่าอาณานิคม
รงรองว่า จากประสบการณ์เท่าที่เธอได้สัมผัสกับประเทศอินเดียมาจนถึงวันนี้แล้ว รากเหง้าวัฒนธรรมความเป็นอยู่ทางภาคใต้ซึ่งเชื่อมโยงธรรมชาติ มีความแข็งแรงและชัดเจนในตัวเองมาก คนในแถบนี้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ความรู้รอบตัวเยอะ เชี่ยวชาญในด้านของสารสนเทศและเทคโนโลยี
ด้วยความที่รัฐทมิฬนาดูโอบล้อมด้วยธรรมชาติทั้งเส้นทางน้ำ บ้านสวน และป่าดิบ วิถีของคนที่นี่เลยเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติแบบแยกกันไม่ออก เอกลักษณ์ของผู้หญิงในพื้นถิ่นคือการตกแต่งมวยผมหรือหางเปียด้วยดอกไม้
“วิถีทางใต้มีความเป็นท้องถิ่นสูงมาก ไม่ค่อยมีวัฒนธรรมของตะวันตกให้ได้เห็น คนทางนี้ศรัทธาและรักธรรมชาติมาก อย่างผู้หญิงก็จะประดับดอกไม้บนผมทุกวัน ใส่ชุดสาหรี่ ไม่เหมือนผู้หญิงอินเดียในเมืองหลวงใหญ่ ๆ ที่จะนิยมใส่เป็นซัลวาร์ คามีซ เสื้อผ้าลำลองที่จะประกอบด้วยผ้าสามชิ้น หรือแม้แต่เรื่องของการใช้ถุงกระดาษ เขาก็ต้องตีไม้ไผ่มาใช้เป็นหูจับ เห็นแล้วก็เออนะ เขามีความเข้มข้นในวิถีแบบดั้งเดิมมาก ๆ คือโลกจะหมุนไปยังไง เขาก็สามารถหาวิธีผสมผสานได้ รวมไปถึงคนทางใต้มีความรู้เยอะ ไม่บ้าตามฝรั่งแบบไม่มีเหตุผล อย่างคนอินเดียกลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักจากการทำธุรกิจด้วย เป็นกลุ่มนักวิชาการจากเมือง Kerala เขาเป็นคนมีการศึกษาสูงมากเลยนะ แต่อาชีพของเขาคือการทำเกษตร ก็คือใช้ความรู้ที่ตัวเองมีมาพัฒนาความเป็นธรรมชาติในสวนของเขา แผ่นดินของเขา มีการนิตยสารขึ้นในชุมชนของตัวเอง มีเครือข่ายทางการเกษตรที่แข็งแรง”
ถ้าถามว่าฉันติดใจอะไรในหนังสือสองเล่มนี้ของรงรอง คำตอบคงเป็นเอกลักษณ์ในการเล่าเรื่อง เล่าด้วยศักยภาพที่ตัวเองถนัด ฉันว่านั่นคือหัวใจของการทำงานที่เกี่ยวกับศาสตร์ของการเล่าเรื่องเลยล่ะ
เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น เล่าด้วยวิธีที่ตัวเองเชื่อ เพราะก่อนจะให้ใครเชื่อเราได้ เราต้องเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำเสียก่อน
“ย้อนกลับไปเมื่อก่อน เวลาเราเขียนหนังสือ เราจะนึกจากว่าเรารู้สึกยังไง แต่พอเดินทาง การเล่าเรื่องมันถูกเล่าจากสิ่งที่เราพบ ไม่ใช่จากทัศนคติ หรือจากสิ่งที่เราคิดหรือรู้สึกไปเองว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ กลายเป็นว่าสิ่งที่เราได้เจอในช่วงระหว่างการเดินทางคือตัวกำหนด คือตัวที่คอยช่วยไกด์ความคิดให้เราว่าเราควรจะเล่าแบบไหน มันเลยทำให้เรื่องที่ถูกเล่าสามารถกลายเป็นเรื่องที่คนอ่านสามารถเข้ามามีประสบการณ์ร่วมด้วยได้
ส่วนภาพประกอบ แน่นอน ถ้าใช้เป็นภาพถ่ายมันก็คงอิมแพกต์กว่า แต่ต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เป็นคนมีฝีมือในการถ่ายภาพ ถ่ายออกมาคงสู้คนอื่นไม่ได้ จะไปจ้างใครถ่ายก็คงสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ถ้างั้น เราจะเล่าเรื่องยังไงล่ะ
โดยส่วนตัวเป็นคนชอบงานศิลปะอยู่แล้ว วาดรูปมาเรื่อย ๆ พอคิดว่าจะทำหนังสือ เราก็ไม่ได้แคร์ว่าคนจะตอบรับมากน้อยขนาดไหน เราแค่ทำดีที่สุดของเรา อย่างถ้าไปฝืนถ่ายรูป งานที่ออกมาก็อาจจะฝืนความเป็นตัวเอง เลยคิดว่าการรู้จักตัวเองสำคัญที่สุด ในเมื่อเราพอมีฝีมือวาดรูปได้เราก็ใช้วิธีวาดนี่ล่ะ เพราะเราเดินทางเองลงทุนเองพร้อมที่จะเจ็บตัวถ้าต้องเจ็บ คือไหน ๆ เราจะทำสิ่งนี้ในชีวิตแล้วเนี่ย เราจะไม่มีความเชื่อในตัวเองเลยเหรอ”
I draw & Travel เล่มที่ 1 Meet Locals in India ขายไปแล้ว 3 พันกว่าเล่ม
I draw & Travel เล่มที่ 2 Serendipity ขายไปแล้วจนวันนี้ 1 พันกว่าเล่ม
ในแง่ของการเป็น Self-Publisher คือทำเองขายเอง ต้องบอกว่าตัวเลขยอดจำหน่ายของหนังสือทั้งสองเล่มถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แถมขายแค่ทางเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมอีกต่างหาก
อยากให้ลองซื้อมาอ่านดูนะคะ เชื่อว่าอ่านจบ หลายคนคงอยากแพ็กกระเป๋าฝ่าโควิดไปอินเดียอย่างด่วนเลย
I draw & travel | Facebook <<คลิก